ยมุนาจารย์ : คุรุผู้มีชีวิตพลิกผัน (จบ)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ยมุนาจารย์ : คุรุผู้มีชีวิตพลิกผัน (จบ)

 

เช้าวันต่อมา ทั้งคู่ออกเดินทางข้ามห้วงตื้นๆ ของแม่น้ำกาเวรี อีกฝากฝั่งหนึ่งของแม่น้ำเป็นเนินทรายกว้างใหญ่ นัมพิมุนีกล่าวว่า “สถานที่ซ่อนสมบัติของปู่ท่านอยู่อีกไม่ไกล ท่านเห็นอาคารมหึมารายรอบด้วยกำแพงแก้วเจ็ดชั้นไหม เราจะตรงไปยังที่นั่น”

เบื้องหน้าของทั้งคู่คือมหาเทวาลัยศรีรังคัม ศาสนนครที่ประดิษฐานองค์พระนารายณ์เป็นเจ้าในพระนาม “ศรีรังคนาถ” เมื่อทั้งคู่ไปถึงยังห้องครรภคฤหะ นัมพิมุนีกล่าวด้วยเสียงสั่นเครือว่า “องค์พระนารายณ์นี่แหละคือสมบัติของปู่ท่าน เป็นสมบัติอันไม่มีวันสิ้นสูญ เป็นสมบัติแห่งสากลจักรวาลอันไม่มีสิ่งใดเปรียบ ท่านเป็นหลานแห่งนาถมุนี จึงมีสิทธิ์โดยชอบธรรมที่จะรับเอาสมบัตินี้ไว้ ขอจงเก็บเอาสมบัตินี้ไว้ในหัวใจของท่าน ส่วนมนต์ที่จะไขไปสู่สมบัตินี้คือมนต์หกพยางค์ “โอม นะโม นารายณายะ” จงท่องบ่นอยู่เสมอ”

อลาวันทาร์พนมมือขึ้นเหนือศีรษะด้วยน้ำตานองหน้า เขาปรี่ไปก้มกราบยังพระบาทของเทวรูป พระศรีรังคัมผู้ประทับอนันสายินบรรทมสินธุ์อยู่นั้นราวกับจะเพ่งมองมายังเขาด้วยเมตตา

บัดนี้ อะลาวันทาร์ได้ทอดทิ้งสมบัติทางโลกทั้งหมด เขาไม่ใช่ราชาอะลาวันทาร์อีกต่อไป แต่คือยมุนาจารย์ สันยาสีผู้รับเอาชีวิตนักบวชจากนัมพิมุนีผู้มีใจกว้างขวาง

นับตั้งแต่วันนั้น ยมุนาจารย์เฝ้าปรนนิบัติเทวรูปพระศรีรังคนาถ โสรจสรงด้วยสุคนธา ประดับด้วยมาลาใบตุลสีหรือกะเพราอันเป็นมงคล ดื่มด่ำอยู่ในความรักของพระองค์ทุกเวลา

 

ยมุนาจารย์ได้ประพันธ์คัมภีร์ไว้ไม่มากนัก ได้แก่ สโตตรรัตนะ, สิทธิตรยะ, อาคมประมาณยะ และคีตาอรรถะสังเคราะห์ ซึ่งล้วนเป็นภาษาสันสกฤต เล่มแรกนั้นเป็นบทประพันธ์สรรเสริญที่งดงามจับใจ เป็นต้นว่า

“ข้าฯ มิได้ตั้งอยู่ในธรรม มิได้เป็นผู้รู้อาตมัน มิได้ภักดีต่อพระบาทของพระองค์อย่างร้อนรน ข้าฯ ช่างไร้ค่าโดยแท้ดังที่เป็นอยู่และไร้ที่พึ่งพิง ขอเบื้องบาทบงกชของพระองค์เป็นสรณะที่พึ่งของข้าด้วยเถิด”

“มิมีกรรมชั่วอันใดในโลกที่ข้าไม่ได้ประพฤติ ซึ่งข้าได้กระทำซ้ำไปมานับพันครั้ง พระมุกุนทะ! บัดนี้ เมื่อกรรมชั่วจะให้ผล ข้าก็ยังเป็นคนเดิม ข้าจึงร้องไห้เสียงดังโดยไร้ความหวังเบื้องหน้าพระองค์”

“โอ้พระอนันตะ! ข้าจมลงไปในห้วงสมุทรแห่งสังสารวัฏ อย่างน้อยในพระองค์ ข้าได้พบนาวาท่ามกลางมหาสาครไร้ฝั่ง และพระองค์โปรดทรงรับ ผู้รอรับพระเมตตาคุณที่ไร้ค่ามากที่สุดผู้นี้เถิด”

