มองทวนสวนกระแสลัทธิมาร์กซ์ตะวันตก : วิเวก ชิบเบอร์ (จบ) | เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ

 

มองทวนสวนกระแสลัทธิมาร์กซ์ตะวันตก

: วิเวก ชิบเบอร์ (จบ)

 

วิเวก ชิบเบอร์ ศาสตราจารย์ทฤษฎีสังคมและสังคมวิทยาแนวมาร์กซิสต์ชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดียแห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ได้ตรวจสอบสะสางลัทธิมาร์กซ์ตะวันตก (Western Marxism) และพวกซ้ายใหม่ (the new left) ในหนังสือเล่มล่าสุดของเขาชื่อ The Class Matrix : Social Theory after the Cultural Turn (2022) หรือ “เบ้าชนชั้น : ทฤษฎีสังคมหลังหันเหไปทางวัฒนธรรม”

โดยวิเคราะห์วิจารณ์การหันไปเน้นโครงสร้างส่วนบนทางอุดมการณ์/วัฒนธรรมอย่างหลงทิศผิดทาง และเสนอให้หวนกลับสู่มุมมองแบบวัตถุนิยมที่เน้นโครงสร้างชนชั้นอีกครั้ง

ดังบทสรุปสาระสังเขปข้อถกเถียงในหนังสือของเขาที่ผมขอนำเสนอต่อดังนี้ :

Vivek Chibber vs. พวกลัทธิมาร์กซ์ตะวันตกและซ้ายใหม่ที่เขาวิพากษ์วิจารณ์ได้แก่ Stuart Hall, Theodor Adorno, Antonio Gramsci

ความเข้าใจผิดฝาผิดตัวของซ้ายใหม่

เรื่องอุดมการณ์/วัฒนธรรม

 

อุดมการณ์/วัฒนธรรมได้ถูกพวกซ้ายใหม่ปั้นเติมเสริมแต่งจนพองโตอย่างผิดๆ ว่าเป็นต้นตอบ่อเกิดแห่งความมั่นคงของทุนนิยม ทั้งที่เอาเข้าจริงต้นตอบ่อเกิดความมั่นคงที่ว่าได้แก่ตัวโครงสร้างชนชั้นนั้นเอง

นี่คือสาเหตุที่แท้เบื้องหลังข้อเท็จจริงอันน่าตื่นตะลึงที่ว่าไม่ว่าจะเป็นแห่งหนตำบลใด ในท่ามกลางวัฒนธรรม-ภูมิภาค-แบบแผนอุดมการณ์หลายหลากมากมายขนาดไหนที่ทุนนิยมแผ่ขยายเข้าไปถึง ปฏิบัติการรวมหมู่ กลายเป็นข้อยกเว้น ไม่ใช่ปทัสถานปกติธรรมดา นั่นย่อมหมายความว่าทุนนิยมมีวิธีการทำให้ตัวมันเองมั่นคงมีเสถียรภาพได้ไม่ว่ามันจะไปถึงไหนก็ตาม

ก็แลปัจจัยร่วมที่ดำรงอยู่ไม่ว่าแห่งหนตำบลใดที่ทุนนิยมไปถึง และคอยบันดาลความมั่นคงให้แก่มัน ก็คือโครงสร้างชนชั้นนั่นเอง โครงสร้างชนชั้นอันมีคุณสมบัติเชิงวัตถุธรรมที่คอยช่วยก่อกำเนิดความมั่นคงให้แก่ทุนนิยมโดยเพิ่มต้นทุนปฏิบัติการรวมหมู่ให้แพงหูฉี่ยิ่งขึ้น

นี่ย่อมหมายความว่าข้อบกพร่องพื้นฐานของพวกซ้ายใหม่ก็คือถึงแม้พวกเขาเข้าใจถูกต้องว่าโครงสร้างชนชั้นก่อให้เกิดความขัดแย้งเป็นปฏิปักษ์ในระบบทุนนิยม แต่พวกเขากลับโยงว่าความมั่นคงของระบบนี้เกิดจากอุดมการณ์/วัฒนธรรม ทั้งที่เอาเข้าจริงโครงสร้างชนชั้นนั่นแหละที่แสดงบทบาททั้งสองด้านควบคู่กันไป

ปัญหาของนักลัทธิมาร์กซ์รุ่นก่อนอย่างมาร์กซ์และเลนินก็คือพวกเขาไม่ได้พัฒนานัยสืบเนื่องแห่งลัทธิวัตถุนิยมของตัวเองไปไกลพอ ชิบเบอร์เห็นว่าสิ่งที่เขานำเสนอใน The Class Matrix นั้นแฝงนัยอยู่ในงานเขียนของมาร์กซ์และเลนินนั่นแหละ ชั่วแต่มันไม่ได้ถูกรวบยอดยกระดับความคิดขึ้นเป็นทฤษฎีเท่านั้นเอง

