ปรากฏการณ์ ‘ควบรวมพรรค’ ยุทธศาสตร์หนีตาย จากชาติพัฒนากล้า จนถึงพรรคตระกูลสร้าง

อีกไม่กี่เดือนประเทศไทยก็จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นอีกครั้ง เป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญครั้งที่ 2 หลังรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งก่อกำเนิดขึ้นภายใต้รัฐบาลจากการรัฐประหารบังคับใช้

ความคึกคักของพรรคการเมืองต่างๆ บังเกิดขึ้น ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดกระแสการควบรวมพรรคขนาดกลาง รวมถึงพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่ จนเป็นข่าวฮือฮา ทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยจากการเมือง คู่ขนานไปกับการจับตาปัญหาเกี่ยวกับตัวบทกฎหมายโดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ ซึ่งนักการเมืองต่างจับตามองปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อการควบรวมพรรคหรือไม่ก็ คือปัญหาการตีความของศาลรัฐธรรมนูญที่รับตีความกฎหมายลูกที่ใช้ในการเลือกตั้ง 2 ฉบับ

เรื่องใหญ่คือเรื่องสูตรคำนวณผู้แทนแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งถูกแก้กลับไปกลับมา ว่าจะเอาสูตรไหน ระหว่างสูตรหาร 100 กับหาร 500 ซึ่งจะมีผลต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ในการแข่งขัน

แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบครึ่งเดือนที่ผ่านมา เหมือนนักการเมืองจะเชื่อว่าสถานการณ์น่าจะโน้มเอียงมาที่ สูตรหาร 100 ตามร่างเดิมที่สภาเคยไฟเขียวอนุมัติไป

หากย้อนไปดูข่าวการควบรวมพรรคครั้งสำคัญ คือกรณีการ rebranding ใหม่ของพรรคชาติพัฒนา เมื่อวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา โดยนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนาขณะนั้น แถลงข่าวจับมือนายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้าในขณะนั้นลาออกจากพรรคกล้ามาร่วมงานกับพรรคชาติพัฒนา สร้างเสียงเซอร์ไพรส์ในทางการเมือง

จากนั้นวันที่ 26 กันยายน นายกรณ์ จาติกวณิช และนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ทีมอดีตสมาชิกพรรคกล้ากว่า 80 ชีวิต ตบเท้าเข้าพรรคชาติพัฒนา พร้อมกับที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2565 รีแบรนด์-เปลี่ยนชื่อพรรคใหม่เป็น “พรรคชาติพัฒนากล้า”

ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งกรรมการบริหารพรรคแทนตำแหน่งที่ว่าง 4 ตำแหน่ง ได้แก่ 1.นายกรณ์ อดีตหัวหน้าพรรคกล้า 2.นายอรรถวิชช์ อดีตเลขาธิการพรรคกล้า 3.นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ อดีตประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และนโยบาย พรรคกล้า และ 4.นายวรวุฒิ อุ่นใจ อดีตรองหัวหน้าพรรคกล้า

16 ตุลาคม 2565 นายเทวัญ ลิปตพัลลภ ลาออกจากหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา โดยที่ประชุมใหญ่สามัญได้เสนอชื่อนายกรณ์ และมีมติด้วยคะแนนเอกฉันท์ให้นายกรณ์เป็นหัวหน้าพรรค นอกจากนี้ ยังเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 30 ตำแหน่ง

อาทิ 1.นายกรณ์ หัวหน้าพรรค 2.นายเทวัญ เลขาธิการพรรค 3.นายอรรถวิชช์ รองหัวหน้าพรรค 4.นายวรวุฒิ รองหัวหน้าพรรค โดยมีนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นประธานพรรค นายกอร์ปศักดิ์ ประธานยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจและนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล เป็นผู้อำนวยการศูนย์ดำเนินการเลือกตั้ง

สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

อีกหนึ่งข่าว คือการควบรวมพรรคเกิดขึ้นกับพรรคสร้างอนาคตไทย ที่นำโดยสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานของพรรค กับพรรคไทยสร้างไทย ของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

