เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม กลายเป็น “ร็อกสตาร์” | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

ขึ้นชื่อว่าจอมพล ป.พิบูลสงคราม คงไม่มีผู้ใหญ่คนไหนที่ไม่รู้จัก

แต่ความโด่งดังอย่างกว้างขวางจนอาจถึงขั้นเรียกว่าประหนึ่งร็อกสตาร์เช่นนี้ไม่ใช่สิ่งที่เป็นมาแต่ไหนแต่ไร ทว่า เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง

เหตุใดจู่ๆ อดีตผู้นำคนหนึ่งของไทยที่ครั้งหนึ่งเลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คนโดยทั่วไปจึงกลายเป็นที่กล่าวถึงขึ้นมามากมายถึงเพียงนี้

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ผมได้เปิด facebook ขึ้นมาเพจหนึ่งชื่อว่า “ฅน หระ รี – Saraburi People” เพื่อเป็นสื่อกลางในการนำเสนอข้อมูลของท้องถิ่นจังหวัดสระบุรีอันเป็นบ้านของตัวเอง จำพวกสถานที่ท่องเที่ยว งานเทศกาล ร้านอาหาร ผู้คน ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณีต่างๆ ซึ่งถึงแม้จะมีผู้ติดตามอยู่จำนวนหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้มากมายอะไรนัก

กระทั่งวันหนึ่งเมื่อผมนำภาพถ่ายบ้านของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่นิคมสร้างตนเองพระพุทธบาท สระบุรี ไปลงในเพจ ผู้คนก็หลั่งไหลกันมาอย่างมิขาดสายอยู่ถึงหลายวันจนผมเองก็มึนงงและตกใจไม่น้อย

เฉพาะโพสต์นั้นโพสต์เดียวมียอด Post Impressions 252,814 Post Reach 248,429 Post Engagement 91,754 ยอดไลก์ 778 ยอดแชร์ 741 comments 113 ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่สูงอย่างน่าตกใจสำหรับเพจใหม่ที่เพิ่งเปิดได้ไม่นานและไม่เคยบูสต์โพสต์ รวมถึงไม่เคยอินไวต์ใครให้เข้ามาไลก์หรือมาฟอลโลว์เพจด้วย

หลังจากนั้นเมื่อผมนำเสนอเรื่องราวของจอมพล ป. ในแง่มุมอื่นเพิ่มเติมไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ บทความ หรือคลิปวิดีโอ ก็ล้วนแล้วแต่ได้รับเสียงตอบรับอย่างล้นหลามทั้งสิ้น

ระหว่างที่ผมพยายามทำความเข้าใจอยู่ว่าเหตุใดปรากฏการณ์นี้จึงเกิดขึ้นกับบุคคลที่ล่วงลับไปแล้ว และในสมัยที่ผมเป็นวัยรุ่นก็ไม่ได้มีวี่แววว่าจะกลายเป็นที่สนใจถึงเพียงนี้

ก็มีข้อความจำนวนมากแสดงออกอย่างสวนทางกันราวกับอยู่คนละโลกอยู่ในช่องคอมเมนต์ต่างๆ ซึ่งเป็นคำอธิบายปรากฏการณ์นี้อยู่ในตัวว่าได้เกิดการดึงบุคคลในอดีตเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ทางการเมืองในประเทศไทยยุคปัจจุบัน ตลอดจนผลงานมากมายของจอมพล ป.ในครั้งอดีตได้กลายเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์และข้อถกเถียงที่ยังไม่สิ้นสุด

อันทำให้ผู้นำที่ครั้งหนึ่งได้ตายไปแล้ว ฟื้นคืนชีพกลับขึ้นมาโลดเต้นอีกครั้งทั้งในหมู่คนหนุ่มสาวและคนที่ผ่านวัยหนุ่มวัยสาวไปแล้ว

ในฐานะเจ้าของเพจท้องถิ่นซึ่งเป็นพื้นที่อันเต็มไปด้วยมรดกตกทอดจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็ยิ่งจำเป็นต้องขลุกอยู่กับข้อมูลมากมายของจอมพล ป.ในพื้นที่นี้

ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วก็ไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดว่าทำไมอดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้จึงได้มีความสำคัญนัก

