หัวเลี้ยวหัวต่อสงคราม! ยกระดับสงครามและความกังวลของโลก | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ | สุรชาติ บำรุงสุข

 

หัวเลี้ยวหัวต่อสงคราม!

ยกระดับสงครามและความกังวลของโลก

 

“ชาติตะวันตกไม่ต้องการให้เรา [รัสเซีย] เป็นอิสระ แต่ต้องการให้เราเป็นอาณานิคม; ชาติตะวันตกไม่ต้องการหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกัน พวกเขาต้องการขโมยของไปจากพวกเรา”

ประธานาธิบดีปูติน (21 กันยายน 2022)

 

สองสถานการณ์ใหญ่ของสงครามยูเครนที่ต้องถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ หรืออาจจะต้องถือว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่ต้องติดตามคือ การจัดทำประชามติในดินแดนของยูเครนที่อยู่ภายใต้การยึดครองของรัสเซีย และการรุกกลับ (counteroffensive) ของกองทัพยูเครน จนกองทัพรัสเซียต้องเป็นฝ่ายถอยร่น ซึ่งทำให้เกิดคำถามถึงการปรับยุทธศาสตร์ทหารของรัสเซียในอนาคต และยังโยงถึงคำถามว่า ผู้นำรัสเซียจะตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีเพื่อแก้ปัญหาความเพลี่ยงพล้ำทางทหารในยูเครนหรือไม่

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเช่นนี้กำลังบ่งบอกอย่างชัดเจนว่า ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนกำลังเป็นการ “ยกระดับสงคราม” (escalation of war)

อันอาจมีนัยว่า สงครามมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้น และสันติภาพอาจจะยังห่างไกลมาก

 

ประชามติปลอม!

รัฐบาลรัสเซียมีความพยายามอย่างมากที่จะทำให้การยึดครองดินแดนของยูเครนมีความชอบธรรม วิธีการที่จะใช้เพื่อการสร้างภาพทางการเมืองจึงได้แก่ การจัดทำประชามติจากการลงเสียงของประชาชนในพื้นที่ เพื่อแสดงเห็นว่าประชาชนที่อยู่ดินแดนดังกล่าวต้องการย้ายไปอยู่กับรัสเซีย และต้องการแยกตัวออกจากยูเครน

อีกทั้งเพื่อให้การผนวกดินแดนเช่นนี้มีความชอบธรรมในทางกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญรัสเซียจึงได้ลงมติรับรองการรวมดินแดนทั้ง 4 ส่วนของยูเครน ซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่าศาลรัฐธรรมนูญในประเทศที่การเมืองไม่เป็นประชาธิปไตยนั้น เป็นเพียง “ตรายาง” ที่ใช้เพื่อการสร้างความชอบธรรมในการดำเนินนโยบายของตัวผู้นำ ดังเช่นที่เห็นในหลายประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยว่า สถาบันตุลาการถูกใช้เป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจเสมอ

การผนวกดินแดนเช่นนี้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจากโลกตะวันตก ดังจะเห็นได้ว่าผู้นำประเทศตะวันตกและผู้นำยูเครนมองการดำเนินการของรัสเซียว่าเป็น “ประชามติปลอม” (sham referendum) และประกาศไม่รับรอง

แต่สำหรับผู้นำรัสเซียแล้ว การผนวกเช่นนี้มีความจำเป็นในทางยุทธศาสตร์เพื่อเปิดการเชื่อมต่อพื้นที่ 5 ส่วนที่อยู่ภายใต้การยึดครองของรัสเซียเข้าด้วยกันคือ ลูฮานสค์ โดเนตสค์ เคอร์ซอน ซาปอริซเซีย และไครเมีย (พื้นที่ทั้ง 5 ส่วนนี้คิดเป็นประมาณร้อยละ 20 ของประเทศยูเครน)

การดำเนินการดังกล่าวยังมีนัยสำคัญในทางการเมือง เพราะการผนวกทั้ง 4 คือ การประกาศชัยชนะทั้งในทางการเมืองและการทหาร เพราะนับตั้งแต่เริ่มเปิดปฏิบัติการทางทหารแล้ว รัสเซียยังไม่ประสบชัยชนะอย่างเป็นรูปธรรม

