“คาร์ล เซแกน” จุดสีฟ้าจางๆ นี้เป็นบ้านหลังเดียวที่เรารู้จัก | บัญชา ธนบุญสมบัติ

ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติhttps://www.facebook.com/buncha2509
ภาพบนแผ่นป้าย Pioneer Plaque ที่ติดไปกับยานไพโอเนียร์ 10 และ 11 ที่มาของภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Pioneer_plaque

“มนุษย์ต่างดาวมีจริงไหม?” “เราอยู่อย่างโดดเดี่ยวในเอกภพหรือเปล่า?” เป็นคำถามที่อาจผุดขึ้นมาเมื่อพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องที่ยังเป็นปริศนาคาใจ

คำถามแนวนี้วิทยาศาสตร์ก็สนใจนะครับ ถึงได้มีการค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ (exoplanets) หรือมีโครงการค้นหาสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาอย่าง SETI หรือ Search for Extra-terrestrial Intelligence นั่นไง

หนึ่งในผู้บุกเบิกชีววิทยานอกพิภพคนสำคัญคือ นักดาราศาสตร์นาม คาร์ล เซแกน (Carl Sagan)

เขาเกิดที่นิวยอร์ก เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ.1934 ซึ่งต่อมามีการกำหนดให้วันที่ 9 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น Carl Sagan Day อีกด้วย

ตอนอายุ 4 ขวบ พ่อแม่พาหนูน้อยคาร์ลไปเที่ยว New York World’s Fair ซึ่งธีมงานคือ The World of Tomorrow (โลกอนาคต) เขามีความทรงจำฝังใจเกี่ยวกับแผนที่ขยับเลื่อนได้แสดงอเมริกาในอนาคต ถนนไฮเวย์อันงดงาม สะพานลอยข้ามแยก 2 ระดับตัดกัน รถยนต์คันเล็กๆ พาผู้โดยสารไปยังตึกระฟ้า เซลล์โฟโตอิเล็กทริกซึ่งเมื่อแสงตกกระทบจะเกิดเสียงลั่นเปรี๊ยะๆ อุปกรณ์ส้อมเสียงที่เคาะแล้วจะเกิดเส้นรูปคลื่นบนออสซิลโลสโคป รวมทั้งโทรทัศน์ที่เขาได้เห็นเป็นครั้งแรกอีกด้วย

ในงานยังมีการฝังแคปซูลเวลา ซึ่งมีข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ในทศวรรษที่ 1930 แคปซูลนี้จะเปิดออกอีกครั้งในอีกหนึ่งพันปีข้างหน้า

ในวัย 5 ขวบ เขาได้บัตรห้องสมุดสาธารณะจากแม่ และสอบถามบรรณารักษ์เพื่อหาหนังสือที่ตอบคำถามว่า ดาวฤกษ์บนฟ้าคืออะไร เพราะถามใครๆ ก็ตอบไม่ได้

ครั้นเมื่อได้คำตอบว่า ดาวฤกษ์ที่ดูเป็นจุดก็คล้ายกับดวงอาทิตย์ของเรา เพียงแต่อยู่ห่างไกลออกไปมาก คำอธิบายนี้ทำให้หนูน้อยคาร์ลจินตนาการได้ว่าเอกภพนั้นใหญ่โตมโหฬารยิ่งนัก

ช่วงวัยมัธยม เขาได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดเรียงความหัวข้อที่ว่า หากมนุษย์ได้พบกับมีสิ่งมีชีวิตที่มีอารยธรรมสูงส่งจะเกิดอะไรตามมาบ้าง เขาเรียบเรียงความคิดได้อย่างครอบคลุมและใช้ภาษาสละสลวยโดนใจกรรมการ