ยมุนาจารย์เป็นผู้วางรากฐานสำหรับปรัชญา “วิษฏาทไวตะ เวทานตะ” ซึ่งในกาลต่อมา รามานุชาจารย์จะได้สถาปนาปรัชญาสำนักนี้ให้เข้มแข็งยิ่งใหญ่เป็นรากฐานของไวษณวะนิกายต่อไป

เหตุที่เรียกว่าเวทานตะ เพราะปรัชญาสำนักนี้ได้ใช้คัมภีร์สำคัญ เช่น พรหมสูตร ภควัทคีตา และอุปนิษัทอันเป็นส่วนสุดท้ายของพระเวทเช่นเดียวกับสำนักของศังกราจารย์ แต่ได้มีการเติมคำนำหน้าเพื่อแสดงให้เห็นเอกลักษณ์เฉพาะทางความคิด

 

หากจะกล่าวโดยย่อ คำว่า “วิษฏาทไวตะ” อาจแปลว่า “ความไม่เป็นสองอย่างพิเศษ” เพราะสำนักนี้เชื่อว่า มีเพียงความจริงแท้หนึ่งเดียวคือพรหมันเท่านั้น แต่พรหมันดังกล่าวไม่ใช่สิ่งนามธรรมเช่นเดียวกับคำสอนของศังกราจารย์ ทว่าคือองค์พระเป็นเจ้า ซึ่งหมายถึงพระนารายณ์หรือพระวิษณุเท่านั้น

พระองค์เป็นทั้งผู้สร้าง ผู้รักษาและผู้ทำลายสกลจักรวาล พระองค์มีอำนาจสูงสุด ทรงสรรเพชญ์รู้ทุกสิ่ง

ในยามเกิดยุคเข็ญ พระองค์อวตารมาเป็นผู้ปราบปรามความชั่วร้าย ไม่ว่าพระราม พระกฤษณะ นรสิงห์ ฯลฯ ทวยเทพอื่นๆ ล้วนแต่เป็นบริวารหรือภาคส่วนของพระองค์ หรือแม้แต่เป็นเพียงผู้ได้รับการดลใจ

ยิ่งไปกว่านั้น บรรดาชีวาตมันทั้งหลายและโลกก็ไม่ใช่เพียงการปรากฏเฉยๆ ดุจภาพฉายหรือเงา แต่เกิดมีขึ้นมาจริงๆ กระนั้น สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้แยกออกจากพระเจ้าแม้จะมีคุณสมบัติต่างออกไป อุปมาดุจอวัยวะแขนขา ส่วนพระเจ้าคือร่างกายทั้งหมดนั่นเอง

หนทางที่จะเข้าถึงความหลุดพ้นหรือโมกษะคือการยอมมอบกายถวายชีวิตด้วยความรักภักดีอย่างสูงสุด ถือเอาพระนารายณ์เป็นที่พึ่งที่ระลึก เรียกว่า “ศรณาคติ” และการหลุดพ้นจะมีได้ก็เมื่อสิ้นชีวิตไปแล้วเท่านั้น

นอกจากนี้ ปรัชญาวิษฏาทไวตะยังเชื่อว่า เพราะพระเจ้าทรงรักสาวกของพระองค์มาก พระองค์จึงมาปรากฏเป็นเทวรูปในเทวสถานสำคัญ เพื่อให้สาวกได้ปรนนิบัติใกล้ชิด เช่น พระศรีรังคนาถที่ศรีรังคัมหรือพระเวงกเฏศ ที่ติรุมาลา เป็นต้น

ยมุนาจารย์มีศิษย์เอกชื่อ เปริยาติรุมาไลนัมพิหรือศรีไศลปูรณะ ท่านผู้นี้มีน้องสาวสองคนชื่อกานติมตีและทยุติมตี กานติมตีได้แต่งงานกับศิษย์อีกคนของยมุนาจารย์ คือ อสุริ เกศวาจารย์

ทั้งคู่จะกลายมาเป็นบิดามารดาของนักปรัชญาที่สำคัญที่สุดในฝ่ายไวษณวะนิกาย คือรามานุชาจารย์

วันหนึ่ง ยมุนาจารย์เดินทางไปยังเมืองกาญจีปุรัมเพื่อสักการะพระนารายณ์ “วรทราชาเปรุมาล” ยมุนาจารย์ได้พบกับรามานุชะผู้เป็นศิษย์ของยาฑวประกาศ ซึ่งเดินมาพร้อมอาจารย์ของตนและศิษย์คนอื่น

เพียงแรกเห็น ท่านก็รู้สึกประทับใจในท่วงท่าและบุคลิกอันสง่างามของรามานุชะ ชายหนุ่มคนนี้เองที่มีเสียงร่ำลือถึงความเฉลียวฉลาดและจิตใจอันบริสุทธิ์

