จัดแถว เคลื่อนกำลังพล | ลึกแต่ไม่ลับ จรัญ พงษ์จีน

จรัญ พงษ์จีน

ลึกแต่ไม่ลับ | จรัญ พงษ์จีน

 

จัดแถว เคลื่อนกำลังพล

 

ผลสืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญ 2560 แห่งมาตรา 105 ที่กำหนดไว้ว่า “ในกรณีที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรเหลือไม่ถึง 180 วัน ‘มีข้อยกเว้นให้’ ไม่ต้องมีเลือกตั้งซ่อม” เท่ากับว่า ระหว่างนี้ ให้ ส.ส.ย้ายไปสังกัดพรรคใหม่ได้ไปในตัวโดยอัตโนมัติ

ด้วยประการดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ 24 กันยายนเป็นต้นมา จึงเป็นเหตุและปัจจัยให้ตลาดการเมืองมีการเคลื่อนไหวกันคึกคัก ผู้แทนฯ เตรียมโรเตชั่นย้ายพรรค ปรับตัวเปลี่ยนสีกันเป็นว่าเล่น

หลังวันที่ 24 ธันวาคม 2565 ยุทธภพนักเลือกตั้ง จะยิ่งสะเทือนลั่นทุ่งหนักเข้าไปอีก เพราะอยู่ในช่วงนับถอยหลัง 90 วันของอายุสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้บุคคลที่จะลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องสังกัดพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 97(3)

“ช้าเกินไปอาจไม่ทัน เร็วต้องมีสติ เมื่อมีจังหวะ” ซึ่งปรากฏว่า ไม่เพียงแต่ตลาด ส.ส.เท่านั้นที่อึกทึกครึมโครม ในส่วนของ “แบรนด์เนมลักชัวรี่” ที่จะก้าวมาเป็นผู้นำประเทศ ในฐานะ “แคนดิเดต-บัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรี” เปิดช็อป เพิ่มเคาน์เตอร์ขึ้นมาคับคั่งเช่นเดียวกัน

ที่แน่นอนแบเบอร์มาก่อนแล้ว ประกอบด้วย “อนุทิน ชาญวีรกูล” พรรคภูมิใจไทยนำเสนอ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ค่ายประชาธิปัตย์ ล่าสุดมี 2 มือใหม่ประสงค์จะหัดขับ มาประกาศท้าชิงเพิ่ม

คือ “เศรษฐา ทวีสิน” ประธานกรรมการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) นักธุรกิจวัย 60 ปีที่ประสบผลสำเร็จจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กับ “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร” ส่งเข้าชิงประกวด ในนามพรรคเพื่อไทย

อีกค่ายเพิ่งจบดีลรวมพรรคไปหมาดๆ ระหว่าง “ชาติไทยพัฒนา” กับ “กล้า” มาเป็นข้าวต้มมัดใหม่ในชื่อ “ชาติพัฒนากล้า” ก็น่าจะดันขึ้นบัญชีชื่อนายกฯ ทั้ง 2 คน ระหว่าง “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” ประธานพรรค กับ “กรณ์ จาติกวณิช” หัวหน้าพรรค

และที่ยัง “ปิดกันไม่ลง” ว่าจะแยกกันเดิน หรือร่วมกันไป ระหว่าง “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” จากค่ายสร้างอนาคตไทย กับ “สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” จากไทยสร้างไทย ซึ่งยังยักตื้นติกกึก ยักลึกติดกัก ทั้งในตำแหน่งหัวหน้าพรรค-แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ใครนั่งคนที่ 1 และ 2 โอกาสพูดจากันคนละภาษาสูง

ความจริง 2 พรรคนี้ถ้ารวมกันได้ ก็น่าจะเป็น “บวก” มากกว่า “ลบ” แต่คงจะเจรจาต้าอ้วยกันยากหน่อย เพราะแรงกิ้งทางการเมืองอยู่ในระนาบใกล้เคียงกัน เลยไม่ค่อยมีใครยอมใคร

 

ทุกค่ายจัดแถว เคลื่อนกำลังพล ได้ของดีมีชาติตระกูลมาทดแทน เสริมใยเหล็กในส่วนที่ชำรุดสึกไป เตรียมตัวพร้อม รอโอกาสสู้ศึกเต็มประตูกันยอดเยี่ยมไม่มีที่ติ

มีเพียงแต่ “พรรคพลังประชารัฐ” เท่านั้น ที่ยัง “มัวแต่ป้อ ล่อไม่เป็น “วันๆ มีแต่ข่าวไม่เป็นมงคล ส่อเค้าเล่าอาการว่าจะหมดสิทธิ์เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล อาจจะตกอันดับไปเป็น “สินค้าเชียงกง-อะไหล่เสริม” เท่านั้น