กล่าวเฉพาะพื้นที่ของสระบุรีกับลพบุรี แค่สองจังหวัดก็มีโครงการใหญ่โตแบบน่าเหลือเชื่ออยู่เป็นจำนวนมาก เช่น นครหลวงสระบุรี พุทธมณฑลบุรี เมืองใหม่ลพบุรี และนิคมสร้างตนเองทั่วประเทศ เป็นต้น

“นครหลวงสระบุรี” คือโครงการย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพฯ มาที่จังหวัดสระบุรีในช่วงปี พ.ศ.2485-2487 ซึ่งต่อมาได้ยกเลิกแล้วเปลี่ยนพื้นที่เมืองหลวงใหม่ไปที่เพชรบูรณ์

ส่วนพระพุทธบาท สระบุรี อันเป็นศูนย์กลางของนครหลวงสระบุรีก็เปลี่ยนไปเป็นโครงการพุทธมณฑลบุรีแทน

การที่แผนย้ายเมืองหลวงไปที่สระบุรีเกิดขึ้นเพียงช่วงสั้นๆ ทำให้ในยุคสมัยต่อมาผู้คนจึงพอจะรู้จักแต่เพียงเรื่องราวของพุทธมณฑลบุรีเท่านั้น ส่วนนครหลวงสระบุรีก็เลือนหายไปจากการรับรู้ของสาธารณชน

นครหลวงสระบุรีเป็นโครงการที่ใหญ่โตมากในระดับ “อภิมหาโปรเจ็กต์” เลยก็ว่าได้

โดยเฉพาะอย่างเมื่อพิจารณาจากการวางผังเมืองตามที่ปรากฏในวิทยานิพนธ์ของณัฐฐานิตย์ คะเชนทร์ มหาบัณฑิตจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในปี พ.ศ.2558 ซึ่งมีรายละเอียดของถนนหนทางขนาดมหึมา การวางผังเมืองแบบสมัยใหม่ เส้นทางการคมนาคมและชลประทาน ภายในพื้นที่ราวๆ 400 ไร่ ครอบคลุมอาณาบริเวณที่ปัจจุบันอยู่ใน จ.สระบุรี และบางส่วนของ จ.ลพบุรี โดยมีวัดพระพุทธบาทเป็นจุดศูนย์กลางทั้งในทางกายภาพ ทางจิตใจ และทางสัญลักษณ์ คล้ายคลึงกับสถานะที่วัดพระแก้วมีต่อกรุงรัตนโกสินทร์

ส่วนโครงการพุทธมณฑลบุรีคือการสถาปนาเมืองพระพุทธบาท สระบุรีให้กลายเป็นเมืองทางศาสนา อันมีขนาดใหญ่โตกว้างขวางกว่าพุทธมณฑลในปัจจุบันมาก คือมีลักษณะเป็น “นครศักดิ์สิทธิ์” กินพื้นที่เกือบทั้งจังหวัดและยังไปถึงบางส่วนของลพบุรีแบบเดียวกับนครหลวงสระบุรี ในขณะที่พุทธมณฑลที่ศาลายา จ.นครปฐมนั้นเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่ใช้ประกอบกิจการทางพระพุทธศาสนา ขนาดของสวนสาธารณะจึงไม่อาจเทียบได้เลยกับขนาดของเมืองทั้งเมือง

อย่างไรก็ตาม ทั้งนครหลวงสระบุรีและพุทธมณฑลบุรีต่างก็เป็นโครงการที่ล้มเลิกไปทั้งคู่ โดยนครหลวงใหม่จากสระบุรีถูกย้ายไปที่เพชรบูรณ์แทนเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์สงคราม ในขณะที่พุทธมณฑลบุรีถูกตีตกไปในสภา ก่อนที่จะเกิดขึ้นจริงในเวลาต่อมาที่ จ.นครปฐม แต่ก็มีขนาดเล็กลงมาก และเกิดหลังจากที่จอมพล ป.พ้นจากอำนาจไปแล้ว

โครงการที่เกิดขึ้นสำเร็จอย่างแท้จริงและมีขนาดระดับอภิมหาโปรเจ็กต์อีกเช่นกันก็คือ “นิคมสร้างตนเอง” ทั่วประเทศไทย จำนวน 44 แห่ง ใน 36 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่มหาศาล 1,200,000 ไร่

ซึ่งแนวคิดนี้เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยก่อนการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของจอมพล ป.พิบูลสงคราม แล้วตัวจอมพล ป.เองพยายามผลักดันนโยบายนี้ในครั้งที่เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรกช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลก คือปี พ.ศ.2483 ด้วยการก่อตั้งกรมประชาสงเคราะห์ขึ้น และทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในปีต่อมาคือ 2484

