คุยกับ ‘เพื่อไทย-ก้าวไกล’ ในวันที่พรรคการเมืองบุกงานหนังสือ | เปลี่ยนผ่าน

เปลี่ยนผ่าน

feedforfuture.co

 

คุยกับ ‘เพื่อไทย-ก้าวไกล’

ในวันที่พรรคการเมืองบุกงานหนังสือ

 

มีหลายปรากฏการณ์น่าสนใจที่เกิดขึ้นในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 27

ไม่ว่าจะเป็นการหวนกลับมาจัดงานกันที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งผ่านการปรับปรุงครั้งใหญ่มาเรียบร้อยแล้ว ท่ามกลางกลุ่มคนอ่านหลากรุ่นหลายวัย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ที่ให้การตอบรับอย่างคับคั่ง

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ในงานมหกรรมหนังสือครั้งนี้ มีพรรคการเมือง-กลุ่มการเมืองหลักๆ จากฝ่ายค้าน คือ พรรคก้าวไกล-คณะก้าวหน้า และพรรคเพื่อไทย-กลุ่ม CARE คิด เคลื่อน ไทย เข้ามาตั้งบูธเพื่อจำหน่ายหนังสือ สินค้าที่ระลึก และประชาสัมพันธ์นโยบาย-ผลงานของตนเอง (ทำงานทางความคิด) กันอย่างคึกคัก

หลังจากที่ผ่านมา ฝั่งก้าวไกล-ก้าวหน้าเป็นเพียงกลุ่มการเมืองเดียว ซึ่งริเริ่มเข้ามาสร้างพื้นที่สื่อสารกับผู้อ่านในงานหนังสือหนก่อนๆ

“ธีรชัย ระวิวัฒน์” หรือที่รู้จักกันในชื่อเล่น “แชมป์ ราชบุรี” สมาชิกกลุ่ม CARE คิด เคลื่อน ไทย เล่าถึงสาเหตุ ซึ่งผลักดันให้ทางฝั่งเพื่อไทย-CARE ตัดสินใจมาร่วมออกบูธในงานมหกรรมหนังสือหนล่าสุด ว่า

“อุตสาหกรรมหนังสือเป็นหนึ่งในสิบอุตสาหกรรมซอฟต์เพาเวอร์ที่พรรคเพื่อไทยชูเป็นนโยบายหาเสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้า การมาเปิดบูธที่งานหนังสือเพื่อแสดงให้เห็นว่า เราจริงจังกับอุตสาหกรรมครีเอทีฟ อีโคโนมี (เศรษฐกิจสร้างสรรค์) ซอฟต์เพาเวอร์ และเพื่อแนะนำแนวคิดนโยบายเกี่ยวกับซอฟต์เพาเวอร์ในบูธนี้

“เราเชื่อว่าซอฟต์เพาเวอร์ไม่ใช่อุตสาหกรรม แต่ซอฟต์เพาเวอร์คือศักยภาพในคน เราเชื่อว่าในประเทศไทย อย่างน้อยในหนึ่งครัวเรือนจะต้องมีอย่างน้อยหนึ่งคนที่มีศักยภาพ ดังนั้น เพื่อไทยจะปลดล็อกศักยภาพของทุกๆ คนในหนึ่งครัวเรือน เป็นนโยบายหนึ่งครอบครัวหนึ่งซอฟต์เพาเวอร์ ที่เรานำเสนอวันนี้”

ทั้งนี้ กิจกรรมภายในบูธพรรคเพื่อไทยจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน เพื่อฉายภาพจุดเริ่มต้นของไอเดียความคิดสร้างสรรค์ อุปสรรคที่ต้องเจอ และแนวทางแก้ปัญหาตามนโยบายของพรรค ผ่านสัญลักษณ์สามประการ ได้แก่

“ห้องน้ำ” ด้วยเหตุผลว่า หลายครั้งที่เรานั่งอยู่ในห้องน้ำ มักจะปิ๊งไอเดียใหม่ๆ เมื่อยืนส่องกระจกก็วาดฝันว่า ถ้าโตขึ้นฉันจะเป็นนั่นเป็นนี่เต็มไปหมด

“ชักโครก” ซึ่งสะท้อนให้เห็นปัญหาและอุปสรรคมากมาย ที่ทำให้เราไม่สามารถทำตามความฝัน หรือทำให้ไอเดียสร้างสรรค์เหล่านั้นเป็นจริงได้

และปิดท้ายด้วย “ห้องแต่งตัว” ที่นำเสนอนโยบายของพรรคเพื่อไทยเพื่อสนับสนุนให้ความฝันของคนไทยเป็นจริง

ทางด้าน “พริษฐ์ วัชรสินธุ” หรือ “ไอติม” ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายพรรคก้าวไกล เล่าถึงแนวคิดในการมาออกบูธที่งานมหกรรมหนังสือระดับชาติว่า กิจกรรมของพรรคถูกคิดค้นขึ้นมาบน 2 หลักการ

