รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 2022 | ดาวพลูโต

ดาวพลูโตมองดูโลก | ดาวพลูโต

 

รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 2022

 

เป็นธรรมเนียมทุกๆ ปี ช่วงต้นเดือนตุลาคม ณ ประเทศสวีเดน จะมีพิธีมอบรางวัลโนเบลแก่ผู้ค้นพบหรือมีส่วนร่วมในผลงานอันเป็นที่ประจักษ์แก่สังคมและมีประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติในด้านต่างๆ

สำหรับรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 2022 (the Sveriges Riksbank Prize in Economic Sciences in Memory of Alfred Nobel 2022) มอบแก่ 3 ท่านได้แก่ ดร.เบน เบอร์นันเก (Ben S. Bernanke) ดร.ดักลาส ไดมอนด์ (Douglas W. Diamond) และ ดร.ฟิลิป ดิบวิก (Philip Dybvig) สำหรับงานวิจัยเรื่องธนาคารและวิกฤตการเงิน

ท่านผู้อ่านคงคุ้นชื่อของ ดร.เบน เบอร์นันเก ในช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมา เพราะบุรษท่านนี้เคยดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลาง สหรัฐอเมริกา หรือ FED ซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญยิ่งในวงการการเงินของโลก ตั้งแต่ปี 2006 ถึงปี 2014 พาเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาผ่านวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์

ดร.เบอร์นันเก เป็นชาวอเมริกัน เกิดเมื่อ ค.ศ.1953 สำเร็จการศึกษาดุษฎีบัณฑิตจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนักวิจัยอาวุโสที่ The Brookings Institute สหรัฐอเมริกา

ท่านที่ 2 ดร.ดักลาส ไดมอนด์ ชาวอเมริกัน เกิดเมื่อ ค.ศ.1953 เช่นกัน สำเร็จการศึกษาดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐอเมริกา

ท่านที่ 3 ดร.ฟิลิป ดิบวิก ชาวอเมริกัน เกิดเมื่อ ค.ศ.1955 สำเร็จการศึกษาดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยวอชิงตันในเซนต์หลุยส์ (Washington University in St. Louis) สหรัฐอเมริกา

มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับผลงานที่ได้รับรางวัลโนเบล

ย้อนกลับไปในปี 1983 ดร.เบอร์นันเกได้ตีพิมพ์บทความวิเคราะห์ถึงเหตุการณ์ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ของโลก (the Great Depression) ระหว่างปี 1930-1933 อันก่อให้เกิดปัญหาธนาคารล้มละลายเป็นวงกว้าง ซึ่งขณะตีพิมพ์บทความเขามีอายุเพียง 30 ปีเท่านั้น

ทางด้าน ดร.ไดมอนด์ กับ ดร.ดิบวิก ได้ตีพิมพ์บทความแสดงให้เห็นว่าปัญหาธนาคารล้มละลายจากปัญหาคนแห่ถอนเงินฝาก (Bank run) สามารถแก้ไขได้

ทั้งสองท่านได้สร้างแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์เพื่ออธิบายว่าธนาคารสามารถสร้างสภาพคล่องทางการเงินสำหรับผู้ฝากเงิน และปล่อยสินเชื่อระยะยาวสำหรับผู้กู้ได้อย่างไร

บทความตีพิมพ์ในปี 1983 และ 1984 ซึ่งขณะนั้น ดร.ไดมอนด์ อายุ 30 ปี และ ดร.ดิบวิก อายุ 28 ปี

ปัจจุบันทฤษฎีดังกล่าวได้รับการพิสูจน์ผ่านกาลและเวลาเกือบ 40 ปี

 

ธนาคารเป็นเครื่องมือในโลกการเงินที่สำคัญในทุกประเทศ

ธนาคารทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างผู้ฝากเงินและผู้กู้ยืมเงิน เมื่อมีผู้ฝากเงินธนาคารก็จะนำเงินฝากจากผู้ฝากแต่ละรายรวมกันเพื่อปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้กู้ ซึ่งผู้กู้ก็มีหลายรายเช่นกัน การปล่อยสินเชื่อก็จะมีทั้งสินเชื่อระยะสั้นและสินเชื่อระยะยาวขึ้นอยู่กับโครงการที่ผู้กู้ลงทุน เมื่อใดที่ผู้ฝากเงินมีความต้องการใช้เงินฝากก็สามารถถอนเงินฝากจากธนาคารได้ทุกเมื่อ

