จระเข้หลุด งูขึ้นบ้าน: ภัยเมื่อครั้งน้ำท่วมพระนคร 2485 | ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

“พวกเราระวังไว้หน่อย อย่าลงเล่นน้ำจะดีแน่ เพื่อไม่ประมาท” (สามัคคีไทย, 2486)

เมื่อครั้งน้ำท่วมพระนครเกิดภัยหลายอย่างกับผู้คนในครั้งนั้น เช่น สัตว์มีพิษขึ้นบ้าน งูกัด จระเข้หลุดไหลมาตามกระแสน้ำ ไฟฟ้าดูด และโรคจากน้ำท่วม

ดังจะกล่าวถึงภยันตรายต่อไป

เด็กสมัยน้ำท่วมพระนคร 2485 พายเรือเล่น เครดิตภาพ : ประวิทย์ สังข์มี

น้ำท่วมกับสัตว์ร้ายที่ไม่ได้เลี้ยง

จากความทรงจำของคนชั้นกลางที่อาศัยในพระนครบันทึกถึงอันตรายในชีวิตประจำวันจากสัตว์ร้ายว่า “เวลาค่ำคืนเป็นเวลาที่น่าหวาดเสียวยิ่ง ไม่ใช่เรื่องภัยทางอากาศซึ่งได้ว่างเว้นมานานนับแต่มีน้ำท่วมใหญ่ แต่เป็นสัตว์ร้ายที่หนีน้ำขึ้นมาอยู่ที่แห้ง” (ลาวัลย์, 2536)

สัตว์ร้ายที่มักหนีน้ำมาหลบซ่อนตามที่แห้งในบ้าน ตามห้อง ตามที่นอน เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง หนู

ดังนั้น ทุกคืนก่อนนอนต้องเคาะ กระทุ้ง คลี่เสื่อ ตีเบาะเพื่อขับไล่สัตว์ที่อาจมาแอบซ่อน

แม้นยามจะปูที่นอนหมอนมุ้งจะคลี่เสื่อก่อนนอนนั้นต้องโยนม้วนเสื่อออกไปไกลๆ ตัวเพื่อให้สัตว์ร้ายตกใจหนีออกจากม้วนเสื่อนั้นเสียก่อน

การรีดพิษงูทำเซรุ่มที่สถานเสาวภา

งูหนีน้ำเข้าบ้าน

ไม่แต่เพียงหนู งู ตะขาบเข้าห้องนอนเท่านั้น แต่ในบางครั้งจะพบว่า “บางวันนอนๆ อยู่เห็นงูเลื้อยพันอยู่บนเสาเตียง มองดูที่ช่องลมเห็นงู เห็นหนู หัวใจจะวาย บางทีหิวข้าวเปิดตู้กับข้าวจะหยิบจานกับข้าวมากิน งูนอนขดเสงี่ยมอยู่ในจานกับข้าว ไปตรงไหนก็พบความตายอยู่แค่คืบ” (ลาวัลย์, 2536)

แม้กระทั่งบ้านของจอมพล ป. นายกรัฐมนตรี เขายังบันทึกถึงสัตว์ร้ายที่อพยพเข้ามาในบริเวณบ้านไว้ว่า “ที่บ้านฉันกลางนาบริเวณหลักสี่มีสาลาน้ำหยู่หลังหนึ่ง เวลานี้น้ำท่วม งูสามเหลี่ยมตัวโตถนัดได้เข้าไปนอนหยู่อย่างสบาย เลยทำให้สาลาน้ำนั้นไม่มีใครกล้าเข้าไป เพราะกลัวงูกัดตาย รองปลัดกะซวงกลาโหม น.อ.ยุทธสาตรโกสล บ้านหยู่พระโขนง งูสามเหลี่ยมตัวเท่าแขนได้ลอยเข้าไปที่นอกชาน ซาบว่าเจ้าของเลยขนของไปอาศัยหยู่ที่ตึกชั้นบนของห้างไวท์เอเวเก่า จนบัดนี้” (สามัคคีไทย, 89)

นายกฯ บันทึกอีกว่า เมื่อ 22 ตุลาคม 2485 “ฉันซาบว่า เมื่อคืนนี้ มีการกล่าวถึงเรื่องงู ที่ตึกไทยคู่ฟ้า พลตรีประจนปัจนึกกับคุนหยิง ได้มาเยี่ยมนายกรัฐมนตรี เล่าในวงสนทนาว่า แหม ที่บ้านฉันงูเข้าไปหยู่ที่ห้องรับแขก 4-5 ตัว จะไล่หรือตีให้ตายก็ไม่ได้เพราะน้ำมาก พอไล่หรือจะตีก็ดำน้ำหายไป แต่ก็หยู่ในบ้านนั่นเอง ไม่รู้จะทำอย่างไร เกรงจะกัดเข้าสักวันหนึ่ง” (111)

