‘ลงเรือแป๊ะ…รัฐธรรมนูญแป๊ะ’ | พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย

หลังจากตอบรับเป็นคอลัมนิสต์ประจำให้กับ “มติชนสุดสัปดาห์” อย่างเป็นทางการแล้ว สิ่งแรกที่ผมนั่งคิดอยู่นานสองนานคือ บทความประเดิมบทบาทคอลัมนิสต์ชิ้นแรกจะเป็นเรื่องอะไรดี?

แม้ว่ากองบรรณาธิการของมติชนสุดสัปดาห์ที่ติดต่อทาบทามผมจะบอกว่า “อาจารย์อยากจะเขียนอะไรก็ได้แล้วแต่อาจารย์อยากจะเขียนเลย” ก็ตาม แต่ครั้นจะให้ “พรสันต์” มานั่งเขียนบทความแนะนำร้านอาหารอร่อย สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าไปก็คงจะดูพิลึกชอบกลในสายตาของผู้อ่านกระมัง

บังเอิญว่าผมมีโอกาสได้แวะเวียนไปงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ และได้หนังสือ “ลงเรือแป๊ะ” ของอาจารย์วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายของรัฐบาลนี้ มาครอบครอง

ในช่วงสุดสัปดาห์ได้ทีชงกาแฟพร้อมหยิบหนังสือ “ลงเรือแป๊ะ” มาพลิกอ่าน

บทเริ่มต้นอาจารย์วิษณุอธิบายถึงสำนวนพร้อมที่มาของคำว่า “ลงเรือแป๊ะ ต้องตามใจแป๊ะ” ได้อย่างสนุกสนานตามสไตล์ “อาจารย์ของผม” พร้อมเชื่อมโยงกับสถานการณ์บ้านเมือง ณ ช่วงเวลาตั้งแต่ “แป๊ะ” หรือ คสช. ยึดอำนาจเข้ามาจนนำไปสู่การร่างและประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

มาถึงตรงนี้ความคิดก็ผุดขึ้นมาทันทีว่า บทความแรกเขียนเรื่อง “รัฐธรรมนูญแป๊ะ” ก็ท่าจะดี!

เกริ่นมาเสียยืดยาวราวกับชวนทุกท่านไปเดินงานสัปดาห์หนังสือกับ “พรสันต์” ไม่ใช่อะไรหรอกครับ จริงๆ แล้วก็เพื่ออยากให้เห็นภาพและเค้าลางความหมายของคำว่า “รัฐธรรมนูญแป๊ะ” ที่ผมจะนำมาตั้งเป็นประเด็นชวนคิดกัน

หลังจากอ่านหนังสือ “ลงเรือแป๊ะ” มีประเด็นที่น่าตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับสำนวน “ลงเรือแป๊ะ ต้องตามใจแป๊ะ” ที่ถูกหยิบยกมาใช้อธิบายการบริหารประเทศในช่วง คสช.ยึดอำนาจตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งอาจพอเทียบเคียงได้กับสำนวนฝรั่งอย่าง “รัฐนาวา” หรือ “Ship of State” ที่เพลโตนักปรัชญายุคกรีกโบราณผู้เป็นศิษย์ของโสเครติสได้กล่าวไว้ในงานที่โด่งดังของตนเองอย่าง “The Republic”

กรณีการเปรียบเปรยประเทศกับเรือ หรือยานพาหนะอื่นๆ นั้นก็สุดแล้วแต่ แต่สำหรับผมแล้วอยากจะชวนทุกคนให้มาดูเรื่อง “เนื้อหาสาระ” ของทั้ง 2 สำนวนที่ต่างก็มีความพยายามให้น้ำหนักเหตุผลถึงสถานการณ์บ้านเมืองที่มีความจำเป็นต้องมี “แป๊ะ” หรือ “กัปตัน” ที่เป็น “ผู้นำที่ดีมีคุณธรรม” เข้ามาควบคุมเรือหรือยานพาหนะนำพาให้ประเทศเจริญรุ่งเรือง หรือช่วยทำให้ประเทศผ่านพ้นจากวิกฤตต่างๆ

ทำนอง “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” มากกว่าจะพูดถึง หรือให้ความเคารพใน “สิทธิเสรีภาพ” ของ “ผู้โดยสาร” หรือ “ประชาชน” ในประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

คำอธิบายทำนองบังคับให้ประชาชนจำต้อง “ฝากผีฝากไข้” กับ “ผู้นำที่ดีมีคุณธรรม” (หรือผู้ที่อ้างตัวว่าดีมีคุณธรรม) และด้วยความเป็นคนดีมีคุณธรรมนี้ การที่ คสช.มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดถึงขนาดว่าสามารถเข้าไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากเสียหน่อย การใช้อำนาจออกกฎระเบียบใดๆ ไม่มีระบบกลไกตรวจสอบเพื่อรับผิดรับชอบเหมือนกรณีการทำหน้าที่ของนักการเมืองทั่วๆ ไป ฯลฯ ก็คงไม่เป็นไร ถือเป็นสิ่งอันตรายยิ่งต่อหลักการประชาธิปไตยและนิติธรรมในโลกสมัยใหม่

พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ เมื่อเข้าตำรา “ลงเรือลำเดียวกัน” แล้ว ประชาชนก็ไม่ควรจะมาตั้งคำถามแบบคุณโน้ส อุดม ใน “เดี่ยว 13” ถึงคุณสมบัติ ความสามารถ หรือจะมาต่อว่าต่อขานวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของผู้นำที่ดีมีคุณธรรมกัน ดังเช่นคำพูดตอนหนึ่งที่อาจารย์วิษณุบอกกล่าวเล่าความอยู่ในหนังสือเล่มนี้เมื่อคราวที่ไปบรรยายในงานสัมมนาสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่า “ลงเรือแป๊ะ ตามใจแป๊ะ คสช.คือแป๊ะ ฉะนั้น จะทำอะไรก็ช่วยชำเลืองดูแป๊ะหน่อย” โดยอ้างว่า เพื่อที่จะให้ คสช.สามารถแก้ไขวิกฤตบ้านเมืองที่การเมืองยุคก่อนได้ทำไว้ นี่คือสิ่งที่ท่านว่าไว้นะครับ

เรื่องนี้ผู้อ่านคิดเห็นอย่างไรกันบ้าง?

Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP

สิ่งที่ผมอยากชวนผู้อ่านขบคิดกันต่อก็คือ “มรดกทางกฎหมาย” จากสถานการณ์ “ลงเรือแป๊ะ” ที่ส่งผลมาถึงปัจจุบัน กล่าวคือ หลังจาก คสช.ยึดอำนาจเข้ามาบริหารประเทศได้ 1 เดือน ก็คือร่างและประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 (รัฐธรรมนูญที่มีมาตรา 44 มอบอำนาจเต็มให้กับแป๊ะนั่นแหละครับ) โดยรัฐธรรมนูญมีการกำหนดให้มีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาเพื่อการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย

ที่สำคัญรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 นี้เข้าไปกำหนดถึงขนาดว่า รัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะจัดทำนั้น ต้องมีเนื้อหาตามที่กำหนดไว้ 10 เรื่อง เข้าตำรา “ลงเรือแป๊ะ ก็ต้องร่างรัฐธรรมนูญตามใจแป๊ะ”

เป็นเช่นนี้แล้วจึงยากที่จะปฏิเสธว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (ปี 2560) ก็คือ “รัฐธรรมนูญแป๊ะ” นั่นเอง

“รัฐธรรมนูญแป๊ะ” เกิดขึ้นพร้อมกับการกำหนดกฎเกณฑ์กติกาใหม่ๆ ที่แตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนอยู่พอสมควร อาทิ “ระบบเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียว” ที่เรียกกันว่าระบบจัดสรรปันส่วนผสม รวมถึง 250 ส.ว. ที่มีอำนาจในการร่วมแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีในช่วง 5 ปีแรก ฯลฯ ทั้งหมดอ้างว่า จะนำมาซึ่งการปฏิรูปการเมืองของไทยให้ดีกว่าการเมืองในยุค “ก่อนแป๊ะ” เข้ามา

อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่บังคับใช้มาได้ไม่นาน ประชาชน หรือแม้แต่นักการเมืองของพรรคการเมืองที่เคยออกมาพูดว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” เริ่มตั้งคำถามและไม่ไว้ใจกับ “รัฐธรรมนูญแป๊ะ” ว่า จะสามารถพาประเทศพ้นวิกฤตได้จริงหรือ?

สัญญาณของความปั่นป่วนและขัดแย้งในการเมืองไทยเริ่มเห็นได้ตั้งแต่การเลือกตั้งในปี 2562 ที่กว่าจะประกาศผลการเลือกตั้ง และกว่าจะตั้งคณะรัฐมนตรีเข้ามาบริหารประเทศได้ก็ปาเข้าไปหลายเดือนจนทำลายสถิติประวัติศาสตร์การเมืองของไทย

นี่ยังไม่รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลที่มากถึง 20 พรรคการเมือง ส่งผลให้มีการเจรจาต่อรองทางการเมืองกันเป็นว่าเล่น สถานะ ส.ส.ก็ไม่มีความชัดเจนแน่นอน บางท่านเป็น ส.ส.ได้แค่ 1 สัปดาห์ ก็มีอันต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะสูตรคำนวณของระบบเลือกตั้ง ฯลฯ

และด้วยความพิลึกพิสดารของกติกาที่แสดงฤทธิ์เดชออกมาไม่เว้นแต่ละวันจึงมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเปลี่ยนระบบเลือกตั้งกันใหม่ไปเป็นที่เรียบร้อย

เอาจริงๆ ผมไม่ประหลาดใจเลยกับปัญหาวิกฤตศรัทธาที่มีต่อรัฐธรรมนูญแป๊ะของภาคส่วนต่างๆ

