วรศักดิ์ มหัทธโนบล : จักรวรรดิในกำแพง : โหมโรง (6)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

หลักคิดกับข้อจำกัด (ต่อ)

ที่สำคัญคือ หลักคิดโอรสแห่งสวรรค์นี้เองที่มีปฏิสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับการอ้างสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้ของจีน เพราะลำพังการแล่นเรือสำรวจทะเลจีนใต้ในแต่ละราชวงศ์ แต่ละยุคสมัยแล้วอ้างว่า ด้วยเหตุดังนั้นทะเลจีนใต้เป็นของจีนเกือบทั้งหมดเพราะได้เข้ามาพบก่อนนั้น อาจจะเป็นเหตุผลที่ง่ายเกินไป หากไม่มีหลักคิดโอรสแห่งสวรรค์แฝงอยู่ในการกล่าวอ้าง

ยิ่งเมื่อหลักคิดรัฐชาติ (Nation state) ถือกำเนิดขึ้นและถูกนำมาใช้ในสังคมโลกด้วยแล้ว การอ้างว่ารัฐที่มีการค้าในระบบบรรณาการกับตนเป็นเมืองขึ้นจึงไม่เพียงสลายลงเท่านั้น หากยังทำให้จีนต้องถูกคุกคามและต้องสูญเสียอำนาจอธิปไตยบางส่วนไปอีกด้วย

และในยามที่อับจนจนไม่เหลือศักดิ์ศรีของความเป็นจักรวรรดิไปแล้วนี้เอง ราชวงศ์ชิงจึงได้ประกาศย้ำว่าทะเลจีนใต้เป็นของมหาราชวงศ์ชิง (ต้าชิง) โดยอ้างเหตุผลทางประวัติศาสตร์นับพันปีจากที่จีนได้แล่นเรือสำรวจดังได้กล่าวไปแล้ว

การอ้างเหตุผลทางประวัติศาสตร์ย่อมมีน้ำหนักมากกว่าเหตุผลที่เกี่ยวกับหลักคิดโอรสแห่งสวรรค์ อันเป็นหลักคิดที่สัมพันธ์กับการค้าในระบบบรรณาการ

เพราะหากอ้างหลักคิดหลังก็คงไม่มีผู้ใดยอมรับ โดยเฉพาะกฎหมายระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นหลังจากที่หลักคิดเรื่องรัฐชาติได้เป็นที่ยอมรับกันแล้ว (ซึ่งจีนก็ยอมรับเช่นกัน) และคงเป็นหัสคดีที่ชวนขันกันไป

ดังนั้น การอ้างเหตุผลทางประวัติศาสตร์จึงเป็นเหตุผลเดียวที่เหลืออยู่ แต่ก็ด้วยเหตุที่เหตุผลนี้ไปผูกพันกับหลักคิดโอรสแห่งสวรรค์และการค้าระบบบรรณาการ การอ้างเหตุผลนี้จึงมีความคลุมเครือแฝงอยู่ไปโดยปริยาย

 

แต่ไม่ว่าการอ้างที่ว่าจะจริงเท็จหรือมีเหตุผลหรือไม่ประการใด มันได้ส่งผลให้ชาวจีนเชื่อว่าทะเลจีนใต้เป็นของตนจริง ครั้นพอถึงยุคสาธารณรัฐ (ค.ศ.1912-1949) จีนจึงได้ขีดเส้นประเก้าเส้นล้อมทะเลจีนใต้บนแผนที่เอาไว้เพื่อแสดงอาณาเขตว่าเป็นของตน

และพอถึงยุคสาธารณรัฐประชาชนจีน (ค.ศ.1949) ในปัจจุบัน ยุคนี้จีนก็ยังคงสืบทอดการอ้างดังกล่าวมาจนทุกวันนี้ จนเห็นได้ชัดว่าการอ้างเช่นนี้คงไม่มีทางเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่นอย่างแน่นอน

ที่สำคัญ การอ้างที่ว่านี้ถูกฝังอยู่ในความเชื่อของชาวจีนมาช้านาน

เพราะฉะนั้นแล้วหากการอ้างนี้เกิดต้องเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่นที่ผิดไปจากความเชื่อที่ว่านี้

ย่อมไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าชาวจีนจักต้องคัดค้านต่อต้านอย่างแน่นอน

 

จากที่กล่าวมาทั้งหมดเกี่ยวกับหลักคิดโอรสแห่งสวรรค์นี้ทำให้เห็นว่า แม้จีนจะไม่ได้เป็นจักรวรรดิทางทะเลตามหลักคิดเกี่ยวกับจักรวรรดิของตะวันตกก็ตาม

แต่หลักคิดโอรสแห่งสวรรค์ก็สะท้อนให้เห็นว่า จีนเป็นจักรวรรดิทางทะเลที่มีพฤติกรรมเฉพาะของตน

