สงครามเย็นใหม่ : โลกที่ปั่นป่วน-ผันผวน-ซับซ้อน | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ | สุรชาติ บำรุงสุข

 

สงครามเย็นใหม่

: โลกที่ปั่นป่วน-ผันผวน-ซับซ้อน

 

“สงครามไม่ใช่เรื่องราวที่น่าอภิรมย์ใจ”

The Economist (2008)

 

ข้อสังเกตเล็กๆ น้อยๆ จากบทความทางทหารในนิตยสาร The Economist ในเดือนตุลาคม 2008 ไม่ใช่สิ่งที่เกินจากความเป็นจริงของสถานการณ์โลกยุคปัจจุบันแต่อย่างใด และไม่ต่างจากคำกล่าวของนายพลเชอร์แมน (Gen. William Sherman) ที่เตือนใจเราเสมอว่า “สงครามคือนรก”

แต่ไม่ว่าสงครามจะเป็น “นรก” เช่นไร สงครามในเวทีโลกก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อครั้งสงครามเย็นสิ้นสุดลงในระยะแรก หลายคนดูจะตกอยู่ในภวังค์แห่งความฝันว่า “สันติภาพอย่างถาวร” (permanent peace) อาจจะเกิดขึ้นจากการสิ้นสุดของยุคแห่งการแข่งขันและการเผชิญหน้าครั้งใหญ่ของโลกในศตวรรษที่ 20 และน่าจะเป็นการจบลงอย่างถาวรด้วยการล่มสลายของรัฐมหาอำนาจคู่ขัดแย้งคือ สหภาพโซเวียตรัสเซีย

แต่นักเรียนรัฐศาสตร์ในสาขาการเมืองระหว่างประเทศทุกคนรู้ดีว่า การสิ้นสุดของสงครามเย็นในช่วงปลายของศตวรรษที่ 20 และนำมาซึ่งสภาวะของโลกแบบขั้วเดียว (unipolar) ที่สหรัฐอเมริกาดำรงการเป็น “รัฐมหาอำนาจเดี่ยว” ในการเมืองโลกนั้น ไม่น่าจะใช่สภาวะที่ยั่งยืน

ถึงอย่างไรเสีย ความเป็นรัฐมหาอำนาจใหญ่แต่เพียงผู้เดียว หรือในความหมายทางทฤษฎีคือ “Hegemonic Power” ในโลกยุคปัจจุบัน ไม่ใช่สิ่งที่จะดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน และจะถูกท้าทายจาก “รัฐมหาอำนาจใหม่” ที่ก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งขันในเวทีโลกเสมอ

แน่นอนว่าปรากฏการณ์ของ “การแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่” (the great power competition) ไม่ใช่เรื่องใหม่ในการเมืองโลกแต่อย่างใด… การเมืองโลกทุกยุคทุกสมัยล้วนเผชิญกับปัญหาเช่นนี้มาโดยตลอด จนอาจกล่าวได้ว่าไม่มียุคสมัยใดในการเมืองโลกจะปลอดจากภาวะของการแข่งขันดังกล่าว

หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า การแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่เป็น “ตัวแปรถาวร” ของการเมืองโลกที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

การหวนคืนของการแข่งขันใหม่

ดังที่กล่าวแล้วว่าการดำรงความเป็นรัฐมหาอำนาจเดี่ยวของสหรัฐ อันทำให้เกิดสภาวะ “โลกขั้วเดียว” ไม่อาจดำรงอยู่ได้อย่างถาวร

ดังนั้น คำถามที่เกิดขึ้นในการก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 คือ รัฐใดจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้ท้าทาย ซึ่งว่าที่จริงก็เป็นสิ่งที่คาดเดาได้ไม่ยาก เพราะโลกเริ่มเห็นการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การตัดสินใจผลักดันให้จีนเข้าสู่การเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) ในเดือนธันวาคม 2001 เป็นสัญญาณของการเติบโตของเศรษฐกิจแบบ “รัฐนิยม” จนต้องดึงเข้าสู่องค์กรเศรษฐกิจของโลก “ทุนนิยม”

