ผมนี่เครียดเลย! จับกระแสปรับครม. ‘บิ๊กฉัตร’ รับนอนไม่หลับ! เรตติ้งทีมเศรษฐกิจร่วง!

กระแสข่าวถี่ยิบถึงการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงนี้ โฟกัสไปที่กระทรวงด้านเศรษฐกิจ เพราะปัญหาปากท้องของชาวบ้าน เป็นเรื่องใหญ่เสมอ

และแน่นอนว่า เป้าใหญ่พุ่งไปที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่รู้ว่าบังเอิญหรือไม่ ที่ในเวลานี้ครบรอบ 1 ปี การปรับ ครม. ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2558 ซึ่งนับเป็นการปรับ ครม. ครั้งใหญ่ที่สุดถึง 19 ตำแหน่ง พอดิบพอดี

หากดูจากผลสำรวจความคิดเห็น (โพล) ที่ออกมานั้นให้ความเชื่อถือต่อตัว พล.อ.ประยุทธ์ และผลงานในด้านความมั่นคงและสังคมสูงมาก แต่ผลงานในด้านเศรษฐกิจกลับเป็นตรงข้าม จนอาจเรียกว่าเป็นจุดบกพร่องของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็ว่าได้ เพราะตั้งแต่รัฐประหารจนกระทั่งครบ 2 ปีที่เข้ามาบริหารประเทศ ผลโพลดังกล่าวก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือกระเตื้องขึ้น

ยิ่งผลโพลของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ถึงเรื่อง “คณะรัฐมนตรีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่ประชาชนไม่ประทับใจ และ ครม. ที่ประชาชนไม่รู้จัก” ก็น่าจะเป็นบทสะท้อนการทำงานได้เป็นอย่างดี

ยิ่งเมื่อรวมกับประกาศคำสั่งของหัวหน้า คสช. ที่ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดลงมาแก้ไขปัญหาต่างๆ ก็สะท้อนการปฏิบัติงานของกระทรวงนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี

 

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ลงนามให้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกฯ ไปกำกับดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แทน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เพราะที่ผ่านมา นายสมคิดไม่สามารถเข้าไปกำกับดูแลได้อย่างเต็มที่

ซึ่งเมื่อผู้สื่อข่าวไปถามทั้งนายสมคิด และ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ได้รับคำยืนยันว่า ไม่มีปัญหาในการทำงานร่วมกัน หรือปัญหาเกาเหลาใช้รองนายกรัฐมนตรีเปลืองอย่างแน่นอน ในประโยคที่ว่า

“ไม่ใช่เรื่องเกาเหลาระหว่างผมกับท่านสมคิด เพราะไม่มีเรื่องเกาเหลากับใคร แต่เข้าใจว่าท่านนายกฯ ต้องการให้ท่านสมคิดไปเดินหน้าผลักดันงานเศรษฐกิจ สามารถไปโรดโชว์ต่างประเทศได้เต็มที่เพื่อหนุนเศรษฐกิจประเทศ และท่านประจิน ก็เป็น คสช. ดูแลด้านเศรษฐกิจอยู่แล้ว และผมก็ยังอยู่ใน คสช. สามารถทำงานด้วยกันได้ ไม่มีปัญหา ซึ่งเร็วๆ นี้ จะเชิญท่านประจินมาที่กระทรวงเกษตรฯ เพื่อรับทราบการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรฯ”

ล่าสุด พล.อ.ฉัตรชัย ยังเปิดเผยด้วยว่า 2 เดือนที่แล้วได้รายงานต่อนายกฯ ว่างานกระทรวงเกษตรฯ ที่ผ่านมามีจำนวนมาก จะขอรัฐมนตรีช่วยสักคน ซึ่งส่วนตัวมีในใจแล้ว 2-3 คน และยืนยันว่าไม่ใช่ทหารแน่นอน พร้อมย้ำชัดว่าตัวเองนั้นมีความเป็นมืออาชีพผ่านคำสัมภาษณ์ที่ว่า

“ยอมรับเลยว่า กลับไปบ้านนี่ นอนไม่หลับ บางครั้งเที่ยงคืนก็ยังนอนไม่หลับ เพราะคิดแต่เรื่องงานว่าจะทำอย่างไร บางครั้งก็เครียด เช่น มีชาวนาบอกว่าไปถามงานข้าราชการเกษตรในท้องที่ในบางเรื่องปรากฏว่าข้าราชการคนนั้นตอบไม่ได้ ผมนี่เครียดเลย ว่าทำไมเรื่องแค่นี้ตอบไม่ได้ แสดงว่าการทำงานของกระทรวงมีปัญหา ทุกวันนี้ต้องกินยานอนหลับเกือบทุกคืน”

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ตอบรับคำขอของ พล.อ.ฉัตรชัย เช่นกัน โดยระบุว่า “มีแนวคิดและได้เตรียมการปรับไว้แล้ว ตั้งใจที่จะเพิ่ม โดยตั้งใจไว้ว่ากระทรวงไหนควรมีรัฐมนตรีช่วย แต่วันนี้ยังไม่ได้ตั้ง…ยอมรับว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์อยู่ในข่ายที่ต้องเพิ่ม”