จนเมื่อเข้าสู่ยุคสมัยที่หลักคิดรัฐชาติเข้ามาแทนที่หลักคิดโอรสแห่งสวรรค์แล้ว และจีนเองก็ยอมรับหลักคิดรัฐชาติด้วยนั้น จึงไม่แปลกที่การกล่าวอ้างสิทธิเหนือทะเลจีนใต้ของจีนจะมีความลักลั่นในเหตุผล

แต่ที่ดูไม่แปลกเลยก็คือว่า ไม่ว่าจะอย่างไร การกล่าวอ้างสิทธิเหนือทะเลจีนใต้นี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า จีนได้แสดงตนเป็นจักรวรรดิทางทะเลไปโดยปริยาย

อย่างไรก็ตาม การอธิบายเฉพาะหลักคิดโอรสแห่งสวรรค์ของจีนจากที่กล่าวมานี้ มิได้มุ่งที่จะยืนยันในชิงทฤษฎี เป็นแต่เพียงความพยายามที่จะทำความเข้าใจในแง่การเป็นจักรวรรดิทางทะเลของจีนเท่านั้น ว่าเป็นด้วยหลักคิดใดหากมิใช่หลักคิดของตะวันตก อันเป็นหลักคิดที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกัน

และเพราะเหตุนี้ จึงไม่แปลกที่โฮวีจะบอกเราตรงๆ มาแต่ต้นแล้วว่า คำว่า “จักรวรรดิ” นั้น “เป็นคำที่มีประวัติความเป็นมาที่ซับซ้อนและมีความหมายหลากหลาย เป็นที่ถกเถียงโต้แย้งกันอย่างเข้มข้น”

และนี้เองก็คือข้อจำกัดของหลักคิดเกี่ยวกับจักรวรรดิจากที่สาธยายมา

 

วรรณกรรม : ลักษณะและข้อสังเกต

ในฐานะอู่อารยธรรมหนึ่งของโลก จึงย่อมเป็นธรรมดาที่จีนจะมีการบันทึกประวัติศาสตร์ของตนมาช้านาน บันทึกนี้หากจะแบ่งโดยกว้างแล้วมีอยู่สองระยะ

ระยะแรก เป็นบันทึกที่มีมาตั้งแต่ยุคต้นประวัติศาสตร์

ระยะต่อมา เป็นบันทึกในยุคประวัติศาสตร์

งานศึกษานี้เริ่มศึกษานับแต่ที่จีนได้เริ่มยุคประวัติศาสตร์ของตนในสมัยราชวงศ์ฉิน ดังนั้น ในที่นี้จะขอกล่าวถึงบันทึกประวัติศาสตร์ในระยะที่สองเป็นหลัก

บันทึกประวัติศาสตร์หรือที่ต่อไปนี้จะเรียกสั้นๆ ว่า “บันทึก” นี้ หากจะเทียบกับของไทยก็คงจัดอยู่ในจำพวกพงศาวดาร เพราะสิ่งที่คล้ายกันในแง่ความคิดความเชื่อคือ จีนมีความคิดความเชื่อว่าจักรพรรดิที่เป็นผู้นำสูงสุดนั้นคือ โอรสแห่งสวรรค์ ที่สวรรค์ส่งมาเพื่อให้ใช้สิ่งที่เรียกว่า อาณัติแห่งสวรรค์ ปกครองมนุษย์

ในขณะที่ไทยซึ่งรับความคิดความเชื่อมาจากชมพูทวีปอีกโสดหนึ่งเชื่อว่า กษัตริย์เป็นองค์อวตารของเทพผู้สูงสุดที่ลงมาปกครองมนุษย์เช่นกัน

ดังนั้น ถ้าเป็นตามนัยนี้แล้วบันทึกของจีนในที่นี้จึงเป็นบันทึกที่เป็นทางการ และเมื่อเวลาผ่านไปบันทึกเหล่านี้ก็จะมีเพิ่มขึ้นโดยตลอด ซ้ำยังมีที่เรียบเรียงและรวบรวมขึ้นใหม่อีกในบางช่วง

ตราบจนปัจจุบันนี้จีนมีบันทึกที่เป็นทางการอยู่ 25 ชุด

 

ชุดแรกสุดคือ สื่อจี้ (บันทึกประวัติศาสตร์) ของซือหม่าเชียน ชุดนี้เริ่มบันทึกเรื่องราวตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ ยุคต้นประวัติศาสตร์ และยุคประวัติศาสตร์ในสมัยราชวงศ์ฉินกับช่วงต้นของราชวงศ์ฮั่น

ส่วนชุดที่สองจนถึงชุดที่ 25 เป็นบันทึกเรื่องราวของราชวงศ์ต่างๆ โดยชุดที่ดูเหมือนจะเป็นชุดสุดท้ายคือชุดที่ 25 นั้นเป็นชุดที่ว่าด้วยเรื่องราวของราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1368-1644)

