ยลตามช่อง ‘นโรดม-ร.5’ ว่าด้วยซอฟต์เพาเวอร์? | อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์ | อภิญญา ตะวันออก

 

ยลตามช่อง ‘นโรดม-ร.5’

ว่าด้วยซอฟต์เพาเวอร์?

 

ก่อนจะมาถึงวันนี้ ที่ชวนให้ “ฌือกบาล” เวียนเศียรและมึนหัวบ่อยครั้งในประเด็นไทย-กัมพูชา สำหรับภาระว่าด้วยมโนนึกอันมีต่ออดีตแห่งยุคกลาง โดยเฉพาะปัญหาว่าด้วยวัฒนธรรมอันจับต้องไม่ได้และกลายเป็นเครื่องทรงหรือ “เทริด” (เซิด) ที่อยู่บนศีรษะของตนแต่ไม่ใช่เรื่องของปัญญา

และกำลังถึงวิกฤตซึ่งกันถึงขั้นกลับไปหายุคกลางอันร่วมสมัยของฝ่ายตน นั่นคือรัชกาลที่ 5 “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ของฝ่ายไทย กับ “พระบาทนโรดมพรหมบริรักษ์” ของฝ่ายกัมพูชา ที่ตกอยู่ในกระแสแห่งการแย่งชิง “เทริด” นั้นราวบุพกรรมทำมา

ใครจะว่าอย่างไรบ้าง ถ้าฉันจะกล่าวนี้ มันมีที่มาจาก “นโรดม-ร.5” ผู้เป็นตัวแทนของ 2 ราชวงศ์ และมีต้นทางมาจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กษัตริย์ไทยในรัชกาลที่ 4 ในฐานะที่เป็นพระบิดา “ร.5-นโรดม”

องค์หนึ่งคือราชบุตรในอุทร ส่วนอีกองค์หนึ่งคือโอรสบุญธรรมซึ่งแม้จะมีอายุต่างกัน 19 ปี พระบาทนโรดมฯ (2377) และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ-ร.5 (2396) แต่ก็ครองราชย์ร่วมสมัย โดยพระบาทนโรดมฯ นั้นเถลิงราชย์สมบัติราชวงศ์กัมโพชต่อจากพระบิดาพระบาทองค์ด้วงราว 8 ปีก่อนสิ้น ร.4 (2411) ซึ่งตอนนั้นเขมรอยู่ในอาณานิคมฝรั่งเศสแล้ว

ดังนี้ ราชวงศ์จักรี-กัมโพช “นโรดม-ร.5” ที่ต่างมีเทริดเป็นเครื่องทรงบัลลังก์ ต่างเป็นผู้เคยร่วมวาสนาต่อพระบิดา “ร.4” เดียวกัน

และใครจะนึก อีก 150 ปีต่อมา จะ “ข้ามภพ-ข้ามยุคและข้ามชาติ” มาปลุกกระแส “เคลมกันไปไขว้กันมา” ในคนรุ่นหลัง และพากัน “เทริด” ไปหมด

หรือจะเป็นความสุดโต่งของพระบาทนโรดมฯ ที่มีต่อราชวงศ์จักรีในสมัยกลางของรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 4-6) และโดยกล่าวว่า ทำไมกัมพูชาจึงมา “เคลม” ทุกอย่างที่เป็นอำนาจอ่อนในวันนี้

พวกเขามีอะไรเป็นใบเสร็จ? และหากว่า นี่คือสมบัติที่ไม่อาจผลัดกันชมของไทย แล้วใครเล่าที่สมควรแก่การถูกชี้ว่าทำผิดพลาด ที่ไปให้ค่าพระบาทนโรดมฯ-ที่คลั่งรักต่อวัฒนธรรมในพระองค์?

