รักษาความฝันและชีวิตของผู้คน ด้วยรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า | ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

เราอาจตั้งคำถามอยู่เสมอว่า ทุกครั้งที่ฝนตก ใต้ท้องฟ้าเดียวกัน ห่าฝนเดียวกัน แต่ความชุ่มชื่นของสายฝนอาจไม่ได้ตกลงสู่พื้นดิน ผืนดินถูกทิ้งให้แห้งแล้ง ไม่ว่าฝนจะตกหนักหรือนานแค่ไหน ดอกหญ้าที่เจริญบนผิวดินก็ไม่ได้รับความชุ่มชื่นเสียที แม้ฝนจะตกทุกวันเวียนไปทั้งฤดูกาลก็ไม่ตกถึงดินเสียที

ประเทศไทยมีงบประมาณรายจ่ายประจำปีประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท

งบประมาณมหาศาลนี้ถูกแบ่งตามกระทรวง แบ่งตามยุทธศาสตร์กระจายออกไป แต่งบประมาณเหล่านี้ได้ถูกส่งตรงสู่ประชาชนมากน้อยแค่ไหน

ประเทศที่มีการตั้งงบประมาณหมวดสร้างความเสมอภาคและลดความเหลื่อมล้ำไว้สูงมากกว่า 7 แสนล้านบาท แต่งบประมาณเหล่านี้กลับไม่ได้ถูกส่งตรงสู่ประชาชน

งบประมาณเหล่านี้ถูกส่งผ่านระบบราชการ และรัฐรวมศูนย์ โดยมีฐานความคิดสำคัญว่าประชาชนไม่สามารถกำหนดชีวิตของตนเองได้ หากได้รับเงินและสวัสดิการมากเกินไป หรือได้สวัสดิการแบบไม่มีเงื่อนไข

กล่าวโดยสรุป ประชาชนธรรมดาหากจะมีชีวิตที่ดีได้ ก็จำเป็นต้องได้รับการ “อนุญาต” จากผู้มีอำนาจเสียก่อนที่พวกเราจะสามารถกิน นอน เรียนหนังสือ ป่วยไข้ หรือใช้ชีวิต

เพราะสังคมนี้ชนชั้นนำได้สูบทรัพยากรทางเศรษฐกิจมากมายมหาศาลเข้าสู่ผู้มีอำนาจไม่กี่กลุ่ม

และพวกเขาจะทำการอนุญาตให้พวกเราสามารถใช้ชีวิตที่ดีได้เมื่อพวกเขาเห็นชอบเท่านั้น

Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP

ปัญหาสำคัญคือเราล้วนคุ้นชินกับรัฐเผด็จการ ที่ทรัพยากรจากบาทแรกถึงบาทสุดท้ายถูกใช้กับคณะปกครองกลุ่มเดียว

คุ้นเคยกับรัฐราชการที่เงินบาทแรกถึงบาทสุดท้ายถูกใช้ผ่านฉันทานุมัติของตัวแทนรัฐ

เราคุ้นชินกับรัฐทหารที่บาทแรกจนบาทสุดท้ายถูกใช้ไปกับความมั่นคงมากกว่าใช้กับชีวิตคน

คุ้นเคยกับรัฐทุนนิยมที่นโยบายและทรัพยากรของรัฐถูกจัดเอื้อให้ทุนขยายขนาดเติบโตขึ้นไปได้

เราคุ้นเคยกับรัฐสังคมสงเคราะห์-รัฐเวทนานิยม ที่เรี่ยไรบริจาคช่วยเหลือผู้ยากไร้ราวกับเป็นเทศกาลประจำปี

เราคุ้นเคยกับรัฐลักษณะเหล่านี้ราวกับว่าเป็นเรื่องปกติ เป็น “ความจริงแท้” ที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

เป็นรูปแบบรัฐที่ทำให้ประชาชนไร้อำนาจ รูปแบบของรัฐที่พรากศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รูปแบบรัฐที่ประชาชนไร้เสรีภาพ

แต่เราไม่คุ้นเคยและรู้สึกแปลกแยกกับรูปแบบรัฐที่ทำเรื่องพื้นฐานและสามัญให้เป็นจริง

รูปแบบรัฐที่เงินบาทแรกจนบาทสุดท้าย มาเป็นเงินเลี้ยงดูเด็กแก่ทุกคนอย่างเท่าเทียม

มาเป็นค่าเล่าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยให้ทุกคนที่มีความฝัน

มาเป็นเงินสำหรับแม่ที่ตั้งครรภ์ทุกคนให้พวกเขาเตรียมตัวสำหรับการสร้างสมาชิกใหม่ในสังคม

มาเป็นเงินบำนาญถ้วนหน้าให้ทุกคนไม่ว่ายากดีมีจน เมื่อถึงวัยที่ไม่สามารถทำงานได้ก็พึงได้รับเงินบำนาญอย่างเท่าเทียมถ้วนหน้า เมื่อเจ็บป่วยก็ได้รับการรักษาที่มีคุณภาพไม่มีค่าใช้จ่าย เท่าเทียมจากบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี

ลักษณะนี้คือรูปธรรมของรัฐสวัสดิการ รัฐที่เงินบาทแรกจนบาทสุดท้ายคืนกลับสู่ชีวิตประชาชน

เรื่องราวอันปกติสามัญนี้กลับกลายเป็นสิ่งที่ผิดแผกแปลกประหลาดในสังคมไทยราวกับเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ไม่เคยเกิดขึ้นในไทยหรือในโลกมาก่อน

