‘รัฐหริภุญไชยสมัยพระนางจามเทวี’ ในมุมมองของ ‘ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สุรพล ดำริห์กุล’

เพ็ญสุภา สุขคตะ

‘รัฐหริภุญไชยสมัยพระนางจามเทวี’ ในมุมมองของ ‘ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สุรพล ดำริห์กุล’

 

เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดกิจกรรมเสวนาทางวิชาการว่าด้วยเงื่อนงำต่างๆ ที่เป็นปมปริศนาเกี่ยวกับ “พระนางจามเทวี” ในทุกมิติ ไม่ว่าเรื่องเชื้อสายชาติพันธุ์ สถานที่ประสูติ รวมไปถึงอายุสมัยของเหตุการณ์จริงทางประวัติศาสตร์ (บนข้อสมมุติฐานที่เชื่อว่าเรื่องราวของพระนางไม่ได้เป็นแค่ตำนานเท่านั้น หากควรเป็นเรื่องที่มีอยู่จริง)

วิทยากรท่านแรกที่เปิดประเด็นเสวนาในวันนั้นคือ “ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สุรพล ดำริห์กุล” อดีตอาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ท่านได้นำเสนอหัวข้อเสวนาเรื่อง “ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมหริภุญไชยยุคต้น เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมทวารวดีจากที่ราบลุ่มเจ้าพระยา”

บทสรุปที่ได้จากการเสวนามีสองประเด็นหลักๆ ที่น่าสนใจยิ่ง ประเด็นแรก รัฐหริภุญไชยเป็นรัฐที่เกิดจาก “การก้าวกระโดด” หรือถูกกระตุ้นจากปัจจัยภายนอก มิใช่เกิดจากพัฒนาการภายในของสังคมตนเองอย่างต่อเนื่อง

ประเด็นที่สองคือ อายุการก่อเกิดของรัฐหริภุญไชยสมัยพระนางจามเทวี ไม่ว่าจะพิจารณาจากหลักฐานด้านใด ทั้งการขุดค้นทางโบราณคดี และทั้งรูปแบบงานพุทธศิลป์ ล้วนสอดคล้องต้องตรงกันว่า ไม่เก่าถึงพุทธศตวรรษที่ 13 อันเป็นตัวเลขที่ระบุไว้ในตำนาน ทว่าควรมีอายุหย่อนลงมาอีกราวหนึ่งศตวรรษเศษๆ

อาจารย์สุรพลได้นำเสนอหลักฐานเกี่ยวกับรัฐหริภุญไชยตอนต้นไว้ 3 ด้าน

ด้านแรก คือข้อมูลจากเอกสารตำนาน

ด้านที่สอง ผลการขุดค้นทางโบราณคดีที่เชื่อถือได้เพราะมีการพิสูจน์แล้วตามหลักวิทยาศาสตร์

และด้านที่สาม การศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบศิลปะของหริภุญไชยกับทวารวดีทางภาคกลาง

ตำนานสามเล่มกับจุดเริ่มต้นของตัวตนพระนางจามเทวี

อาจารย์สุรพลได้กล่าวว่าเรื่องราวของพระนางจามเทวีที่คนรู้จักกันนั้นมีจุดกำเนิดมาจากเอกสารสามเล่มหลักๆ เหล่านี้ 1.ตำนานมูลศาสนา 2.จามเทวีวงส์ 3.ชินกาลมาลีปกรณ์ ทั้งสามเล่มเขียนในยุคล้านนาราว 500 กว่าปีก่อน ส่วนเอกสารอื่นๆ เช่น ตำนานพระธาตุหริภุญไชย กับพงศาวดารโยนก ยังถือว่าเป็นเอกสารชั้นหลังกว่า

เนื้อหาโดยสรุปของตำนานทั้งสามเล่มนี้กล่าวตรงกันว่า ฤๅษีวาสุเทพได้สร้างเมืองหริภุญไชย (ลำพูน) เมื่อปี พ.ศ.1204 หลังจากนั้นอีก 2 ปีมีการอัญเชิญพระนางจามเทวี ราชธิดาแห่งเมืองละโว้ ให้เสด็จมาปกครอง โดยพระนางจามเทวีมีพระราชสวามีนาม เจ้าชายรามราช เป็นอุปราชอยู่เมืองรามบุรี

จุดนี้มีข้อสงสัยว่า พระนางจามเทวีควรเป็นธิดาจริงของกษัตริย์ละโว้ (พระเจ้าจักรวรรดิวัติ) หรือควรเป็นธิดาสะใภ้กันแน่? หากตีความว่า เจ้าชายรามราชมีสถานะเป็นอุปราชแห่งกรุงละโว้ ก็ควรหมายความว่าพระองค์น่าจะเป็นพระราชโอรสของกษัตริย์ละโว้ด้วยใช่หรือไม่?

