‘TikTok’ ห้องเรียนของคนรุ่นใหม่ | จิตต์สุภา ฉิน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

ภาพจำที่เรามีต่อวิดีโอสั้นคือจะต้องเป็นวิดีโอที่สร้างความบันเทิงให้ผู้ชมได้ ตั้งแต่การเต้นคัฟเวอร์เพลงดังๆ วิดีโอหมาแมวทำอะไรน่ารักๆ หรือมุขตลกห้าบาทสิบบาท

ดังนั้น เวลาที่เราได้ยินว่าใครสักคนชอบดูวิดีโอสั้น เราก็มักจะนึกถึงความเบาสมองที่มาพร้อมกันเสมอ

อย่างไรก็ตาม คลิปวิดีโอสั้นก็ไม่จำเป็นต้องเน้นเนื้อหาเพื่อความบันเทิงเสมอไป

เพราะรายงานจาก Pentos ระบุว่า ‘เนื้อหาด้านการศึกษา’ เป็นเนื้อหาที่กำลังได้รับความนิยมในหมู่ผู้ใช้งาน TikTok เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

แฮชแท็ก #LearnOnTikTok หรือเรียนรู้บน TikTok เป็นแฮชแท็กที่ถูกใช้งานเพิ่มขึ้น 15% จากการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งนับว่าเป็นการเติบโตของแฮชแท็กที่รวดเร็วยิ่งกว่าแฮชแท็กคอนเทนต์ประเภทอื่นๆ อย่างเช่น เต้น ตลก เมกอัพ หรือเล่าเรื่อง จากการเก็บข้อมูลภายในช่วงระยะเวลาเดียวกัน วิดีโอต่างๆ ที่ติดแฮชแท็กเรียนรู้บน TikTok กวาดยอดวิวไปได้มากกว่า 412,000 ล้านวิว

เทรนด์นี้แสดงให้เห็นว่าคนเจน Z และมิลเลเนียลซึ่งคิดเป็นสัดส่วนผู้ใช้งานมากถึง 75% ของแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นนี้หันมานิยมชมชอบวิดีโอที่มีเนื้อหาให้ความรู้มากขึ้น

Students knowing the right answer

วิดีโอสั้นประเภทให้ความรู้ที่คนบน TikTok ชอบดูมีอะไรบ้าง อย่างเช่น วิดีโอสอนภาษาต่างประเทศ และวิดีโอให้ความรู้ในศาสตร์วิชาต่างๆ โดยแต่ละบทเรียนจะเป็นคลิปสั้นๆ ความยาวประมาณ 1 นาทีเท่านั้น

ข้อดีของการเรียนรู้ผ่านคลิปวิดีโอสั้นคือผู้ชมสามารถดูดซับความรู้ได้ภายในระยะเวลาสั้นๆ ทำให้เกิดความรู้สึกดีต่อการเรียนและอยากจะเรียนเพิ่มอีก

ในขณะที่ข้อเสียก็คือการเรียนรู้ด้วยคลิปวิดีโอสั้นบ่อยๆ จะทำให้ไม่มีความอดทนต่อความรู้ที่ต้องใช้เวลานานกว่านั้น หรืออาจจะได้ข้อมูลผิดๆ

วิดีโอสั้นประเภทให้ความรู้หลายคลิปโดยเฉพาะวิชาอย่างประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือภูมิรัฐศาสตร์ มีแนวโน้มสูงที่ข้อมูลจะผิด

บริษัท News Guard บอกว่าข้อมูลผิดๆ สามารถไหลเวียนอยู่บนโซเชียลเน็ตเวิร์กได้ในระดับที่สูงจนน่าตกใจ โดยเฉพาะโซเชียลเน็ตเวิร์กที่เป็นที่นิยมในหมู่ผู้ใช้อายุ 13-24 ปี

อีกเทรนด์หนึ่งที่ AFP บอกว่าชวนให้กังวลใจเป็นอย่างมากก็คือการที่เด็กรุ่นใหม่ใช้แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นนี้แทนการใช้งานเสิร์ชเอนจิ้นไปแล้ว

ตัวเลขจาก McGraw Hill ผู้พิมพ์หนังสือเรียนระบุว่านักเรียน 3 ใน 4 คนในสหรัฐหันไปพึ่งโซเชียลเน็ตเวิร์กในการหาข้อมูลการเรียน

โดยที่เกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ อธิบายว่าการเรียนบนโซเชียลเน็ตเวิร์กช่วยให้พวกเขาเรียนได้ดีขึ้นกว่าวิธีเรียนตามปกติ

ไม่ใช่แค่เรื่องเรียนเท่านั้นนะคะ แต่วิดีโอสั้นยังได้กลายเป็นแหล่งข่าวสำหรับคนยุคปัจจุบันไปแล้วด้วยเหมือนกัน ผู้ใช้งาน TikTok ในสหรัฐเริ่มติดตามข่าวสารผ่านรูปแบบวิดีโอสั้นมากขึ้น ถึงจะยังไม่ใช่ตัวเลขที่สูงปรี๊ด แต่ก็พอจะทำให้เราได้เห็นว่าเทรนด์กำลังมาโดยที่เทรนด์เดียวกันนี้ก็เกิดขึ้นในอังกฤษอีกด้วย