ถึงอย่างนั้นก็มีรายชื่อเก้าอี้ของรัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่หลุดออกมา ว่า พล.อ.ฉัตรชัย อาจเสนอชื่อ นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ที่จะเกษียณอายุราชการมาดำรงตำแหน่งดังกล่าว แต่ดูจะไม่ได้รับการตอบรับจากผู้นำรัฐบาลที่บอกว่า “ไม่รู้จัก จะเอาอธิบดีมาเป็นรัฐมนตรีทำไม ก็เกษียณไปกลับบ้านไปเลี้ยงหลาน”

แต่อีกกระแสก็ว่า จะเอา นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ทำงานระดับปฏิบัติการ เคยร่วมวงกับอดีตนายกรัฐมนตรีมาแล้วถึง 6 คน ล่าสุดร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ ถือเป็นผู้นำหมายเลข 7 ที่นายอำพนเข้ามาร่วมปฏิบัติงานระดับลับสุดยอดด้วยในบางวาระ ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง แถมยังเรียกขาน พล.อ.ประยุทธ์ ว่า “ท่านหัวหน้า” ทุกคำ ทุกครั้ง

ด้านประวัติก็โชกโชนไม่น้อย ตั้งแต่เริ่มรับราชการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แล้วย้ายสังกัดไปขึ้นกับสำนักนายกรัฐมนตรี ในตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์

ยังรวมไปถึงประสานงานกับสำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง เกี่ยวกับการปฏิบัติงานหน้าพระที่นั่ง การนำเอกสารเพื่อทูลเกล้าฯ และประกาศใช้ในพระราชกิจจานุเบกษา ทั้งการปรับ ครม. หรือการแต่งตั้ง โยกย้าย ข้าราชระดับสูง เดินรอยตามอดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรีฝีมือสูงส่งอย่าง นายวิษณุ เครืองาม และ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ผลงานดีจนต่ออายุการทำงานมาหลายครั้ง และกำลังจะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายนนี้แล้ว

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรจังหวัดเชียงใหม่เมื่อกลางปีที่ผ่านมา นายอำพน ยืนยันหนักแน่นว่าจะไม่เป็นรัฐมนตรี หรือเกี่ยวข้องกับการเมือง ขอกลับไปเลี้ยงหลานดีกว่า

งานนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเลยมีมติออกมา ให้นายอำพน ได้ขึ้นแท่นดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ผู้ทรงคุณวุฒิประจำสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้คณะรัฐมนตรี ประคับประคองบ้านเมืองในช่วงเวลาโรดแม็ปที่เหลือ

 

แล้วใครจะเข้ามาทำหน้าที่ช่วย พล.อ.ฉัตรชัย ดูกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในช่วงที่เรตติ้งกระทรวงตกต่ำอย่างน่าใจหาย?

สําหรับเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิตอลนั้น ก็มีกระแสว่า นายอุตตม สาวนายน อาจได้โบกมืออำลาเก้าอี้แน่ๆ เพราะมีหลายคนต่างจับจ้อง โดยเฉพาะจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่หลังจากรัฐธรรมนูญใหม่มีผลบังคับใช้เมื่อใด กสทช. ก็แทบไม่ต่างจากข้าราชการประจำที่พยายามเข้ามาเป็นเจ้ากระทรวง ไม่ว่าจะเป็น พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) และรองประธาน กสทช. หรือแม้แต่ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.

โค้งสุดท้าย ใครจะได้เข้ามานั่งใน ครม. พล.อ.ประยุทธ์ 4 อาจจะมีรายชื่อผุดออกมาโยนหินถามทางมาเรื่อยๆ แต่ระยะเวลาที่เหลืออีกเพียงหนึ่งปีครึ่งตามโรดแม็ป ก่อนส่งไม้ต่อให้รัฐบาลประชาธิปไตยนั้น อาจจะเป็นการปรับเพิ่มเล็กน้อยเหมือน ครม. พล.อ.ประยุทธ์ 2 หรือปรับครั้งใหญ่โดยเฉพาะกระทรวงด้านเศรษฐกิจ ตามที่นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ย้ำชัดเจน หนักแน่น ฟังเสียงความพอใจประชาชน ว่า

“กระทรวงไหนไม่มีผลงาน สื่อก็ลองบอกมา จะได้เล่าให้ฟังว่ามีผลงานอะไรบ้าง 19 กระทรวงมีผลงานทุกกระทรวง …ผมไว้ใจรัฐมนตรีทุกกระทรวง ใครจะโกง ทุจริตตรงไหน ไปหามา ผมสอบหมด ไม่มีละเว้นทุกคน ไม่ว่าจะคดีนอมินี คดีอะไรทั้งหมด จะใช้กฎหมายหมด ใครใหญ่มาจากไหนผมก็ทำ วันนี้ผมดูว่ารัฐมนตรีแต่ละกระทรวงทำงานหรือเปล่า และผมก็ฟังประชาชนเขาว่าอย่างไร พอใจไหม”

เอาเข้าจริง ไม่ใช่ บิ๊กฉัตร เท่านั้นที่นอนไม่หลับ
หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ อย่าง ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก็เหนื่อยหนักมิใช่น้อย

ทั้งภารกิจเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุน

และการสร้างทีมเวิร์กในคณะรัฐมนตรีที่ดูไม่เข้าขากันสักเท่าไร

ฉะนั้นแล้ว การปรับ ครม. ครั้งนี้ จะเป็นบทพิสูจน์การเลือกคนทำงานของผู้นำได้อย่างดีที่สุด