ในอีกส่วนนั้น “กันยายน 2001” (หรือเหตุการณ์ 9/11) เป็นปีสำคัญของปัญหาความมั่นคงอเมริกัน ที่เกิดการก่อการร้ายกับสหรัฐ และเป็นหมุดหมายของความเปลี่ยนแปลงของปัญหาความมั่นคงโลก ที่วาระเรื่อง “การก่อการร้าย” เป็นหัวข้อสำคัญทั้งในทางนโยบายและในทางวิชาการ พร้อมกับเป็นจุดเริ่มต้นของ “สงครามต่อต้านการก่อการร้าย” (War on Terror หรืออีกนัยหนึ่งคือ Global War on Terrorism) และนำไปสู่สงครามอัฟกานิสถานในปลายปี 2001 และขยายตัวเป็นสงครามอิรักในปี 2003

สงคราม 2 ชุดนี้มีส่วนอย่างสำคัญในการหน่วงรั้งสหรัฐในเวทีโลกอย่างมาก จนเป็นดังการ “ติดกับดักสงคราม” อีกครั้งหลังจากสงครามเวียดนาม สภาวะเช่นนี้ในอีกด้านกลายเป็นการเปิดโอกาสอย่างดีให้การขยายบทบาทของจีนในเวทีสากล ประกอบกับปรากฏการณ์ “การเติบใหญ่ของจีน” (The Rise of China) ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทหาร ที่เห็นชัดมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 21 นั้น เป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงการมาของ “รัฐมหาอำนาจใหม่” พร้อมกันนี้ การเมืองโลกก็เริ่มเห็นถึงการแข่งขันที่ก่อตัวขึ้น และเป็นที่ชัดเจนว่า จีนคือคู่แข่งขันใหม่ของสหรัฐ ที่มีสถานะเป็น “รัฐมหาอำนาจเก่า”

การเติบใหญ่ของจีนนำไปสู่ข้อถกเถียงอย่างกว้างขวางทางทฤษฎีของวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศว่า “จีนจะก้าวขึ้นสู่ความเป็นรัฐมหาอำนาจใหญ่อย่างสันติได้หรือไม่?”

คำถามเช่นนี้มีนัยโดยตรงว่า การแข่งขันระหว่าง “รัฐมหาอำนาจใหม่” กับ “รัฐมหาอำนาจเก่า” จะเป็นไปอย่างสันติได้หรือไม่…

หรือว่าการแข่งขันเช่นนี้จะต้องเดินไปบน “ถนนสายสงคราม” เท่านั้น

คำถามเช่นนี้ในด้านหนึ่งอาจจะเป็นผลพวงของประวัติศาสตร์อันยาวนาน ซึ่งนักเรียนในสาขาการเมืองระหว่างประเทศถูกสอนมาโดยตลอดจากหนังสือเล่มสำคัญของ “ธูซิดิดิส” (Thucydides) อดีตนายพลแห่งกองทัพเอเธนส์ ที่ผันตัวมาเป็นนักประวัติศาสตร์ คือ หนังสือ “ประวัติศาสตร์สงครามเพโลพอนนิเชียน” (The History of Peloponnesian War) อันเป็นบันทึกการสงครามระหว่างนครรัฐกรีก คือสงครามที่นำโดยเอเธนส์กับอีกฝ่ายที่นำโดยสปาร์ตา

คำสอนจากยุคกรีก

หนังสือเล่มนี้สอนเราให้เห็น “สัจธรรมของการเมืองโลก” ว่า การแข่งขันระหว่างเอเธนส์กับสปาร์ตาที่สุดท้ายจบลงด้วยสงครามนั้น ได้กลายเป็นแบบแผนทางความคิดในอีกหลายยุคต่อมาว่า “สงครามเป็นผลของการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่” ยิ่งเราพิจารณาถึงสงครามในศตวรรษที่ 20 ก็ยิ่งเห็นชัดถึงสมมุติฐานดังกล่าวของธูซิดิดิส

