ระบอบประยุทธ์ที่ไม่มีประยุทธ์ | ประจักษ์ ก้องกีรติ

ประจักษ์ ก้องกีรติ

หมายเหตุ : เผยแพร่ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 – 10 พฤศจิกายน 2565

ย้อนไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ผมชักชวนอาจารย์วีระยุทธ์ กาญจน์ชูฉัตร มาทำวิจัยร่วมกันเพื่ออธิบายความเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจการเมืองไทยภายใต้รัฐบาลยุค คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) สุดท้ายตีพิมพ์ออกมาเป็นบทความชื่อ “ระบอบประยุทธ์ : การสร้างรัฐทหารและทุนนิยมแบบช่วงชั้น”

เราทั้งสองคนนำเสนอข้อถกเถียงว่า คสช.เป็นคณะรัฐประหารซึ่งมีความทะเยอทะยานในการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรัฐและสังคม และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและทุนอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างระบอบการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ประชาธิปไตย โดยใช้อำนาจบังคับให้กลุ่มสังคมต่างๆ สยบยอม

ถ้าไม่ได้ด้วยการกดปราบอย่างรุนแรงก็ด้วยการใช้กฎหมาย การใช้อามิสสินจ้าง รวมถึงการตบรางวัลและให้ตำแหน่งกับชนชั้นนำในภาคราชการ กองทัพ ตำรวจ องค์กรพัฒนาเอกชน นักธุรกิจ นายแพทย์ สื่อ นักวิชาการ ศิลปินแห่งชาติ และนักการเมืองให้เข้ามาสวามิภักดิ์เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายอำนาจของคณะรัฐประหาร

ทั้งยังแทรกซึมวัฒนธรรมความคิดแบบทหารเข้าไปในสังคม พยายามกล่อมเกลาความคิดประชาชนให้ยอมรับระบบเจ้าขุนมูลอันย้อนยุค

คสช.ยังได้ขยายอำนาจของกองทัพทั้งการเพิ่มงบประมาณ กำลังคน และขอบเขตอำนาจ นายพลและคนที่อยู่ในเครือข่ายอำนาจ คสช. ถูกแต่งตั้งให้เข้าไปนั่งอยู่ในรัฐวิสาหกิจ วุฒิสภา สนช. สภาปฏิรูป กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ

ที่สำคัญมีการทำงานจัดตั้งมวลชนอย่างเป็นระบบเพื่อปฏิบัติการทางการเมืองและข้อมูลข่าวสาร ปราบปรามประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐ

Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและกลุ่มทุน ก็ถูกปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่รัฐเผด็จการทหาร เอื้อให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่มีเส้นสายเชื่อมโยงกับกลุ่มอำนาจ ได้เข้าถึงกระบวนการกำหนดนโยบาย ทรัพยากร และสถานะที่สามารถครอบงำระบบเศรษฐกิจไทย และกีดกันไม่ให้กลุ่มทุนรายย่อยและผู้ประกอบการอิสระสามารถแข่งขันในระบบอย่างเท่าเทียมกันได้

เกิดเป็นระบบ “ทุนนิยมแบบช่วงชั้น” ที่ทุนขนาดใหญ่จำนวนหยิบมือหนึ่งมีอำนาจเหนือตลาดมหาศาลและช่วยค้ำจุนระบอบการเมืองแบบเผด็จการทหารเอาไว้อย่างมั่นคง

คณะรัฐประหารยังออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อรับประกันว่าเครือข่ายอำนาจของตนจะสามารถสืบทอดอำนาจได้อย่างยาวนาน โดยเฉพาะกลไกวุฒิสภาแต่งตั้งและองค์กรอิสระ กลไกต่างๆ ถูกดีไซน์ขึ้นมาอย่างเป็นระบบเพื่อยับยั้งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย สุดท้ายเมื่อการเลือกตั้งมาถึง พรรคการเมืองที่เป็นนอมินีก็ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับนายพล คสช. ที่ต้องการแปลงร่างจากผู้นำคณะรัฐประหารมาเป็นผู้นำจากการเลือกตั้ง

ที่เหลือก็คือประวัติศาสตร์ที่ยังอยู่กับเราจนถึงปัจจุบัน

Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP

เมื่อกล่าวถึง “ระบอบประยุทธ์” ผู้เขียนจึงไม่ได้ใช้คำนี้ในความหมายถึงตัวบุคคล แต่ใช้คำนี้เพื่อกล่าวถึงระบอบคณาธิปไตยแบบใหม่ ซึ่งอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจถูกผูกขาดอยู่ในมือของชนชั้นนำจำนวนน้อย ที่หันไปรื้อฟื้นวัฒนธรรมศักดินาอุปถัมภ์มาปกครองสังคม ประยุทธ์เป็นเพียงภาพตัวแทนของระบอบนี้ แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของระบอบ

อย่างไรก็ตาม มาถึงวันนี้ที่ระบอบประยุทธ์เดินทางมาครบ 8 ปี มันกำลังเดินมาถึงทางแพร่งสำคัญ ที่รอยปริ บาดแผล และความอ่อนแอของระบอบเริ่มปรากฏให้เห็น ตั้งแต่ระดับผู้นำ มาจนถึงกลไกสำคัญอย่างองค์กรอิสระ วุฒิสมาชิก กองทัพ ระบบราชการ และพรรคการเมืองที่ไม่ได้ทำงานประสานสอดคล้องและเข้มแข็งเหมือนแต่เดิม

เริ่มจากหัวโขนของระบอบนี้คือ พล.อ.ประยุทธ์เอง แม้ประยุทธ์จะไม่ได้เป็นทั้งหมดของระบอบ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าประยุทธ์ได้ทำหน้าที่สำคัญในการเป็นหนังหน้าไฟและผู้พิทักษ์ระบอบนี้อย่างซื่อสัตย์

ปัญหา ณ ขณะนี้ มีสองประการสำคัญ คือ การอยู่ในอำนาจยาวนานเกินไป และล้มเหลวในการบริหารจัดการเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้คะแนนนิยมตกต่ำและความชอบธรรมหดหาย

ปกติแล้วผู้นำทหารไทยมีความชอบธรรมด้านการเมืองต่ำ เพราะขึ้นสู่อำนาจอย่างไม่ถูกต้องและสง่างาม แต่อย่างน้อยก็พอชดเชยด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้รุดหน้าไปได้ เช่นในยุคสฤษดิ์ ธนะรัชต์

แต่รัฐนาวาของประยุทธ์ล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจให้คนรู้สึกกินอิ่มนอนหลับ ปัญหาภาวะผู้นำมาถูกซ้ำแผลอย่างรุนแรงจากปมวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ที่แม้ในทางกฎหมายจะรอดด้วยคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ

แต่ในทางการเมืองถือว่ากระทบต่อสถานะความเป็นผู้นำของอดีตหัวหน้า คสช. รุนแรงที่สุดในรอบ 8 ปี

ต่อให้ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯ ได้ แต่ก็จะดำรงตำแหน่งไม่ได้จนครบวาระ เปรียบเสมือนม้าแข่งที่หาขักไปแล้ว 2 ข้างก่อนลงสนาม

Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP

องค์กรอิสระซึ่งเป็นกลไกค้ำจุนอำนาจให้ระบอบประยุทธ์มาอย่างยาวนาน ได้ใช้ต้นทุนของตัวเองไปอย่างสูงลิ่ว

ประชาชนได้เห็นบทบาทและการทำหน้าที่ที่เต็มไปด้วยเครื่องหมายคำถามจากองค์กรอิสระ ไม่ว่าจะเป็นการทำหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการเลือกตั้งปี 2562 คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในหลายต่อหลายกรณี การวินิจฉัยของ ป.ป.ช. ต่อปมคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับผู้นำรัฐบาล ฯลฯ

แม้ว่าองค์กรอิสระจะยังสามารถแสดงบทบาทในการช่วยรักษาระบอบต่อไปได้ แต่ความศรัทธาจากประชาชนก็เสื่อมถอยลง และการทำหน้าที่ก็จะถูกจับตาจากประชาชนอย่างเข้มข้น โดยเฉพะในการเลือกตั้งที่กำลังมาถึง

สำหรับวุฒิสภาที่แต่งตั้งโดย คสช. น่าจะเป็นองค์กรที่มีความนิยมและความชอบธรรมติดลบที่สุดองค์กรหนึ่งในยุคปัจจุบัน กระทั่งถูกตั้งฉายาจากสื่อมวลชนว่าเป็น “สภาปรสิต” ข่าวการใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ให้กับวงศาคณาญาติ การใช้เส้นสาย การขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ทำให้ตกเป็นเป้าการวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมอยู่เสมอ

แม้ว่าวุฒิสภาชุดนี้ยังสามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้อีกในการเลือกตั้งปี 2566 แต่จะไม่ง่ายเหมือนเดิม

หากดึงดันที่จะโหวตเลือกนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากพรรคที่ชนะเสียงข้างมาก บรรดา ส.ว.จะกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางเจตนารมณ์ของประชาชนทันที