เช่นเดียวกับชาวเขมรยุคนี้ที่ซื่อสัตย์ภักดีต่อขนบจารีตราชวงศ์นโรดม กอปรกับความเชื่อสุดโต่งที่สั่งสมจริตมาแต่บรรพกาล-เมืองพระนคร จนมองเห็นแต่อัตลักษณ์ของตนว่าเป็นทั้งหมดของชนชาติอื่น

จากพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ที่ทรงไม่ให้ความสำคัญราชวงศ์กัมพูชา โดยใช้ขุนนางฝ่ายสยามในการปักเขตแดนพระตะบองและเสียมราฐและอีกหลายกรณี

แต่พอสิ้นรัชกาลเท่านั้น อะไรที่ทรงทำไว้ ร.4 ก็เว้นไปไม่ทำอีก ด้วยเหตุนั้น เมื่อครองราชย์ จึงอุปถัมภ์นักองราชาวดี (นโรดมพรหมบริรักษ์) ขณะอายุ 17 ปีเป็นโอรสบุญธรรมและจัดการผนวช รวมทั้งทำพิธีราชาภิเษกเพื่อครองราชย์ต่อจากพระบาทองค์ด้วงที่กรุงอุดง

นี่อาจเป็นความสัมพันธ์ที่ทำให้พระบาทนโรดมฯ มีความลึกซึ้งต่อสยามด้านวงศ์เทวัญทั้งด้านธรรมเนียมหลวงซึ่งมาถึงจุดสูงสุดของยุคกลางจักรีวงศ์ ทั้งความรุ่งเรืองในวิทยาการที่ตกทอดมาแต่สมัย ร.2 และ ร.3 คือด้านศิลปะ วรรณคดีและศาสนา

ที่ศตวรรษครึ่งต่อมา พากันเรียกว่า “วัฒนธรรมอ่อน” หรือ “ซอฟต์เพาเวอร์”

พระบาทนโรดมฯ นั้น คงมีความพิลาสและซาบซึ้งต่อศิลปะไม่น้อย แม้จะถูกด้อยค่าจากบารังเวลานั้นว่าหมกมุ่นแต่เรื่องละครละเม็ง แต่ก็เห็นเทียวว่า ความรักของพระบาทนโรดมฯ จนแสดงออกอย่างมากล้นในรัชกาลของตนนั้น กลายมาเป็นจุดแข็งแรงด้านวัฒนธรรมต่อกัมพูชาปัจจุบัน ทั้งระบำอัปสราที่กลายเป็นสมบัติของชาวโลก

ทั้งที่จนบัดนี้ รสนิยมส่วนตัวของพระบาทนโรดมฯ เองนั้น ยังไม่ได้รับการยกย่องของคนในประเทศเลยด้วยซ้ำ ต่างจาก “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ” ร.5 แห่งสยาม ที่บริบูรณ์ไปด้วยความสำเร็จแห่งการครองราชย์

ช่างบังเอิญเป็นเรื่อง “สองคนยลตามช่อง” โดยพระบาทนโรดมฯ ที่ให้ความสำคัญต่อสยามนั้น ทำให้กลายเป็นจุดอ่อนที่บารังกระทำให้เสื่อมพระเกียรติ กระนั้น ก็ยังทรงดื้อดึงต่อธรรมเนียมดั้งเดิมนี้ (โดยมิพักว่าของตนหรือรับมาจากสยาม) ซึ่งบารังมองว่าล้าหลัง

ขณะ ร.5 ของไทยที่ให้ความสำคัญกับฝรั่งและธรรมเนียมตะวันตกกลับได้รับการยกย่องเทิดทูนในความทันสมัยและมีคุณูปการต่อวิทยาการอันก้าวหน้าสมัยใหม่ของไทย อันต่างจากพระบาทนโรดมฯ ที่รับเอาธรรมเนียมสยามในราชสำนักไปใช้อย่างดั้งเดิมแลสมบูรณ์นั้น เท่ากับว่า “สองคนยลตามช่อง” ที่ต่างกัน

และให้สังเกตว่า ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่พระบาทนโรดมฯ แยกให้ความสำคัญ ต่อการยกย่องในคุณค่าของความเป็นสยามและการ “ยกกรุงกัมพูชา” ให้ฝรั่งเศสปกครอง?