ซึ่งในภาวะปกติธนาคารจะมีเงินเพียงพอต่อการประกอบธุรกิจของธนาคาร เพราะผู้ฝากเงินแต่ละรายมีความจำเป็นต้องใช้เงินฝากของตนเองไม่พร้อมกัน ธนาคารจึงสามารถสร้างสภาพคล่องสำหรับรองรับการถอนเงินฝากได้

แต่เมื่อเกิดข่าวลือแพร่สะพัดว่าธนาคารจะล้มละลาย ไม่ว่าข่าวลือนั้นจะเป็นจริงหรือไม่ก็ตาม แน่นอนว่าผู้ฝากย่อมตื่นตระหนกต่อข่าวลือดังกล่าว และกลัวว่าเงินฝากของตนเองจะสูญสิ้นไปไม่สามารถถอนออกจากธนาคารได้ ผู้ฝากเงินจึงแห่กันถอนเงินฝาก ส่งผลให้ธนาคารขาดสภาพคล่อง

จากเพียงข่าวลือก็กลับกลายเป็นข่าวจริง ธนาคารจากไม่ล้มละลายจึงล้มละลาย เมื่อธนาคารล้มละลายก็ต้องเรียกหนี้จากสินเชื่อที่ปล่อยกู้ไว้คืนถึงแม้ว่าจะยังไม่ถึงกำหนดชำระหนี้ก็ตาม ลูกหนี้ได้รับผลกระทบตามมา ต้องขายสินทรัพย์ของตนอย่างเร่งรีบในราคาถูกเพื่อนำมาชำระหนี้คืนก่อนกำหนดที่ไม่ได้วางแผนทางการเงินไว้ล่วงหน้า

เกิดเป็นไฟลามทุ่งลุกลามไปยังธนาคารอื่นๆ ตามมา

 

ในช่วงวิกฤตการณ์ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ของโลก (the Great Depression) ผลผลิตจากภาคอุตสาหกรรมสหรัฐอเมริกา ลดลงถึงร้อยละ 46 อัตราว่างงานสูงถึงร้อยละ 25 (ทุกๆ 4 คนมีคนว่างงาน 1 คน) และลุกลามไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย เยอรมนี ผู้คนต้องทิ้งบ้านเรือนและเผชิญกับภาวะอดอยาก

แม้แต่ในประเทศที่ร่ำรวย มีธนาคารอยู่รอดเพียงครึ่งเดียวของธนาคารทั้งหมด สาเหตุเกิดจากผู้ฝากเงินแห่ถอนเงินฝากจากธนาคารจนธนาคารพากันล้มละลายเป็นส่วนใหญ่

เมื่อเกิดปัญหาคนแห่ถอนเงินฝากธนาคารที่อยู่รอดก็ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อรายใหม่เพราะเกรงว่าเมื่อถึงคิวธนาคารตนเองมีคนแห่ถอนเงินฝากจะขาดสภาพคล่องและล้มละลาย ฟันเฟืองทางการเงินจึงหยุดชะงักลง

เมื่อธุรกรรมการเงินของธนาคารหยุดลง เศรษฐกิจก็ถดถอยเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ของโลก ซึ่งขัดแย้งกับความเชื่อดั้งเดิมที่เชื่อว่าธนาคารล้มละลายเพราะปัญหาเศรษฐกิจ และยังเชื่อว่าปัญหาธนาคารล้มละลายจากภาวะคนแห่ถอนเงินฝากสามารถแก้ไขได้โดยการพิมพ์เงินจากธนาคารกลาง

ซึ่ง ดร.เบอร์นันเกได้แสดงให้เห็นว่าปัญหาวิกฤตธนาคารเป็นต้นเหตุของภาวะเศรษฐกิจถดถอยต่างหาก และเศรษฐกิจจะไม่เริ่มฟื้นตัวจนกว่าจะมีมาตรการป้องกันความหวาดกลัวธนาคารล้มละลายสำหรับผู้ฝากเงิน

ดร.ไดมอนด์ และ ดร.ดิบวิก สร้างแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์เพื่ออธิบายว่าปัญหาคนแห่ถอนเงินฝาก (Bank run) สามารถแก้ไขได้ โดยอาศัยอำนาจจากหน่วยงานที่กำกับดูแลธนาคาร ในงานวิจัยได้อธิบายว่าธนาคารเป็นสื่อกลางทำหน้าที่เปลี่ยนเงินฝากระยะสั้นเป็นสินเชื่อระยะยาว กระบวนการดังกล่าวเรียกว่า Maturity Transformation ผู้เขียนขออนุญาตแปลเป็นไทยว่า “กระบวนการแปลงกำหนดไถ่ถอน”

กระบวนการนี้ทำให้ธนาคารเปลี่ยนเงินฝากที่มีกำหนดไถ่ถอนระยะสั้นเป็นเงินกู้สำหรับการลงทุนระยะยาวได้

แต่กระบวนการดังกล่าวไม่สามารถทนทานต่อข่าวลือได้ เมื่อมีข่าวลือว่าธนาคารจะล้มละลายเกิดขึ้น ไม่ว่าข่าวลือนั้นจะจริงหรือไม่ ผู้ฝากเงินก็จะแห่ถอนเงินฝากเกินกว่าที่ธนาคารจะสามารถรับมือได้ ท้ายที่สุดธนาคารก็ล้มละลาย

ดร.ไดมอนด์ และ ดร.ดิบวิก ได้นำเสนอวิธีการแก้ไขปัญหาในรูปแบบของ การประกันเงินฝาก หรือการคุ้มครองเงินฝาก โดยรัฐบาล เพราะเมื่อผู้ฝากเงินรู้ว่ารัฐเข้าประกันเงินฝากของผู้ฝากเงินทุกราย ผู้ฝากเงินก็ไม่มีความจำเป็นต้องรีบแห่กันถอนเงินแม้จะมีข่าวลือเกิดขึ้น ซึ่งมาตรการนี้หยุดปัญหาได้ก่อนที่จะเกิดปัญหา

งานวิจัยนี้เป็นต้นแบบนโยบายประกันเงินฝากในหลายๆ ประเทศทั่วทุกมุมโลกในปัจจุบัน

 

จากผลงานวิจัยของ ดร.เบอร์นันเก ดร.ไดมอนด์ และ ดร.ดิบวิก ได้รับการยกย่องว่าเป็นงานวิจัยที่สำคัญอันเป็นรากฐานก่อให้เกิดงานวิจัยต่อยอดอื่นๆ และเป็นการยกระดับความรู้ด้านการธนาคาร ด้านการกำกับดูแลธนาคาร และการบริหารจัดการปัญหาวิกฤตของธนาคารและวิกฤตการเงิน โดยมุ่งหมายก่อให้เกิดระบบการเงินที่มีเสถียรภาพ ซึ่งแน่นอนว่าระบบการเงินมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา คงไม่มีสูตรสำเร็จสำหรับการกำกับดูแลระบบการเงิน จึงเป็นสิ่งที่หน่วยงานกำกับดูแลมีหน้าที่ต้องติดตามการพลวัตของโลกการเงินให้ทันอยู่เสมอ

สำหรับประเทศไทย มีการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ตามพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ.2551 ปัจจุบันวงเงินคุ้มครองเงินฝากอยู่ที่ 1 ล้านบาทต่อ 1 รายผู้ฝาก ต่อ 1 สถาบันการเงิน ซึ่งผมมักบอกทุกคนเสมอว่าพอถึงเวลาเกิดวิกฤตธนาคารล้มขึ้นจริงๆ รัฐหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องยื่นมือเข้าช่วยโดยให้ภาษีอากรเข้าแก้ไขปัญหา ผู้ฝากเงินไม่ต้องกลัวว่าจะเงินฝากคืนไม่ครบถ้วน แต่ถ้ากังวลมากก็ฝากธนาคารของรัฐเพื่อเป็นการตัดรำคาญเสีย

ส่วน Digital Wallet ที่ไม่มีใครกำกับดูแล หากนำเงินฝากไปปล่อยกู้เยี่ยงธนาคารย่อมมีโอกาสเกิดภาวะคนแห่ถอนเงินได้เช่นกัน อย่างเดียวกับที่เกิดขึ้นกับบริษัทที่ Zipmex นำสินทรัพย์ดิจิทัลฝากไว้ที่สิงคโปร์

บอกได้คำเดียวว่าตัวใครตัวมันครับ