อภิญญ ตะวันออก :แด่หนุ่มสาว (19) : จาไปดองแวง-เมื่อชีวิตสั้น ศิลปะยาว

รํ่ามาตั้งแต่ก่อนจาไปดองแวง/พิณเขมรคันยาว จะขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมแห่งมนุษยชาติ จากองค์การยูเนสโกเมื่อปีกลายนั้น

ใครจะนึกไปละว่า พิณพื้นบ้านที่จวนเจียนจะสูญหายบัดบ่งชิ้นนี้ จะกลับมาได้รับความนิยมและถูกฟื้นฟูอีกครั้ง

สมัยที่ยังเป็นหัวเมืองภายใต้การอารักขาของสยาม ก็มีศิลปินจาไปดองแวงคนหนึ่ง เคยเดินทางมากรุงเทพฯ และได้ขับถวายทำนองและร้องบทจาไป ต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้าอยู่หัวแห่งสยาม จนเป็นที่โปรดปรานและพระราชทานนามว่า “นักพระภิรมย์ภาษา” หรือเขมรเรียกว่า “กรมงุย”

ที่สังเกตว่า ตำแหน่งจาไปดองแวงท่านนั้นมาจากสยาม ก็ตรงทินนามคำว่า “นัก…” นั่นเอง

นี่ทำให้เชื่อนักแล้วว่า กรมงุยนั้น เป็นศิลปินจาไปที่เชี่ยวชาญทางภาษาและเก่งจัด ถึงกับทำให้พระภิรมย์เลยเทียว

โดยบทร้องจาไปและอื่นๆ ของกรมงุยนั้นได้รับการบันทึกให้เป็น “ฉบับ” หรือแบบเรียนเพื่อการศึกษา ในต้นรัชสมัยกษัตริย์มุนีวงศ์ และกรมงุยวายชนม์ไปแล้ว

ที่น่าสนใจคือ นักพระภิรมย์ภาษานั้น เป็นปราชญ์ที่อ่านเขียนหนังสือไม่ออก จึงเป็นมุขปาถะโดยแท้ และเช่นเดียวกับปราชญ์พื้นบ้านเขมรยุคนี้ ซ้ำบางคน ก็ยังพิการตาบอดเสียอีก

นี่คือยุคร่วมสมัยจาไปดองแวง แต่หากย้อนไปราว 800 ปีก่อนนู้น ก็จะพบว่า เครื่องพิณ 2 สายชนิดนี้ มีปรากฏอยู่ในภาพสลักประติมากรรมนูนต่ำที่ปราสาทเมืองพระนครนานมาแล้ว

เป็นหลักฐานว่า จาไป/พิณโดด (ไม่มีคำว่า ดองแวง) นั้น เป็นเครื่องทรงดนตรีแห่งราชสำนักวรมันมาตั้งแต่บรรพกาล

แลในราชวงศ์องค์ด้วงนั้น พิณคันยาวจาไปก็ถือเป็น 1 ในเครื่องดนตรีหลวงฝ่ายในของพระราชวังเขมรินทร์ ดังที่มีนางกำนัลถือพิณจาไปนั่งอยู่แถวหลังของวงมโหรีนั่นเอง

ทว่า กาลเวลาผ่านไป อัตลักษณ์จาไปดองแวงในปัจจุบัน กลับกลายเป็นเหมือนเครื่องดนตรีพื้นเมืองของชนพื้นบ้าน ที่วนเวียนเล่นในหมู่ศิลปินชรา และบ้างก็ตาบอด

จนมีความเชื่อในหมู่คนรุ่นใหม่ว่า ใครเล่นจาไปดองแวงได้เก่งกาจ ผู้นั้นมักจะตาบอด

 

ความสำเร็จดังกล่าว มาจากนักจาไปตาบอดที่ชื่อ กง ไณ ผู้ถูกค้นพบเมื่อ 20 ปีก่อนโดยชาวเขมร-อเมริกันที่ตึกสลัมโบแด็ง

ตั้งแต่นั้นมา ชายชราผู้ถือพิณคันยาวและตาบอดผู้นี้ ก็กลายเป็นแรงดึงดูดมหาชนที่มีต่อตัวตนและการขับพิณจาไปของ กง ไณ ก็ไม่เคยลดลง มีบางคนเปรียบเขาเป็น เรย์ ชาร์ลส์ ศิลปินบูลส์แจ๊ซอเมริกัน ด้วยรูปลักษณ์ที่พรสวรรค์ที่คล้ายกัน

พลันทันใด จาไปบทหนึ่งก็ดังขึ้นมาในหัวของฉัน มันได้แยกแตกออกเป็น 2 ทาง ระหว่างชายชรา 2 คนนั้น ผู้มีฝีมือ (และฝีปาก) ทางจาไปที่เก่งกาจ

สองศิลปินที่ดวงตามืดบอด และเต็มไปด้วยเรื่องราวแห่งความตกต่ำและโชติช่วง สลับกันไปมา ราวกับโชคชะตานั่นเองที่เล่นตลกต่อความรันทดแสนกล ที่ยอกย้อน หลอนลวง

