สุจิตต์ วงษ์เทศ/เขาพระสุเมรุ ในอินทราภิเษก ต้นแบบเมรุมาศ งานพระบรมศพ

สุจิตต์ วงษ์เทศ www.sujitwongthes.com

เขาพระสุเมรุ ในอินทราภิเษก ต้นแบบเมรุมาศ งานพระบรมศพ

พระเมรุมาศ ที่สำหรับถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดิน เริ่มมีครั้งแรกยุคอยุธยา

ได้ต้นแบบจากเขาพระสุเมรุในพระราชพิธีอินทราภิเษก ยุคต้นอยุธยา ต่อมามีในแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง โดยจำลองเขาพระสุเมรุในการลบศักราช แล้วเชื่อกันว่าเป็นต้นแบบพระเมรุมาศงานพระบรมศพ สืบจนทุกวันนี้

จำลองปราสาทนครวัด

เขาพระสุเมรุในพระราชพิธีอินทราภิเษก น่าเชื่อว่าจำลองจากปราสาทนครวัดในกัมพูชา ซึ่งเป็นที่รับรู้คุ้นเคยอยู่แล้วในราชสำนักยุคต้นอยุธยา

เหตุเพราะพระเจ้าแผ่นดินอยุธยาสายหนึ่ง เมื่อแรกสถาปนามีนาม “รามาธิบดี” น่าจะตรัสภาษาเขมร เป็นเชื้อสายกษัตริย์รัฐละโว้ (ลพบุรี) ซึ่งเป็นเขมร หรือเป็นเครือญาติใกล้ชิดกับกษัตริย์เขมรเมืองพระนคร (ที่ปราสาทนครวัด)

ดังมีภาพสลักขบวนแห่ของรัฐละโว้ (กับขบวนแห่ของรัฐเครือญาติอื่นๆ) อยู่บนระเบียงปราสาทนครวัด

อินทราภิเษก

อินทราภิเษก คือ พระราชพิธียอยกพระเจ้าแผ่นดินดุจพระอินทร์ ผู้เป็นจักรพรรดิราชแห่งสวรรค์ มีในกฎมณเฑียรบาลยุคต้นอยุธยา (สืบเนื่องคติก่อนหน้ายุคอยุธยา)

จักรพรรดิราช หมายถึง พระมหาจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่เหนือมวลกษัตริย์ในสากลจักรวาล ที่ทรงมีของวิเศษทั้งหลาย เช่น ช้างแก้ว, ม้าแก้ว, ขุนพลแก้ว, เสนาแก้ว, ชายาแก้ว, จักรแก้ว, รัตนะ ฯลฯ

ทางพุทธศาสนา แนวคิดเรื่องจักรพรรดิราชน่าจะมีแล้วตั้งแต่ยุคพระเจ้าอโศก (ราวหลัง พ.ศ.200) โดยผสมเข้ากับคติพราหมณ์ฮินดู (ที่มีมาก่อน) อันมีพิธีกรรมยกกษัตริย์เสมือนพระอินทร์ ซึ่งเป็นมหาเทพดั้งเดิม ผู้ยิ่งใหญ่เหนือเทพทั้งหลาย ครั้นสมัยหลังเปลี่ยนกลายเป็น พระศิวะ, พระวิษณุ ตามที่รู้จักดี

[ดูบทความเรื่อง “พระจักรพรรดิราชกับงานศิลปกรรม” โดย ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ในหนังสือ จักรพรรดิราช ที่พึ่งของมหาชนชาวสยาม กรุงเทพมหานคร ร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2550 หน้า 34-35]

นานเข้าความหมายของอินทราภิเษกก็ปรับเปลี่ยน จึงถูกอธิบายผันแปรออกไปอีก ตามความเชื่อที่เปลี่ยนแปลงจากเดิม ดังมีพระราชนิพนธ์ ร.5 เรื่องปัญจราชาภิเษก ว่า “อินทราภิเษก คือ สมเด็จอมรินทราธิราช เอาเครื่องปัญจกกุธภัณฑ์ทั้ง 5 มาถวาย”

[อ้างไว้ใน “อธิบายเรื่องคำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงปราสาททอง” เรียบเรียงโดย นายบุญเตือน ศรีวรพจน์ ในหนังสือ คำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงปราสาททอง กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2543 หน้า 61-62]

อินทราภิเษก บางท่านเชื่อว่าหมายถึงการอภิเษกของพระอินทร์ (อาจโยงถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของเขมร) เท่ากับให้ความสำคัญกับพระอินทร์มากกว่าพระวิษณุ แต่จารึกต่างๆ ของเขมรแสดงให้เห็นว่าเขมรยกย่องพระอินทร์เท่าๆ กับพระวิษณุ

[บทความเรื่อง “ชักนาคดึกดำบรรพ์ และพระราชพิธีอินทราภิเษก” ของ มณีปิ่น พรหมสุทธิรักษ์ ในหนังสือ ศรีชไมยาจารย์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2546 หน้า 107-121]

ลบศักราช และอินทราภิเษก

เขาพระสุเมรุเป็นเครื่องไม้จำลองปราสาทนครวัด คราวพระเจ้าปราสาททองทำพิธีอินทราภิเษกแล้วลบศักราช พ.ศ.2181 (จ.ศ.1000) ทำตามแบบแผนพระราชพิธีอินทราภิเษกที่มีมาก่อนนั่นเอง เพียงแต่ทำใหญ่โตโอ่อ่ามหึมากว่าเก่า

ดังมีบอกในบทสรรเสริญพระเกียรติพระเจ้าปราสาททอง (เป็นกาพย์ฉบับ 16) ว่า ครั้นเสร็จลบศักราชก็เท่ากับเสร็จการอินทราภิเษก ดังนี้

๏ ครั้นเสร็จพระราชพิธี การโดยในตรี

บัญจพระคาถา

๏ เถลิงศกขึ้นวารจันทา เสด็จการอินทรา

ภิเษกเจ้าจอมกษัตริย์

เมรุมาศ พระเจ้าปราสาททอง

พระนารายณ์ให้สร้างพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าปราสาททอง

พระเมรุมาศที่พระนารายณ์ให้สร้างขึ้น แบบเดียวกับที่ทำในพระราชพิธีอินทราภิเษกแล้วลบศักราช และควรจะเป็นแบบแผนเดียวกับภาพลายเส้นกับภาพสีงานพระเมรุสมเด็จพระเพทราชา