ทว่า แม้สนใจใคร่ทำความรู้จักเด็กหนุ่มคนนี้ แต่ยมุนาจารย์ก็ต้องระงับใจเอาไว้ เพราะเขาอยู่กับอาจารย์ที่มีชื่อเสียงในทางไม่ดีนัก ยาฑวประกาศผู้ได้ชื่อว่ามีหัวใจแห้งผากแม้จะทรงความรู้อย่างมากมายก็ตาม

ว่ากันว่า ยมุนาจารย์ถึงกับประพันธ์บทกวี เพื่อขอให้พระวรทราชาปกป้องคุ้มครองรามานุชะและนำเขาไปในทางที่ถูกต้อง

“พระวรทราชาเจ้าแห่งการประทานพร ด้วยพระพรของพระองค์ แม้คนหูหนวกก็ได้ยิน คนง่อยเปลี้ยก็เคลื่อนไหว คนบื้อใบ้ก็กล่าววาจา คนตาบอดก็เห็น แม้หญิงเป็นหมันก็กลายเป็นมารดาของบุตร

โอ้ พระกมลเนตร พระศรีบดี ขอทรงนำรามานุชะผู้นี้ให้มีศรัทธาต่อพระองค์ ด้วยทรงประทานพรให้เขาด้วยเถิด”

อีกหลายปีต่อมา รามานุชะจะกลายเป็นผู้นำแห่งศรัทธาในพระวิษณุที่ยิ่งใหญ่สมตามที่ยมุนาจารย์ขอพรไว้

 

ในวันวัยที่เพิ่มขึ้น ยมุนาจารย์แก่ชราลงมาก ร่างกายของท่านค่อยๆ เสื่อมถอย ในที่สุดท่านก็ได้แต่นอนอยู่บนเตียงด้วยความเจ็บป่วย กระนั้นจิตใจของท่านยังแจ่มใสและไม่มีศรัทธาลดลงแต่อย่างใด

ท่านสอนศิษย์ว่า “แม้พระเป็นเจ้าจะทรงอยู่เหนือคำพูดและความคิด ทว่า เราสามารถรับใช้พระองค์ได้ด้วยการรับใช้สาวกของพระองค์ แม้สาวกที่ต่ำต้อยอย่างติรุปปันผู้เป็นอวรรณะ หากใครได้กราบไหว้ปรนนิบัติแล้วก็เท่ากับได้กราบไหว้องค์พระนารายณ์เองเทียว”

เมื่อป่วยหนักใกล้สิ้นใจ ยมุนาจารย์ระลึกถึงรามานุชะและได้ข่าวว่าเขามิได้เป็นศิษย์ของยาฑวประกาศอีกแล้ว ท่านจึงให้มหาปูรณะศิษย์คนหนึ่งไปตามรามานุชะมาพบเพื่อจะสั่งเสีย

รามานุชะรีบเดินทางจากกาญจีปุรัมมายังศรีรังคัมในทันที ทว่า สายไปเสียแล้ว ยมุนาจารย์สิ้นใจไปก่อนหน้าเขาจะมาถึงเพียงเล็กน้อย

ทว่า ศพของยมุนาจารย์มีท่วงท่าแปลกประหลาด แม้จะสิ้นใจในท่านั่งสมาธิ แต่นิ้วมือขวาสามนิ้วของท่านงอติดแน่นกับฝ่ามือ จะแกะอย่างไรก็ไม่ออก

รามานุชะรู้โดยทันทีว่า นี่คือสัญญานที่ยมุนาจารย์ทิ้งไว้ให้ เป็นคำสั่งเสียและปณิธานที่ท่านยังกระทำไม่สำเร็จ แต่เขาได้ให้คำมั่นสัญญาว่า เขาจะสานต่อทั้งสามเรื่องอย่างแน่นอน

เมื่อนั้น นิ้วมือทั้งสามของยมุนาจารย์ก็คลายยืดออกมาเป็นปกติ

ยมุนาจารย์จากโลกนี้ไปสู่ไวกุณฑโลกของพระวิษณุ ทิ้งไว้เพียงแรงบันดาลใจแก่คนรุ่นถัดไป

“พระองค์เท่านั้น คือบิดา คือมารดา พระองค์เท่านั้นคือลูกรักของข้า

พระองค์เท่านั้นคือความไว้วางใจ พระองค์เท่านั้นคือผู้ถนอมและที่พึ่งแห่งโลก

ข้าเป็นของพระองค์ เป็นข้ารับใช้ของพระองค์ เป็นบริวารของพระองค์

พระองค์เป็นผู้เสริมส่งหนึ่งเดียวของข้า ด้วยเหตุนี้ ข้าจึงขอพึ่งพิงในพระองค์

และหน้าที่รับผิดชอบแห่งความอยู่ดีมีสุขของข้า

ล้วนขึ้นอยู่กับพระองค์ทั้งสิ้น” •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง