‘ดิวาลี 2022’ โอกาสฟื้นฟู ‘พาหุรัด’ สู่การเป็น ‘ลิตเติ้ล อินเดีย’ | รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

 

‘ดิวาลี 2022’

โอกาสฟื้นฟู ‘พาหุรัด’

สู่การเป็น ‘ลิตเติ้ล อินเดีย’

 

ย่านพาหุรัด ถือเป็นย่านการค้าและชุมชนชาวไทยเชื้อสายอินเดียที่มีขนาดใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ มีความเป็นมายาวนานตั้งแต่ครอบครัวชาวอินเดียมาตั้งรกรากจนมีลูกหลานสืบสายจนกลายเป็นคนสัญชาติไทยเชื้อสายอินเดียอยู่รวมกัน

เรามักคุ้นชื่อตลาดพาหุรัดในฐานะตลาดค้าส่งผ้าชื่อดังและสินค้าต่างๆ จากอินเดียตั้งแต่วัตถุดิบอาหาร เครื่องหอม ยา ไปจนถึงของบูชา ที่ทำให้มีกลิ่นอายความเป็นอินเดีย เสมือนเดินอยู่ตลาดชุมชนแถวมุมไบ

แต่ในช่วงโควิด-19 ระบาด กว่า 2 ปี ที่ทำให้เศรษฐกิจหลายพื้นที่ซบเซา เช่นเดียวกับ ตลาดพาหุรัด ก็ได้รับผลกระทบนี้อย่างมาก

ซึ่งกระทบไปถึงเทศกาลประจำปีอย่าง “ทิปาวลี” หรือ “ดิวาลี” เรียกว่าเป็นงานส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของชาวฮินดู

จนกระทั่งสถานการณ์โควิด-19 ได้คลี่คลายลงไปมากในหลายส่วนทั่วโลก ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายอย่างหรืองานรวมกลุ่มเริ่มกลับมาจัดได้อีกครั้ง

งานดิวาลี 2565 นับเป็นการส่งสัญญาณการสิ้นสุดภาวะซบเซาจากโควิด สู่การสร้างรอยยิ้มครั้งใหม่และเป็นหมุดหมายสู่การสร้างชุมชนท่องเที่ยวสำคัญของไทย ในฐานะ “ลิตเติ้ล อินเดีย”

เทศกาลดิวาลี 2022 ได้ถือโอกาสจัดใหญ่หลังซบเซาลงไปจากโควิด-19 มาพร้อมกับกิจกรรมทางวัฒนธรรม อาหารและมิตรภาพ

โดยปีนี้ เลือกใช้สถานที่เป็นแนวคลองโอ่งอ่างฝั่งพาหุรัด ซึ่งเป็นที่ตั้งของร้านอาหารอินเดียชื่อดังหลายร้าน ทั้งแบบปัญจาบจนถึงอินเดียเหนือ-ใต้

ตลอดทางเดิน มีการออกร้านของเอกชนและสมาคมต่างๆ ของชาวไทยและชาวไทยเชื้อสายอินเดีย ตลอด 3 วัน ตั้งแต่ 21-23 ตุลาคม ที่ผ่านมา ซึ่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับสมาคมอินเดียแห่งประเทศไทย (IAT) เครือข่ายพันธมิตรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจของกลุ่มผู้ประกอบการชาวไทยเชื้อสายอินเดีย กลุ่มชาวอินเดียในประเทศไทย ร่วมกันจัดเทศกาลนี้ขึ้น

แต่วันที่ปาวลีจริงๆ จะเป็นวันที่ 24 ตุลาคม ซึ่งเป็นการฉลองปีใหม่ในครอบครัว ร่วมพบปะสังสรรค์กันอย่างกลมกลืน

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวเปิดงานเทศกาลดิวาลีว่า ค่ำคืนนี้เป็นค่ำคืนแห่งความสุข งานเทศกาลเป็นจุดแข็งของประเทศไทยและของกรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งพหุวัฒนธรรม เรามีวัฒนธรรมที่หลากหลาย พี่น้องไทยเชื้อสายอินเดีย มีความเข้มแข็งมาก มีย่านเยาวราชของคนจีน ซึ่งอยู่กันได้อย่างไร้รอยต่อ

กทม.ต้องเอาจุดนี้ไปขยายต่อ สร้างอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ให้เข้มแข็ง การมีลิตเติ้ล อินเดีย ไชน่าทาวน์ เราผสมผสานทุกคนอยู่ด้วยกันได้ เชื่อว่าจะทำเทศกาลดิวาลี เป็นเทศกาลประจำปี ให้เรามาเฉลิมฉลองดิวาลีด้วยกัน รัฐบาลทำคลองโอ่งอ่างไว้แล้ว เราก็ใช้ให้เป็นประโยชน์