นับได้ว่าฉายแววนักสื่อสารผู้ยิ่งใหญ่ในอนาคต

คาร์ล เซแกน
ที่มาของภาพ : https://short-biography.com/carl-sagan.htm

คาร์ล เซแกน จบปริญญาตรี สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยชิคาโก ทำปริญญานิพนธ์ในหัวข้อว่าด้วยกำเนิดของชีวิต ส่วนปริญญาโท ก็จบสาขาฟิสิกส์ และปริญญาเอก ทำดุษฎีนิพนธ์เกี่ยวกับการศึกษาสมบัติทางกายภาพของดาวเคราะห์

เขาศึกษาดาวศุกร์และคาดว่าพื้นผิวของดาวศุกร์น่าจะมีอุณหภูมิสูงราว 500 องศาเซลเซียส ต่อมาเมื่อยานมาริเนอร์ไปสำรวจก็พบว่าค่านี้ใกล้เคียงอย่างยิ่ง เพราะดาวศุกร์มีอุณหภูมิพื้นผิว 464 องศาเซลเซียส

น่ารู้ด้วยว่าอุณหภูมิพื้นผิวของดาวศุกร์สูงกว่าดาวพุธ (ซึ่งมีอุณหภูมิพื้นผิวสูงสุด 430 องศาเซลเซียส) แม้ว่าดาวพุธจะอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าก็ตาม ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าดาวศุกร์มีชั้นบรรยากาศซึ่งประกอบไปด้วยกรดซัลฟิวริก และชั้นบรรยากาศนี้ได้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกแบบกู่ไม่กลับ (run-away greenhouse effect) คืออุณหภูมิพุ่งสูงปรี๊ด

เรื่องโลกร้อนที่หวาดหวั่นกันอยู่ตอนนี้ เราก็ไม่อยากให้เกิดปรากฏการณ์กู่ไม่กลับด้วยอย่างแน่นอน

และคาร์ล เซแกน เป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่เตือนเราในประเด็นนี้

ผลงานที่สร้างชื่อเสียงในวงกว้างที่สุดของเขาคือ สารคดี Cosmos (คอสมอส) เป็นซีรีส์ความยาว 13 ตอนฉายในโทรทัศน์สาธารณะของสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ.1980 ภาพอันน่าตื่นตาตื่นใจและบทบรรยายอันงดงามจับใจทำให้อเมริกันชนติดกันงอมแงม

เมื่อสารคดี Cosmos ฉายในอีก 60 ประเทศทั่วโลก ก็มีรวมผู้ชมทั้งสิ้นราว 500 ล้านคน และคาร์ล เซแกน ก็ขึ้นทำเนียบในฐานะนักสื่อสารวิทยาศาสตร์รุ่นบุกเบิกที่สร้างแรงกระเพื่อมต่อสาธารณชนในวงกว้างระดับโลก!

เมื่อจัดทำเป็นหนังสือ Cosmos ก็ได้รับความนิยม และถือเป็นหนังสือเล่มสำคัญของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากได้รับเลือกโดยหอสมุดรัฐสภาให้เป็น 1 ในหนังสือ 88 เล่มที่สร้างชาติอเมริกาอีกด้วย (ไทยเรามีหนังสือ “สร้างชาติ” ไหม?)

คาร์ล เซแกน เขียนหนังสือไว้กว่า 20 เล่ม และเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ชื่อ Contact ซึ่งต่อมาได้สร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อเดียวกัน ชื่อไทยคือ อุบัติการสัมผัสห้วงอวกาศ เป็นหนังไซ-ไฟในดวงใจของผมเรื่องหนึ่งครับ

เขาชอบพูดคำว่า “billions upon billions” คือ หลายพันล้านและอีกหลายพันล้าน จึงทำให้มีคนตั้งหน่วยเล่นๆ ขำๆ ขึ้นมาคือ 1 Sagan เท่ากับอย่างน้อย 4 พันล้าน เนื่องจาก billions (มี s) มีค่าอย่างน้อย 2 billions นั่นเอง