14 ตุลาคมที่ผ่านมา น.ต.ศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย ให้สัมภาษณ์ถึงพรรคไทยสร้างไทย กับพรรคสร้างอนาคตไทย มีการเจรจากันเพื่อควบรวมพรรคกันจริง เพราะยุทธศาสตร์ในการเลือกตั้ง หากการคำนวณ ส.ส.ใช้สูตรหาร 100 โอกาสที่พรรคใหม่และพรรคเล็กจะได้ ส.ส.ถึง 25 คน ตามเกณฑ์ขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ชื่อที่เสนอเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เป็นได้ยากมาก แต่ละพรรคต้องรวมกันถึงจะมีโอกาสมากขึ้น แต่ยอมรับว่าการพูดคุยกันยังไม่ได้คืบหน้าแบบที่สื่อมวลชนคาดการณ์

“หากเป็นเพราะอุดมการณ์ที่ไม่ตรงกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็อาจจะรวมกันได้ เพราะพรรคไทยสร้างไทยมีจุดยืนไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจเผด็จการอยู่แล้ว หากจุดยืนตรงกันก็สามารถคุยกันได้” น.ต.ศิธากล่าว

ขณะที่ทางฝั่งนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย ก็ออกมายอมรับว่าพรรคมีการคุยกับพรรคไทยสร้างไทยเป็นระยะ เพราะช่วงนี้การเมืองมีความไม่แน่นอนสูง และนายสมคิดกับคุณหญิงสุดารัตน์ก็รู้จักกันดี

“เรายึดมั่นในอุดมการณ์ที่จะทำงานการเมืองเพื่อประชาชนเป็นสำคัญ ส่วนการพูดคุยหารือกับพรรคการเมืองอื่นๆ นั้น ถือเป็นกิจกรรมปกติของการเมือง” อุตตมระบุ

แต่ก็มีรายงานข่าวออกมาว่าการควบรวมระหว่างพรรคไทยสร้างไทยกับพรรคสร้างอนาคตไทย เหมือนจะปิดดีลกันไม่ลง ในประเด็นเกี่ยวกับตำแหน่งหัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี โดยขณะนี้พรรคไทยสร้างไทยพยายามเดินสายหาตัวผู้สมัครในภาคอีสานและภาคเหนือ ขณะพรรคสร้างอนาคตไทยเน้นการหาเสียงในพื้นที่กรุงเทพฯ และภาคใต้ ปัญหาการทับซ้อนของการส่งผู้สมัครระบบเขตก็เป็นส่วนหนึ่งในการปิดดีลไม่ลง

สุรนันทน์ เวชชาชีวะ รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย ถึงกับโพสต์ข้อความดึกวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมาระบุว่า “May be it is time to move on…” และระบุว่า “เก็บความทรงจำดีๆ เมื่อทีมงานดี ทำงานสนุก ขอบคุณทุกๆ คนครับ” ทำให้เกิดการตีความอย่างมากว่า ก่อนหน้านี้ นายสุรนันทน์ย้ำจุดยืนเรื่องการรวมกับพรรคไทยสร้างไทย ว่า นายสมคิดต้องเป็นผู้สมัครเบอร์ 1 ในบัญชีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

ด้านสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานพรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า จะรวมพรรคหรือไม่ต้องให้กรรมการบริหารพรรคไปหารือกันเอง ตนกับคุณหญิงสุดารัตน์รู้จักกันมานาน และเห็นคุณหญิงสุดารัตน์เป็นเหมือนน้องสาวคนหนึ่ง

“หากมีการรวมพรรคแล้วจะสร้างประโยชน์ มีพลังในการทำงานให้ส่วนรวมก็จะดีกว่ามาสร้างความแตกแยกกัน และก็ไม่ใช่รวมเพื่อหวังจะได้ ส.ส.เยอะแล้วจะไปต่อรองให้ได้ตำแหน่ง ส่วนใครจะเป็นหัวหน้า ใครจะเป็นแคนดิเดตนายกฯ ยังเร็วไปที่จะพูดตอนนี้ เพราะขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ต้องรอดูความชัดเจนของกติกาก่อน”

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

ในประเด็นการควบรวมพรรคนั้น สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง แสดงความเห็นเรื่องนี้ว่า การเลือกตั้งก็ต้องหวังชัยชนะ จะทำให้ชนะได้ก็ต้องประกอบไปด้วย

1. บุคลากรที่ประกอบกันเป็นพรรคสามารถบริหารจัดการพรรคหรือเป็นที่นิยมของประชาชนหรือไม่

