คณะทหารหนุ่ม (11) | ภารกิจสกัดปฏิวัติ กับข้อเสนอลี้ภัยไต้หวัน

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

แถลงการณ์ฉบับที่ 2 ของกองอำนวยการรักษาพระนครตามออกมาในเวลาใกล้ๆ กัน

“เนื่องจากขณะนี้ได้มีทหารชั้นผู้น้อยจากจังหวัดกาญจนบุรีจำนวนไม่เกิน 300 นายได้ก่อการกบฏขึ้น ได้ทำการจับกุมและทำร้ายนายทหารชั้นผู้ใหญ่และประกาศยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินดังเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วนั้น กองอำนวยการรักษาพระนครขอเรียนให้พี่น้องประชาชนได้ทราบว่า การกบฏครั้งนี้เป็นการกระทำที่เกิดจากผู้เห็นผิดเป็นชอบส่วนน้อย ซึ่งกองอำนวยการรักษาพระนครจะทำการเข้าควบคุมสถานการณ์โดยละมุนละม่อมเพื่อมิให้เสียชีวิตประชาชนคนไทยด้วยกัน ขอให้พี่น้องประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนก”

“ในขณะนี้กองอำนวยการรักษาพระนครสามารถเข้าควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ตามลำดับแล้ว อย่างไรก็ตาม กองอำนวยการรักษาพระนครจำต้องวิงวอนขอให้พี่น้องประชาชนทุกท่านรีบกลับเข้าเคหสถานของท่านโดยเร็วเพื่อป้องกันการแทรกซ้อนจากกลุ่มผู้ฝักใฝ่ในลัทธิคอมมิวนิสต์มิให้เข้าแทรกซ้อนในการปราบปราม สำหรับหน่วยต่างๆ นั้นให้คงอยู่ ณ ที่ตั้งปกติและคอยรับคำสั่งจากกองอำนวยการรักษาพระนครแต่เพียงแห่งเดียว”

พล.อ.เสริม ณ นคร ลงชื่อในฐานะ “ผู้อำนวยการรักษาพระนคร”

สถานีวิทยุซึ่งถ่ายทอดเสียงจากสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 รายงานข่าวว่า นายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางเข้ามายังสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เพียง 10 กว่านาทีก็เดินทางออกไปพร้อมนายทหารชั้นผู้ใหญ่ อาทิ พล.อ.อ.กมล เดชะตุงคะ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.ต.อ.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น อธิบดีกรมตำรวจ พล.ต.เทียนชัย ศิริสัมพันธ์ รองแม่ทัพภาคที่ 4

ทั้งหมดได้เดินทางไปยังกองพันทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ สนามเป้า ข้างสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5

 

พ.ท.มนูญ รูปขจร รับภารกิจ

พล.อ.เสริม ณ นคร ผู้บัญชาการทหารบกในฐานะผู้อำนวยการรักษาพระนคร ได้เรียกประชุมนายทหารที่เป็นกองกำลังหลักในกรุงเทพฯ ขึ้นที่กองพันทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ สนามเป้า พ.ท.มนูญ รูปขจร ผู้บังคับกองพันทหารม้ายานเกราะที่ 4 หรือ ม.พัน.4 ได้เข้าประชุมและได้รับมอบหมายหน้าที่สำคัญให้นำกำลังเข้าปิดล้อมสวนรื่นฤดีซึ่งเป็นกองบัญชาการคณะปฏิวัติ

พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เล่าว่า

“มนูญกับผมเป็นเพื่อนที่รักกันมาก แต่ตอนนั้นผมไม่ได้บอกเขา นายไม่ได้สั่งให้บอก และผมตั้งใจไม่ชวนเขาด้วย เพราะตอนนั้นเขาอยู่กับ พล.อ.เทพ กรานเลิศ ซึ่งเป็นดองกับ พล.อ.ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ซึ่งเป็นเพื่อนกับ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ มนูญเล่าให้ฟังตอนหลังว่า เขาไม่รู้เรื่องเลย มารู้เรื่องเอาเมื่อ พล.อ.เสริม ณ นคร เรียกประชุมกำลังพลที่กองพลทหารม้าที่ 2 สนามเป้า ตอนสายของวันนั้น และได้รับมอบภารกิจให้ยุติเหตุการณ์ครั้งนี้โดยเร็วและอย่างไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ”

“เป็นภารกิจที่เขาหนักใจที่สุดเพราะผมอยู่ข้างในสวนรื่นฯ”

 

รถถังที่ยิงไม่ได้

พล.ต.มนูญกฤต รูปขจร ในวันนี้ กล่าวถึงเหตุการณ์น่าหนักใจที่จะต้องเร่งแก้ไขในครั้งนั้นว่า

“ผมก็เริ่มต้นด้วยการเชิญนายทหารจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบกมา 2 ท่านซึ่งเป็นรุ่นเดียวกับ พ.ต.อัศวิน หิรัญศิริ ลูกชาย พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ นายทหารทั้ง 2 ท่านคือ พ.ต.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และ พ.ต.ธวัช เกษอังกูร เมื่อทราบสภาพการของกำลังปฏิวัติที่อยู่ในส่วนรื่นฯ จากการประเมินของนายทหารทั้งสองแล้ว ผมจึงรีบไปหารือกับผู้บังคับกองร้อย พ.ต.วิชาญ ภักดีชุมพล ผมก็ปรึกษากับท่านว่า ทางกองทัพบกต้องการให้กองร้อยรถถังที่ 1 ยกกำลังเข้าไปยึดส่วนรื่นฯ คืนมาจากคณะปฏิวัติ จะทำอย่างไรก็ได้แต่ต้องไม่ให้เสียเลือดเนื้อ”

“เราทั้งสองขบคิดกันมากว่าในด้านเทคนิคเราจะทำอย่างไรที่ไม่ต้องบอกให้กำลังพลรู้ สุดท้ายผู้บังคับกองร้อยก็เสนอว่า เขาจะขึ้นไปถอดคอยล์สปริงที่เข็มแทงชนวนของปืนติดรถถังให้กลับหัวลง หากต้องยิงปืน ปืนก็จะไม่ทำงาน ให้ผมหาวิธีแจ้งข่าวนี้เข้าไปยังคณะปฏิวัติข้างในให้ทราบ เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องปะทะเสียเลือดเนื้อกัน”

พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เล่าเสริมว่า

“เพราะอย่างนี้เองที่ผมได้รับข่าวลับจากมนูญส่งเข้าไปยังสวนรื่นฯ ถึงผม แจ้งให้ทราบว่าปืนใหญ่รถถังจะไม่ทำงาน” แต่ฝ่ายรัฐบาลก็ยังคงกดดันต่อไป

“เมื่อเห็นว่าทำการกดดันฝ่ายเราอย่างหนักจนได้การแล้วเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่จะไม่ต้องเสียเลือดเสียเนื้อ รัฐบาลจึงส่งทูตเข้ามาเจรจากับฝ่ายเรา ผู้ที่ทำหน้าที่เข้ามาเป็นทูตในครั้งนั้นคือ พ.ต.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายทหารรุ่นเดียวกันกับ พ.ต.อัศวิน หิรัญศิริ นอกจากจะเป็นนักเรียนรุ่นเดียวกันกับภรรยาอัศวินแล้ว พ.ต.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ยังเป็นนายทหารที่ พล.อ.ฉลาดให้ความรักและเมตตาอย่างมากด้วย พ.ต.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เข้ามาเพื่อบอกกับทางฝ่ายเราว่า รัฐบาลขอเจรจาและแจ้งว่า พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ซึ่งขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด จะเป็นผู้เข้ามาเจรจาแทนฝ่ายรัฐบาลเพื่อทำข้อตกลงประนีประนอมกับฝ่ายเรา”

“สถานการณ์ตอนการเจรจา มีการผ่อนคลายลงบ้างไม่ตึงเครียด เราก็รักษาการณ์กันตามปกติ แต่ตอนนั้นเราไม่รู้เรื่องเลยว่า พล.ต.อรุณ ทวาทศิน เสียชีวิตแล้ว เพราะเรามัวแต่สาละวนกับการวางกำลัง จริงแล้วเราเองก็ไม่คิดจะทำการให้ถึงขั้นเสียชีวิต ผมเองยังคิดอยู่ทุกวันนี้ว่ามันเป็นอุบัติเหตุ ซึ่งพวกเราก็เสียใจกันทุกคน”

 

ลี้ภัยไต้หวัน

“เมื่อ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เข้ามาเจรจาสักพักหนึ่ง พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ ก็เรียกผมเข้าไปบอกว่า ทางรัฐบาลขอให้เรายอมแพ้และขอให้ท่านกับพวกเราออกไปอยู่ที่ไต้หวัน ผมได้รับจดหมายของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ที่จะเอาไปให้กับเสนาธิการทหารของไต้หวัน พล.อ.เกรียงศักดิ์ บอกว่าเป็นเพื่อนกัน ถ้าผมกับคณะไปถึงไต้หวันก็ให้เอาหนังสือฉบับนี้ให้กับ เสธ.ทหารไต้หวัน เขาจะดูแลอย่างดีไม่ต้องเป็นห่วง”

“ผมรับจดหมายฉบับนั้นมาแล้วพับใส่ลงไปในกระเป๋าสตางค์ รอให้ทั้งสองท่านพูดกันถึงรายละเอียดปลีกย่อยอีกเล็กน้อย ครั้นเสร็จแล้วผมจึงออกมาจากห้องบอกกับพรรคพวกว่าสถานการณ์เป็นอย่างนี้ และข้อตกลงต่างๆ ต้องวางอาวุธและเราต้องออกนอกประเทศ เพราะเขาขอร้อง เขาให้หนังสือมา ก็สั่งการให้เอาทหารกลับกาญจนบุรี ส่วนพวกเราก็เตรียมตัวเดินทาง ก็ถามกันว่าใครติดขัดอย่างไรหรือใครจะไป”

“พล.อ.ฉลาด ก็เข้ามาในห้องที่พวกเราคุยกันอยู่ ท่านพูดว่า จำเป็นที่จะต้องเป็นไปตามนี้ ถามว่ามีใครจะไปบ้าง ท่านก็มองมาทางผม อัศวิน บุญเลิศ พอถึงวิสิทธิ์ พล.อ.ฉลาด ก็บอกว่าเมียท้องแก่จะคลอดแล้วอย่าไปเลย พ.ต.วิศิษฐ์ ไม่ยอม ตกลงจึงไปกันทั้ง 5 คนรวมทั้ง พล.อ.ฉลาดด้วย”

“เรานั่งรถเบนซ์ของ พล.อ.ฉลาด โดยมี พล.อ.เกรียงศักดิ์ นั่งไปด้วย เราตรงไปบ้านลาดพร้าวซอยจอมพลของ พล.อ.ฉลาด ก่อน เพื่อเตรียมเงินทองข้าวของที่จำเป็นติดตัว ดูเหมือนว่าตอนนี้เองที่ พล.อ.ฉลาดกระซิบบอกผมว่า พล.อ.เกรียงศักดิ์ จะให้เงินพวกเราติดตัวไปด้วย ผมใส่ชุดทหารอยู่แล้วจึงเปลี่ยนแต่เสื้อตัวเดียว ผมเอาเสื้อของ พ.ต.อัศวิน มาใส่ตัวหนึ่ง ส่วนกางเกงทหาร รองเท้าทหาร เข็มขัดก็ยังเหมือนเดิม แล้วก็ขอเสื้อนอก พล.อ.ฉลาด มาใส่ตัวหนึ่ง”

“เท่านี้ผมก็พร้อมที่จะเดินทาง”