“เราต้องมีเทศกาลนี้บ่อยๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ให้ประชาชนมาค้าขาย ไม่ใช่แค่เฉพาะพี่น้องเชื้อสายอินเดีย แต่ให้คนแถวนี้อยากขายอะไรก็มาขายได้ สร้างบรรยากาศ สร้างรอยยิ้มให้กลับคืนมาสู่ทุกคน เศรษฐกิจกลับคืนมา กระตุ้นการใช้จ่าย และเป็นจุดรวมใจรวมวัฒนธรรมของเราไว้ที่นี่” นายชัชชาติกล่าว

ด้านอัลพนา ดูเบย์ อุปทูตสถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย ได้กล่าวถึงเทศกาลดิวาลีปีนี้ว่า ถือเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นในย่านพาหุรัด จะเห็นว่ามีแสงสว่างไปทั่วงาน ผู้คนร่วมงานกันอย่างคึกคัก ถือเป็นเรื่องน่ายินดียิ่งในการเฉลิมฉลอง เรารู้ว่าไทยและอินเดียมีการแบ่งปันกันทางวัฒนธรรมอย่างยาวนาน ความสัมพันธ์ทางประเพณีที่มีมาจากศาสนาที่นับถือร่วมกัน

เทศกาลทิปาวลี เป็นเทศกาลแห่งแสงสว่าง ตามท้องเรื่องของรามายณะ ที่พระรามมีชัยเหนือทศกัณฐ์ในศึกกรุงลงกา และชาวอโยธยาจัดงานทิปาวลีเพื่อฉลองชัยชนะ อันหมายถึงชัยชนะของแสงสว่างเหนือความมืด

หลังผ่านการระบาดของโควิด-19 มา 2 ปี จนได้มาจัดงานเฉลิมฉลอง ก็ถือเป็นสัญลักษณ์ของโอกาสสู่ความมั่งคั่งในอนาคตในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า อีกทั้งเราฉลองในฐานะเทศกาลปีใหม่ ที่ผู้คนต่างเก็บเกี่ยวพืชผล จึงเป็นเรื่องน่ายินดีที่จัดเทศกาลตลอด 3 วันนี้ ในย่านลิตเติ้ล อินเดีย ซึ่งเป็นศูนย์กลางสำคัญของชุมชนชาวอินเดีย

ต้องขอขอบคุณอย่างจริงใจให้กับทุกภาคส่วนที่จัดงานนี้อย่างกระตือรือร้น

การจัดเทศกาลปีนี้ ถือเป็นงานใหญ่สำคัญเพื่อแสดงถึงความหวังให้กับผู้คน จึงเป็นหน้าที่ของทีมผู้จัดงาน

1 ในนั้นคือ นิกร สัจเดว เป็นลูกหลานรุ่น 3 ของครอบครัวอินเดียที่ตั้งรกรากในไทย โดยกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของเทศกาลว่า แผนการจัดเทศกาลมีมาก่อนเลือกตั้ง กทม.แล้ว ได้คุยกับ อ.ชัชชาติ คุณต่อ และรองผู้ว่าฯ ศานนท์ (หวังสร้างบุญ) ก็ถามว่า ถ้า อ.ชัชชาติ ได้เป็นผู้ว่าฯ จริงๆ อยากให้ทำอะไร

คำตอบคือ “ลิตเติ้ล อินเดีย”

จึงเป็นจุดเริ่มต้น พอมอบหมายงานให้รองฯ ศานนท์ เขาก็มีความคิดว่า งานนี้ควรจัดที่ย่านพาหุรัด เพราะสัมพันธวงศ์ก็มีเยาวราชเป็นไชน่าทาวน์แล้ว มีคนเที่ยวเยอะมาก แต่ทำไมย่านนี้เงียบ การพัฒนาย่านนี้ รองฯ ศานนท์ให้จัดทำปฏิทินเทศกาลในย่านนี้ ทำให้ย่านนี้คึกคักมีสีสันมากขึ้น

เมื่อถามถึงภาพจำของย่านการค้าผ้าชื่อดัง แต่ผ่าน 2 ปี จากโควิด-19 เปลี่ยนไปมากแค่ไหน คุณนิกรกล่าวว่า เปลี่ยนไปมาก เพราะเกิดการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัล คนเราต้องเปลี่ยนตามสมัย คนไม่ออกมาเดินซื้อของแล้ว ไปซื้อผ่านออนไลน์แทน แต่ย่านนี้อยู่ได้เพราะมีร้านอาหาร เรื่องวัฒนธรรมและผ้า ทั้งเขตพระนครมีวัดเกือบทุกศาสนา การพัฒนาย่านนี้จึงง่ายมากคือ เทศกาล เหมือนกับจัมพ์สตาร์ตเครื่องยนต์ เราเลยเลือกดิวาลี วันนี้ดีใจมาก วันแรกก็มีคนร่วมงานหมื่นคน ทุกร้านเต็มหมด

