คุยกับ ไหม ศิริกัญญา ก้าวไกล 8 ปีเสียดายอะไร พร้อมส่องวีรกรรม ‘ประยุทธ์’ ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ | รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ | พิชญ์เดช แสงแก่นเพ็ชร์

 

คุยกับ ไหม ศิริกัญญา ก้าวไกล

8 ปีเสียดายอะไร

พร้อมส่องวีรกรรม ‘ประยุทธ์’

ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ

 

ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ฝ่ายนโยบาย ได้ออกมามอง 8 ปีของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าได้บอกอะไรหลายอย่าง และให้บทเรียนกับเรามากมาย

การที่ พล.อ.ประยุทธ์กลับมาปฏิบัติหน้าที่ต่อ และได้แถลงการณ์ผ่านหน้าเพจเฟซบุ๊กของตัวเองว่าจะขอดำเนินนโยบายต่อ บอกว่าใกล้ทำเสร็จแล้ว มาถูกทางแล้ว

ซึ่งน่ากังวลว่าเวลาที่เหลืออีก 6 เดือนเขาจะนำพาประเทศไปในทิศทางไหน ยิ่งที่บอกว่ามาถูกทางแล้ว โดย พล.อ.ประยุทธ์มักจะพูดและเน้นย้ำถึง “นโยบาย 3 แกน” คือด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ EV และสุดท้ายคือด้านการเงินการธนาคารกำลังคืบหน้า ซึ่งมีคำถาม

ยกตัวอย่าง เมื่อมองไปที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC เราก็เห็นว่ายังไม่สำเร็จ แถมบางส่วนก็ยังไปไม่ถึงไหน

ขณะที่เรื่องของรถ EV เราก็เห็นว่าค่อนข้างช้าและมีแนวโน้มที่จะตกขบวนได้ โดยที่เราไม่มีทางเลือกมากนัก เพราะอุตสาหกรรมเดิมที่เรามีอยู่คืออุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมสันดาปภายใน ก็กำลังจะหมดอายุไปด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว เรายังไม่มีทางเลือกอื่น จึงจำเป็นที่จะต้องมีอุตสาหกรรม EV เข้ามาเพื่อทำให้เศรษฐกิจไทยยังไปต่อได้ แต่ว่าการตัดสินใจ การขับเคลื่อนด้านต่างๆ เป็นไปอย่างล่าช้า และต่อให้เราพยายามที่จะแจกเงินเพื่อเป็นส่วนลดการซื้อรถ เราก็ยังไม่สามารถที่จะดึงดูดให้มีผู้ประกอบการมาตั้งโรงงานตั้งฐานการผลิตได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

นี่จึงเป็นความกังวลที่เราคิดว่าถ้า พล.อ.ประยุทธ์กลับมาและยังคงทำแบบเดิมๆ ด้วยวิธีการเดิมๆ โดยที่คิดเองว่าเดินมาถูกทางแล้วทำถูกต้องแล้ว ก็อาจจะไม่ได้ประสบความสำเร็จอย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ตั้งใจไว้ด้วยซ้ำ

ประการต่อมาที่เราคิดว่าเป็นประเด็นที่น่ากังวลคือ ตลอด 8 ปีที่ผ่านมามีการเอื้อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนมาโดยตลอด ซึ่งเข้าใจว่ากลุ่มทุนเหล่านั้นอาจจะเป็นฐานทางด้านการเมืองในการสนับสนุนเงินทุนอะไรต่างๆ ด้วย เราก็จะเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์มีการออกนโยบายที่สนับสนุนเป็นไปเพื่อให้ผลประโยชน์กับกลุ่มทุนมาโดยตลอด

ซึ่งถ้าการพัฒนาเศรษฐกิจหากพัฒนาไปในทิศทางนี้ในการสนับสนุนให้กลุ่มทุนใหญ่เกิดความได้เปรียบกว่ากลุ่มทุนขนาดเล็กแบบนี้ต่อไป ก็คิดว่าไม่ใช่การพัฒนาเศรษฐกิจที่เราอยากจะเห็น และไม่ใช่การพัฒนาเศรษฐกิจที่เดินมาอย่างถูกทางด้วยซ้ำไป

นี่คือราคาที่เราจำเป็นจะต้องจ่ายในอีกเกือบ 6 เดือนที่ พล.อ.ประยุทธ์เหลือเวลาอยู่ ที่เขาจะต้องเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็น 6 เดือนสุดท้าย และไม่คิดว่าจะมีพรรคการเมืองไหนที่จะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่มีวันหมดอายุอย่างชัดเจนแปะไว้ว่าเหลืออีก 2 ปีอยู่ได้ไม่ครบสมัยในการเป็นฝ่ายบริหารด้วยซ้ำไป ก็หวังว่าจะหมดทุกข์หมดโศกใน 6 เดือนข้างหน้านี้