2. กระแสของพรรคนั้นอยู่ในฝั่งขาขึ้นหรือฝั่งขาลง ก็ต้องประเมินให้ออก

3. ทุนทรัพย์ที่อยู่ภายในพรรคเป็นอย่างไร ถ้าควบรวมกับพรรคการเมืองอื่นแล้วเงินจะเพิ่มขึ้นไหม นายทุนจะไหลเข้ามามากขึ้นหรือเปล่า ตัวนายทุนเขาประเมินอย่างเดียวว่าท่านจะได้เป็นรัฐบาลหรือไม่

สรุปการรวมพรรคคือการรวมคนและรวมทรัพยากร แต่สำคัญที่สุดก็คือรวมแล้วจะรอดหรือไม่ รวมแล้วทำให้สถานการณ์ดีขึ้นหรือไม่ การรวมที่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นคือรวมแล้วต้องเอาจุดแข็งของแต่ละสายที่มีและไม่ตรงกันเอามารวมกัน แต่ถ้าทั้ง 2 พรรคมีจุดแข็งเหมือนกัน หรือมีจุดอ่อนเหมือนกันมารวมกัน มันก็จะเท่าเดิม ไม่ได้ช่วยทำให้อะไรดีขึ้นมากกว่าเดิม

เช่นเดียวกับ รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อดีตคณบดีพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) วิเคราะห์ว่า การควบรวมพรรคการเมืองช่วงนี้เพื่อแก้ปัญหาจุดอ่อนของฐานเสียง เช่น นายสุวัจน์ที่ดึงนายกรณ์ไปร่วมทีมเศรษฐกิจของพรรค เพราะพรรคชาติพัฒนามีฐานเสียงแค่ ส.ส.เขต ไม่มีบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับประเทศดึงดูดให้คนมาเลือกพรรค พรรคชาติพัฒนามีจุดอ่อนคือไม่มีชนชั้นกลางมาเลือก ส่วนพรรคกล้าก็มีจุดอ่อนที่ไม่มีฐานเสียงระดับเขต แม้จะมีเสียงอยู่ในกรุงเทพฯ อยู่บ้าง

แต่เมื่อเทียบกับกฎกติกาใหม่แล้ว การควบรวมกันจะได้ประโยชน์มากกว่า

เอกนัฏ พร้อมพันธุ์

ส่วนอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าจับตาคือพรรคการเมืองฝ่ายหนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เริ่มขยับขยายเปิดหน้าให้เห็นชัดมากขึ้น พร้อมกำหนดยุทธศาสตร์การต่อสู้ในศึกเลือกตั้ง มีการวิเคราะห์ว่า สถานการณ์ขณะนี้พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่นำโดยนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ก็อาจจะต้องรวมกับพรรคของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็คือพรรครวมพลังประชาชาติไทย หรือพรรครวมพลังในปัจจุบัน โดยจะเดินตามเส้นทางโมเดลเดียวกับพรรคชาติพัฒนากล้านั่นเอง

มีความเห็นจากเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ ไม่ปิดประตูรวมพรรค โดยแสดงความเห็นเรื่องนี้ว่า ปกติแล้วทุกคนที่ตั้งพรรคขึ้นมา ก็ต้องมีแนวคิดเป็นของตัวเองอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะรวมกันไม่ได้ แต่เป็นการรวมกันแบบจับมือกันทำงาน ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด แต่ถ้าเป็นการรวมแบบควบรวมพรรคกันเลยคงไม่ใช่เรื่องง่าย

“ทุกวันนี้เชื่อว่าแต่ละพรรคก็ต่างมุ่งมั่นทำงานตามแนวทางของตัวเองให้ดีที่สุด แต่หากมีการควบรวมพรรคกันแล้วทำให้แข็งแรงขึ้น สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันได้มากขึ้น ก็อาจจะมีการรวมกันได้ ถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ก็ต้องตอบว่าเป็นไปได้” เอกนัฏระบุ

ในมิติหนึ่ง การควบรวมพรรคจึงเป็นปรากฏการณ์การเมืองที่สะท้อนความเปราะบางของโครงสร้างการเมืองไทย โดยเฉพาะโครงสร้างรัฐธรรมนูญและกติกาต่อเนื่องที่ยังไม่ลงลอย

ดังนั้น ข่าวการควบรวมพรรคจะไม่จบแค่นี้แน่นอนหลังจากนี้