โลกไม่เหมือนเดิม…

ทวีศักดิ์ บุตรตัน
PHOTO : Phil Noble/Pool via AP

โลกไม่เหมือนเดิม

 

รายงานว่าด้วยการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติชิ้นล่าสุดเพิ่งนำออกมาเผยแพร่ สรุปให้เห็นว่า โลกวันนี้จะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป

อนาคตข้างหน้ามีแต่ทางเดินสู่หายนะถ้าชาวโลกไม่ร่วมกันควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

อุณหภูมิบนผิวโลกขณะนี้เพิ่มขึ้น 1.1 องศาเซลเซียส ก่อให้เกิดผลลัพธ์อันเลวร้าย ช่วงระหว่างปี 2553-2563 ผู้คนเสียชีวิตจากอากาศร้อนจัด จากเหตุพายุและน้ำท่วมมีสถิติเพิ่มขึ้นถึง 15 เท่า

อุณหภูมิในประเทศต่างๆ อย่างเช่นที่ประเทศอังกฤษ เมื่อเดือนกรกฎาคม สูงกว่า 40 ํC หรืออุณหภูมิในฤดูร้อนที่ปากีสถาน จีน ก็ทำลายสถิติเดิมเช่นกัน

การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ มีผลต่อสุขภาพโดยตรง ยิ่งอากาศร้อนขึ้น ยิ่งทำให้ระบบการหายใจ การหมุนเวียนเลือดเปลี่ยนตาม ทำให้สุขภาพย่ำแย่ เสี่ยงกับการเป็นฮีตสโตรก

ประชากรโลกราว 40 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งหมด กำลังถูกผลักให้เข้าไปสู่ห้วงของการปรับตัวรับมือกับภัยธรรมชาติที่เพิ่มความรุนแรง

แหล่งปะการังซึ่งเป็นห่วงโซ่อาหารของโลก กำลังตกอยู่ในสภาพตายซากจากน้ำทะเลที่มีอุณหภูมิร้อนขึ้น การถล่มของธารน้ำแข็งทั่วโลก

 

แนวโน้มระบบนิเวศน์เปลี่ยนเช่นนี้ จะทำให้สังคมและวัฒนธรรม ภาษาเปลี่ยนตามไปด้วย การใช้ชีวิต การอยู่ร่วมกันในสังคมจะไม่เหมือนเดิม

ถ้าอุณหภูมิผิวโลกขยับไปอยู่ที่ 1.7 ํC เมื่อเทียบกับก่อนยุคปฎิวัติอุตสาหกรรม 170 ปีที่แล้ว คาดว่าชาวโลกราวครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด หรือเฉียดๆ 4 พันล้านคนจะอยู่ภายใต้สภาวะอากาศที่เลวร้ายอย่างสุดๆ

เช่นเดียวกับสัตว์ป่าและพันธุ์พืชราว 14% อาจจะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศแปรปรวน

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกเผยสถิติในช่วงวิกฤตโรคโควิดระบาดอย่างรุนแรง แต่ปริมาณความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศโลกกลับเพิ่มขึ้นทะลุสู่ระดับสูงสุดทุบสถิติในปี 2564

เทียบกับปี 2563 ความเข้มข้นของก๊าซมีเทนเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 1,908 ppm. (หนึ่งส่วนในล้านส่วน) แต่ถ้าเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ปริมาณก๊าซมีเทนเพิ่มขึ้น 262%

ส่วนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลกมีความเข้มข้น 415.7 ppm. เพิ่มขึ้นมากกว่าอัตราเฉลี่ยในช่วง 10 ปีก่อน

 

7 กลุ่มประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดติดอันดับโลกได้แก่ จีน สหภาพยุโรป อินเดีย อินโดนีเซีย บราซิล รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา

ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกลุ่มประเทศนี้ คิดเป็นสัดส่วน 55% ของปริมาณการปล่อยก๊าซพิษทั้งโลก

ก่อนหน้านี้กลุ่มประเทศร่ำรวย จี 20 เคยประกาศว่าจะลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล คุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เหลือ 1.3 กิ๊กกะตันในปี 2564 แต่ทำไม่ได้ตามเป้า

กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร เช่น โรงงานผลิตปุ๋ยเคมี มีส่วนสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปริมาณ 18 กิ๊กกะตัน หรือ 1 ใน 3 ของจำนวนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งโลก (ระหว่างปี 2553-2562 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งโลกเฉลี่ยปีละ 54.4 กิ๊กกะตัน)

อีกตัวเลขที่สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศหรือไออีเอ แฉออกมาว่า ปีนี้บริษัทผลิตน้ำมันและก๊าซยักษ์ใหญ่ กวาดกำไรสุทธิมหาศาลมูลค่ากว่า 4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

ตัวเลขทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า ชาวโลกยังใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลต่อไป ไม่แยแสกับเสียงเรียกร้องให้ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกเลย ทั้งที่เป็นต้นเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