ต่อมาเมื่อพวกซ้ายใหม่เผชิญทางแพร่งอิหลักอิเหลื่อนี้ (มีความขัดแย้งเป็นปฏิปักษ์ทางชนชั้นในทุนนิยม แต่ทำไมไม่ยักมีการปฏิวัติของกรรมกรหว่า?) พวกเขาก็พยายามยกระดับปัญหานี้ไปเป็นทฤษฎี ทว่า กลับผิดพลาดที่ไปคว้าเอาอุดมการณ์มาเป็นตัวคำตอบแทน

การเดินขบวนวันกรรมกรสากล 1 พฤษภาคม 2022 ที่กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี @Sputnik News

บทบาทที่แท้จริงของอุดมการณ์/วัฒนธรรมในทุนนิยม

: ซีเมนต์ยาใจ & ทรัพยากรในการต่อต้าน

 

ก็ถ้าอุดมการณ์/วัฒนธรรมไม่ใช่ต้นตอบ่อเกิดแห่งความมั่นคงของทุนนิยม หากเป็นพันธนาการเหนี่ยวรั้งทางเศรษฐกิจและวัตถุที่กรรมกรเผชิญแล้ว ตัวอุดมการณ์/วัฒนธรรมเองมีบทบาทบ้างหรือไม่อย่างไรเล่า?

ชิบเบอร์เสนอว่าอุดมการณ์/วัฒนธรรมมีบทบาท 2 อย่างด้วยกันในพลวัตความมั่นคงของทุนนิยม :

1) อุดมการณ์/วัฒนธรรมเป็นตัวให้เหตุผลอธิบาย (rationalizing) ปฏิบัติการของกรรมกรและนายทุน

พวกซ้ายใหม่คิดว่าอุดมการณ์เป็นปัจจัยจูงใจ (motivating factor) ให้กรรมกรไม่รวมตัวจัดตั้งและไม่ลุกขึ้นก่อกบฏ ชิบเบอร์เห็นต่างไปว่าปัจจัยจูงใจให้เกิดความมั่นคงในระบบทุนนิยมคือสภาพเงื่อนไขและข้อจำกัดเหนี่ยวรั้งทางเศรษฐกิจสังคมต่างหาก นี่แหละที่จูงใจกรรมกรให้รู้สึกว่ามันรอบคอบรัดกุมสมเหตุสมผลที่จะตอบสนองต่อสภาพเงื่อนไขที่ตนเผชิญด้วยการไม่รวมตัวจัดตั้งกันขึ้นและไม่ก่อกบฏจะดีกว่า

สิ่งที่อุดมการณ์/วัฒนธรรมมีบทบาทจริงก็คือช่วยให้กรรมกรอยู่ได้รับได้กับการตัดสินใจเลือกของตัวบนพื้นฐานข้อพินิจคำนึงทางเศรษฐกิจและวัตถุ โดยแสดงเหตุผลรองรับอธิบายการเลือกดังกล่าว ให้มันเป็นที่เข้าใจได้และตีความหมายของมันออกมาได้ผ่านอุดมการณ์/วัฒนธรรมนั่นเอง (those choices that are rationalized, understood and interpreted through ideology)

ในลักษณาการที่ว่านี้ อุดมการณ์จึงเป็นเสมือนปูนซีเมนต์ที่ช่วยฉาบกลบอุดปิดซอกรูหลุมหล่มในการตัดสินใจของกรรมกรที่จะไม่ปฏิบัติการรวมหมู่ให้มิดชิดราบเรียบแนบเนียน ขณะที่ข้อเหนี่ยวรั้งทางวัตถุทั้งหลายทำงานขั้นมูลฐานที่ลุ่มลึกกว่าเพื่อรักษาความมั่นคงของทุนนิยม

2) อุดมการณ์/วัฒนธรรมอาจเป็นปัจจัยบั่นทอนความมั่นคงของทุนนิยมได้โดยช่วยสร้างเอกลักษณ์รวมหมู่และปลุกเร้าความสมานฉันท์ของกรรมกรในการรวมตัวกันจัดตั้งต่อต้านทุนนิยม

บทบาทประการที่สองของอุดมการณ์/วัฒนธรรมเรียกว่าพลิกกลับตาลปัตร/กลับหัวเป็นหางความเข้าใจผิดของพวกซ้ายใหม่และวัฒนธรรมนิยมข้างต้นเลยทีเดียว กล่าวคือ

พวกซ้ายใหม่และวัฒนธรรมนิยมคิดว่าอุดมการณ์/วัฒนธรรมมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงแก่ระบบทุนนิยม

ตรงกันข้าม ชิบเบอร์กลับเห็นว่า อุดมการณ์/วัฒธรรมมีบทบาทสำคัญในการก่อเกิดปัจจัยบั่นทอนความมั่นคงของทุนนิยมลงต่างหาก

สิ่งนี้บังเกิดขึ้นเมื่อกรรมกรพยายามรวมตัวกันจัดตั้งองค์การรวมหมู่ของตนขึ้นมา ในกระบวนการอันยากลำบากและสุ่มเสี่ยง (เพราะถูกจำกัดเหนี่ยวรั้งด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและวัตถุของโครงสร้างชนชั้น) นี้ อุดมการณ์/วัฒนธรรมช่วยให้กรรมกรสามารถแบกรับความยากลำบากและความเสี่ยง กล้าต่อสู้ กล้าเสียสละ โดยผ่านการที่อุดมการณ์/วัฒธรรมก่อกำเนิด เอกลักษณ์รวมหมู่ (collective identity) และความสมานฉันท์ (solidarity) ขึ้นมา