จะมีอะไรเกิดขึ้น หากเด็กไทยทุกคนที่เกิดมาได้รับเงินเลี้ยงดูเด็กที่เพียงพอต่อการใช้ชีวิต ไม่จำเพาะสำหรับเด็กยากจนเท่านั้น จากสถิติพบว่า เงินที่ให้เด็กอย่างไม่มีเงื่อนไขคนในครอบครัวจะสามารถวางแผนการใช้ได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล ถูกส่งตรงสู่ความจำเป็นของเด็กโดยพื้นฐานไม่ว่าทางกายหรือทางใจ เมื่อท้องอิ่มและปราศจากความกังวล เด็กตัวเล็กๆ ก็สามารถใส่ใจการเรียนในห้อง ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน เล่นกีฬา ดนตรี ตามความสนใจของตนเอง พวกเขาสามารถเก็บความฝันของตนเองได้ยาวนานมากขึ้น

จะมีอะไรเกิดขึ้น หากคนที่ปรารถนาจะได้เรียนในการศึกษาระดับสูง ปีละกว่า 4 แสนคน ได้เรียนต่อเนื่องตามความสามารถของเขาที่จะสอบได้ โดยไม่ต้องเป็นหนี้ ไม่ต้องมีใครในครอบครัวที่เสียสละ การเรียนมหาวิทยาลัยไม่ใช่เรื่องหรูหรา หรือเรื่องอภิสิทธิ์ แต่เป็นเรื่องสิทธิพื้นฐานของทุกคน

จะมีอะไรเกิดขึ้น หากผู้สูงอายุไทยมากกว่า 11 ล้านคนเมื่อถึงวัยเกษียณ ไม่ต้องกังวลว่าลูกหลานจะเลี้ยงดูตอบแทนหรือไม่ ไม่ต้องกังวลต่อสถานะทางเศรษฐกิจของลูกหลานที่จะมีความสามารถในการดูแลเราหรือไม่ หากทุกคนได้รับเงินบำนาญพื้นฐานที่เพียงพอต่อค่าอาหารและค่าที่พัก

จะมีอะไรเกิดขึ้นหากรัฐช่วยเหลือดูแลค่าเช่าที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้คนในสังคมในอัตราพื้นฐานส่วนหนึ่ง ความกังวลจากค่าใช้จ่ายด้านทรี่อยู่อาศัยย่อมหมดไปส่วนหนึ่ง

คําถามเหล่านี้คือจุดเริ่มต้นสู่การสังคมที่เสมอภาคมากขึ้น มันคือคำถามที่เราตั้งคำถามเพื่อยืนยันว่าสังคมที่เราพึงปรารถนาควรเป็นเช่นไร

คำถามข้างต้นเหล่านี้มีประโยชน์มากกว่าคำถามในลักษณะที่ว่า รัฐสวัสดิการจะนำเงินมาจากไหน รัฐสวัสดิการจะทำให้คนขี้เกียจหรือไม่ หากให้ลาคลอดที่ยาวนานมากขึ้นจะเป็นธรรรมกับผู้ที่ไม่มีลูกหรือไม่ หรือหากให้เรียนมหาวิทยาลัยฟรีจะทำให้คนไม่ตั้งใจเรียนหรือไม่

การตั้งข้อกังขาเหล่านี้ไม่มีประโยชน์อะไรเลยเหมือนกับการตั้งคำถามว่า หากเราเลิกทาสแล้วธุรกิจที่เคยใช้ทาสจะอยู่ได้หรือไม่ เพราะมันกลับมาสู่ประเด็นพื้นฐานว่า เราเชื่อหรือไม่ว่ามนุษย์สมควรที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีเทียมเท่ากันหรือไม่ เราเชื่อหรือไม่ว่ามนุษย์เท่ากัน

และความเป็นมนุษย์ของเรานี่เอง ที่ทำให้เรายังรู้สึกยินดียินร้ายกับผู้อื่นในสังคมได้ แม้เราอาจจะยังไม่ได้ประโยชน์โดยตรงก็ตาม เราไม่จำเป็นต้องตั้งครรภ์เองถึงเข้าใจว่าการลาคลอดเป็นสิ่งสำคัญ เราไม่จำเป็นต้องแก่ชราเราก็สามารถเจ็บปวดไต่อผู้สูงอายุที่ ทำงานหนักทั้งชีวิตแต่ไม่มีรายได้เพียงพอยามเกษียณ เราไม่จำเป็นต้องเคยกู้ยืมเพื่อการศึกษาก็ยังสามารถตระหนักได้ว่าไม่ควรมีใครที่ควรเป็นหนี้จากการมีความฝัน ไม่จำเป็นต้องเคยกู้นอกระบบมาเป็นค่าข้าวปลาอาหารให้แก่คนในครอบครัวก็สามารถเจ็บปวดกับปัญหาค่าแรงที่ไม่เป็นธรรมในประเทศนี้

เพราะเราเป็นมนุษย์ มนุษย์ที่แตกต่างจากสัตว์ รัฐสวัสดิการจึงเป็นสิ่งที่คู่ควรกับเรา สิ่งที่เปลี่ยนเราจากสัตว์สู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

ในบทความถัดไปผมจะพาผู้อ่านทุกท่านสนทนาถึงแนวทางการปรับเปลี่ยนประเทศไทยสู่การเป็นรัฐสวัสดิการ และล้างมายาคติที่กีดขวางสังคมที่เท่าเทียมต่างๆ

เพื่อให้ “ฝน” ทรัพยากรที่มากมายมหาศาลจากฟ้าได้ตกถึง “ผืนดิน” อย่างเท่าเทียมเสียที