ต่อเรื่องราวระหว่าง 2 นักจาไปร่วมยุค “กง ไณ และ ปรัช ชวน”

 

กง ไณ เป็นชาวกำโปด/ตอนใต้ เกิดหลัง ปรัช ชวน ชาวตาแก้ว/ตะวันออกตอนล่างซึ่งเกิดในปี พ.ศ.2479 ราว 8 ปี ตาบอดแต่กำเนิด แต่ ปรัช ชวน ซึ่งล้มป่วยตอนอายุ 5 ขวบทำให้ตาเขาดับมัวไม่ถึงกับบอดสนิท

ทั้งสองเกิดในครอบครัวศิลปิน โดย ปรัช ชวน นั้นมีน้าชายคือ แปด ดุ๊ก ศิลปินจาไปซึ่งมีชื่อเสียงมากในรัฐบาลสีหนุ (1959-1970) และส่งเสริมหลานชวนเริ่มหัดจาไปเมื่ออายุได้ 12 ปี

สมัยก่อน การเล่นจาไปมีหลากหลาย ทั้งแบบเดี่ยวและแบบคู่ ที่เรียกว่า “ป๊ะคะเนีย” หรือ “ดวล” เพลงกัน ในบางครั้งก็ยังร้องแบบ “เพลงอาไย” อีกด้วย แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการ “ด้นเพลง” แบบเล่าเรื่อง ซึ่งจาไปฝีปากเอกนั้น ก็ไม่ต่างจากนักเล่นเพลงลิเกที่เก่งกาจ มีบทร้องสดที่ชวนให้เคลิ้มตาม ทั้งกาพย์กลอน พุทธนิทาน คำสวดบาลี เรื่องเล่าพื้นบ้าน รามเกียรติ์ ตุมเตียว

หรือแม้แต่บทสรรเสริญองค์เทพต่างๆ เช่นหนุมานก็ด้วย ซึ่ง ปรัช ชวน ได้หมดครบรส จนได้ชื่อว่าเป็นเชิงเอก

ซึ่งที่สำแดงฝีมือ ก็เป็นเทศกาลงานบุญงานวัด ที่นักจาไปมักถูกเรียกให้ไปแสดงคราวละ 3 วัน 7 วัน ร้องกันไม่เลิก และเป็นคำตอบว่า ทำไมศิลปินจาไปจึงเป็นชายเสียเป็นส่วนใหญ่ นอกเหนือจากต้องเป็นคนเจ้าคารม ตลก ชวนหัวแล้ว ยังต้องให้ความบันเทิงผู้คนหามรุ่งหามค่ำ และมักเป็นเขตอาราม

ถ้าชาวกัมพูชาบ้านๆ ไม่รักการฟังจาไป และเป็นเครื่องสายอยู่แต่ในราชสำนัก เชื่อกันว่า พิณจาไปคงไม่ตกทอดเป็นมรดกวัฒนธรรมมาจนถึงวันนี้

 

กุมาราปรัช ชวน ก็เช่นกัน เมื่อแรกหัดเล่นจาไป ก็มีพระสงฆ์เมตตาสอนเรียนบาลีและบทโศลกต่างๆ

ส่วนเคล็ดวิชาร้องเพลงจาไปนั้น มีศิลปินเขมรใต้ที่เก่งจาไปเป็นที่เล่าลือนัก โดยสมัยนั้น กัมพูชาใต้ยังไม่แยกเป็นประเทศเวียดนาม และตาแก้วเป็นพรมประชิดกัน

ปรัช ชวน สั่งสมประสบการณ์เล่นจาไปดองแวงไม่นาน มารดาก็นำเขาออกแสดงไปตามที่ต่างๆ ทั้งต่อหน้าชาวต่างชาติฝรั่งเศส-ญี่ปุ่นสมัยนั้น ที่แม้จะฟังเขมรไม่เข้าใจ แต่จาไปก็เป็นเครื่องมือบันเทิงชนิดหนึ่ง

ในปี พ.ศ.2505 ขณะมีอายุ 26 ปี ชวนเข้าประกวดการแข่งขันจาไปดองแวงทั่วประเทศของสถานีวิทยุแห่งชาติ และชนะผู้ประกวดทั้งหมด ยกเว้นนักจาไปหญิงคนหนึ่งซึ่งเธอชนะอีกประเภท แต่เขาได้ตำแหน่งนักจาไปแห่งชาติ

เล่ากันว่า ในยุคที่ชีวิตยังรุ่งเรือง ปรัช ชวน มักได้คำสั่งให้ร้องจาไปสดในรายการวิทยุที่ออกอากาศ โดยเฉพาะบทสรรเสริญบุคคลสำคัญที่มาเยือนประเทศ อาทิ นายอู ถั่น นายซัลฟิการ์ อาลี บุตโต ฯลฯ ที่เขาต้องจำชื่อแปลกๆ เหล่านั้นให้แม่นยำถูกต้อง

แต่ความจำระดับท่องรามเกียรติ์ทั้งเรื่อง และตัวละครในนิทานต่างๆ อย่างมีมิติโวหาร ลำพังบทสรรเสริญผู้นำประเทศที่เขาผ่านมาทุกยุคสมัยมิใช่เรื่องใหญ่อันใดนัก