“น่าสงสัยว่า ระบบวิธีการจดจำเรื่องราวของคนเมื่อพันกว่าปี ถูกนำมาบันทึกใหม่ในยุคล้านนา ซึ่งห่างจากเหตุการณ์ในอดีตนานถึง 700-800 ปีนั้น คนโบราณเขาสืบสอดกันได้อย่างไร?”

ส่วนเรื่องราวในตำนานเหล่านี้จะน่าเชื่อถือหรือไม่น่าเชื่อถือ ก็สุดแท้แต่วิจารณญาณของแต่ละบุคคล ยิ่งในระยะหลังๆ เริ่มมีตำนานที่เน้นความศรัทธาในท้องถิ่นต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งก็ไม่ว่ากัน เพราะทำให้เกิดการค้นคว้าอะไรใหม่ๆ ตามมา

หลักฐานอีกด้านที่นักวิชาการให้ความเชื่อถือมากที่สุดคือ “ศิลาจารึก” แต่ก็น่าเสียดายที่ศิลาจารึกอักษรมอญโบราณ 8-9 หลักในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย มีอายุเก่าสุดแค่พุทธศตวรรษที่ 16-17 เท่านั้น

จารึกเหล่านี้จึงไม่ได้ช่วยทำให้เรื่องราวเกี่ยวกับพระนางจามเทวีกระจ่างชัดเท่าใดนัก แค่ช่วยประกอบบริบททางประวัติศาสตร์หริภุญไชยในรัชกาลหลังๆ มากกว่า

รัฐหริภุญไชยคือ “สังคมก้าวกระโดด”?

เหตุไรอาจารย์สุรพลจึงกล่าวเช่นนี้ ท่านอธิบายว่า

“การเสด็จมาจากกรุงละโว้สู่หริภุญไชยของพระนางจามเทวีทางลำน้ำปิง พร้อมด้วยข้าราชบริพาร ไพร่พลจำนวนมหาศาล ตามที่ตำนานระบุไว้ว่า มีเหล่ามหาเถรผู้ทรงปิฎก 500, ชีปะขาว 500, ช่างสลัก 500, ช่างแก้วแหวน 500, พ่อเลี้ยง 500, แม่เลี้ยง 500, หมอโหรา 500, ช่างเงิน ช่างทอง ช่างเหล็ก ช่างเขียน ช่างเวียก (วิศวกรโยธา) อย่างละ 500 ฯลฯ

ทั้งหมดนี้พิจารณาให้ดี เป็นการขนเอาศิลปวิทยาการชั้นสูง หรือเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาสู่ดินแดนตอนในหุบเขาแบบเต็มๆ เลยทีเดียว สะท้อนถึงการเคลื่อนตัวของกลุ่มชนที่เจริญมากแล้วในเขตภาคกลางที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยามาสู่ภาคเหนือตอนบน

ดังนั้น การเกิดขึ้นของแคว้นหริภุญไชยจึงเป็นลักษณะ “ก้าวกระโดด” จากสังคมชนเผ่า มาสู่สังคมเมือง

เหตุที่คนนอกพื้นที่ได้ขยายเครือข่ายเข้ามาตั้งสถานีทางการค้า แล้วนำวิทยาการสมัยใหม่เข้ามากระตุ้นจนเกิดการพัฒนาแบบพลิกโฉม จากหมู่บ้านสู่เมือง จากเมืองสู่รัฐ ทำให้หริภุญไชยกลายเป็นรัฐขนาดใหญ่แห่งแรกในภาคเหนือตอนบน รวมทั้งมีการรับเอาพระพุทธศาสนานิกายหินยานเข้ามาแทนการนับถือผีอีกด้วย”

คำว่า “ก้าวกระโดด” หมายความเช่นไร? ดินแดนภาคเหนือตอนบนมิได้มีพัฒนาการทางเทคโนโลยีด้วยตัวเองอย่างต่อเนื่องกระนั้นหรือ?

ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายและสังคมโลหกรรม

อาจารย์สุรพลได้อ้างถึงผลการขุดค้นทางโบราณคดีของกรมศิลปากรในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมานี้ ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านยางทองใต้ อ.ดอยสะเก็ด และบ้านสันป่าค่า อ.สันกำแพง สองแห่งนี้อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ หรือที่บ้านวังไฮ ต.เวียงยอง อ.เมืองลำพูน

ทั้งสามแหล่งนี้ทำให้เราทราบว่า ดินแดนลุ่มน้ำปิง-กวงเคยมีชุมชนอาศัยอยู่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายก็จริง แต่ไม่มีพัฒนาการทางเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งการเข้ามาของคนต่างถิ่น

ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจถึงสภาพภูมิศาสตร์ที่เป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตของผู้คนในเขตภาคเหนือตอนบนด้วยว่า ความที่เต็มไปด้วยเขตภูเขาสูง ทำให้มีที่ราบทำการเกษตรน้อยมาก ชั้นดินที่ทำการเพาะปลูกก็ไม่ลึกพอที่จะหมุนเวียนได้หลายครั้ง จำต้องย้ายถิ่นฐานหาที่ทำการเกษตรใหม่ไปเรื่อยๆ ตามแต่ความอุดมสมบูรณ์ของผืนดินที่หาได้ในแต่ละแหล่ง

การดำรงวิถีชีวิตที่คล้ายกับสังคมสมัยบุรพกาลเช่นนี้เอง ย่อมทำให้พัฒนาการของคนแบบชนเผ่าเติบโตยาก เพราะไม่ได้อยู่ถิ่นฐานเดิมเป็นหลักแหล่ง ไม่สามารถขยายหมู่บ้านให้เป็นเมืองได้ ผิดกับสภาพทางภูมิศาสตร์ของภาคกลางและภาคอีสาน ที่มีพื้นที่ราบให้เพาะปลูกอย่างกว้างขวางไม่ต้องอพยพร่อนเร่ไปไหน

ด้วยเหตุนี้ภาคกลางและภาคอีสานจึงเกิดบ้านเมืองขึ้นมากมาย หลังจากที่ผ่านยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายหรือหรือที่เรียกว่า “ยุคโลหะ” ได้ไม่นาน เช่น บ้านเชียงเก่าสุดอายุราว 3,400 ปีที่ผ่านมา ก็เข้าสู่ยุคสุวรรณภูมิที่ร่วมสมัยกับยุคหลังพุทธกาลเล็กน้อย สามารถต่อเชื่อมกับหน้าแรกของสมัยประวัติศาสตร์รัฐเจนละ (ต้นกำเนิดอารยธรรมขอมยุคต่อมา) ได้ลงตัวพอดีกันเลย

ในขณะที่ทางลำพูน-เชียงใหม่ ผู้คนยังใช้ชีวิตแบบดั้งเดิมอยู่อีกยาวนาน ต้องรอแรงกระตุ้นจากภายนอก ในที่นี้หมายถึงการที่ตำนานระบุว่าพระนางจามเทวีได้นำเอาศิลปวิทยาการขึ้นมานั่นเอง

หลักฐานทางโบราณคดี-ประวัติศาสตร์ศิลปะ พุทธศตวรรษที่ 14 คืออายุเก่าสุดของหริภุญไชย

แม้ตำนานจะระบุว่าพระนางจามเทวีเสด็จมาลำพูนปี พ.ศ.1206 แต่ผลการขุดค้นทางโบราณคดีสองครั้งคือปี 2528 โดยกรมศิลปากรที่บริเวณศาลากลางหลังเก่าของลำพูน กับปี 2536 โดยคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่วัดประตูลี้ วัดจามเทวี และวัดพระธาตุหริภุญชัย

ชั้นดินล่างสุดของเมืองลำพูนแทบทุกแห่งพบเศษภาชนะประเภท “หม้อมีสัน” แบบทวารวดีภาคกลาง เมื่อนำไปพิสูจน์ค่าคาร์บอน 14 พบว่าสมัยประวัติศาสตร์ของหริภุญไชยเริ่มต้นแล้วราวปี พ.ศ.1390 + – 70 = เก่าสุดคือปี 1320 หรือไม่เกิน พ.ศ.1460 หมายความว่าอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 14-15