“หลักการที่หนึ่งเราเชื่อว่าในการเลือกตั้งที่จะมาถึงเร็วๆ นี้ การเปลี่ยนแค่รัฐบาลหรือว่านายกฯ อย่างเดียวอาจจะไม่พอ แต่เราต้องเปลี่ยนประเทศด้วย หมายถึง การเปลี่ยนโครงสร้าง กติกา ระบบจัดทำงบประมาณ ที่ปัจจุบันเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศและการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน

“หลักการที่สองที่เราเชื่อ คือ เราไม่อยากให้ประชาชนต้องรอการเปลี่ยนแปลง แต่อยากจะเชิญชวนประชาชนทุกคนลุกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน เราก็เลยยึดสองหลักการนี้ในการออกแบบกิจกรรมในบูธ”

“ไอติม พริษฐ์” เสนอเพิ่มเติมว่า แท้จริงแล้ว งานหนังสือระดับชาติและการเมืองไทยมิใช่สองสิ่งที่ต้องแยกขาดจากกัน

“หัวใจสำคัญของงานหนังสือ คือ การส่งเสริมการเรียนรู้ ผมมองว่าการเรียนรู้เกี่ยวกับการเมืองก็เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญ เพราะฉะนั้น การให้พรรคการเมืองมาทำกิจกรรมได้ ก็จะเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับการเมืองคืออะไร สัมพันธ์กับปัญหาต่างๆ ในประเทศอย่างไร

“พอมีหลายๆ พรรคมาทำกิจกรรม จะทำให้ประชาชนได้เรียนรู้ถึงแนวคิดทางการเมืองที่มันหลากหลาย ในวันนี้ผมเห็นว่ามีของพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย

“ความจริงก็อยากให้มีพรรคการเมืองที่หลากหลายขึ้นกว่านี้อีก เพื่อที่ประชาชนหรือเยาวชนจะได้เข้าถึงชุดความคิดที่แตกต่างหลากหลาย และให้เขาวิเคราะห์เองว่าชุดความคิดแบบไหนที่ตอบโจทย์เขามากที่สุด

“ผมว่าเราต้องอย่าทำให้การเมืองเป็นเรื่องที่น่าหวาดกลัว ที่ผ่านมา จะมีชุดความคิดหนึ่งที่บอกว่า การเมืองไม่ใช่เรื่องของเด็ก เพราะฉะนั้น การเมืองกับการศึกษาต้องแยกออกจากกัน

“ผมมองว่า เราไม่ควรจะมองแบบนั้น แต่เราควรจะมองว่า เราต้องให้การเมืองกับการศึกษามันเชื่อมกันได้ และทำให้นักเรียนหรือเยาวชนสามารถเข้าถึงชุดข้อมูลแนวคิดทางการเมืองที่มันแตกต่างหลากหลายได้

“เพื่อที่เขาจะได้วิเคราะห์ด้วยตนเองว่า เห็นด้วยกับแนวทางแบบไหน พอเขาเติบโตขึ้นมา ก็จะเข้ามาเพิ่มบทบาทในการเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงขับเคลื่อนสังคม”

ก่อนที่ตัวแทนนักการเมืองรุ่นใหม่จากก้าวไกล จะขมวดปมให้ทุกฝ่ายมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างปัญหาการศึกษาไทย และความสำคัญของการอ่าน ตลอดจนการเรียนรู้นอกห้องเรียนประเภทอื่นๆ ว่า

“โลกที่มันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว องค์ความรู้อะไรหลายๆ อย่างมันหมดอายุเร็วขึ้น เพราะฉะนั้น เราจะหวังแค่ความรู้ที่เราได้จากสถานศึกษาอย่างเดียวไม่เพียงพอ เราต้องส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียนด้วย

“การได้อ่านหนังสือก็เป็นเครื่องมือหนึ่งหรือช่องทางหนึ่งที่สำคัญในการเข้าถึงองค์ความรู้ใหม่ๆ ผมเชื่อว่าเด็กไทย เยาวชนไทย มีไฟในการที่อยากจะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ บางคนก็อาจจะชอบอ่านหนังสือ บางคนอาจจะชอบวิธีการอื่นไม่เป็นไร หัวใจสำคัญคือส่งเสริมเรื่องการเรียนรู้

“สิ่งที่ผมกังวลที่สุด คือ เราต้องอย่าทำให้ระบบการศึกษามันไปดับไฟแห่งการเรียนรู้ เราต้องทำให้การศึกษามันเติมไฟแห่งการเรียนรู้ ปัจจุบัน เราเห็นว่าการศึกษาในประเทศมีความเครียดเยอะมาก ชั่วโมงเรียนเยอะ การสอบแข่งขันเยอะ เราเห็นถึงปัญหาเรื่องโรคซึมเศร้า สุขภาพจิตของนักเรียนเยอะขึ้น

“ส่วนหนึ่งก็มาจากระบบการศึกษาที่มันไปส่งเสริมความเครียดตรงนั้น เพราะฉะนั้น เราต้องอย่าทำให้การศึกษาเป็นเรื่องที่เครียด อย่าทำให้คนหมดไฟในการเรียนรู้”