เหล่าโรงละครตีฆ้องร้องป่าวเจ้าขา ราวกับเราฟาดฟันยันอดีต อีกแพลตฟอร์มออนไลน์นานา พุ่งต่อว่าเรื่องร้อยปีที่ผ่านไป

พลัน การตามหา “เทริด-เศียร-ศักดิ์ศรี-แววมณีปัญญา-หาไฉน?” ต่อกัมโพชที่คลั่งรักสยามไง พระบาทนโรดมฯ ทำไว้ในยุคกลาง ทั้งละครพื้นบ้านงานทรงโปรด กลายเป็นโภชผลกรรมทำสยาม คนเขมรผู้สืบต่อก็โล้ตาม ตั้งแต่ทศวรรษปี 2563 ไปทำหนัง แต่ “สังข์ทอง” คน “เงาะป่า” สยามนั้น เขาแต่งกันแต่ครั้ง 200 ปี ยังไม่จบกวีหลวง-สุนทรภู่ยุค ร.2 ก็ยังปรากฏเป็นอนุสาวรีย์ที่เมืองกำโปดเพราะนิยายกลอนเปล่าพระอภัยฯ

เหล่านี้? คือ จริตอันฝังใจมั่นของชาวเขมรที่มีต่อความมลึงมลังในอารยธรรมดั้งเดิมและเป็นมโนสำนึกเดียวกับกษัตริย์นโรดม-คนที่วาง “เทริด” ไว้กับเรื่องนี้เมื่อ 150 ปีก่อนอันมีต่อความคลั่งรักของชาวเขมรในละครพื้นบ้าน

หรือแม้แต่สมเด็จอัครมหาเสนาบดีนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันก็ยังคลั่งเปลี่ยนชื่อจากฮุน นาลมา เป็น “เสน” ตามพระเอกในละครเรื่องนางสิบสอง หรือ “รถเสนเนียงกงไร” และโปรดทราบเถิดว่า พลังงานจริตเขมรอันรุนแรงนี้ สืบต่อเนื่องมากว่า 100 ปีที่พวกเขาได้ทำจนเป็นความร่วมสมัย (ซึ่งไทยไปไม่ถึง)

เราจึงไม่รู้ว่า ควรจะขอบคุณความชื่นชอบอันรุนแรงจนใคร่จะครอบครองในทุกอย่างที่พระบาทนโรดมฯ ทิ้งไว้ หรือควรโทษบุพกรรมระหว่างสยามกัมพูชาในรัชสมัย ร.4 และ ร.5 กับพระบาทนโรดมฯ ดีไหม สำหรับอะไรก็ตาม ที่เขมรเป็นไปในวันนี้ และอะไรก็ตาม ที่ไทยเรารุดไปในความเป็นอื่น?

โดยกลับย้อนไปที่สารตั้งต้นของคำว่า “ร.5-นโรดม” เราจะเจอ “จุดนัดพบ” ของคำตอบ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ในฐานะผู้ไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ ข้าพเจ้าค้นพบว่า การเป็นมนุษย์ต่างหากที่เป็นศักยภาพอันสูงสุด และไปสู่วัฒนธรรมอ่อนได้ในทุกเรื่องไม่ว่าคนคนนั้นจะมีฐานะเป็นอะไร เขมรหรือไทย สูงส่งหรือสามัญ การพัฒนาศักยภาพของความเป็นมนุษย์ต่างหากที่เป็นเรื่องสำคัญ

กรณีในหลวงนโรดมนั้น เนียงขญมก็เพิ่งจะเข้าถึงศักยภาพในความเป็นคนยุคกลางแห่งราชสำนักสยามที่เหลืออยู่จะว่าไปอาจเป็นคนสุดท้ายในสารบบที่พบได้ในยุคนั้น และหากเราไม่แบ่งแยกว่าเขาเป็นกษัตริย์ชาติเขมร เราคงได้เรียนรู้สิ่งที่พระบาทนโรดมฯ ทำไว้ และกลายมาเป็น “วัฒนธรรม ‘ยุคกลาง’ อันจับต้องไม่ได้” ระหว่างไทยกับเขมร

และโดยจากกระทำของคนเขมรยุคหลังซึ่งถือเป็นลูกหลาน-พระบาทนโรดมฯ

เราจะมองมันเช่นใดในความสัมพันธ์นี้? เพื่อที่ว่าในการแสดงออกคลั่งรักแบบเขมร ทั้ง “เรียมเกร์/รามเกียรติ์”, ลำดวน-บุพเพสันนิวาส 2, นางนาค, เงาะป่า, พระอภัยฯ “หนังใหญ่-สแบกทม” และอื่นๆ อีกมากมายที่กำลังจะตามมา

หรือ “สองคนยลตามช่อง”