เขายังมีส่วนสำคัญในการออกแบบ “แผ่นป้าย” เรียกว่า Pioneer Plaque เพื่อส่งไปกับยานไพโอเนียร์ 10 (ค.ศ.1972) และ 11 (ค.ศ.1973) และ “แผ่นเสียง” บันทึกเสียงทักทายในภาษาต่างๆ เพื่อส่งไปกับยานวอยเอเจอร์ (ค.ศ.1977) เผื่อว่าวันหนึ่งข้างหน้าสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญานอกพิภพอาจมาพบเข้าและไขรหัสได้

เรื่องการส่งแผ่นป้ายกับแผ่นเสียงไปกับยานอวกาศนี้จะว่าไปก็มีส่วนคล้ายคลึงกับแคปซูลเวลาที่เขาประทับใจในวัยเยาว์นั่นเอง

ยานวอยเอเจอร์ 1

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1990 ขณะที่ยานวอยเอเจอร์ 1 ได้เดินทางไกลจากโลกไปราว 6 พันล้านกิโลเมตร NASA สั่งให้ยานถ่ายภาพโลกเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่ยานจะออกจากระบบสุริยะไปตลอดกาล

แนวคิดนี้เสนอโดยคาร์ล เซแกน ไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1980 ขณะที่ยานเคลื่อนที่ผ่านดาวเสาร์

ภาพของโลกปรากฏเป็นจุดสีจางๆ ไม่มีรายละเอียด เขาเรียกภาพนี้ว่า Pale Blue Dot หรือ จุดสีฟ้าจางๆ และบรรยายไว้อย่างลึกซึ้งกินใจว่า

“ลองมองที่จุดนั้นอีกครั้ง จุดนั้นคือที่นี่ คือบ้าน คือพวกเรา บนจุดนั้นคือทุกคนที่เรารัก ทุกคนที่เรารู้จัก ทุกคนที่เราเคยได้ยินชื่อ มนุษย์ทุกคนที่เคยมีตัวตนอยู่ ดำรงชีวิตอยู่ที่นั่น จุดนี้เป็นที่รวมไว้ซึ่งความสุขสันต์และความทนทุกข์ ศาสนา อุดมการณ์ ลัทธิเศรษฐกิจที่เปี่ยมด้วยความเชื่อมั่นนับพัน นักล่าและผู้ออกหาอาหารทุกคน เหล่าวีรบุรุษและคนขี้ขลาดทุกคน เหล่าผู้สร้างและผู้ทำลายอารยธรรมทุกผู้ทุกนาม เหล่ากษัตริย์ทุกพระองค์และชาวนายากจนทุกคน คู่รักหนุ่มสาวทุกคู่ พ่อแม่ทุกคน เด็กน้อยที่เปี่ยมไปด้วยความหวัง นักประดิษฐ์และนักสำรวจ ครูอาจารย์ผู้สั่งสอนศีลธรรมทุกคน นักการเมืองสกปรกทุกคน ‘ซูเปอร์สตาร์’ ทุกคน ‘ผู้นำสูงสุด’ ทุกคน นักบุญและคนบาปทุกผู้ทุกนามในประวัติศาสตร์ของเผ่าพันธุ์ของเราอาศัยอยู่ที่นี่ บนฝุ่นผงชิ้นเล็กๆ ที่ลอยเคว้งคว้างท่ามกลางแสงอาทิตย์…

สำหรับผมแล้ว ภาพนี้เน้นย้ำถึงความรับผิดชอบของเราที่จะปฏิบัติต่อกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย และปกป้องทะนุถนอมจุดสีฟ้าจางๆ นี้ อันเป็นบ้านหลังเดียวที่เรารู้จัก”

ผมเคยพบและจับมือทักทายคาร์ล เซแกน ตอนที่เขาและภรรยาไปเปิดตัวหนังสือ Shadows of Forgotten Ancestors ที่ร้านหนังสือขนาดใหญ่ในเมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย

วันนั้นเป็นวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ.1992

ถือเป็นเหตุการณ์ประทับใจ เพราะเกิดมานี่เคยต่อคิวเข้าแถวรอลายเซ็นเพียงแค่คนเดียวเท่านั้น

คือเขา – คาร์ล เซแกน – ครับ!