เว้นแต่สมัยเขมรแดง ที่ ปรัช ชวน ต้องกลับไปบ้านเกิด จากนักจาไปแห่งชาติ กลายเป็นคนพิการไร้ผู้คนสนใจ และโชคดีที่ทำให้เขามีชีวิตเหลือรอดกลับมาขับจาไปประจำวิทยุแห่งชาติอีกคำรบต้นปี 1990 จนเกษียณอายุ (2543)

มีผลงานมากมายที่ต่อจากสมัยกรมงุย ทั้งการร้องแบบ “ด้น” และแบบ “ขนบเดิม” ซึ่งยากที่ใครจะเลียนแบบ อีกเพลง ปรัช ชวน ส่วนใหญ่ บางครั้งก็มีคนนำไปรวมเป็นผลงานของ กง ไณ เสียนั่น

ทั้งสองมีโทนเสียงที่คล้ายกันมาก ต่างกันที่ตากง ไณ มีโทนแหบเครือกึ่งบ่นปนเกรี้ยวกราดเล็กๆ แบบทำนองบูลส์แบบชาวบ้าน ส่วนตาปรัช ชวน นั้นมีสำเนียงนุ่มกว่าประสาแบบคนทำงานราชการ

แต่ที่จะขาดเสียไม่ได้ สำหรับนักจาไป คืออารมณ์ขัน ซึ่งทั้ง 2 กินกันไม่ลง

 

แม้จะผลิตผลงานออกมามากมาย แต่ดูเหมือนจะโชคร้ายของตาปรัช ชวน ที่งานดีเด่นหลายชิ้นของเขา กลับไม่สู้มีผู้คนสนใจ

แถมผลงานบางชิ้นยังถูกนักดัดแปลงขายขโมยยอดวิว ว่าเป็นผลงานตากง ไณ ไปเสียอีก

นัยว่า ตาปรัช ชวน ไม่เป็นที่จับใจในผู้คน เนื่องจากตลอดเวลาการเป็นนักจาไปแห่งชาติ เขามักจะขับแต่บทสรรเสริญบุคคลสำคัญ ออกโทรทัศน์และวิทยุจนกลายเป็นโลโก้ประจำสำนักรัฐบาล

คนส่วนใหญ่จึงมักเพิกเฉยกับนามของ ปรัช ชวน ความอคติ ขุ่นเคืองใจ และความไม่สบอารมณ์บางอย่างอันประดังประเดไปในทางความรู้สึกชิงชังอันมีต่อทางการ

ช่างไม่ยุติธรรมเลย สำหรับคำยกย่องกันในหมู่นักเล่นจาไปว่า “หาฝีมือคนใดมาเปรียบได้ยากนัก สำหรับบรมครูปรัช ชวน อีกแล้ว”

อนิจจา ความรู้สึกแบบนั้นเองในผู้คน ที่เข้ามาบดบังตัวตนและความสามารถของตาปรัช ชวน

ต่างจาก กง ไณ ที่การเล่นพิณของเขาเป็นเอกเทศ นอกกรอบองค์กรของรัฐ ในบทสาธุการของ กง ไณ นอกจากกล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณ กษัตริยาแล้ว ไม่ค่อยจะพบว่าเขาด้นบทเชิดชูผู้นำประเทศ ซึ่งมักเป็นเรื่องปกติ

แม้แต่เมื่อได้รางวัล ฟุกุโอกะ สาขา “Art and Culture” ประจำปี 2560 รับเงินรางวัลราว 3 ล้านเยน (9 แสนบาท) นั้น ตากง ไณ ก็แสดงคำขอบคุณที่มีต่อองค์กรนอกรัฐบาลทุกฝ่าย ที่ส่งเสริมให้เขามายืนจุดนี้

ทว่า ในฐานะศิลปินแห่งชาติคนหนึ่ง (ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเช่นเดียวกับ ปรัช ชวน) กง ไณ ระยะหลังจึงมักถูกเรียกตัวไปแสดงจาไปดองแวงต่อหน้าแขกผู้มีเกียรติในพิธีสำคัญ

ในที่สุด บทร้องสรรเสริญเจริญคุณผู้นำประเทศก็มาถึง ในงานพิธีฉลองวันเกิดของเขาที่ทำเนียบตาขะเมาที่ผ่านมา และตากง ไณ ได้มาถึงซึ่งโอกาสที่เขาจะแสดงบทสาธุการต่อหน้าผู้นำของประเทศ

แลให้นึกถึงอดีตนักจาไปอีกคนหนึ่ง ซึ่งเคยขับบทสาธุการสมเด็จอัครเสนาบดีเดโชฮุนเซน ตลอดทศวรรษก่อน

ด้วยถ้อยคำที่เต็มไปด้วยคำเชิดชูและบูชา อนิจจา…ในวันที่สังขารจวนลาโลกของนักจาไปดองแวงที่โลกลืม ผู้มีนามว่า ปรัช ชวน

ชีวิตนักดีดพิณนั้นแสนสั้น

มีแต่คันจาไปเท่านั้นที่ยาว