ไม่ต่างไปจากผลการขุดศึกษาทางโบราณคดีที่ใจกลางนครลำปางเมื่อปี 2550 ที่วัดปงสนุก ก็พบร่องรอยอารยธรรมชั้นเก่าสุดของนครเขลางค์ เมืองที่สร้างโดยเจ้าอนันตยศ โอรสแฝดน้องของพระนางจามเทวี ว่ามีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14-15 ร่วมสมัยกับนครหริภุญไชยเมืองแม่หรือเมืองแฝดพี่เช่นเดียวกัน

อนึ่ง วิธีการนับพุทธศตวรรษนับดังนี้ พ.ศ.1-100 = พุทธศตวรรษที่ 1, พ.ศ.101-200 =พุทธศตวรรษที่ 2 ดังนั้น พ.ศ.1320 จึงอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 14

อาจารย์สุรพลมิได้แปลกใจแต่อย่างใดเลยว่า ทำไมชินกาลมาลีปกรณ์จึงระบุว่าฤๅษีวาสุเทพสร้างเมืองหริภุญไชยปี 1204 ซึ่งตรงกับช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 13 เหตุที่เป็นเช่นนี้สามารถเข้าใจได้ เพราะเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระนางจามเทวีนั้นเป็นเรื่องที่เก่ามาก การเล่าสืบต่อกันมาหลายร้อยปี ความคลาดเคลื่อนในการจดบันทึกศักราชย่อมเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา

หันมาพินิจหลักฐานด้านประวัติศาสตร์ศิลปะที่พบในใจกลางเมืองลำพูนบ้าง ได้แก่ พระพุทธรูปหินทรายรุ่นเก่าก็ดี ประติมากรรมดินเผารูปคนจูงลิงที่ถูกเด็ดหัวทิ้งก็ดี (คล้ายเป็นเครื่องราง หรือเป็นตุ๊กตาเสียกบาล) พระพิมพ์ดินเผารุ่นแรกที่กระจายอยู่ตามวัดสี่มุมเมือง เช่นพระกลีบบัว พระกวาง ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เทียบเคียงได้กับศิลปะทวารวดีของทางภาคกลางช่วงพุทธศตวรรษที่ 14-15 ทั้งสิ้น

 

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สุรพล ดำริห์กุล กล่าวทิ้งท้ายว่า

“จากการศึกษามาทั้งหมดนี้ได้ข้อสรุปว่า หริภุญไชยเป็นรัฐเครือข่ายทวารวดีที่เก่าที่สุดในเขตภาคเหนือตอนบน การก่อเกิดรัฐแน่นอนว่าดินแดนนี้ย่อมมีประชากรอาศัยอยู่ก่อนแล้ว แต่เป็นแบบชนเผ่า ยังไม่เติบโตพอที่จะยกระดับขึ้นเป็นรัฐได้ด้วยตัวเอง จนกระทั่งได้รับแรงกระตุ้นจากปัจจัยภายนอกผ่านระบบการค้า ภายใต้การนำของพระนางจามเทวีที่ขยายเครือข่ายขึ้นมา นำเอาศิลปวิทยาการชั้นสูงและพระพุทธศาสนาขึ้นมาสถาปนา

ยุคแรกของหริภุญไชย มีการรับเอาอารยธรรมและศิลปกรรมแบบทวารวดีภาคกลางมาใช้อย่างเด่นชัด หลังจากนั้นหริภุญไชยหันไปสนิทสัมพันธ์กับทางมอญสะเทิมและหงสาวดี รูปแบบศิลปกรรมจึงเปลี่ยนไป

ส่วนพระนางจามเทวีนั้น ในตำนานไม่ได้ระบุถึงชาติพันธุ์ว่าเป็นมอญ ขอม จาม ลัวะ หรือแขก เพียงแต่ว่า หากพิจารณาถึงบริบทแวดล้อมทั้งหมดในยุคทวารวดีราวพุทธศตวรรษที่ 14 แล้ว พบว่าดินแดนลุ่มน้ำเจ้าพระยานิยมใช้จารึกด้วยตัวอักษรมอญมากกว่าขอม

เรื่องราวของพระนางจามเทวีที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ พยายามพูดบนพื้นฐานทางวิชาการ ซึ่งการศึกษาเรื่องราวที่เก่าเกินพันปีนั้น ไม่ควรปิดกั้นมุมมองของใคร และไม่ควรมีการชี้ว่าใครผิดใครถูก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับน้ำหนัก หลักฐาน ที่นักวิชาการแต่ละคนพยามยามนำมาเสนอว่ามีความน่าเชื่อถือมากแค่ไหนต่างหาก” •

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