นอกจากนี้ การขบเหลี่ยมอำนาจกันระหว่างสองนายพล -ประยุทธ์กับประวิตร- ในช่วงที่ระบอบประยุทธ์เริ่มสั่นคลอนนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อความเป็นปึกแผ่นของวุฒิสภาตามไปด้วย

ไม่มีอะไรรับประกันว่า ส.ว.ทั้ง 250 เสียงจะเทคะแนนโหวตให้ประยุทธ์เหมือนการเลือกตั้งครั้งก่อน ยิ่งถ้าพรรคที่เสนอประยุทธ์เป็นแคนดิเดตแพ้เลือกตั้งอย่างขาดลอย

Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP

กองทัพในยุคปัจจุบันแตกต่างจากกองทัพในช่วงที่ผมเขียนบทความระบอบประยุทธ์อย่างมาก

กลุ่ม 3 ป. รวมถึงประยุทธ์เองไม่ได้มีอำนาจคุมกองทัพอีกต่อไป

หมดยุคของบูรพาพยัคฆ์ เข้าสู่ยุคของทหารคอแดงอย่างสมบูรณ์

ความจงรักภักดีของผู้นำกองทัพไม่ได้ขึ้นตรงกับรัฐบาลเหมือนในยุคเริ่มแรกของ คสช.

ส่วนระบบราชการไทยนั้น ไม่ได้มีเอกภาพอย่างที่ถูกวาดภาพ

คสช.ใช้ความกลัวและการกระชับอำนาจเพื่อรื้อฟื้นรัฐราชการรวมศูนย์ขึ้นมาใหม่ แต่กลับไม่ได้ทำให้ระบบราชการมีความเป็นปึกแผ่นและเข้มแข็ง

การเมืองภายใน การเกียร์ว่าง การคอร์รัปชั่น และสมรรถภาพที่ถดถอยคือสภาพความเป็นจริงของระบบราชการตลอด 8 ปีที่ผ่านมา

และข้าราชการไทยคือกลุ่มคนที่อยู่เป็นที่สุด พวกเขาพร้อมจะเปลี่ยน “นาย” และย้ายความภักดีเสมอเมื่อขั้วอำนาจทางการเมืองเปลี่ยน

สําหรับความอ่อนแอของพรรคพลังประชารัฐในฐานะพรรคที่ค้ำจุนอำนาจให้ระบอบนี้ คงไม่ต้องสาธยายมากนัก โมเดลพรรคทหารไม่เคยมีจุดจบที่สวยงาม ไม่ว่าจะเป็นพรรคทหารแบบดั้งเดิมอย่างเสรีมนังคศิลาหรือสหประชาไทที่ทหารทำพรรคกันเอง หรือโมเดลแบบสามัคคีธรรมที่พลังประชารัฐยึดเอาเป็นแนวทางที่ควบรวมกลุ่มมุ้งการเมืองสารพัดมาตั้งพรรคสืบทอดอำนาจให้นายพล ย้อนไปในประวัติศาสตร์ พรรคทหารล้วนมีอายุทางการเมืองสั้น สิ้นอายุขัยไปเพราะความแตกแยกภายในหรือไม่ก็ปิดกิจการลงเมื่อนายพลเจ้าของพรรคหมดสิ้นอำนาจวาสนา

การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้จะเป็นตัวเร่งให้รอยปริแยกขององคาพยพต่างๆ ของระบอบประยุทธ์ปรากฏชัดเจนขึ้น

ณ ทางแพร่งแห่งอำนาจนี้ เครือข่ายชนชั้นนำอนุรักษนิยมมีเดิมพันที่สูง โจทย์คือจะรักษาระบอบประยุทธ์ซึ่งเป็นระบอบคณาธิปไตยที่สร้างขึ้นมาหลังการรัฐประหาร 2557 ไว้อย่างไร มิใช่ว่าจะรักษาอำนาจให้ประยุทธ์ได้อย่างไร

หากเครือข่ายชนชั้นนำจารีตเห็นว่าประยุทธ์ยังคงเป็นผู้พิทักษ์ระบอบนี้ที่ดีที่สุด ก็คงต้องเข็นม้าตัวเดิมที่กรำศึกจนบอบช้ำนี้ลงแข่งต่อไป

แต่ถ้าเล็งเห็นว่าประยุทธ์กลายเป็นจุดอ่อนสำคัญของระบอบประยุทธ์เสียเอง เราก็อาจจะได้เห็นการเปลี่ยนตัวม้าแข่ง หรือหันไปยอมใช้บริการม้าจากทีมอื่น เพื่อรักษาผลประโยชน์และอำนาจนำของเจ้าของสนามม้าเอาไว้