เขาเตือนประชาชนถึงงูหนีน้ำว่า “ฉันเห็นเป็นข่าวมีประโยชน์ เพราะหลายบ้านคงเป็นเช่นนี้ ฉะนั้น ควนระมัดระวัง แต่เขาว่างูพิสที่กัดตาย ดำน้ำไม่ได้นาน ต้องลอยน้ำเป็นส่วนมาก จะจิงเพียงใดฉันยังไม่ได้ถามแพทย์ที่สถานเสาวภาดู เพราะไปเวลานี้สะดวก แต่ก็น่าจะจิง เพราะถ้างูพิสชนิดกัดตาย ดำน้ำได้นานแล้ว งูมันคงดำน้ำมากัดเราเป็นอันตรายแก่มนุสมากทีเดียว เวลานี้ ไม่ใคร่ได้ยินว่า งูดำน้ำมากัดเด็กๆ ที่ยังฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าหน้าที่โดยยังลงเล่นน้ำหยู่มากแห่ง” (112)

ช่วงนั้นมีข่าวว่า อำเภอพระโขนงมีงูพิษหนีน้ำเข้าบ้านเรือน บ้างก็เลื้อยขึ้นไปบนหลังคาบ้านของประชาชนและกัดประชาชนบ่อย จนสภากาชาดต้องส่งหน่วยฉีดเซรุ่มไปยังสถานีตำรวจพระโขนงเพื่อบริการประชาชน (ศรีกรุง, 16 ตุลาคม 2485)

เหม เวชกร บันทึกความหวาดกลัวของชาวบ้านฝั่งธนฯ ยามน้ำท่วมว่า “น้ำมันลึก สัตว์ร้ายอาจจะมีได้ เพราะฝั่งธนฯ มีคลองมาก สัตว์ร้ายย่อมจะเข้ามาหากิน เช่น จระเข้จะเข้ามาหา ทั้งแมวและหมามากมาย ส่วนงูใหญ่ก็มีชุกชุม เพราะบ้านคนยังห่างๆ กัน และมีสวนมากเป็นแหล่งของงู” (เหม, 165)

การสัญจรของชาวพระนครครั้งน้ำท่วม 2485

จระเข้บึงบอระเพ็ดหลุดไหลตามน้ำ

นายกรัฐมนตรีเล่าถึงข่าวจระเข้เมื่อครั้งน้ำท่วมว่า “จระเข้เข้ามาในลำคลอง ถ้าจะมีแน่เสียแล้ว เขาว่าที่บึงบอระเพ็ด ที่เพาะพันธุ์ปลาของกรมการประมงปกติมีจระเข้จนเปนที่มีชื่อเสียงว่าจระเข้ชุมนัก…เมื่อน้ำท่วมบึงบอระเพ็ดเมื่อเร็วๆ นี้ ซาบว่าท่วมบึงนี้หมด เมื่อน้ำลดลง จระเข้หายไปมาก สันนิถานว่า ล่องลงตามน้ำมาทางใต้ เวลานี้ถึงไหนแล้วไม่ซาบแน่” (112)

เขาเล่าต่อไปอีกว่า เมื่อวานนี้ พล.ร.ท.สินธุ์ กมลนาวิน รัฐมนตรีเล่าเรื่องจระเข้ให้ฟัง เขาว่า นายแพทย์ที่โรงพยาบาลศิริราชคนหนึ่ง นั่งตกปลาอยู่ที่ริมแม่น้ำหน้าโรงพยาบาล เห็นจระเข้ 2 ตัวขึ้นที่กลางแม่น้ำ (112-113)

สอดคล้องกับความทรงจำของคนร่วมสมัยบันทึกว่า ระยะครึ่งหลังของน้ำท่วม น้ำสกปรกมากยิ่งขึ้น พร้อมมีข่าวแพร่ไปทั่วว่า มีจระเข้หลุดจากเขาดิน จากบ่อสวนสราญรมย์ บ่อวัดสามปลื้ม หายออกจากบ่อบ้าง มีคุณหมอศริริราชและลูกศิษย์ออกมาตกปลาเจอจระเข้ บ้างก็ว่า จระเข้จากบึงบอระเพ็ดหลุดลงมาตามกระแสน้ำ ทำให้ผู้ใหญ่และเด็กไม่กล้าลงเล่นน้ำเพราะกลัวจระเข้คาบเอาไปกิน (สรศัลย์, 115-116)