ซึ่งความเป็นไปได้มีมากไม่น้อยทีเดียว ก่อนหน้านี้ เมื่องานฉลองวันคล้ายวันเกิด “ครูใหญ่-เนวิน ชิดชอบ” ผู้ก่อตั้งพรรคภูมิใจไทย ครบรอบ 64 ปี มีลูกข่าย “พปชร.” 8 คน ประกอบด้วย 1. “มณเฑียร์ สงฆ์ประชา” ส.ส.ชัยนาท 2. “สมเกียรติ วอนเพียร” กาญจนบุรี 3. “สัมฤทธิ์ แทนทรัพย์” ชัยภูมิ 4. “อนุชา น้อยวงศ์” พิษณุโลก 5. “ปฐมพงศ์ สูญจันทร์” นครปฐม 6. “สุชาติ อุสาหะ” เพชรบุรี 7. “กฤษณ์ แก้วอยู่” เพชรบุรี และ 8. “ประทวน สุทธิอำนวยเดช” ลพบุรี เดินทางไปร่วมงาน มีข่าวค่อนข้างคอนเฟิร์มว่า ทั้ง 8 รายตัดสินใจย้ายไปสังกัดค่ายสีน้ำเงิน ในศึกเลือกตั้งครั้งหน้าเป็นที่เรียบร้อยก่อนหน้านี้ จึงไปปรากฏตัว ไม่แน่ไม่มา

เช่นเดียวกัน “กลุ่มปากน้ำ” ลมใต้ปีกของตระกูล “อัศวเหม” นำทีมโดย “ต่อศักดิ์ อัศวเหม-อัครวัฒน์ อัศวเหม-กรุงศรีวิไล สุทินเผือก-ฐาปกรณ์ กุลเจริญ-ภิรม พูลเจริญ-ยงยุทธ สุวรรณบุตร”

ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับกลุ่มเสี่ยเฮ้งชลบุรี และเคยแสดงความชัดเจนยกมือสวนมติพรรคไม่ไว้วางใจ “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อศึกอภิปรายครั้งล่าสุด ก็โบกมือลา พปชร.ร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยย้ายไปซบค่ายภูมิใจไทยเช่นเดียวกัน

ขณะที่ ส.ส.กรุงเทพมหานคร ที่เลือกตั้งเมื่อปี 2562 โหนกระแส “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เข้ามาได้ มีแนวโน้มเป็นผึ้งแตกรัง บางส่วนย้ายไปภูมิใจไทย บางคนขอกลับข้างไปอยู่เพื่อไทย

เช่นเดียวกับ “บ้านใหญ่ตระกูลคุณปลื้ม” ภายใต้ร่มเงาของ “สนธยา คุณปลื้ม” ก็ไขก๊อก กลับไปฟื้นฟูตั้งพรรคของตัวเองใหม่ ใช้ชื่อ “พลังบูรพา” ยืนบนลำแข้งลำขาตัวเองอีกครั้ง พร้อมด้วย “สุชาติ ตันเจริญ” ถูกทาบทามกลับบ้านเก่า ไปเป็นกัปตันภาคตะวันออกให้กับเพื่อไทย

เท่ากับว่า ตอนนี้ กลุ่มที่เข้มแข็ง มีพลังไฮเพาเวอร์มากที่สุดในพลังประชารัฐ มีฐานกำลังมากที่สุด กลายเป็น “กลุ่มสามมิตร” ใต้ร่มเงาของ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ-สมศักดิ์ เทพสุทิน-อนุชา นาคาศัย”

เหลียวไปเหลียวมา พรรคพลังประชารัฐ ที่หัสเดิมตอนเลือกตั้งใหญ่เมื่อปี 2562 ได้ ส.ส. 2 ระบบมาราว 117 ที่นั่ง “กลุ่มผู้กองธรรมนัส พรหมเผ่า” ยกคณะออกไปตั้งพรรคเศรษฐกิจไทย ราว 20 คน เหลือ ส.ส.อยู่ 90 เสียงต้นๆ

ตอนนี้เลือดไหลโกรก ตบเท้าลาออกไปหารังใหม่ลงสมัครกันเป็นว่าเล่น กลุ่มแล้วกลุ่มเล่า ตอนนี้กำลังพลจริงๆ ของ พปชร.มีอยู่ไม่ถึง 70 คน และยังมีที่เตรียมไขก๊อกออกไปอีกหลายกลุ่ม

ศึกเลือกตั้งทุกครั้ง ในประวัติศาสตร์การเมืองของไทย จะมี ส.ส.เก่าสอบตกไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ดังนั้น แนวโน้มที่ พปชร.จะรักษาที่นั่งเก่าไว้ได้เท่าทุนเดิมคงยากมาก โอกาสต่ำ 50 แปรสภาพเป็นพรรคขนาดกลางเป็นไปได้มากทีเดียว

ยิ่งตอนนี้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นางกวักขาเก่า ทำท่าจะออกอาการเบื่อๆ อยากๆ

อาจจะประกาศลงจากหลังเสือ ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง และไม่เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ก็เป็นไปได้มากทีเดียว

ตอนนี้ “บิ๊กตู่” แสดงอาการแปลกๆ

“ชนะไม่ได้ก็ต้องถอย…ไม่รนหาที่จะไม่ตาย”