หากเราพิจารณาด้วยกรอบความคิดของตัวแบบจากสงครามนครรัฐกรีกแล้ว สงครามโลกครั้งที่ 1 ที่เยอรมนีมีฐานะเป็น “รัฐมหาอำนาจใหม่” ในขณะที่อังกฤษและฝรั่งเศสเป็น “รัฐมหาอำนาจเก่า” และสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นเป็น “รัฐมหาอำนาจใหม่” ส่วนสหรัฐ อังกฤษ และฝรั่งเศสเป็น “รัฐมหาอำนาจเก่า” ต่อมาในยุคสงครามเย็น สหภาพโซเวียตเป็น “รัฐมหาอำนาจใหม่” แข่งขันกับสหรัฐที่เป็น “รัฐมหาอำนาจเก่า” เป็นแต่เพียงข้อดีสำหรับจุดจบยุคสงครามเย็นที่แตกต่างออกไปคือ สงครามชุดนี้ไม่ได้เดินทางผ่านสงครามใหญ่ ดังเช่นสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2

สามสงครามใหญ่ของศตวรรษที่ 20 ล้วนตอกย้ำกรอบคิดของธูซิดิดิสทั้งสิ้น สงครามใหญ่ในเวทีโลกเป็นผลผลิตโดยตรงของการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจ และสงครามจะจบลงด้วยการสิ้นสุดของรัฐมหาอำนาจฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสมอ ผลของการแข่งขันเช่นนี้จึงทำให้เกิดคำถามเสมอว่า การแข่งขันดังกล่าวจะดำเนินไปอย่างสันติ และไม่จำเป็นต้องมีสงครามเป็นเส้นทางหลักได้หรือไม่

ดังนั้น ถ้าการแข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐเป็น “ลิขิต” ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในทางการเมืองระหว่างประเทศ ย่อมมีสิ่งที่เกิดตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกันคือ การก่อตัวของสงครามเย็นครั้งใหม่ หรืออาจจะต้องเรียกด้วยเงื่อนไขของเวลาว่า “สงครามเย็นในศตวรรษที่ 21” (The 21st Century Cold War) ซึ่งแน่นอนว่า มีความแตกต่างจากชุดเดิมที่เป็น “สงครามเย็นในศตวรรษที่ 20” ในหลายเรื่อง

สงครามเย็น 2 ชุดนี้ จึงไม่เพียงเป็นความแตกต่างเรื่องคู่แข่งขัน และมิติของประเด็นความขัดแย้ง หากยังรวมถึงประเด็นแวดล้อมที่มีความแตกต่างไปตามเงื่อนไขของเวลา อีกทั้งประเด็นของพื้นที่ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่แตกต่างไปจากเดิม แต่แกนกลางของสงครามเย็นที่ไม่แตกต่างจากเดิมคือ การแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของการเมืองโลก และเป็นที่ชัดเจนจากการเติบโตของจีนในด้านต่างๆ ว่า “สงครามเย็นใหม่” จะมีสหรัฐและจีนเป็นคู่แข่งขันหลัก

ดังนั้น เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 แทนที่จะเห็นมิติของความร่วมมือ เรากลับเห็นถึงการแข่งขันระหว่างประเทศแทน เช่น “การทูตวัคซีน” (Vaccine Diplomacy) เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้

 

แล้วสงครามก็เริ่มขึ้น!

ในขณะที่การแข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐกำลังทวีความเข้มข้นจากยุคโอบามาสู่ยุคทรัมป์ หลายฝ่ายในขณะนั้นดูจะกังวลอย่างมากปัญหาความขัดแย้งในเอเชีย แต่แล้วสิ่งที่คาดไม่ถึงกลับเกิดขึ้นในยุโรป …