การประกาศการผนวกครั้งนี้จึงต้องจัดเป็นงานใหญ่ ซึ่งเป็นดังการได้ดินแดนอีกครั้งของรัสเซีย หลังจากการผนวกไครเมียในปี 2014 อีกทั้งยังเป็นเสมือนชัยชนะของ “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ของประธานาธิบดีปูตินที่ต้องการแสดงให้สังคมรัสเซียได้เห็น ซึ่งจะช่วยในการปลุกกระแส “ชาตินิยมรัสเซีย” ได้เป็นอย่างดี

และใช้คานกับกระแส “ต่อต้านสงคราม” ที่ขยายตัวมากขึ้น ดังจะเห็นได้ว่าผู้ที่เห็นต่างจากนโยบายสงครามของรัฐบาลมีความกล้ามากขึ้นในการแสดงออก

อย่างไรก็ตาม การผนวกดินแดนอาจถูกตีความจากทางฝ่ายตะวันตกว่า เป็นการ “ยกระดับสงคราม” ในอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะทำให้สงครามยูเครนมีความซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากหากยูเครนต้องการที่เปิดการรุกกลับในพื้นที่ 4 ส่วนนี้ย่อมจะทำให้รัฐบาลรัสเซียสามารถใช้เป็นข้ออ้างได้ว่า กองทัพยูเครนโจมตีดินแดนของรัสเซีย และอาจทำให้ผู้นำรัสเซียใช้เป็นข้ออ้างในการขยายสงครามออกไปได้ ดังนั้น ตะวันตกและยูเครนจึงต้องยืนกรานในเบื้องต้นที่ไม่รับรองการผนวกนี้ เพื่อไม่ให้รัสเซียใช้เป็นข้ออ้างของสงครามในอนาคต

นอกจากนี้ ประธานของ 9 ชาติสมาชิกของเนโต้ในส่วนของยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก (สาธารณรัฐเช็ก เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย มอนเตเนโกร มาซิโดเนียเหนือ โปแลนด์ โรมาเนีย และสโลวะเกีย) ได้ประกาศไม่ยอมรับการผนวกดินแดนของรัสเซีย และแสดงท่าทีสนับสนุนบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครนอย่างเต็มที่ ซึ่งการประกาศเช่นนี้ย่อมมีนัยในทางทหารด้วย เนื่องจากโปแลนด์และรัฐริมชายฝั่งทะเลบอลติกทั้งสามเป็นสมาชิกของนาโต และถือเป็นพื้นที่ทางทหารในส่วน “ปีกตะวันออก” (eastern flank) ของนาโตที่อยู่ติดกับดินแดนของรัสเซีย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเปราะบางในทางทหารเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะความกังวลว่าพื้นที่ปีกด้านตะวันออกอาจเป็นพื้นที่การรบใหม่ หากรัสเซียตัดสินใจขยายสงครามออกจากพื้นที่ของยูเครน

ดังนั้น การผนวกดินแดนจึงเป็นดังคำยืนยันว่า เจตนารมณ์ในการขยายดินแดนของรัสเซียยังเป็นประเด็นที่สร้างความกังวลให้รัฐข้างเคียงอย่างมาก แต่คำคัดค้านนี้ไม่มีส่วนร่วมจากฮังการี และประเทศอีกส่วนที่ไม่ร่วมด้วยคือ แอลเบเนีย บัลแกเรีย โครเอเชีย และสโลวีเนีย

โดยเฉพาะฮังการีนั้น มีท่าทีที่ชัดเจนในการสนับสนุนรัสเซีย และไม่ตอบรับกับนโยบายของสหภาพยุโรปในปัญหารัสเซีย

 

การรุกกลับอย่างรวดเร็ว

สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างที่หลายฝ่ายไม่คาดคิดก็คือ การรุกกลับอย่างรวดเร็วของกองทัพยูเครนทำให้เกิดการถอยร่นของกองทัพรัสเซีย โดยเฉพาะการสูญเสียพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญอย่างเมือง “ลีมัน” (Lyman) ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการส่งกำลังบำรุงในแคว้นโดเนตสค์

การยึดเมืองหลักคืนได้เช่นนี้ต้องถือเป็นชัยชนะที่สำคัญของยูเครน และทำให้เกิดความเชื่อในเรื่องของการรุกกลับของกองทัพยูเครนจะสามารถ “ทำลายการยึดครอง” ในพื้นที่อื่นๆ ได้ (further de-occupation) เช่น การยึดลูฮานสค์คืน รวมถึงความเชื่อว่าในที่สุดแล้ว กองทัพยูเครนอาจจะยึดไครเมียกลับคืนมาได้ด้วย

