รามานุชาจารย์ | ปราชญ์ผู้นอบน้อมบนวิถีแห่งศรัทธา (1) : ผี พราหมณ์ พุทธ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

รามานุชาจารย์ : ปราชญ์ผู้นอบน้อมบนวิถีแห่งศรัทธา (1)

 

“พรหมันอันสูงสุด ซึ่งสามารถรู้จักได้ด้วยคำสอนแห่งพระเวทนี้คือพระนารายณ์ พระองค์อยู่ตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับความชั่วร้ายทั้งหลาย ทรงพ้นไปจากโลกและทรงเป็นเอกภาวะ ในธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ พระองค์ทรงไว้ซึ่งสรรพพัญญุตาคุณและบรมสุขไม่มีประมาณ พระองค์เป็นห้วงมหาสมุทรแห่งมังคลาธิคุณนับไม่ถ้วน ซึ่งล้วนดีเลิศและแนบเนื่องสัมพันธ์กันอย่างไร้ขอบเขต”

 

เวทารถะสังเคราะห์ของรามานุชะ

วันพฤหัสบดีขึ้นห้าค่ำ เดือนไจตระ ปีคริสต์ศักราช1017 หลังศังกราจารย์สิ้นชีพไปหลายร้อยปี ณ เมืองศรีเปรุมพุทุร์ (Sriperumbudur) รัฐทมิฬนาฑูในปัจจุบัน กานติมตีได้คลอดบุตรชาย “รามานุชะ” (Ramanuja) ซึ่งแปลว่า “น้องชายของพระราม” ด้วยเหตุนี้สานุศิษย์ผู้นับถือจึงเชื่อกันว่า รามานุชะเป็นพระลักษมณ์อวตารลงมาเพื่อสั่งสอนธรรมแห่งไวษณวะนิกาย

ในเวลาไล่เลี่ยกันนั้น มหาเทวีน้องสาวของกานติมตีก็ได้ให้กำเนิดโควินทะ ในอนาคตทั้งรามานุชะและโควินทะจะได้กลายมาเป็นเพื่อนที่ใกล้ชิดกันนอกเหนือจากความเป็นลูกพี่ลูกน้อง

แม้รามานุชะจะเกิดในตระกูลพราหมณ์อันสูงส่ง แต่ที่สูงส่งยิ่งกว่าคือความอ่อนน้อมอันดูเหมือนเป็นธรรมชาติของตัวเขา เมื่ออายุยังน้อยได้เข้าเรียนกับอาจารย์ผู้มีชื่อเสียง “ยาฑวประกาศ” ซึ่งว่ากันว่าเชี่ยวชาญในปรัชญาของศังกราจารย์อย่างยิ่ง (แต่นักวิชาการรุ่นหลังคิดว่าอาจเป็นอีกสำนักที่เรียก เภทาเภทะ)

ตัวรามานุชะถูกครอบครัวจัดแจงให้แต่งงานเมื่ออายุได้สิบหกปี ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้แสดงออกว่าสนใจโลกิยะ

หลังแต่งงานได้ไม่นานนักเกศวาจารย์ผู้บิดาก็เสียชีวิต นั่นทำให้รามานุชะรู้สึกเศร้าอยู่เสมอและเริ่มเห็นว่าชีวิตทางโลกมิได้มีสิ่งใดที่น่ารื่นรมย์

จากนั้นก็กลับไปเรียนกับยาฑวประกาศอีก

ด้วยหลักการที่ยาฑวประกาศยึดถือ หรือจะด้วยความหยิ่งผยองในตนเองก็ตาม อาจารย์ผู้นี้ไม่ค่อยกล่าวสรรเสริญพระเป็นเจ้าหรือกล่าวถึงพระองค์ในทางที่ดีนัก แม้รามานุชะจะไม่ชอบท่าทีของอาจารย์ก็ทำได้เพียงเก็บไว้ในใจ

วันหนึ่ง ขณะที่รามานุชะกำลังบีบนวดไหล่ให้อาจารย์ซึ่งกำลังสอนศิษย์คนอื่นไปด้วย ยาฑวประกาศหยิบยกประโยคจากฉานโทคยะอุปนิษัทมาอธิบายถึงคุณลักษณะของพระเจ้า “ดวงเนตรของพระสุวรรณบุรุษ ดุจกลีบบัว ซึ่งแดงดั่งตูดลิง”(ตสฺย ยถา กปฺยาสมฺปุณฺฑริกาเม วามากฺษิณี…)

ท่านตีความคำว่า “กปฺยาสมฺ” ว่าตูดลิง

ได้ยินคำหยามเหยียดพระเจ้าเช่นนั้น รามานุชะสะเทือนใจจนน้ำตาร่วงตกลงบนไหล่ของอาจารย์ ยาฑวะแหงนหน้าขึ้นดูและถามศิษย์รักของตนว่า เหตุใดเขาจึงร้องไห้เช่นนี้