ศิริกัญญาบอกอีกว่า ที่สำคัญช่วงเวลานี้เป็นช่วงวิกฤตค่าครองชีพ เราก็เห็นแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์-ทีมใช้วิธีการเดิม ที่แก้ไขปัญหาไม่ได้สัดส่วนกับความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ถึงแม้ว่าจะมีนโยบายในการอุดหนุนราคาน้ำมันหรือพยายามจะออกข่าวพยายามตรึงราคาแล้ว แต่ค่าครองชีพตัวอื่นไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลงเลย ที่ผ่านมาเงินเฟ้อก็พุ่งสูงขึ้นไปเกือบ 8% แต่ชุดนโยบายที่เราเห็นเกี่ยวกับการช่วยเหลือค่าครองชีพนอกเหนือจากการอุดหนุนราคาน้ำมันโดยเน้นไปที่ดีเซลเป็นหลักก็แทบจะไม่มีอะไรเลย เมื่อมองดูประเทศอื่นๆ ทั่วโลกที่เขาเจอวิกฤตค่าครองชีพแบบเดียวกัน เขาเจอวิกฤตพลังงานและซ้อนทับไปด้วยปัญหาเงินเฟ้อของสินค้าอื่นๆ วิกฤตอาหารต่างๆ ก็ขึ้นราคา เขามีมาตรการอื่นๆ มาช่วยเหลือในเรื่องค่าครองชีพประชาชน มีการเติมเงินในกระเป๋าให้กับประชาชน มีการให้เงินสำหรับครัวเรือนที่มีรายได้น้อยเพื่อที่จะสามารถผ่านวิกฤตไปได้ให้ ยังพอมีรายได้ในการจับจ่ายใช้สอยโดยที่ไม่ต้องลดการบริโภคของตัวเองมากจนเกินไป

แต่สำหรับในประเทศไทย โครงการคนละครึ่งซึ่งเอาเข้าจริงแล้วเป็นโครงการที่อาจจะเหมาะกับการกระตุ้นเศรษฐกิจแต่ไม่ใช่โครงการที่เหมาะกับการช่วยเหลือเรื่องค่าครองชีพ อาจจะพอช่วยเหลือค่าครองชีพได้เล็กน้อยบ้าง แต่วิธีให้ก็คิดอยู่บนกรอบใครเร็วใครได้ เราก็จะเคยเห็นข่าวมาตลอดว่าใครที่ตื่นเช้า คนที่มีอินเตอร์เน็ตเร็วคือคนที่จะต้องได้สิทธิ์ ส่วนคนที่หาเช้ากินค่ำ ต้องเติมเงินอินเตอร์เน็ตอาจจะไม่มีโอกาสจะได้รับผลประโยชน์จากตรงนี้

ไม่ต้องพูดถึงคนที่จะต้องมีเงิน 800 บาทมาเติมเข้าไปในแอพพ์เป๋าตังค์อีก นี่จึงเป็นนโยบายที่ออกมาอย่างผิดฝาผิดตัว ไม่มีประเทศไหนที่ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เงินเฟ้อกำลังสูงขึ้น เขามีแต่จะต้องช่วยในเรื่องของค่าครองชีพเป็นหลัก

คนละครึ่งเราจึงเห็นว่าไม่ได้แผลงฤทธิ์มากเพราะว่าเงินที่ให้นิดเดียว แต่ต้องบอกตรงๆ ว่าเรามาผิดทางที่เอานโยบายแบบนี้มาใช้ในการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน ควรจะต้องยิงให้ตรงเป้ากว่านี้ โดยการจ่ายตรงไปที่ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยเลย เพราะกลุ่มคนที่จะต้องมีผลกระทบจากเงินเฟ้อหรือค่าครองชีพที่สูงขึ้นคือกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย และเวลาที่เขาจับจ่ายใช้สอยเงินส่วนมากที่จะใช้ไปคือค่าเดินทาง ค่าขนส่ง ค่าแก๊ส ค่าน้ำมัน รวมถึงค่าอาหารต่างๆ ด้วย

ดังนั้น คนรายได้น้อยจึงกระทบหนักสุด กลับไม่มีมาตรการช่วยเหลืออย่างเฉพาะเจาะจง

ส่วนความกังวลว่าภาวะทั้งหมดนี้จะนำไปสู่ “วิกฤตใหญ่” ที่น่าเป็นห่วงหรือไม่ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลมองว่า ถ้าจะเกิด จะไม่ได้เกิดแบบทันทีหรือหัวทิ่มปักลง แต่จะค่อยๆ ตายไปทีละน้อย ภาษาอังกฤษเรียกว่า Slow Burn คือจะค่อยๆ ไหม้สลายลงไปทีละนิดและก็มอดดับลงไป

แต่ถือว่าประเทศเราโชคดีที่ยังพอมีเงินสำรอง แต่ไม่ได้แปลว่ารัฐบาลบริหารได้ดี แต่เป็นเพราะเราเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้เงินสำรองเรายังพอมี

และเรื่องของหนี้ต่างประเทศที่เรามีน้อยก็ไม่ใช่เพราะว่ารัฐบาลบริหารดี แต่เป็นเพราะว่ากระทรวงการคลังเข็ดจากวิกฤตต้มยำกุ้งจึงไม่ค่อยได้กู้เงินเป็นเงินตราต่างประเทศมากนัก