ไม่มีใครคิดมาก่อนเลยว่า ในขณะที่ปัญหาโรคระบาดใหญ่ยังไม่จบลง สงครามชุดใหม่เกิดขึ้นที่ยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 พร้อมกับพาวิกฤตชุดต่างๆ ที่เกิดมาจากโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตพลังงาน วิกฤตอาหาร และวิกฤตความยากจน ให้มีความรุนแรงมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในมิติด้านอาหารและพลังงาน พร้อมกับพาให้ปัญหาค่าครองชีพทวีความรุนแรงมากขึ้นด้วย

สงครามยูเครนไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงจุดเปลี่ยนของสงครามในรูปแบบใหม่ แต่ยังชี้ให้เห็นถึงจุดเปลี่ยนทางการเมืองอีกด้วย

กล่าวคือ สงครามยูเครนอาจจะเทียบเคียงได้กับสงครามบนคาบสมุทรเกาหลีในปี 1950 ซึ่งผลสืบเนื่องในทางการทหารคือ การกำเนิดของแนวคิดเรื่อง “สงครามจำกัด” (Limited War)

และในทางการเมืองคือ จุดที่ชี้ให้เห็นว่าความไว้วางใจระหว่างประเทศที่พอจะมีอยู่นั้น ได้สิ้นสุดลง อันทำให้สงครามได้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่ผลในอีกทางคือ การเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญประการหนึ่งของการสร้างระบบพันธมิตรระหว่างประเทศ

ดังนั้น ผลจากสงครามยูเครนจะมีนัยอย่างมากกับการเสริมสร้างระบบพันธมิตรด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ ดังจะเห็นถึงเส้นแบ่งของความเป็น “ค่าย” ทางการเมืองที่ชัดเจนในเวทีสากล คือค่ายตะวันตก (สหรัฐ สหภาพยุโรป และชาติพันธมิตร เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป็นต้น) และค่ายตะวันออก (จีน รัสเซีย เกาหลีเหนือ และชาติพันธมิตรที่มีทิศทางทางการเมืองในแบบต่อต้านตะวันตก โดยเฉพาะต่อต้านสหรัฐ) แม้จะดูเหมือนว่าเป็นการแบ่งโลกแบบเก่าอยู่บ้าง

แต่ในขณะที่สงครามยูเครนกำลังมีความเข้มข้นมากขึ้นนั้น สิ่งที่คาดไม่ถึงได้เกิดขึ้นในเอเชีย คือ การเดินทางเยือนไต้หวันของประธานรัฐสภาอเมริกัน นำไปสู่วิกฤตการณ์ช่องแคบไต้หวันในต้นเดือนสิงหาคม 2022 และกลายเป็นภาพคู่ขนานของการแบ่งโลกทั้งในยุโรปและเอเชีย อีกทั้งยังตอกย้ำอย่างมีนัยสำคัญถึงความชัดเจนของสงครามเย็นในเอเชีย อันทำให้เกิดการเปรียบเทียบว่า ไต้หวันในมุมมองของสงครามเย็นใหม่คือ “ยูเครนแห่งเอเชีย” เพราะการถูกคุกคามจากรัฐมหาอำนาจใหญ่ที่เป็นรัฐเพื่อนบ้าน และคาดเดาไม่ได้ว่า เมื่อไรที่จีนจะตัดสินใจบุกไต้หวัน (ดังเช่นที่รัสเซียบุกยูเครน)

อย่างไรก็ตาม ประเด็นขับเคลื่อนในยุคปัจจุบันไม่ใช่เรื่องของ “ทุนนิยม vs สังคมนิยม” หรือ “เสรีนิยม vs คอมมิวนิสต์” ในแบบสงครามเย็นครั้งก่อน หากดูจะเป็นการต่อสู้ระหว่าง “เสรีนิยม vs อำนาจนิยม” ที่มีนัยถึงความพยายามที่จะกำหนด “ระเบียบโลกใหม่” ในอนาคตอีกด้วย

ซึ่งผลจากการแข่งขันและต่อสู้ทางการเมืองเช่นนี้ เป็นสัญญาณอย่างดีถึงความ “ปั่นป่วน-ผันผวน-ซับซ้อน” ที่กำลังเกิดในเวทีโลกปัจจุบันนั่นเอง!