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในกระบวนการที่กรรมกรลุกขึ้นปฏิบัติการต่อต้านรวมหมู่ ซึ่งจะอาศัยเพียงการคิดคำนวณด้วยเหตุผลเพื่อลดความเสี่ยงให้เหลือต่ำสุดหรือเพิ่มประโยชน์ที่พึงได้ให้สูงสุด (risk-minimizing & benefit-maximizing rational calculations) เพียงเท่านั้นหาพอไม่ หากต้องทำงานทางอุดมการณ์/วัฒนธรรมปลุกเร้าเร่งระดมกันขึ้นอย่างเป็นจริง

สรุปได้ว่าบทบาทของอุดมการณ์/วัฒนธรรมไม่ใช่การทำให้ระบบทุนนิยมมั่นคงมีเสถียรภาพ ความมั่นคงดังกล่าวมาจากสภาพเงื่อนไขทางวัตถุที่ล้อมรอบตัวกรรมกรอยู่ต่างหาก บทบาทแท้จริงของอุดมการณ์/วัฒนธรรมคือเป็นซีกส่วนหนึ่งในคลังแสงของชนชั้นกรรมกรและพรรคสังคมนิยมทั้งหลายที่จะก่อกำเนิดเอกลักษณ์รวมหมู่ทางสังคมและการเมืองขึ้นมา เพื่อช่วยให้กรรมกรฟันฝ่าเอาชนะอุปสรรคประดามีไปสู่ปฏิบัติการรวมหมู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่พ้นในการต่อสู้รวมหมู่อันใดก็ตาม

ฉะนั้น อุดมการณ์/วัฒนธรรมจึงมีบทบาท 2 อย่าง กล่าวคือ

1) เป็นวิธีการที่กรรมกรกับนายทุนใช้มาให้เหตุผลรองรับการที่ตนติดกับดักเชิงโครงสร้างของระบบทุนนิยม นายทุนเองก็ต้องปั้นแต่งเหตุผลเชิงอุดมการณ์/วัฒนธรรมมารองรับการกระทำของตัวด้วยเหมือนกัน พวกนายทุนมีคำอธิบายภาระหน้าที่ในเชิงอุดมการณ์/วัฒนธรรมของตน มีการให้เหตุผลความชอบธรรมทางอุดมการณ์/วัฒนธรรมว่าทำไมตนจึงต้องบังคับขับไสเคี่ยวเข็ญลูกจ้างและผู้คนเช่นนั้น

นอกจากนี้ 2) อุดมการณ์/วัฒนธรรมยังมีบทบาทเป็นส่วนประกอบอันสำคัญยิ่งในบรรดาอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือการจัดตั้งซึ่งชาวสังคมนิยมและนักสหภาพแรงงานมีเพื่อก่อให้เกิดเอกลักษณ์รวมหมู่ที่จำเป็นแก่การระดมพลังทางชนชั้น

 

สรุปได้ว่า วิเวก ชิบเบอร์ มุ่งทำภารกิจ 2 อย่างด้วยกันในหนังสือ The Class Matrix อย่างหนึ่งคือฟื้นฟูบูรณะลัทธิวัตถุนิยมกลับคืนให้แก่ทฤษฎีสังคมของมาร์กซ์ ซึ่งยืนยันว่ารูปการก่อตัวทางสังคมทั้งหลายมีที่มาที่ไปบนพื้นฐานข้อพินิจคำนึงเชิงวัตถุของชนชั้นต่างๆ หาใช่โดยผ่านอุดมการณ์/วัฒนธรรมโดยตัวมันเองไม่ รูปการก่อตัวทางสังคมทุกรูปแบบย่อมหยั่งรากยึดอยู่ในโครงสร้างชนชั้นที่เป็นตัวก่อเกิดสมรรถภาพและผลประโยชน์ทางชนชั้น นี่เป็นการฟื้นคืนบทบาทฐานะของผลประโยชน์ทางชนชั้นเชิงวัตถุกลับสู่แกนกลางของทฤษฎีลัทธิมาร์กซ์แบบวัตถุนิยมนั่นเอง

ขณะเดียวกัน ชิบเบอร์ก็ไม่ได้ปฏิเสธลบล้างบทบาทความสำคัญของอุดมการณ์/วัฒนธรรมไปเสียหมด หากให้มันมีฐานะเป็นปัจจัยอันดับรองในการสร้างความมั่นคงแก่ทุนนิยม ด้วยบทบาทในการสนองเหตุผลแก่การตัดสินใจเลือกไม่กบฏของกรรมกร (ซีเมนต์ยาใจ), อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการก่อเกิดเอกลักษณ์รวมหมู่และความสมานฉันท์ทางการเมือง เป็นทรัพยากรในการต่อต้านสำหรับปฏิบัติการต่อสู้รวมหมู่ของกรรมกรที่สั่นคลอนทุนนิยม