ถ้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมาในทางวิชาการ เมื่อย้อนกลับไปช่วงยกร่างรัฐธรรมนูญนี้คือในปี 2558 สถานณ์การบ้านเมืองแบบ “ลงเรือแป๊ะ ตามใจแป๊ะ” ที่ คสช.มีอำนาจมหาศาลนั้นไม่เอื้อกับการจัดทำรัฐธรรมนูญหรอกครับ

เพราะรัฐธรรมนูญที่จะเป็น “กฎหมายแม่บทของประเทศ” และเป็นที่ยอมรับของทุกคน ต้องเป็น “สัญญาประชาคม” ภายใต้บรรยากาศ “ประชาธิปไตย”

ทั้งนี้ ประชาชนต้องมีโอกาสได้มาปรึกษาหารือพูดคุยตกลงกำหนดกติกานี้ร่วมกัน ไม่ใช่จะหาใครมาร่างรัฐธรรมนูญตามใจ “แป๊ะ” ก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยที่เผชิญกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองสูงมาตลอดระยะเวลามากกว่า 10 ปี ยิ่งต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความโปร่งใสไว้วางใจในกติกาสูงสุดของประเทศ

ลำพัง “การทำประชามติแบบแป๊ะๆ” ที่มีข้อจำกัดต่อการใช้เสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น ตลอดจนการได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนรอบด้านในร่างรัฐธรรมนูญอย่างเสมอภาคนั้น นอกจากจะไม่ช่วยทำให้เกิดการยอมรับนับถือของประชาชนใน “รัฐธรรมนูญแป๊ะ” ขึ้นมาได้แล้ว ก็รังแต่จะสร้างความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจและความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน และระหว่างประชาชนด้วยกันให้รุนแรงเพิ่มมากขึ้นอีกต่างหาก

ดังจะเห็นได้จากรายงานดัชนีรัฐเปราะบาง (Fragile State Index) ที่ชี้ว่า นับตั้งแต่มีการยกร่างและบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ตัวเลขความขัดแย้งในสังคมไทยพุ่งสูงมาก (เคยพุ่งไปแตะคะแนนความขัดแย้งสูงสุด) และไม่มีทีท่าที่จะลดน้อยถอยลงเลย จนน่ากังวลหากเปรียบเทียบกับเมื่อ 14-15 ปีที่ผ่านมา

Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP

ที่ตั้งข้อสังเกตและชี้ประเด็นมาทั้งหมดนี้เพื่อกำลังชี้ให้ผู้อ่านได้เห็นว่า การที่ “แป๊ะ” หรือ “คสช.” ยึดอำนาจเข้ามาบริหารประเทศตั้งแต่ปี 2557 โดยอ้างว่าเข้ามาแก้วิกฤตและปฏิรูปประเทศชั่วคราว แต่ “แป๊ะ” ก็ผูกปมสร้างปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมายทั้งระบบการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และกฎหมายของประเทศในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้อำนาจออกกฎกติกาแบบ “รัฐธรรมนูญแป๊ะ” หรือรัฐธรรมนูญปี 2560 ขึ้นบังคับใช้นั่นแหละครับ

ผมขอทิ้งท้ายให้ทุกท่านได้ลองขบคิดกันดูว่า ตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญในฐานะ “กฎหมายสูงสุดของประเทศ” พึงต้องทำหน้าที่อย่างน้อย 3 ประการด้วยกัน คือ

1. ทำให้ประชาชนยอมรับการใช้อำนาจของรัฐในฐานะผู้อาสาเข้ามาบริหารประเทศแทนเขา (ไม่ว่าจะเป็นรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล)

2. ทำหน้าที่คอยกำหนดกฎเกณฑ์สำหรับการกระทำต่างๆ ของรัฐตามครรลองที่ถูกต้องเหมาะสม

และ 3. ทำหน้าที่ควบคุมกำกับการใช้อำนาจของรัฐ ไม่ให้ใช้ตามอำเภอใจ สองมาตรฐาน

คำถามคือ “รัฐธรรมนูญแป๊ะ” ที่ยกร่างกันมาเมื่อคราว “ลงเรือแป๊ะ ตามใจแป๊ะ” นั้นได้ทำหน้าที่ 3 ประการนี้ครบถ้วนแล้วหรือไม่?

ถ้าคำตอบของทุกท่านคือไม่

มันก็สะท้อนให้เห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องปรับเปลี่ยนจาก “รัฐธรรมนูญแป๊ะ” มาเป็น “รัฐธรรมนูญประชาชน” ก่อนที่จะเกิด “วิกฤตรัฐธรรมนูญ” อีกครั้ง ซึ่งจะนำพาประเทศไปสู่ทางตัน และเมื่อถึงเวลานั้นก็เป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาว่าอะไรจะเกิดขี้น

เพราะรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเรื่องประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ซึ่งทำให้นึกถึงวลีฝรั่งที่โด่งดังไปทั่วโลกที่กล่าวถึงระบอบประชาธิปไตยว่าจะต้องเป็น “การปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน”

ดังนั้น ผมคิดว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญก็น่าจะต้องยึดสำนวนที่ว่า “ลงเรือประชาชน ตามใจประชาชน” น่าจะถูกต้องเหมาะสมกว่านะครับ