TikTok เป็นหนึ่งในไม่กี่แอพพ์ที่ผู้ใช้เลือกใช้เพื่อติดตามข่าวสารต่างๆ เพิ่มมากขึ้นโดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ใช้อายุไม่ถึง 30 ปี ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องเกิดคาดเลย

สิ่งที่น่าสนใจคือเปอร์เซ็นต์ของการติดตามข่าวผ่าน TikTok นั้นลดน้อยลงเรื่อยๆ ตามอายุของผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้น

มีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้ในวัย 30-49 ปี 4 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้ในวัย 50-64 และ 1 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้ในกลุ่มวัย 65 ปีขึ้นไปเท่านั้น ที่เสพข่าวผ่านช่องทางนี้ ซึ่งฉันคิดว่าก็คงเป็นเพราะกลุ่มคนในวัยเหล่านี้มีเสิร์ชเอนจิ้น หรือช่องทางการเสพข่าวบนอินเตอร์เน็ตที่ใช้เป็นช่องทางหลักมานานแล้ว และคงจะไม่เปลี่ยนง่ายๆ

แม้กระทั่ง Google เองก็ออกมายอมรับว่าคนรุ่นใหม่ใช้ Google ในการเสิร์ชข้อมูลน้อยลงมาก

40 เปอร์เซ็นต์ของคนอายุ 18-24 ปีในสหรัฐหันไปใช้ Instagram กับ TikTok เสิร์ชหาสิ่งที่พวกเขาต้องการแทน นอกจาก Google Search แล้ว บริการอย่าง Google Maps ที่เรามองว่าเป็นสิ่งที่คนปัจจุบันขาดไปไม่ได้แน่ๆ ก็เริ่มเสื่อมความนิยมลงในกลุ่มคนวัยนี้ด้วยเหมือนกัน

Google พูดเองเลยว่าสาเหตุที่คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยใช้ Google Maps แล้วก็เพราะคนในวัยนี้ไม่เคยได้สัมผัสแผนที่แบบกระดาษมาก่อนในชีวิต ซึ่ง Google Maps เองนั้นเกิดขึ้นจากแนวคิดแบบแผนที่กระดาษที่เปลี่ยนให้มาอยู่ในรูปแบบดิจิทัล ดังนั้น จึงเป็นรูปแบบที่คนเจเนอเรชั่นก่อนยังพอจะคุ้นเคยอยู่

ในขณะที่เด็กรุ่นใหม่ต้องการอะไรที่เห็นภาพชัดกว่านั้น แพลตฟอร์มอย่าง Instagram และ Snapchat จับเทรนด์ได้ทันจึงฝังฟีเจอร์การนำทางไปยังสถานที่ต่างๆ ที่ผู้ใช้ต้องการ อย่างเช่น ร้านอาหารฮิปๆ เอาไว้ในแพลตฟอร์มตัวเองเลย

อยากไปคาเฟ่ร้านไหนก็กดเสิร์ชหาบน Instagram เสิร์ชเจอปุ๊บก็กดให้นำทางได้เลยแบบที่ไม่ต้องเสียเวลาไปเปิด Google Search หรือ Google Maps อีกแล้ว

ถึงจะไม่ใช่สิ่งที่คนเจเนอเรชั่นก่อนคุ้นเคย แต่ฉันก็คิดว่าการที่คนสมัยนี้หยิบเครื่องมือใหม่ๆ มาใช้เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์เดียวกันก็เป็นเรื่องที่แสนจะธรรมดาพอๆ กับที่เจนก่อนหน้าก็เปลี่ยนจากการหาข้อมูลในห้องสมุดมาอยู่บน Google กันหมด หรือแทบจะเลิกเสพข่าวผ่านหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ แล้วหันมาอ่านข่าวตามหน้าฟีด Facebook แทน

แน่นอนว่าในช่วงเปลี่ยนผ่านก็มีความกังวลเรื่องความถูกต้องของข้อมูลที่เราค้นหาได้จาก Google ไม่ต่างอะไรจากข้อมูลผิดๆ ที่อาจแฝงอยู่ในวิดีโอสั้น

ฉันคิดว่าสิ่งสำคัญคือเจ้าของแพลตฟอร์มเหล่านั้นจะต้องตระหนักถึงภารกิจในการช่วยแยกแยะข้อมูลเท็จออกจากข้อมูลจริงให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยคัดกรอง ไปจนถึงการเปิดให้ผู้ใช้งานช่วยกันรีพอร์ตข้อมูลผิดๆ

ส่วนผู้ใช้งานที่เลือกหาความรู้จากวิดีโอสั้นก็จะต้องทำความเข้าใจว่าวิดีโอสั้นไม่ควรเป็นช่องทางหลักหรือช่องทางเดียวที่เราจะใช้ในการเรียนรู้ ความรู้ไหนเหมาะกับการดูวิดีโอสั้นๆ ก็ดูสั้นๆ ไป แต่ความรู้ไหนต้องใช้เวลาในการอธิบาย ทำความเข้าใจ หรือต้องการผู้รู้ที่เราจะสามารถถามและถกเถียงได้ ก็ควรเลือกใช้ช่องทางการเรียนรู้อื่นๆ ที่เหมาะสมกว่า

เว้นแต่วันไหนที่ไม่มีเวลาจริงๆ การเก็บเล็กผสมน้อยความรู้จากวิดีโอสั้นที่ข้อมูลถูกต้องก็ดีกว่าไม่ได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเลย