กองทัพ แดนสนธยา? สนทนา “พิจารณ์ ก้าวไกล” ทำไมต้องมุ่งกำจัดระบอบปรสิต?

“ระบอบปรสิตมันก็เหมือนกลไกที่กัดกินประเทศ แทนที่ประชาชนส่วนใหญ่จะได้รับผลประโยชน์ ที่สำคัญคือมันตรวจสอบไม่ได้”

คือคำตอบของ พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่มองว่าเรื่องราวในกองทัพมันเป็นเรื่องที่เราตรวจสอบไม่ได้ เป็นดินแดนสนธยา เป็นเรื่องที่ไม่เคยดูเปิดเผยต่อสาธารณะ และเป็นมายาวนานจนกระทั่งบางทีสังคมอาจจะไม่ได้ตาม ลืมตั้งคำถามหลายเรื่อง

พิจารณ์มองว่ามีหลายประเด็น เช่น รายได้ที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรของประเทศ มันจะดีกว่าหรือไม่ถ้าเป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่และเปิดให้ตรวจสอบได้จริงๆ ว่า ที่ดินต่างๆ ที่คุณอ้างว่าเอาไปใช้เพื่อสวัสดิการ จะมีการสร้างให้เกิดผลประโยชน์ความคุ้มค่าได้มากขนาดไหน ถ้าเราเอาทรัพยากรเหล่านี้มาให้หน่วยงานของรัฐที่มีความเชี่ยวชาญมากกว่ามาดูแล มาบริหารจัดการก็จะเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศได้มากกว่า

8 ปีที่ผ่านมา ยืนยันแล้วว่าการยึดอำนาจ มันไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหาของประเทศชาติในด้านอะไรเลย ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การที่ประชาธิปไตยไม่เบ่งบาน ก็ทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก ไม่พัฒนา สะดุดติดขัด จนเป็นต้นตอของปัญหาหลายๆ อย่าง

ซึ่งผมมองว่าทางออกคือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลพลเรือนต้องอยู่เหนือกองทัพให้ได้

Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP

ตลอด 8 ปีที่ประเทศอยู่ใต้ คสช. 4 ปี และสืบทอดอำนาจอีก 4 ปี พิจารณ์บอกว่า เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่เรามีรัฐบาลที่ผู้นำมีประสบการณ์เป็นผู้นำกองทัพ เคยเป็นผู้บัญชาการทหารบก รับราชการทหารมาตลอดชีวิต ซึ่งน่าจะเข้าใจปัญหาหลายอย่างในกองทัพได้ดี และเคยมีอำนาจเต็ม มีมาตรา 44 ในช่วง 4 ปีแรก ในช่วงหลังก็เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่เรากลับไม่เห็นการพัฒนาปฏิรูปกองทัพ

สิ่งที่เป็นปัญหาและทั้งโศกนาฏกรรมที่ประชาชน ทั้งสังคมไทยเศร้าสลดคือเหตุการณ์ที่โคราช ถึงวันนี้แล้วเรายังไม่เห็นแนวทางการปฏิรูปกองทัพที่จะนำไปสู่การคืนความเป็นธรรมให้กับทหารชั้นผู้น้อย หรือการดูแลทหารชั้นผู้น้อยให้มีสวัสดิการที่ดีขึ้น

แม้ว่าจะยังไม่ถูกคลี่ออกมาให้กระจ่างว่ามันเกิดอะไร แต่หนึ่งในข้อเท็จจริงที่ปรากฏคือโครงสร้างที่กดทับทหารชั้นผู้น้อย การเอารัดเอาเปรียบ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องเอาเรื่องนี้มาเป็นบทเรียนเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปกองทัพในการดูแลสวัสดิภาพสวัสดิการกำลังพลอย่างจริงจัง เราก็ยังไม่เห็นว่ามันเกิดขึ้น

ส่วนกระบวนการที่จะรับเรื่องร้องทุกข์ไม่เป็นธรรม เราก็ยังไม่มีกระบวนการปกป้องผู้ร้อง อีกหนึ่งตัวอย่างคือกรณีของหมู่อาร์ม ที่เราเห็นแล้วว่ามีการออกมาร้องเรียนผู้บังคับบัญชาหรือหน่วยงานที่ตัวเองสังกัดในเรื่องของการเบี้ยเลี้ยงทหารผี

สุดท้ายแล้วก็เห็นแล้วว่าหมู่อาร์มก็ต้องออกจากราชการ แม้ว่ากองทัพจะบอกว่ามีการสืบสวนหาผู้กระทำผิด แต่คำถามคือพอมีกรณีศึกษาแบบนี้ในอนาคตใครจะออกมายืนยันว่ามันเกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นอะไรภายในกองทัพเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้

จะเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้มีเจตนาจริงใจที่จะปฏิรูปกองทัพเลย

อย่าลืมว่าผู้นำเหล่าทัพมาจะอยู่ไหนตำแหน่งไม่กี่ปีคนละ 1-2 ปี แต่ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในตำแหน่งมานานที่สุด แถมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ดังนั้น ไม่สามารถที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบได้

หลายครั้งเวลามีปัญหาในกองทัพ พล.อ.ประยุทธ์ไม่เคยออกมาแสดงท่าที ไม่ออกมาให้ comment ไม่เห็นถึงการแสดงท่าทีหรือการสั่งการใดๆ เลย

มันสะท้อนให้เห็นว่า ลอยตัว แต่หลีกหนีไม่พ้นหรอกในฐานะที่คุณเป็นนายกรัฐมนตรีด้วย เป็นอดีตผู้นำเหล่าทัพด้วย ยังต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบ

Photo by CHRISTOPHE ARCHAMBAULT / AFP

พิจารณ์บอกว่า เมื่อดูในส่วนงบประมาณของกระทรวงกลาโหม สัดส่วนของรายจ่ายบุคลากรภาครัฐทุกกระทรวง ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 40% รัฐบาลเองพยายามจะลดให้อยู่ที่ 35% เพราะว่าสูงมากแล้ว

แต่ถ้าไปดูเฉพาะกระทรวงกลาโหมปาเข้าไป 60% กองทัพบกปาเข้าไป 70%

คำถามคือเราจำเป็นที่จะต้องมีกำลังพลมากมายขนาดนี้เมื่อเทียบกับงบประมาณ เมื่อเทียบกับภารกิจในการป้องกันประเทศหรือไม่

ภัยคุกคามหรือการสู้รบในยุคนี้มันไม่ใช่การใช้กำลังพลเข้าสู่ระบบกันอีกต่อไปแล้ว แต่มันคือการรบทางไกล อาศัยเทคโนโลยี

ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลดรายจ่ายในด้านกำลังคนลง เพื่อให้เหลือช่องว่างเหนืองบประมาณในการที่จะไปพัฒนากองทัพหรือยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย

พอมาดูงบประมาณการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์กองทัพ ต้องบอกว่าตอนนี้กองทัพทำงานเป็นไซโล เป็นคนละแท่ง กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ เราไม่เคยเห็นการทำงานที่เชื่อมโยงกัน เราไม่เห็นบทบาทของกองบัญชาการกองทัพไทยที่จะเข้ามาเป็นตัวบทบาทประสานความร่วมมือของทั้ง 3 เหล่าทัพ มันสะท้อนให้เห็นถึงการจัดซื้ออาวุธอุปกรณ์ที่มียุทธศาสตร์ของทั้ง 3 เหล่าทัพ

ที่ผมอยากตั้งคำถามว่าบางครั้งการซื้ออุปกรณ์บางอย่างของแต่ละเหล่าทัพอุปกรณ์เดียวกันแต่ตั้งชื่อโครงการไม่เหมือนกัน ซื้อด้วยราคาที่ไม่เท่ากัน

ถามว่ามันเกิดอะไรขึ้น ผมก็ตั้งคำถามว่านี่มันคือความตั้งใจที่จะทำให้การกำหนดราคากลางที่ซื้อเหมือนกันแต่การตั้งมาตรฐานราคาที่แตกต่างกันยังมีกรณีอีกหลายอย่างที่เราพบว่าการจัดซื้อครุภัณฑ์มีราคาที่สูงเกินกว่าท้องตลาด หรือการเชิญผู้ประกอบการเข้ามากำหนดสเปก กำหนดราคากลาง ผ่านการเชิญนอมินีตัวหลอกเข้ามา ทั้งที่วางสเปกล็อกไปแล้วว่าจะซื้อกับรายใด เพียงแต่ว่ามีการเอาตัวหลอกเข้ามาเกิดการเทียบราคาและวางสเปกเพื่อที่จะป้องกันไม่ให้มีการให้มีรายอื่นเข้ามา

ตัวอย่างที่มีหลักฐานชัดเจนอย่างตอนอภิปรายไม่ไว้วางใจ หลังจากมีการเปิดข้อมูลผ่านการอภิปรายก็ไม่เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะมีการพูดถึงมาตรการเหล่านี้อย่างไร ไม่มีการออกคำสั่งสืบสวนหาข้อเท็จจริง

แม้แต่การตอบคำถามในสภาก็ไม่มีการพูดถึงทั้งที่มีหลักฐานชัดเจน

ส.ส.ก้าวไกลบอกว่า โดยสรุป 8 ปีที่ผ่านมา เมื่อมองกองทัพแล้วจับไปตรงไหนก็มีปัญหาทุกจุด ทั้งในเชิงกำลังพล การใช้จ่ายงบประมาณการดูแลนายทหารชั้นผู้น้อย