การยึดเมืองลีมันคืนได้เกิดขึ้นในช่วงเดียวกับที่ประธานาธิบดีปูตินประกาศฉลองความสำเร็จในการผนวกดินแดนของยูเครน ซึ่งดูจะ “ภาพที่ย้อนแย้ง” อย่างมาก

เพราะเป็นครั้งแรกที่เราเห็นถึงการที่กองทหารรัสเซียประสบความสูญเสียจนต้องเป็นฝ่ายถอยกลับเข้าสู่ดินแดนของรัสเซีย

ว่าที่จริงแล้วออกจะเป็นการ “เสียหน้า” ในทางทหารอย่างมาก จนทำให้หลายฝ่ายกังวลถึงความพยายามในการตอบโต้กลับ ดังจะเห็นได้ว่ารัสเซียสามารถยึดลีมันได้เพียงสี่เดือนเท่านั้น กองทัพยูเครนจึงสามารถยึดคืนได้ และที่ต้องยอมถอยก็เพื่อไม่ให้กองทหารรัสเซียติดกับในเมืองที่ถูกปิดล้อม

ความกังวลในปัญหาของการใช้อาวุธนิวเคลียร์ซึ่งเกิดหลังจากการรุกกลับนั้น ปรากฏชัดเมื่อผู้นำเชชเนียที่เป็นฝ่ายสนับสนุนรัสเซีย (Ramzan Kadyrov) ได้เสนอให้รัสเซียประกาศกฎอัยการศึกในบริเวณชายแดน และเตรียมใช้อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี (ที่เป็น “low-yield nuclear weapons”) ทำลายเป้าหมายในยูเครน

แม้จะมีเสียงปฏิเสธตามมาว่า รัสเซียไม่ได้ต้องการที่จะใช้อาวุธดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หากมีการใช้อาวุธนิวเคลียร์จริงแล้ว สงครามยูเครนอาจจะไม่สามารถควบคุมได้

แต่การตอบโต้ของรัสเซียอาจจะเกิดในอีกรูปแบบหนึ่ง ด้านหนึ่งรัสเซียใช้พลังงานเป็นเครื่องมือในการกดดันสหภาพยุโรป จนชาติตะวันตกมองว่ารัสเซียกำลังทำ “สงครามพลังงาน” เพื่อต่อสู้กับการถูกแซงก์ชั่น

ในอีกด้านหนึ่งสิ่งที่เป็นปัญหาในช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมาคือ การรั่วไหลของก๊าซจากท่อส่ง “นอร์ด สตรีม” (Nord Stream) ที่มาจากรัสเซีย ซึ่งทางฝ่ายตะวันตกเชื่อว่า การรั่วของก๊าซใต้ทะเลบอลติกนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่น่าจะเกิดจากการก่อวินาศกรรม

การตอบโต้อีกส่วนที่จะต้องติดตามคือ ผู้นำเบลารุสประกาศที่จะรับกำลังพลและยุทโธปกรณ์ของรัสเซียเพิ่มเติม ประมาณว่ากำลังพลรัสเซีย 20,000 นาย อาจถูกเคลื่อนย้ายเข้าสู่ประเทศนี้ ซึ่งรัสเซียมีกำลังประจำการอยู่แล้วราว 1,000 นาย

การเสริมกำลังที่เบลารุสจึงเป็นประเด็นในอนาคตว่า รัสเซียจะตัดสินใจเปิดการเข้าตียูเครนจากทางเหนือเช่นที่เกิดมาแล้วในช่วงต้นสงครามอีกหรือไม่

อีกทั้งเมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีปูตินได้ลงนามในประกาศเรียกกำลังพลจำนวน 120,000 นาย ด้วยการเกณฑ์ชายอายุ 18-27 ปี เข้ารับการฝึกทางทหาร อันเป็นสัญญาณถึงการยืดเยื้อของสงคราม

การเตรียมรับมือของฝ่ายตะวันตกกับการตอบโต้ของรัสเซียที่อาจจะเกิดขึ้น จึงได้แก่การประกาศสนับสนุนด้านอาวุธ

แต่จุดที่น่าสนใจในตอนต้นเดือนตุลาคมคือ การเดินทางเยือนยูเครนของรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมเยอรมัน (Christine Lambrecht) แม้จะเป็นครั้งแรกในการเยือนของรัฐมนตรีกลาโหม ซึ่งผู้นำยูเครนได้เรียกร้องอย่างมากขอให้เยอรมนีส่งรถถังให้ ซึ่งจนถึงปัจจุบันยังไม่มีประเทศในกลุ่มนาโตส่งรถถังให้ยูเครนแต่อย่างใด ซึ่งเยอรมนีมีท่าทีที่รีรอในเรื่องนี้ และเป็นประเด็นที่เยอรมนีถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในการตัดสินใจ

ในอีกด้านหนึ่ง คงต้องยอมรับว่าอาวุธยิงระยะไกล โดยเฉพาะระบบยิงจรวดหลายลำกล้อง (HIMARS) ที่สหรัฐให้การสนับสนุนแก่กองทัพยูเครนเป็นสิ่งที่มีประสิทธิภาพอย่างมาก

อาวุธชนิดนี้มีส่วนอย่างสำคัญต่อความสำเร็จในการโจมตีที่ตั้งทางทหาร คลังสรรพาวุธ และจุดยุทธศาสตร์ทางทหารที่สำคัญของรัสเซีย ซึ่งผู้นำสหรัฐได้แสดงท่าทีอย่างชัดเจนที่จะจัดส่งระบบอาวุธนี้ให้เพิ่มเติม

อันเท่ากับเป็นการเพิ่มอำนาจทางทหารอย่างมากสำหรับการเตรียมรุกกลับของกองทัพยูเครนในอนาคต และถ้อยแถลงในการความช่วยเหลือของสหรัฐล่าสุดนั้น เกิดไม่กี่ชั่วโมงหลังการประกาศผนวกดินแดนของรัสเซีย โดยความช่วยเหลือทั้งหมดมีมูลค่า 12.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ

และในจำนวนนี้ 3.7 พันล้านเหรียญจะเป็นงบฯ ช่วยเหลือทางทหาร อันจะทำให้กองทัพยูเครนสามารถรบต่อเนื่องได้ในระยะยาว

 

จุดต้องระวัง!

เมื่อรัสเซียตัดสินใจผนวกดินแดน สิ่งที่ผู้นำยูเครนใช้ตอบโต้ในอีกทางหนึ่งคือ การยื่นสมัครเข้าเป็นสมาชิกของนาโต และขอที่จะสมัครแบบ “เร่งด่วน” แม้จะไม่ชัดเจนว่ายูเครนจะได้รับการตอบรับในการเข้าเป็นสมาชิกเพียงใด เนื่องจากทางนาโตและสหรัฐเองก็มีความระมัดระวังอย่างมากในเรื่องนี้ เพราะกังวลว่าการตัดสินใจรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก จะยิ่งเป็นการ “ยั่วยุ” รัสเซีย และอาจส่งผลสงครามยกระดับมากขึ้นไปอีก อีกทั้งสหรัฐเองอาจมองว่า แม้ไม่ต้องเข้าเป็นสมาชิกของนาโตโดยตรง สหรัฐสามารถส่งความช่วยเหลือทางทหารให้แก่ยูเครนได้อยู่แล้ว และไม่ก่อให้เกิดการ “ยั่วยุ” รัสเซียมาก

สหรัฐและฝ่ายตะวันตกเองอาจต้องยอมรับว่า รัสเซียมีความกังวลกับประเด็นการขยายพื้นที่ของนาโตที่ประชิดแนวพรมแดนของตน โดยเฉพาะการขยายสมาชิกด้วยการเปิดรับยูเครน เป็นสิ่งที่ผู้นำรัสเซียอาจจะถือว่า เป็นสิ่งที่ “ไม่อาจยอมรับได้” ดังนั้น การสมัครสมาชิกนาโตของยูเครนในครั้งนี้ จึงเป็นประเด็นที่เปราะบางอย่างมาก อันอาจทำให้รัสเซียใช้เป็นข้ออ้างในการ “ยกระดับ” การตอบโต้ทางทหาร

ฉะนั้น หากมองในภาพรวมแล้ว คงต้องถือว่าสงครามยูเครนจากเดือนที่ 8 ต่อเนื่องเข้าเดือนที่ 9 นั้น สถานการณ์ถูก “ยกระดับ” ขึ้นอย่างแท้จริงแล้ว และความหวังว่าการรบจะลดระดับความรุนแรงของสงครามลงจึงน่าจะเป็นเรื่องยาก และไม่อาจเกิดขึ้นได้ในระยะสั้น!