จะเห็นได้ว่า บันทึกเท่าที่กล่าวมานี้ยังไม่มีบันทึกเรื่องราวของราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1644-1911) ทั้งที่ราชวงศ์นี้ได้ล่มสลายไปแล้วกว่าร้อยปี ที่เป็นเช่นนี้มีสาเหตุจากปัญหาทางการเมืองโดยแท้ ที่หลังจากจีนเข้าสู่ยุคสาธารณรัฐหลัง ค.ศ.1911 แล้วก็ประสบแต่ความยุ่งยาก

ครั้นพรรคคอมมิวนิสต์จีนยึดอำนาจการปกครองได้ใน ค.ศ.1949 และรัฐบาลสาธารณรัฐได้ไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่เกาะไต้หวันแล้ว ปรากฏว่ารัฐบาลของทั้งสองฝั่งซึ่งขัดแย้งกันในทางอุดมการณ์จนมิอาจตกลงกันได้ว่า จะบันทึกประวัติศาสตร์ราชวงศ์ชิงกันอย่างไร

บันทึกของราชวงศ์ชิงจึงยังไม่เกิดมาจนทุกวันนี้

 

แต่นั่นก็หาได้เป็นข้อจำกัดของนักประวัติศาสตร์ไปเสียเลยทีเดียว เพราะพ้นไปจากปมที่กล่าวมาแล้ว จีนยังมีบันทึกที่ไม่เป็นทางการอยู่อีกมากมาย

โดยเฉพาะในยุคราชวงศ์ชิงที่มีช่วงห่างจากยุคปัจจุบันเพียง 300 กว่าปีนั้น ทำให้เอกสารต่างๆ ที่ให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ยังคงมีอยู่

เอกสารเหล่านี้มีทั้งที่เกิดก่อนและหลังยุคราชวงศ์ชิง เฉพาะที่เกิดในยุคนี้นับเป็นข้อมูลที่ดีให้แก่นักประวัติศาสตร์ไปโดยปริยาย ส่วนที่เกิดก่อนราชวงศ์ก็จะให้ข้อมูลยุคก่อนหน้านั้นด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ควรกล่าวด้วยว่า จีนมีเอกสารที่ไม่เป็นทางการอยู่มากมาย ถึงแม้เอกสารลักษณะนี้จะถูกทำลายหรือเสียหายไปตามกาลเวลาไปแล้วไม่น้อย เอกสารเหล่านี้มีทั้งที่ราชสำนัก ขุนนาง หรือสามัญชนผลิตขึ้นในแต่ละยุคสมัย

เพื่อให้เข้าใจการมีอยู่ของเอกสารเหล่านี้ ในที่นี้จะขอยกกรณีหนึ่งมาให้เห็นเป็นตัวอย่าง นั่นคือ กรณีเทียนอีเคอ

 

เทียนอีเคอเป็นชื่อหอสมุดของขุนนางด้านกลาโหมชั้นสูงคนหนึ่งของราชวงศ์หมิงที่มีชีวิตมาจนถึงต้นราชวงศ์ชิง ขุนนางผู้นี้มีใจรักการอ่านเป็นอย่างยิ่ง

ดังนั้น ตลอดชีวิตราชการที่ต้องโยกย้ายไปกินตำแหน่งยังมณฑลต่างๆ ขุนนางผู้นี้จึงได้รวบรวมหนังสือที่ให้ความรู้ทางด้านต่างๆ จากทุกที่ที่เขาไปถึงอยู่เสมอ

จนเมื่อเกษียณจากราชการแล้วจึงกลับมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่บ้านเกิดในเมืองหนิงปอ มณฑลเจ้อเจียง ที่หนิงปอเขาได้สร้างหอสมุดส่วนตัวขึ้นมาเพื่อจัดเก็บหนังสือรวบรวมมาทั้งชีวิต

แล้วตั้งชื่อหอสมุดนี้ว่า เทียนอีเคอ

จนเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน ค.ศ.1949 ทายาทของเขาจึงมอบหนังสือที่มีอยู่ทั้งหมดในเทียนอีเคอให้รัฐบาลเป็นผู้ดูแลต่อไป

จากตัวอย่างนี้ทำให้เห็นว่า บันทึกของจีนมีช่องทางเข้าถึงข้อมูลได้อย่างน่าสนใจและหลากหลาย เพราะช่องทางจากตัวอย่างที่กล่าวมานี้มีอยู่มากมาย และเป็นเหตุผลที่ทำให้จีนสามารถเขียนเรื่องราวในสมัยราชวงศ์ชิงได้มากมาย

ทั้งๆ ที่ฉบับที่เป็นทางการยังไม่ปรากฏ