วิช่วลคัลเจอร์/Little House : ในความน่ารักมีความโหดร้าย

วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์

Little House : ในความน่ารักมีความโหดร้าย

หนังสือเยาวชน ทั้งที่เป็นเรื่องแต่งและเรื่องจริง รูปประกอบมีบทบาทมาก ไม่ว่าจะสร้างความสนุกสนานหรือช่วยให้การอ่านเพลิดเพลิน เพราะสามารถบรรยายฉากต่างๆ ได้ไม่แพ้ตัวหนังสือ

นี่ทำให้งานของ การ์ต วิลเลียมส์ ผู้วาดรูปประกอบของหนังสือชุด Little House in the Big Woods หรือบ้านเล็กในป่าใหญ่ มีความโดดเด่นเสมอมา

Little House ทั้งแปดเล่มเป็นเรื่องของการอพยพของครอบครัวเล็กๆ ชาวอเมริกันปลายศตวรรษที่ 19 แต่ละเล่มเกี่ยวกับเข้าไปตั้งรกรากในรัฐต่างๆ ขณะยังเป็นป่าเขา เช่น วิสคอนซิน มินนิโซตา แคนซัส และดาโคตา

ถือเป็นวรรณกรรมเยาวชนที่นิยมกันอย่างล้นหลามและยาวนาน ถูกแปลออกเป็นภาษาต่างๆ ทั่วโลกมากกว่า 40 ภาษา (รวมทั้งภาษาไทยโดย “สุคนธรส”) และขายไปแล้วกว่า 60 ล้านเล่ม

ทุกวันนี้ รูปประกอบของวิลเลียมส์ ได้กลายเป็นหัวใจของหนังสือ และมีส่วนทำให้วรรณกรรมชุดนี้กลายเป็นคลาสสิค

ในหนังสือชื่อ “Garth Williams, American Illustrator : A Life,” ซึ่งเขียนโดยอาจารย์วิทยาลัยบอสตันชื่อ Elizabeth K. Wallace และ James D. Wallace พิมพ์โดย Beaufort Books (2016) ผู้เขียนเล่าเรื่องของ การ์ต วิลเลียมส์ หนึ่งในศิลปินคนสำคัญของสหรัฐอเมริกายุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเริ่มจากเป็นช่างปั้น เป็นทหารในลอนดอน แต่งงานสี่ครั้ง มีลูกหกคน เคยอยู่มาทั่วทั้งอังกฤษ อิตาลี และเม็กซิโก และเมื่อย้ายมาสหรัฐ ได้กลายเป็นนักวาดรูปประกอบหนังสือเด็ก

ที่รู้จักกันมากคือ “Stuart Little” ของ อีบี ไวต์ และวาดในเป็นช่วงที่สไตล์ของเขาชัดเจนแล้ว

สจ๊วตเป็นทั้งหนูและหนุ่มสำอาง และมีห้องนอนที่รกเหมือนของเด็กวัยรุ่น ที่ดังอีกเล่มคือ “Charlotte”s Web” ซึ่งเขียนโดยไวต์เช่นกัน นอกจากนั้น ยังมี “The Cricket in Times Square” “Bedtime for Frances” “Mister Dog” และ “The Little Fur Family”

ขณะร่วมงานกับ อีบี ไวต์ ทั้งเขาและนักเขียนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันหลายเรื่อง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับหน้าตาของแมงมุมชาร์ลอตต์ (ซึ่งในความจริงเป็นสัตว์ที่มีหน้าตาน่ากลัว) เช่น จะมีรูปโคลสอัพไหม? จะดัดแปลงชาร์ลอตต์ให้มีหน้าตาเหมือนคนไหม? ทั้งหมดกินเวลายาวนานและจบลงด้วยดี

สำหรับ Little House เคยมีคนวาดรูปประกอบมาแล้วตั้งแต่พิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ.1932 นั่นคือ เฮเลน มัวร์ ซอเวล แต่การพิมพ์ใหม่ในปี ค.ศ.1953 สำนักพิมพ์ฮาร์เปอร์ส์ให้วิลเลียมส์วาดใหม่หมด เพราะเห็นว่างานของเขาน่าสนใจ ตรงที่ให้ความสมจริงมากกว่าสไตล์ และน่าจะเหมาะกับการบรรยายชีวิตของนักบุกเบิกมากกว่า

ในเดือนกันยายนปี ค.ศ.1947 วิลเลียมส์จึงขับรถจากจากนิวยอร์กไปมิสซูรี เพื่อพบกับผู้เขียนซึ่งมีอายุแล้ว นอกจากการพูดคุยซักถาม เขาได้ค้นคว้าเรื่องราวจากข้าวของและภาพถ่ายจำนวนมาก ต่อจากนั้น เขายังเลยไปดูโรงเรียนและบ้านแห่งแรกของผู้เขียนในรัฐอื่น

ในรูปชุดเดิม ลอร่าจะเป็นเด็กเรียบร้อย ผมเรียบตึง หรือไม่ก็ใส่หมวกกันแดด แต่ในงานของวิลเลียมส์ ลอร่าจะเป็นเด็กซนและหัวกระเซิง และเป็น icon ของนิยายเรื่อยมา แม้จะแพ้ลอร่าในหนังทีวีชื่อเดียวกัน (ซึ่งออกฉายในช่วง 1970s) อยู่บ้าง

