ควันหลงโยก ‘บิ๊ก ร.ร.’ ฝ่าเสียงทุจริต ‘แหวน’ ตอบแทน ‘นาย’ แลกตำแหน่ง? | การศึกษา

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)

ควันหลงโยก ‘บิ๊ก ร.ร.’ ฝ่าเสียงทุจริต ‘แหวน’ ตอบแทน ‘นาย’ แลกตำแหน่ง?

 

ควันหลงการแต่งตั้งโยกย้ายผู้อำนวยการโรงเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ล็อตแรกซึ่งประกาศชื่อไปเมื่อปลายเดือนกันยายน 2565 แทนตำแหน่งว่างและอัตราเกษียณอายุราชการ ก่อนประกาศสอบขึ้นบัญชีใหม่ต้นปี 2566

กลายเป็นประเด็นร้อน หลังประกาศชื่อยังไม่ทันข้ามคืน ก็มีการเคลื่อนไหว ทั้งกลุ่มที่ไม่ได้ย้ายตามคำขอ รายชื่อหายกลางทาง ไปจนถึงภาคีเครือข่าย ที่ผิดหวัง ไม่ได้ผู้อำนวยการตามสเปกที่เลือกไว้

โดยเฉพาะโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ถึงขั้นมีการส่งต่อหนังสือเปิดผนึกขององค์กรภาคีเครือข่ายเตรียมอุดมศึกษา ผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ สรุปใจความสำคัญว่า คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียนเตรียมฯ (กพฐ.ตอ.) ที่มี ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร เป็นประธาน มีมติเป็นเอกฉันท์ให้เสนอชื่อนายขจิตพันธ์ สุวรรณสิริภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนศึกษานารี เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมฯ คนใหม่ แต่กลับมีคำสั่งแต่งตั้งนายบุณยพงศ์ โพธิวัฒน์ธนัต ผู้อำนวยการโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมฯ ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในการแต่งตั้งโยกย้ายครั้งนี้

ร้อนถึงนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ต้องออกมาเคลียร์!

 

โดยนายอัมพรยืนยันว่า การคัดเลือกผู้อำนวยการโรงเรียน มีความโปร่งใส มีการตั้งอนุกรรมการคัดเลือก และตามขั้นตอนจะมีการขอความเห็นไปยังคณะกรรมการสถานศึกษา เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาความเหมาะสม

ดังนั้น การแต่งตั้งโยกย้ายผู้อำนวยการโรงเรียนแต่ละแห่งจึงไม่ใช่ทำตามความเห็นของใครคนใดคนหนึ่ง

ขณะที่ความเห็นของ กพฐ.ตอ.เป็นการเสนอชื่อ และให้ความเห็นเจาะจงเป็นรายบุคคล ทั้งที่ควรให้ความเห็นกับผู้ขอย้ายทุกคน เพื่อให้ ก.ค.ศ.ใช้ประกอบการพิจารณา

“หากใครคิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือมีการทุจริตจริง ก็ต้องส่งเรื่องมาให้ผมในฐานะหัวหน้าส่วนราชการ เพื่อดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่ก็ยังไม่เห็นมีใครร้องเรียนเข้ามาอย่างเป็นทางการ” นายอัมพรระบุ

 

ขณะที่นายนิยม ไผ่โสภา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 1 กรุงเทพมหานคร (สพม.เขต 1 กทม.) กล่าวสอดคล้องกันว่า คำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายมีมติออกมาแล้ว ดังนั้น จะต้องเปิดโอกาสให้นายบุณยพงศ์ไปปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมฯ อย่างเต็มที่ ส่วนกรณีที่องค์กรภาคีเครือข่ายเตรียมฯ ไม่เห็นด้วย และขอให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวนั้น เรื่องนี้มีทั้งคนที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย

“การที่เขตพื้นที่เสนอรายชื่อโยกย้ายผู้อำนวยการโรงเรียนแต่ละแห่งให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) จะพิจารณาจากความเหมาะสม เพื่อให้เชื่อมั่นว่าบุคลากรมีประสบการณ์ และสามารถบริหารงานได้ กรณีที่ น.ส.ณัฏฐนิธ กาลพัฒน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบางซ้ายวิทยา จ.พระนครศรีอยุธยา ร้องเรียนว่าติดอันดับขอย้ายมาโรงเรียนในสังกัด สพม.เขต 1 กทม. แต่รายชื่อหายกลางทางนั้น ทุกคนที่ขอย้ายมีรายชื่อมาตลอด แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการประเมินแล้ว ต้องเลือกเสนอชื่อผู้ที่เหมาะสม โดยเรียงลำดับจากผู้ที่ได้คะแนนประเมินมากที่สุดไปก่อน”

นายนิยมกล่าว

 

ดร.รัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมพิทักษ์สิทธิผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา ตั้งข้อสังเกตว่า หลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษาที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กำหนดนั้น อาจมีปัญหา เอื้อต่อการทุจริตในวงกว้าง โดยเฉพาะชี้วัดการประเมิน ซึ่งต้องบอกว่า เป็นคะแนนวิทยาศาสตร์ 60% คือ การประเมิน ประสบการณ์ในการบริหารสถานศึกษา และผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติงานในหน้าที่/คุณภาพการปฏิบัติงาน และคะแนนไสยศาสตร์ 40% คือความสามารถการบริหารจัดการศึกษา วิสัยทัศน์ และการพัฒนาตนเอง

เหตุที่เรียกคะแนนไสยศาสตร์ เพราะเกณฑ์กำหนดให้ผู้ประสงค์ขอย้าย เขียนเรียงความแสดงวิสัยทัศน์ ซึ่งไม่มีหลักเกณฑ์อะไรในการวัด

เอื้อประโยชน์ ส่อให้เกิดการทุจริตในวงการศึกษาเป็นทอดๆ

ไม่เท่านั้น ยังมีการปล่อยภาพ “พระเหลี่ยมทอง” และ “แหวนเพชรวงโต” ซึ่งมีกระแสว่า เป็นสิ่งตอบแทนให้ “นาย” เพื่อแลกเก้าอี้ผู้อำนวยโรงเรียนดัง!

“อยากเสนอแนะให้ผู้อำนวยการโรงเรียน ที่คิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ทำเรื่องขอดูคะแนนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยขอดูคะแนนของตนเอง และคะแนนของผู้ที่ได้ พร้อมขอดูหลักเกณฑ์การให้คะแนน รวมทั้งรายงานการประชุม และขอทราบเหตุผลของคะแนนด้วย”

ดร.รัชชัยย์ระบุ

 

แน่นอนว่า การแต่งตั้งโยกย้ายแต่ละครั้ง ต้องมีทั้งผู้ที่สมหวังและผิดหวัง แต่เกณฑ์ประเมินที่เป็นธรรม จะช่วยลดปัญหาการทุจริตและข้อร้องเรียนต่างๆ ได้

สำคัญที่สุดคือ ระบบตรวจสอบเพื่อนำข้อเท็จจริงมาชี้แจงต่อสังคม ไม่ใช่ปล่อยให้เงียบหายไป

เพียงเพราะไม่มีใครร้องเรียนเข้ามา อย่างเป็นทางการ! •

 

การศึกษา