ต้องยอมรับว่าปัญหาในกองทัพมันสะสมหมักหมมมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ก่อนที่ คสช.จะยึดอำนาจเราก็ไม่เห็นการปรับปรุงไปในทิศทางที่ดีขึ้น

พล.อ.ประยุทธ์ ใช้เหตุผลที่จะเข้ามาปฏิรูปประเทศในหลายๆ ด้านในการทำรัฐประหาร

แต่ในบ้านของท่านเองที่ท่านเคยอยู่ในกองทัพมานานน่าจะมีความเชี่ยวชาญมากที่สุด เป็นเรื่องที่ท่านต้องเข้าใจเรื่องนี้ดีสุด มีความเข้าใจโครงสร้างของกองทัพอย่างดี แต่เรากลับไม่เห็นการปรับปรุงให้มันดีขึ้น ไม่มีการแก้ไข ไม่ได้ปรับปรุงปฏิรูปให้มันดีขึ้นทั้งที่มีโอกาสมาตลอดในช่วง 8 ปี

เราพยายามทำงาน ทำความคิด พยายามสื่อสารกับข้าราชการรุ่นใหม่ สิ่งที่เรานำเสนอด้วยความหวังดีต่อประเทศชาติ เราเสนอด้วยความหวังดีต่อกำลังพล เราอยากจะเห็นศักดิ์ศรีความนิยมของกองทัพกลับคืนมาสู่สังคมไทยอีกครั้ง จากการที่เราได้ทำงานมาและมีการพูดคุย พวกเราได้รับการยอมรับจากข้าราชการรุ่นใหม่อยู่ไม่น้อยและไปในทิศทางที่ดี

ผมได้รับการติดต่อพูดคุยในทางลับจากข้าราชการทหารพอสมควร ที่เป็นข้าราชการน้ำดีและไม่อยากที่จะถูกกลืนไปกับวัฒนธรรมองค์กรหรือสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่แต่มีความปรารถนาดีที่อยากจะเห็นกองทัพไทยเป็นกองทัพที่เข้มแข็งมีเกียรติก้าวหน้ามากกว่านี้

ส.ส.พิจารณ์ย้ำว่า ผมยืนยันว่าเราตั้งใจที่จะเปิดแคมเปญเรื่องแรกเรื่องโครงสร้าง-การเมือง-การปฏิรูปกองทัพมีคนถามเยอะว่าตกลงว่าเราจะไม่เอาเรื่องเศรษฐกิจปากท้องหรือ? ถึงได้เริ่มต้นนโยบายนี้ก่อน ผมเชื่อว่าปัญหาทุกอย่างในประเทศนี้มันเชื่อมโยงมาสู่เรื่องของการเมืองพรรค ถ้าเราไม่มีการทำรัฐประหารเศรษฐกิจมันก็จะเดินหน้าต่อเนื่องไปได้ยังไงชุดนโยบายการปฏิรูปกองทัพคือเราจะทำอย่างไรให้รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งให้หยุดยั้งการแทรกแซงในทางการเมืองของกองทัพได้

เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าการปฏิรูปกองทัพและการบริหารเศรษฐกิจแก้ปัญหาปากท้องมันคือเรื่องเดียวกัน

การที่เราพยายามที่จะยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เพราะว่าเวลา 2 ปีที่เยาวชนจะหมดไปในกองทัพคำถามคือเขาได้อะไร?

ต้องยอมรับในข้อเท็จจริงว่าทุกวันนี้การมีทหารเกณฑ์คงประจำการต่างๆ มันถูกใช้ไปลักษณะในการเป็นทหารรับใช้มันไม่ได้มีการฝึกอาชีพไม่ได้มีการติดอาวุธทางวิชาชีพต่างๆ ให้เขาเลย ว่าภายหลังจากเสร็จภารกิจ เขาจะสามารถออกมาประกอบอาชีพอะไรได้

มันกลายเป็น 2 ปีที่เขาต้องเสียโอกาสในชีวิตที่จะไปทำอะไรก็ได้ที่เขาอยากจะทำ

การที่คนช่วงอายุ 21 มีความฝันมากมายเพื่อสร้างสมประสบการณ์และต่อยอดในชีวิตเขาได้ มันกลายเป็นช่วง 2 ปีที่เขาไม่ได้อะไรเลย

หรือประเด็นการครอบครองที่ดิน การครองคลื่นวิทยุมากมายที่กองทัพอาศัยเหตุผลของความมั่นคง แต่ไปทำให้เกิดรายได้ทรัพยากรเหล่านี้ ถ้ามันถูกจัดสรรทำให้เกิดประโยชน์ มันจะมีประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้มากขนาดไหน

นี่คือคำถามสำคัญ

 

ชมคลิป