“ส่วนงานปีต่อไป ต้องบอกรองฯ ศานนท์ว่าขอใหญ่กว่านี้ แค่ปีนี้จัดก็แคบแล้ว ตอนแรกบอกจัดที่สวนลุมพินี แต่รองฯ ศานนท์ว่าไหนจะให้เป็นลิตเติ้ล อินเดีย จึงเริ่มงานที่นี่เลย ทุกอย่างที่ทำ ก้าวแรกต้องมี และก้าวแรกนั้นคือ ‘ดิวาลี'” นิกรกล่าวอย่างมั่นใจ

ขณะที่พลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่คลุกคลีกับย่านพาหุรัดและเยาวราช กล่าวถึงพาหุรัดและคลองโอ่งอ่างในฐานะชุมชนที่มีทั้งชาวจีนและอินเดียอาศัยร่วมกันว่า สมัยก่อนบริเวณนี้เรียกว่าสะพานเหล็ก ไม่ได้มีคลองแต่เป็นโครงสะพาน ตรงนั้นจะเป็นที่ขายของเล่นและเกมที่วัยรุ่นนิยมซื้อกันจน กทม.ย้ายออกไป

ส่วนศศิธร ประสิทธิ์พรอุดม ส.ก.กทม.เขตพระนคร กล่าวเสริมว่า จากการจัดระเบียบย่านการค้าของ กทม. ย้ายตลาดสะพานเหล็กไปเมกะพลาซ่า ก็ทำให้เศรษฐกิจเริ่มซบเซา มีอยู่แค่ฝั่งเดียวที่ยังคึกคักคือสัมพันธวงศ์ แต่เขตพระนครในปีนี้ต้องขอบคุณผู้จัดงานเทศกาลดิวาลีที่ทำให้เศรษฐกิจย่านนี้กลับมาคึกคักมาก ก่อนมาก็ได้พบปะผู้ค้าชาวอินเดียที่ค้าขายในย่านพาหุรัดมานาน พวกเขาบอกว่า คิดถึงเทศกาลดิวาลีมาก เขาต้องการให้เขตพระนครกลับมามีสีสันอีกครั้ง นอกจากโควิด-19 ทุกคนอยู่แต่บ้าน

พลัฏฐ์กล่าวเสริมถึงเทศกาลในฐานะโอกาสฟื้นเศรษฐกิจย่านนี้ว่า เขตพระนครถือเป็นย่านที่มีสีสัน มีเทศกาลภูเขาทอง เราเคยมีเทศกาลจนหายไป ตลาดจะมีได้ ก็ต้องมีคนซื้อ ทุกวันนี้มีแต่คนขาย เราต้องมีกิจกรรม มีเหตุผลให้คนเข้ามาเดิน อย่างดิวาลี เป็นเทศกาลฉลองของชาวอินเดีย ชาวไทยเชื้อสายอินเดียที่อยู่วัฒนาหรือที่อื่นก็เดินทางมาที่นี่ มาซื้อของที่นี่ คนขายไอติมถั่วตัด ขายผัดไทย ก็ได้ขายของ ตอนนี้มีการปรับปรุงทางเท้าให้สะอาด พวกเรามาช่วยทำตลาด ทุกอย่างดีแล้ว แต่ยังขาดเศรษฐกิจหมุนเวียน

“เยาวราชมีงานตรุษจีน เทศกาลกินเจแล้ว งานดิวาลี คนไทยเชื้อสายอินเดียอยากได้ อยากโชว์พลังเพียงแต่ไม่มีโอกาส แล้วจังหวะดีที่ กทม.และ ส.ก.กทม. อำนวยความสะดวกเต็มที่ ขอให้จัดให้ดี ส่งเจ้าหน้าที่มาดูแล คนรู้สึกมาแล้วปลอดภัย ปีนี้จัดดี ปีหน้ามีสปอนเซอร์มาเพิ่ม จัดดีก็มีคนบอกต่อ” พลัฏฐ์กล่าว

ศศิธรกล่าวเสริมถึงแนวโน้มต่อไปว่า ย่านนี้ก็เป็นลิตเติ้ล อินเดีย สไตล์อินเดีย ส่วนเยาวราชก็เป็นไชน่าทาวน์ เราจะทำให้คลองโอ่งอ่างเป็นเสมือนส่วนผสมของ 2 วัฒนธรรมนี้ เขตพระนครเดิมมีต้นทุนทางวัฒนธรรมดีอยู่แล้ว

ถ้าเราเพิ่มเทศกาลที่ผสมผสานวัฒนธรรมก็สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ เพิ่มทางเลือกให้นักท่องเที่ยว ผู้ค้าจากที่อื่นสามารถทำธุรกิจที่นี่ได้