วิลเลียมส์พยายามให้รายละเอียดอีกมากมาย เช่น ผมของแม่ซึ่งหวีปิดหูเสมอ และเคราและเสื้อผ้าของพ่อ ซึ่งคล้ายพระเอกหนังเรื่อง The Revenant (2015) มากกว่าในหนังทีวี

เมื่อไปดูบ้านดินใน “บ้านเล็กริมห้วย” หรือ “On the Banks of Plum Creek” เขาพบว่าถ้ามองด้วยสายตาปัจจุบัน บัานนี้อาจไม่น่าอยู่เท่าไร เพราะชื้น ไม่มีทั้งไฟฟ้าและการระบายอากาศ แต่ในสายตาลอร่า มันมีทั้งดอกไม้ เสียงลมและน้ำไหล ลอร่าไม่ระย่อต่อความยากลำบาก

ที่สำคัญ เธอก็ไม่ตกแต่งอะไรให้งดงามเกินจริง ซึ่งทำให้นักวาดคิดว่าจะต้องเดินตาม

Little House on the Prairie ซึ่งเกี่ยวกับการอพยพจากวิสคอนซินไปจับจองที่ดินใกล้เมืองอินดีเพนเดนซ์ในรัฐแคนซัส ถือกันว่าเป็นตอนที่เข้มข้นมาก เพราะมีหลายเหตุการณ์ เช่น สร้างบ้าน ทำนา ผจญพายุและเผชิญหน้ากับอินเดียนแดง รวมทั้ง จบด้วยการถูกทหารรัฐบาลขับไล่ออกจากที่ดิน ซึ่งทำให้ต้องอพยพกลับไปวิสคอนซิน รูปให้บรรยากาศเวิ้งว้าง

ผู้เล่าซึ่งเป็นเด็กรู้ตัวว่าใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความโดดเดี่ยวและอันตราย แต่ก็ตื่นเต้นกับทุกสิ่งทุกอย่าง เช่น อาหารอร่อยๆ ฝีมือแม่ ทั้งที่ใช้ผักและเนื้อสัตว์

วิลเลียมส์บอกว่างานของซอเวล ซึ่งคล้ายภาพแกะไม้ ให้ความรู้สึกแบบนิทานมากเกินไป แต่งานของเขา ซึ่งใช้ดินสอดำและดินสอถ่าน พอๆ กับด้านที่สวยงาม ผู้อ่านจะพบกับด้านที่น่ากลัวของธรรมชาติ เช่น แม่น้ำที่เชี่ยวกราก ลมพายุที่ดุร้าย ความไม่น่าไว้ใจของเพื่อนบ้าน และเท้าแม่ที่ถูกซุงทับจนบวมโต

ผู้อ่านที่ไม่คุ้นกับชนบทจะได้เห็นตุ๊กตาของลอร่าที่ทำด้วยฝักข้าวโพด ที่สำคัญคือการทำเมเปิลไซรับ วิธีปรุงอาหารหลายชนิด รวมทั้งวิธีทำเนยจากนมวัว (และขนาดของก้อนเนยเมื่อเทียบกับมือเด็ก) นอกจากนั้น ยังได้เห็นการทำงานของผู้ใหญ่ เช่น ทำไร่ เลี้ยงหมู ต้อนวัว ฟอกหนัง และเผชิญหน้ากับอินเดียนแดง รวมทั้งวัตถุสิ่งของหลายอย่าง เช่น อุปกรณ์ทำนา มีด ปืน เกวียน และกับดักหมี

ให้ทั้งความสวยงามและสมจริง ในเล่มนี้ การขุดบ่อน้ำอย่างเดียวมีรายละเอียดมากมาย นายสก็อตต์ เพื่อนบ้านที่มาช่วยได้ล้มลง ขณะอยู่ก้นหลุม พ่อลงไปช่วยและแบกเขาขึ้นมา หนังสือจะบอกว่าเขาเป็นลมเพราะสูดก๊าซมีเทนเข้าไป ดังนั้น ทุกครั้งก่อนจะลงไปขุดบ่อ พ่อจึงตรวจสอบก๊าซพิษด้วยการหย่อนเทียนลงไปในบ่อ และเพื่อขจัดความกลัวของลอร่า ทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ให้ดูด้วยการจุดไฟที่ปลายเชือก รอจนมันไหม้ลามขึ้นมา แล้วจึงโรยดินปืนลงไปในบ่อ พอได้ยินเสียงระเบิดจึงรู้ว่าปลอดภัย การสาธิตแบบนี้ทำให้ความกลัวของลอร่าหมดไป

ทั้งหมดนี้ อาจจะใช้ตัวหนังสือเพียงสองสามหน้า ซึ่งอาจจะยากเกินไปสำหรับเด็ก เขาจึงใช้รูปประกอบถึงสี่ห้ารูป และในการนี้ ช่วยทำให้ผู้อ่านเข้าใจเหตุการณ์ได้ดียิ่งขึ้น