เรื่องของการคลังเช่นเดียวกัน เราก็เข็ดมาจากวิกฤตต้มยำกุ้งมามาก เราก็พอที่จะประคับประคองได้ดี

3 ตัวนี้จะเป็นตัวชี้วัดว่าเราจะมีวิกฤตหรือไม่ ดูจากตรงนี้ไม่น่าจะมี แต่ถามว่ารัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามารับไม้ต่อหลังจากนี้จะต้องเจอแต่เรื่องหนักๆ และต้องมาตามเช็ดตามล้างสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้ก่อเหตุเอาไว้ ตลอด 8 ปี

แน่นอนว่ารัฐบาลไหนที่เข้ามาต่อจากตรงนี้ไม่มีอะไรง่าย ด้วยหนี้สาธารณะที่สูงกว่า 60% ของ GDP การจัดเก็บรายได้แม้จะดีขึ้นมาหน่อยแต่ยังไม่ได้กลับคืนสู่สภาพปกติก่อนโควิด

ดังนั้น รัฐบาลต่อไปในเรื่องของงบประมาณจะต้องเหนื่อย มาปัดกวาดเช็ดถูสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้ก่อเอาไว้

ยังไม่พูดถึงเรื่องของการครองชีพที่ได้กล่าวไปแล้วว่าประชาชนต้องเจอทั้งเรื่องค่าไฟแพง ด้วยความที่สัญญาสัมปทานใหญ่ๆ ในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานเกี่ยวกับนโยบายพลังงานแห่งชาติ จนย้อนกลับมาเป็นภาระค่าไฟฟ้าที่ประชาชนจะต้องจ่ายสูงขึ้น

ถือว่าต่อจากนี้ไปมีแต่งานหิน งานยากที่จะเป็นโจทย์ท้าทายสำหรับรัฐบาลต่อไปที่จะต้องผจญ

 

ส่วนตัว ศิริกัญญามองว่า พล.อ.ประยุทธ์คิดว่าเขาหลอกตัวเองได้สำเร็จว่าเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ เขาเชื่อว่าตัวเอง สิ่งที่เขาพูดหรือตัดสินใจตามที่มีคนมากระซิบนั่นคือการทำหน้าที่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจแล้ว

แต่พอเราฟังจะสังเกตอาการต่างๆ เวลาที่เขาพูดเรื่องนโยบายเศรษฐกิจเราจะรู้เลยว่าจริงๆ แล้วเขาไม่ได้รู้จริง แต่ว่ามีทีมงานที่คอยทำข้อมูลให้ ทำเอกสารให้ เพื่อที่จะทำให้ตัดสินใจง่ายขึ้น แต่ว่าที่จะต้องนั่งเป็นพระประธานอยู่ทุกวันนี้อาจจะเป็นเพราะว่าความขัดแย้งความไม่ลงตัว จึงต้องการคนที่มีอำนาจมาประคับประคองคณะรัฐมนตรีที่ไม่ค่อยมีเสถียรภาพหรือสัมพันธภาพที่ค่อนข้างง่อนแง่น ต้องมีตัวกลาง ซึ่งไม่รู้ว่าลับหลังโดนข้าราชการซุบซิบนินทาขนาดไหนเหมือนกัน

ก่อนทิ้งท้ายว่า 8 ปีที่ผ่านมาเราเสียโอกาสที่จะทำอะไรได้อีกเยอะมาก และมีความคิดชุดหนึ่งที่พูดทำนองว่าเขามาแบบรัฐประหารเข้ามาไม่ได้เป็นนักการเมือง ดังนั้นเขาจะต้องมีความกล้าที่จะทำอะไรที่นักการเมืองไม่กล้า

ตอนเข้ามาแรกๆ เราเห็นว่ามีความพยายามบางอย่าง เช่น การประกาศว่าจะลดความเหลื่อมล้ำในการที่จะออกภาษีมรดก ภาษีที่ดิน

แต่ไปๆ มาๆ เราก็เห็นแล้วว่าถึงแม้ว่าคุณไม่ได้มาจากการเป็นนักการเมืองคุณไม่ต้องแคร์นายทุน คนที่มีฐานะ แต่สุดท้ายนโยบายก็ออกมาอย่างน่าผิดหวัง และยังมีหลายเรื่องที่เสียดายโอกาส ทั้งการปฏิรูประบบราชการ พิสูจน์แล้วว่าล้มเหลวมาก ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน และดูท่าถอยหลังลงคลอง การที่มีอำนาจเต็มไม่เป็นนักการเมืองก็เห็นแล้วว่าทำไม่ได้ตามที่โฆษณา

ส่วน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็เช่นเดียวกัน มีประวัติที่โชกโชนเรื่องการเอื้อต่อกลุ่มทุน ดังนั้น สภาพการที่ไม่ว่านายพลคนไหนจะเข้ามา ไม่ต่างกัน ประเทศนี้ต้องการความเปลี่ยนแปลงแล้ว

หมดสมัยที่จะนำพาประเทศด้วยทหาร-นายพล เพราะพิสูจน์แล้วว่า “สอบตก” ในทุกด้านการบริหาร

ชมคลิป