รามานุชะตอบว่า “เพราะศิษย์ได้ยินคำอันไม่เหมาะสมจากท่านอาจารย์ เหตุใดเราจึงกล่าวถึงนัยเนตรของพระเจ้าผู้สูงส่งด้วยสิ่งต่ำช้าอย่างตูดลิงกันเล่า”

ได้ยินเช่นนั้น ยาฑวะก็รู้สึกฉุนเฉียวเล็กน้อยและท้าทายให้รามานุชะอธิบายใหม่ตามที่เขาเห็นว่าเหมาะสม

“กปฺยาสมฺ คำนี้ควรแยกและตีความใหม่ ข้าพเจ้าตีความตามรากคำได้ว่า ‘อันเบ่งบานด้วยแสงอาทิตย์’ ดังนั้น มนต์ข้างต้นจึงควรแปลว่า ‘ดวงเนตรของพระสุวรรณบุรุษ ดุจกลีบบัว อันเบ่งบานดีแล้วด้วยแสงอาทิตย์’ ดังนี้แล”

แม้จะไม่ยอมรับว่าคำอธิบายนั้นถูกต้อง แต่ยาฑวะก็ชมเชยในปฏิภาณของรามานุชะ ทั้งที่ในใจยังคงขุ่นเคืองอยู่ไม่น้อยที่ศิษย์รักกล้าท้าทายตนต่อหน้าคนอื่น

 

อีกหลายต่อหลายครั้งที่รามานุชะแสดงให้เห็นความเฉลียวฉลาดอย่างพิเศษและแสดงทัศนะขัดแย้งกับอาจารย์ โดยไม่ทันรู้ตัวว่าได้ทำให้อาจารย์สั่งสมความไม่พอใจต่อตนเองทีละนิด จนกลายเป็นความขุ่นเคืองใหญ่หลวง

วันหนึ่ง ยาฑวะรู้สึกต้องกำจัดศิษย์คนนี้ออกไป เพราะหากรามานุชะยังคงแสดงทัศนะที่ขัดแย้งกับตนต่อ ก็รังแต่จะทำให้ศิษย์คนอื่นหมดความนับถือ เขาประชุมลับๆ กับศิษย์ใกล้ชิด วางแผนชวนทุกคนเดินทางไปแสวงบุญยังแม่น้ำคงคาและตั้งใจจะลวงรามานุชะไปฆ่าทิ้งเสียในป่าระหว่างทาง

โควินทะบังเอิญทราบเรื่องนี้เข้าจึงนำไปบอกรามานุชะ ทว่า ทั้งคู่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร รามานุชะคิดเพียงว่าพระเป็นเจ้าคงไม่ปล่อยให้เขาตายดอกกระมัง

และแล้ววันเดินทางก็มาถึง รามานุชะร่วมทางไปกับคนอื่นๆ ในสำนักโดยไม่มีพิรุธ แต่ไม่นานเขาก็พลัดหลงกับคนอื่นๆ ในป่ากว้าง รามานุชะเดินวนไปมาจนเหนื่อยอ่อน ใกล้มืดลงทุกขณะ แต่จู่ๆ ก็มีชาวป่าผัวเมียปรากฏต่อหน้า สองสามีภรรยานั้นหาข้าวปลาให้กิน ชวนให้เขาพักผ่อน และในยามรุ่งเช้าก็พาเขาออกจากป่าได้สำเร็จ

ด้วยเหตุนี้ เขาจึงรอดจากแผนร้ายรวมทั้งรอดชีวิตจากป่าด้วย รามานุชะจึงเชื่อว่าสองผัวเมียชาวป่าต้องไม่ใช่คนธรรมดาแน่ แต่คงเป็นองค์พระนารายณ์และพระแม่ลักษมีที่เสด็จมาช่วยสาวกผู้ต่ำต้อยของพระองค์เอาไว้

เขาเดินออกจากป่ามาถึงเมืองกาญจีปุรัมอันเป็นบ้านเดิมของมารดา กานติมตีซึ่งตกอกตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่อย่างน้อยรามานุชะก็ปลอดภัยและได้พักอยู่บ้านจนกลุ่มของยาฑวประกาศกลับมา ซึ่งทั้งหมดทำเสมือนไม่มีอะไรทั้งสิ้น

ในเมืองกาญจีปุรัม รามานุชะเริ่มรับใช้เทวรูปพระนารายณ์ “วรทราชาเปรุมาล” เขาใช้เวลาปรนนิบัติเทวรูปและกลับไปร่ำเรียนกับยาฑวประกาศต่ออีก เมื่อยมุนาจารย์เดินทางมาแสวงบุญยังกาญจีปุรัมก็ได้พบกับรามานุชะในเมืองนี้เอง

วันหนึ่งพระธิดาของพระราชาแห่งกาญจีปุรัมถูกผีเข้า ยาฑวประกาศในฐานะอาจารย์ผู้รู้ด้านมนตรศาสตร์ถูกเชิญเข้าวังเพื่อประกอบพิธีไล่ผี รามานุชะก็ติดตามเข้าไปด้วย

เจ้าผีตนนั้นบอกว่าตนเองเป็น “พรหมรากษส” หรือดวงวิญญาณพราหมณ์ที่กระทำผิด แต่มันไม่ยอมรับว่า ยาฑวประกาศจะมีอำนาจเหนือมันได้ ทั้งยังเย้ยหยันว่า “ในอดีต เจ้าเป็นเพียงตะกวดที่ไปกินเศษอาหารของบรรดานักแสวงบุญ เผอิญพวกเขาประพรมน้ำและสวดสรรเสริญพระเจ้าลงบนอาหาร ด้วยอานิสงส์นั้นจึงได้บังเกิดเป็นมนุษย์ในชาตินี้”

“ในบรรดาศิษย์ของยาฑวะ มีรามานุชะคนเดียวซึ่งเป็นผู้มีบุญญาธิการ มีจิตใจบริสุทธิ์และมีปัญญา แม้เพียงเขานำเท้าวางบนศีรษะของเจ้าหญิง เราก็จะยอมออกจากร่างนี้ไปทันที” รามานุชะจึงถูกขอร้องให้วางเท้าลงบนพระเศียรของเจ้าหญิง พลันกิ่งไม้ด้านนอกก็หักลงเป็นสัญญาณให้รู้ว่าพรหมรากษสออกจากร่างไปแล้ว

ชื่อเสียงของเด็กหนุ่มคนนี้ก็โด่งดังไปทั่วเมือง ยาฑวประกาศสุดจะทนได้อีกต่อไปจึงขับรามานุชะออกจากสำนัก

 

ในเมืองกาญจีปุรัมยังมีศูทรคนหนึ่งนามว่ากาญจีปูรณะ เพียบพร้อมไปด้วยคุณลักษณะแห่งปราชญ์ มีจริยวัตรอันงาม มีความรักภักดีในพระนารายณ์สุดหัวใจ รามานุชะผู้เป็นพราหมณ์จึงขอฝากตัวเป็นศิษย์ของเขา แต่กาญจีปูรณะไม่อาจยอมรับพราหมณ์เป็นศิษย์ เพราะเห็นว่าตนนั้นต่ำต้อยกว่า

กระนั้นทั้งสองคนก็มีมิตรภาพและความเคารพต่อกันอย่างลึกซึ้ง รามานุชะนับถือกาญจีปูรณะอย่างที่สุดและใช้เวลาด้วยกันในการปรนนิบัติพระเจ้า ทุกๆ เช้ารามานุชะจะแบกหม้อน้ำปีนขึ้นบันได้หลายขั้นเพื่อใช้โสรจสรงพระวรทราชาเปรุมาล

บันไดดังกล่าวยังคงได้รับการสักการบูชาจนทุกวันนี้

ก่อนที่ยมุนาจารย์จะสิ้นใจ ท่านระลึกถึงรามานุชะและมีสิ่งที่ต้องการจะสั่งเสีย จึงให้มหาปูรณะศิษย์ของตนไปตาม ทว่า สายไปเสียแล้ว รามานุชะมาไม่ทัน ทว่า เมื่อเห็นร่างของยมุนาจารย์มีนิ้วมืองอติดแน่นกับฝ่ามือ รามานุชะรับรู้โดยส่วนลึกของจิตใจว่ายมุนาจารย์ยังมีห่วงอะไร จึงเอ่ยขึ้น

“ในฐานะไวษณวะ ข้าพเจ้าจะปกป้องผู้คนจากการลวงหลอกแห่งอวิชชา จะมอบสัมสการทั้งห้าแก่เขา ทำให้พวกเขาได้อ่านพระเวทแห่งทมิฬ และนับถือพึ่งพิงในองค์พระนารายณ์” กล่าวดังนั้นนิ้วแรกของยมุนาจารย์ก็คลายออก

“ข้าพเจ้าจักเขียนอรรถาธิบายพรหมสูตรในนาม ‘ศรีภาษยะ’ เพื่อความผาสุกของผู้คน อันจะนำไปสู่ความดีและสถาปนาความรู้แห่งสัจธรรมที่มั่นคง” นิ้วที่สองของยมุนาจารย์ก็คลายลง

“เพื่อชดใช้พระคุณของพระมุนีปราศระ ผู้ประพันธ์วิษณุปุราณะ อันเป็นรัตนมณีท่ามกลางปุราณะทั้งหลาย ปุราณะอันชี้บอกธรรมชาติอันกระจ่างแจ้งแห่งอีศวร ชีวาตมันและโลก ข้าพเจ้าจักมอบนามของพระปราศระเฉพาะแก่ปราชญ์ไวษณพผู้เหมาะสม”

กล่าวดังนั้นแล้ว นิ้วมือสุดท้ายของยมุนาจารย์ก็คลายออก

(โปรดติดตามต่อ) •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง