ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 - 10 พฤศจิกายน 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | ภาพยนตร์ |
ผู้เขียน | นพมาส แววหงส์ |
เผยแพร่ |
THE TRIANGLE OF SADNESS ‘ตลกร้ายกาจ’
The Triangle of Sadness เป็นหนังเดนมาร์กพูดอังกฤษ และโด่งดังมาจากการได้รับรางวัลปาล์มทองคำในสาขาหนังยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์ที่คานส์
เขียนบทและกำกับฯ โดยรูเบน ออสต์ลุนด์ ซึ่งขึ้นทำเนียบผู้กำกับฯ ชื่อดังจำนวนไม่มากที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้สองครั้ง (หนึ่งในนั้นคือ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา)
หนังเรื่องเดียวกันนี้ใช้ชื่อภาษาฝรั่งเศสที่แปลว่า “ไร้การกรอง” (Sans Filtre หรือ Without Filter) แปลต่ออีกทอดว่า “มีอะไรก็ปล่อยผ่านมาหมดโดยไม่กลั่นกรองไว้เลย” หรือคล้ายสำนวนไทยว่า “ปากไม่มีหูรูด” นั่นแหละค่ะ
ส่วนชื่อที่ใช้ในการตลาดนานาชาติ คือ “สามเหลี่ยมแห่งความเศร้า” ซึ่งสร้างความพิศวงจนต้องแปลความหมายอีกทีเหมือนกัน
ในตอนต้นเรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องของวงการนางแบบนายแบบแฟชั่น มีการคัดตัวนายแบบหนุ่มหล่อไม่จำกัดเชื้อชาติ ซึ่งได้รับคำสั่งให้ยิ้มและทำหน้าบึ้งตึงหยิ่งยโสสลับกันไปตามแบรนด์ของสินค้าที่เป็นมิตรหรือดูแคลนผู้บริโภค…เป็นฉากที่จี้เส้นมากค่ะ ในการนี้ โมเดลลิ่งอธิบายศัพท์คำนี้ไว้ว่าเป็นบริเวณสามเหลี่ยมหว่างคิ้วที่มักจะเกิดริ้วรอยจากอาการขมวดมุ่นที่อาจมาจากความเศร้าโศกหรืออารมณ์ทำนองนั้น
และบริเวณส่วนนี้คือจุดที่ดาราหรือคนรักสวยรักงามชอบไปเสริมสวยฉีดโบท็อกซ์กันให้เต่งตึงปราศจากริ้วรอยน่ะค่ะ
อีกอย่าง “สามเหลี่ยม” ก็ทำให้นึกถึงการเล่าเรื่องในหนังโดยแบ่งเป็นสามตอน โดยตั้งชื่อว่า “คาร์ลกับญาญ่า” “เรือสำราญ” และ “เกาะ”
ตอนที่หนึ่ง เกี่ยวกับหนุ่มสาวนายแบบนางแบบในวงการแฟชั่น ที่ไปไหนมาไหนด้วยกันและใช้ชีวิตคู่อยู่ด้วยกัน เพราะเป็นการเสริมภาพลักษณ์อันสวยงามในสายตาของบรรดาแฟนๆ
ในโลกสมัยใหม่ที่บทบาทของบุรุษสตรีพลิกกลับตาลปัตรกันไปหมดแล้ว คาร์ลพยายามเรียกร้อง “ความเสมอภาคทางเพศ” จากการที่เขาตกเป็นฝ่ายที่ต้องเป็นคนควักกระเป๋าจ่ายเงินค่าอาหารอยู่ฝ่ายเดียวทุกครั้ง ในขณะที่ความเป็นจริงที่ทิ่มแทงใจเขา คือ ญาญ่าเป็นฝ่ายหาเงินได้มากกว่าเขา
บทบาทของชายหญิง และความสัมพันธ์ของคู่รักในลักษณะแลกเปลี่ยนแบบธุรกรรมทางการเงินนี้ เป็นการเสียดสีที่จะปรากฏอยู่เนืองๆ จนตลอดเรื่อง โดยยังไม่ได้พูดถึงแก่นเรื่องอื่นๆ อันเป็นตลกร้ายที่เจ็บแสบอีกมากหลาย
ตอนที่สอง พาเราไปล่องเรือสำราญสำหรับผู้โดยสารระดับอภิมหาเศรษฐี โดยที่ญาญ่าและคาร์ลได้รับเชิญไปเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์เรือ โดยไม่ต้องควักกระเป๋าเอง ในฐานะที่เธอเป็น “อินฟลูเอนเซอร์” ซึ่งมีแฟนติดตามจำนวนมาก
ตอนนี้เรื่องราวของคาร์ลกับญาญ่าจะค่อยๆ เลือนไปในหมู่ของแคแร็กเตอร์ของชนชั้นซูเปอร์ริชที่ใช้ชีวิตเหมือนจะล่องลอยอยู่บนเมฆ
มีตัวละครตัวหนึ่งซึ่งเจ็บป่วยด้วยโรคเส้นเลือดในสมองแตกจนทำให้ความสามารถทางภาษาหายไปเกือบหมดสิ้น นางพูดได้แค่ประโยคเดียวในภาษาเยอรมันว่า In Den Wolken แปลว่า “ในหมู่เมฆ” หรือ “ลอยอยู่บนฟากฟ้า” ซึ่งน่าจะสรุปใจความของตอนที่สองนี้ได้อย่างกะทัดรัดและรวบรัด
ลูกเรือภายใต้การนำทีมของหัวหน้าพอล่า (วิกกี้ เบอร์ลิน) ได้รับคำสั่งให้น้อมรับคำสั่งของผู้โดยสาร แบบ “ชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้” โดยไม่ปฏิเสธอะไรเลย ดังนั้น แม้ผู้โดยสารจะบอกว่าทุกสิ่งทุกอย่างบนเรือสะอาดสะอ้านดี แต่มองขึ้นไปเห็นใบเรือยังไม่สะอาด ก็ยังไม่มีใครกล้าคัดค้าน กัปตันได้แต่ค่อยๆ ตะล่อมบอกว่าเรือลำนี้เป็นเรือยนต์ที่ไม่ได้ใช้ใบ
และความต้องการแบบลมเพลมพัดอันไร้เหตุผลของผู้โดยสารคนหนึ่ง คือการสั่งให้ลูกเรือทุกคนสวมชุดว่ายน้ำเล่นสไลเดอร์ลงทะเล ซึ่งนำไปสู่เหตุชุลมุนชวนกระอักกระอ่วนในงานเลี้ยงดินเนอร์มื้อพิเศษของกัปตัน…ซึ่งลงเอยด้วยหายนะของเรือสำราญที่ล่องลอยอยู่บนหมู่เมฆนี้
วู้ดดี้ แฮเรลสัน มีบทไม่มาก แต่เป็นบทที่ถึงแก่นได้ใจ เขาเล่นเป็นกัปตันผู้เอาแต่ดื่มเหล้าอยู่ในเคบิน และไม่ยอมออกมาเลย จนพอล่าต้องบังคับให้ออกมาทำหน้าที่ เป็นบทที่ตลกร้ายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อกัปตันชาวอเมริกันหัวเอียงซ้ายหรือฝักใฝ่สังคมนิยม โต้คารมกับมหาเศรษฐีนายทุนชาวรัสเซียนหัวเอียงขวาหรือฝักใฝ่ทุนนิยม โดยอ้างวาทะของบุคคลผู้มีชื่อเสียงต่างๆ มาคัดง้างความเห็นของกันและกัน
ตอนที่สาม ซึ่งเป็นตอนขมวดเรื่อง อาจสรุปใจความได้ด้วยวลีว่า “กฎของป่า” หรือทักษะการเอาชีวิตรอด และเป็นการเปลี่ยนขั้วแห่งอำนาจของชนชั้น การเหยียบเมฆอยู่ไม่ช่วยอะไรเลยเมื่อมาอยู่ในแดนเถื่อนที่เงินกลายเป็นสิ่งไร้ค่าสำหรับปากท้อง
ตอนนี้มีตัวละครที่เราเห็นผ่านตามาแล้วอย่างผิวเผินในตอนที่สอง เป็นคนทำความสะอาดหญิงชาวฟิลิปปินส์ผู้มีตำแหน่ง “หัวหน้าฝ่ายสุขา” อาบิเกล (ดอลลี เดอ ลีออน) มาจากระดับต่ำสุดในสังคม แต่ก็ก้าวขึ้นสู่อำนาจจากความสามารถในการเอาชีวิตรอดอยู่ในธรรมชาติอันพ้นจากอารยธรรมความเจริญของมนุษย์ไป
เกิดการสลับขั้วอำนาจในสังคมเล็กๆ นี้…อันนำไปสู่ตอนจบของหนังซึ่งไม่ยอมเฉลยเหตุการณ์ต่อไปหรือยอมพาคนดูไปจนสุดทาง ได้แต่ทิ้งคนดูให้คิดหรือคาดเดาเอาเองว่าตัวละครจะทำหรือไม่ทำในเรื่องเร่งด่วนที่ต้องตัดสินใจเบื้องหน้า
หนังเป็นตลกร้ายที่มีบางจุดบางตอนจี้เส้นสุดๆ แต่บางตอนก็ออกจะเกินเลยรสนิยมอันดีงามไปหน่อย แม้จะเข้าใจได้ว่าผู้กำกับฯ ต้องการชี้ประเด็นอะไรให้ชัดแจ้งแดงแจ๋กันไปเลย
ขอเชิญชมในโรงขณะนี้ หรือไม่ก็ต้องรอดูในช่องทางอื่นๆ ต่อไปนะคะ •
THE TRIANGLE OF SADNESS
กำกับการแสดง
Ruben Ostlund
นำแสดง
Harry Dickinson
Charlbi Dean
Woody Harrelson
Zlatko Buric
Vicki Berlin
Dolly De Leon
ภาพยนตร์ | นพมาส แววหงส์
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/iRHg4WPH4Q
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) October 31, 2022