บ่อจระเข้ที่วัดสามปลื้ม

กลางตุลาคม นายกฯ ไปตรวจราชการที่รังสิต และบันทึกว่า “ฉันไปที่คลอง 1 ภรรยานายช่างชลประทานเล่าไห้ฟังว่าที่คลอง 1 นี้ เขาลือว่ามีจระเข้ขึ้นไปไล่คนที่บางลำพู พระนคร เรื่องจระเข้กัดคนนี้มีมากแห่ง ที่นางเลิ้งก็จระเข้ขึ้นกัดคนบนถนน หน้าโรงตำหรวด สอบถามไปมาได้ความเปนเรื่องกะซิบว่า เปนข่าวราชการตำหรวดก็ได้” (92-93)

ในช่วงน้ำท่วม แม้นมีการขนจระเข้ที่วัดสามปลื้มไปเลี้ยงยังสถานที่ปลอดภัยแก่การหลุดออกมาแล้วก็ตาม มิวายจระเข้ที่สวนสราญรมย์ถูกย้ายมายังสวนสัตว์เขาดินนั้นหลุดหนีรอดออกไปได้ อีกทั้งนายกฯ ยังทราบข่าวว่า มีการยิงจระเข้ได้ที่ทุ่งบางกะปิข้างบ้านขุนสมาหารหิตะคดี แถวคลองเตยข่าวจระเข้ (113-114)

ไม่แต่เพียงภัยจากสัตว์ร้ายนานาชนิดนั้น แต่ยังปรากฏภัยจากไฟฟ้าดูดอีกด้วย หนังสือพิมพ์ลงข่าวเตือนให้ประชาชนระวังปลั๊กและสายไฟฟ้าในยามน้ำท่วม หากมีน้ำท่วมให้ตัดกระแสไฟฟ้าเสีย หากไม่สามารถทำได้ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ไฟฟ้า เพราะหากทำไม่ถูกต้องจะเกิดความเสียหายแก่ชีวิตและบ้านเรือนได้

ดังที่นายกฯ บันทึกติดตลกว่า “เมื่อ 13 ตุลาคม 2485 เช้ามืด นายกรัถมนตรีดีไจเพราะน้ำลดลงมาก ราว 8.00 น. เสส เมื่อตอนที่วิทยุอ่านเรื่องน้ำลดของสามัคคีชัยจบลง…พอฟังเรื่องน้ำลดลงจบ น้ำก็ขึ้นท่วมบ้านท่านตามเคย…ปลัดกะซวงกลาโหมพูดโทรสัพท์กับนายกรัถมนตรีเล่าไห้ฟังว่าน้ำช่างขึ้นเร็วจิงๆ เมื่อลงมือพูดโทรสัพท์นั่งบนม้าไนห้องรับแขก พอพูดเส็ดน้ำก็ขึ้นมาเปียกก้นเลยนั่งแช่น้ำพูดโทรสัพท์ น่ากลัวไฟฟ้าจะเดินเข้าตัวปลัดกะซวงกลาโหมจิง” (92-93)

รวมทั้งภัยจากโรคระบาดที่มากับน้ำท่วม รัฐบาลขอร้องให้ประชาชนอย่าเล่นน้ำด้วยความสนุก หรืออาบน้ำริมถนน และโปรดไปฉีดวัคซีนป้องกันอหิวาต์ ไข้รากสาดน้อย เพราะน้ำสกปรกอาจเข้าปากยามอาบน้ำเล่นน้ำได้ (ศรีกรุง, 6 ตุลาคม 2485)

นี่คือตัวอย่างของภัยจากสัตว์ร้าย ไฟฟ้าดูด และโรคภัยไข้เจ็บที่ถูกบันทึกไว้เมื่อน้ำท่วมครานั้น

จอมพล ป.สนทนากับชาวนาที่หน้าพระอุโบสถวัดพระศรีมหาธาตุ 12 กันยายน 2485 และภาพปลาขนาดใหญ่ที่หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมครั้งน้ำท่วม
ข้อระวังเรื่องไฟฟ้ายามน้ำท่วม ศรีกรุง 16 ตุลาคม 2485