จากนั้นก็กลับมาเร่งผลักดันโครงการนี้อย่างแข็งขันอีกครั้งในการครองอำนาจยุคหลัง คือสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สองช่วงทศวรรษ 2490-2500

สำหรับเมืองใหม่ลพบุรีนั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะตัวเมืองลพบุรีในปัจจุบันนั้นพื้นที่เมืองเก่ามีขนาดเล็กกว่าพื้นที่เมืองใหม่ที่จอมพล ป.สร้างขึ้นมาเสียอีก และเล็กกว่าพอสมควรเสียด้วย การเนรมิตเมืองใหม่ขึ้นมาได้ภายในเวลาไม่กี่ปีให้ใหญ่โตมโหฬารไปกว่าเมืองเดิมที่เป็นมาช้านาน จึงนับว่าน่าเหลือเชื่อมากหากเทียบกับประวัติศาสตร์ของลพบุรีที่มีการอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องนับพันปีโดยไม่เคยถูกทิ้งร้าง

มรดกของจอมพล ป.ที่ตกทอดมาสู่เมืองลพบุรีในปัจจุบันนั้นจึงมีอยู่มากมายจนศึกษากันได้ไม่หมด

เมื่อมองจากร่องรอยหลักฐานที่ยังคงหลงเหลืออยู่ ประกอบกับการต่อสู้ทางการเมืองในปัจจุบันที่นับวันจะยิ่งแบ่งฝักแบ่งฝ่ายและทวีความแหลมคมขึ้นไปเรื่อยๆ รวมทั้งการถูกหยิบยกขึ้นมายกย่องเชิดชูจากสื่อส่วนหนึ่ง ขณะเดียวกันก็ถูกปรามาสด่าทอจากสื่ออีกส่วนหนึ่ง ขึ้นอยู่กับทัศนะมุมมองของแต่ละฝ่าย ทำให้ซอกมุมต่างๆ ในชีวิตของจอมพล ป.ถูกรื้อค้นและรื้อฟื้นขึ้นมาถกใหม่ ในฐานะที่เป็นหัวหอกสำคัญในความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมของประเทศไทยร่วมสมัย

และยิ่งประกอบเข้ากับบุคลิกผู้นำที่ extreme ประเภท “เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ ทำ” อันนำมาสู่การตัดสินใจที่สุ่มเสี่ยง ล่อแหลม และถึงลูกถึงคนนี้เอง

จึงบังเกิดเป็นภาพลักษณ์ใหม่ในฐานะผู้นำทางการเมืองรุ่นใหญ่ขวัญใจวัยรุ่นที่เก่งกล้าสามารถและเร้าใจดั่ง “ร็อกสตาร์” ไปพร้อมๆ กับการกลายเป็น “ผีห่าซาตาน” ในสายตาของคนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเกลียดชังการเปลี่ยนแปลงแบบถึงรากถึงโคน และแลดูมักใหญ่ใฝ่สูงเกินคนธรรมดาสามัญนั่นเอง

 

 


หมายเหตุ : จะมีการเสวนาออนไลน์ในเรื่องนี้ทาง facebook และ YouTube ช่อง ฅน หระ รี – Saraburi People ในวันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2565 เวลา 19:00-21:00 น. ชื่อหัวข้อ “ดินแดนในจินตนาการ : นครหลวงสระบุรีและพุทธมณฑลบุรี พระพุทธบาท สระบุรี กับความพยายามเป็นศูนย์กลางประเทศแห่งใหม่ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม วิทยากรได้แก่ 1) ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ 2) สิทธา เลิศไพบูล์ศิริ 3) กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์ ดำเนินรายการ นอกจากนี้ ยังมีหัวข้อที่ผ่านไปแล้วชื่อว่า “เกิดใหม่ในนิคม : กำเนิดนิคมสร้างตนเองพระพุทธบาท สระบุรี ภายใต้นโยบายปฏิรูปที่ดินสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม” วิทยากรได้แก่ 1) ผศ.ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ 2) สิทธา เลิศไพบูลย์ศิริ 3) กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์ ดำเนินรายการ ผู้สนใจสามารถติดตามได้ที่

https://www.facebook.com/saraburipeople2022/

และ https://www.youtube.com/channel/UCJDkWqWo9vq2taEsGYA4D1Q/featured ครับ