ในสัปดาห์หน้า ระหว่างวันที่ 6-18 พฤศจิกายน บรรดาผู้นำจากทั่วโลกราว 200 ประเทศ รวมทั้งตัวแทนจากไทยจะไปประชุมเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือเรียกกันย่อๆ ว่า COP 27 ที่เมืองชาร์ม เอล เชค ประเทศอียิปต์

ประเด็นหลักที่จะถกกันมีอยู่ 3 เรื่อง

การลดปริมาณการปล่อยก๊าซพิษ, วิธีการปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และจัดหาแหล่งเงินทุน สนับสนุนเครื่องไม้เครื่องมือให้กับประเทศกำลังพัฒนาเพื่อสู้กับวิกฤตการณ์ทางธรรมชาติ

วิธีลดการปล่อยก๊าซพิษ มีหลายวิธีที่ชาวโลกเร่งมือทำได้และจะช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อน เช่น การใช้พลังงานสะอาด พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวมวล ในการผลิตกระแสไฟฟ้าแทนการใช้ถ่านหิน ก๊าซและน้ำมัน

เร่งรณรงค์ให้ชาวโลกใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าแทนรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในให้มากขึ้น รณรงค์ปลูกต้นไม้ให้มากขึ้น โค่นต้นไม้ให้น้อยลง

เมื่อปีที่แล้ว ในการประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ มีการหารือว่าจะแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยการเลิกใช้ถ่านหิน ลดการปล่อยก๊าซพิษให้ได้ 50% ของปริมาณที่ปล่อยในขณะนั้น ประเทศร่ำรวยจะระดมเงินช่วยประเทศยากจนที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเดินทางไปร่วมประชุม COP26 ร่วมกับผู้นำทั่วโลกด้วย

นายกฯ ประยุทธ์ประกาศบนเวทีว่าประเทศไทยให้ความสำคัญสูงสุดกับการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะภารกิจนี้คือความเป็นความตายของโลกและอนาคตของลูกหลาน

ผู้นำอีกหลายๆ ประเทศประกาศศักดาว่าจะช่วยคุมไม่ให้อุณหภูมิโลกพุ่งทะลุ 1.5 ํC

แต่ท้ายสุดตัวเลขปริมาณก๊าซพิษที่ทั่วโลกปล่อยออกมาทำลายสถิติ แม้กระทั่งในบ้านเราเอง ยังไม่มีวี่แววว่าจะเดินหน้าผลักดันการใช้พลังงานสะอาดอย่างเห็นผลในเร็ววัน

เมืองใหญ่ๆ ไม่ว่า กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น มีการจราจรติดขัด รถยนต์ยังเป็นเครื่องยนต์สันดาปภายใน มีรถอีวีในสัดส่วนน้อยนิด ปัญหาฝุ่นพิษ pm 2.5 เป็นปัญหาของชาวเมืองทุกปี

 

เป้าหมายที่วางไว้ในเวที COP26 ไปไม่ถึงไหน ประเทศร่ำรวยไม่ได้ให้เงินช่วยประเทศพัฒนาอย่างที่คุยโม้

การขับเคลื่อนเทคโนโลยีพลังงานสะอาดชักช้าอืดอาดจนดูเหมือนว่ากลุ่มผู้ผลิตรถยนต์และเครื่องจักรอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเดิมๆ ยังแทงกั๊กไม่ต้องการให้ชาวโลกเปลี่ยนโหมดหันมาใช้พลังงานอื่นๆ ทดแทนพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลเพราะไม่ถึงจุดคุ้มทุน

ในขณะที่ทุกประเทศต่างดิ้นสู้กับภัยเศรษฐกิจ ภาวะเงินเฟ้อ คนว่างงาน แถมในยุโรป ปั่นป่วนเพราะมีสงครามรัสเซีย ยูเครน ผู้คนอพยพหนีตาย พลังงานขาดแคลน ราคาสินค้าแพงขึ้น การให้ความสำคัญกับภาวะโลกร้อนถดถอยลง

แม้ “อันโตนิโอ กูเตอร์เรส” เลขาธิการยูเอ็น ออกมาย้ำเตือนครั้งแล้วครั้งเล่าว่า การปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศโลกยังสูงอยู่ในระดับอันตราย ทุกคนต้องเร่งแก้ปัญหาก่อนที่สภาพอากาศทั่วโลกจะเข้าสู่ขั้นเลวร้ายอย่างสุดๆ

การประชุม COP27 ครั้งนี้ ถ้าไม่มีผลลัพธ์เป็นรูปธรรม ไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ให้ใช้ชีวิตสอดรับกับความเป็นธรรมชาติเหมือนในอดีต โลกใบนี้จะเจอธรรมชาติเล่นงานกลับรุนแรงเป็นลำดับอย่างแน่นอน

ในรายงานของยูเอ็นระบุว่า ถ้าไม่เร่งปรับตัวเปลี่ยนพฤติกรรมและใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเร่งแก้ปัญหาโลกร้อน ปลายศตวรรษชาวโลกจะเห็นอุณหภูมิผิวโลกสูงขึ้นถึง 2.8 ํC

ถึงเวลานั้น คงเดากันออกว่าคนทั้งโลกจะมีชีวิตอยู่อย่างทุกข์ยากแสนสาหัสขนาดไหน? •

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]