คนมองหนัง : นักวิจารณ์ต่างชาติเขียนถึง “มะลิลา” หนังไทยที่คว้ารางวัลจาก “ปูซาน” ว่าอย่างไร?

คนมองหนัง

“มะลิลา” ผลงานภาพยนตร์ขนาดยาวลำดับที่สองของ “อนุชา บุญยวรรธนะ” เพิ่งคว้ารางวัล “คิม จิ ซก อวอร์ด” จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน 2017 มาครองได้สำเร็จ ร่วมกับหนังญี่ปุ่นเรื่อง “The Scythian Lamb” โดย โยชิดะ ไดฮาชิ

รางวัลสาขาดังกล่าวเป็นรางวัลที่ถูกริเริ่มขึ้นใหม่ในปีนี้ เพื่อเป็นเกียรติแก่ “คิม จิ ซก” ผู้ร่วมก่อตั้งเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ซึ่งเสียชีวิตลงเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีภาพยนตร์เอเชีย 10 เรื่อง เข้าร่วมชิงชัย

ไม่เพียงเท่านั้น “เวียร์ ศุกลวัฒน์ คณารศ” หนึ่งในนักแสดงนำของหนังเรื่องนี้ ยังได้รับรางวัล “ดาราเอเชียน่าจับตามอง” (Face of Asia Award) ซึ่งเป็นรางวัลที่นิตยสาร “มารี แคลร์” จัดมอบร่วมกับเทศกาลภาพยนตร์ปูซาน

ก่อนเข้าร่วมเทศกาลภาพยนต์อันดับต้นๆ ของทวีปเอเชียที่เกาหลีใต้

เรื่องย่อของหนังที่ถูกเผยแพร่ออกมา ระบุว่า “มะลิลา” เป็นภาพยนตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวความรักความอาลัยถึงผู้ที่จากไป เมื่อ “เชน” (เวียร์ ศุกลวัฒน์) เจ้าของสวนมะลิผู้มีอดีตอันเจ็บปวด และ “พิช” (โอ อนุชิต สพันธุ์พงษ์) ศิลปินนักทำบายศรี คนรักเก่าของเชนในวัยเด็ก ได้หวนกลับมาพบกันอีกครั้ง

ทั้งคู่จึงพยายามเยียวยาบาดแผลในอดีตและรื้อฟื้นความสัมพันธ์ผ่านการทำบายศรีอันงดงาม

หลังเข้าฉายรอบปฐมทัศน์โลกที่ปูซาน รายละเอียดในเรื่องย่อของ “มะลิลา” ก็ได้รับการขยายความเพิ่มเติมขึ้นมากพอสมควร โดยภูมิหลังของเชนนั้นคือชายผู้สูญเสียลูกสาวและแยกทางกับอดีตภรรยา ขณะที่พิชกำลังป่วยหนักด้วยโรคร้าย

จุดหักเหสำคัญในหนังดูคล้ายจะอยู่ที่การตัดสินใจบวชเป็นพระสงฆ์ของเชน ด้วยความหวังว่าบุญกุศลที่เขาสร้าง จะสามารถช่วยขจัดโรคภัยไข้เจ็บให้แก่ชายที่เขารัก

สําหรับฟีดแบ็กที่คณะกรรมการและนักวิจารณ์ต่างชาติมีต่อผลงานของอนุชานั้นนับว่าอยู่ในเกณฑ์ดีมากๆ

โดยคำประกาศส่วนหนึ่งของคณะกรรมการที่มอบรางวัลให้แก่หนังไทยเรื่องนี้ระบุว่า “มะลิลา” ได้สำรวจภาวะไม่จีรังยั่งยืนผ่านมุมมองแบบพุทธศาสนา โดยนำกระบวนการทำบายศรีมาสื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นอนิจจังของชีวิตและอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์

คล้ายคลึงกับที่ “ซาราห์ วอร์ด” แห่งเว็บไซต์สกรีนเดลี่ เขียนบทวิจารณ์ถึง “มะลิลา” เอาไว้ว่า หนังเรื่องนี้เผยให้เห็นความอลังการของธรรมชาติและการดำรงอยู่ด้วยความกลัวของมนุษยชาติ ผ่านการนำเอาศิลปะการสร้างสรรค์บายศรี มาเป็นอุปลักษณ์ซึ่งสื่อถึงภาวะเปราะบางของชีวิตและความตายอันมิอาจหลบเลี่ยงไปได้พ้น

วอร์ดชี้ว่าหากเปรียบเทียบกับ “อนธการ” หนังยาวเรื่องแรกของอนุชา (ที่ได้ไปเปิดตัว ณ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน) ซึ่งนำเสนอเรื่องราวในโทนมืดมิด ผ่านภาวะคาบเกี่ยวกันระหว่างความตายและความฝัน

“มะลิลา” ก็คล้ายกำลังจะพาคนดูไปแสวงหาความหวัง ผ่านลักษณะอันสงบนิ่งที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้ค่อยๆ พิจารณาไตร่ตรองเรื่องราวอันละเอียดอ่อนของภาพยนตร์

นักวิจารณ์ต่างชาติคนนี้ยังกล่าวถึงบรรดารายละเอียดหรือองค์ประกอบภาพต่างๆ ที่ถูกใส่เข้ามาในแต่ละเฟรมของหนัง ว่าล้วนทำหน้าที่สื่อสารเรื่องราวได้ไม่ต่างจากคำพูดของตัวละคร ขณะที่บทสนทนาในหนังก็ถูกใช้สอยอย่างรอบคอบ เพื่อเพิ่มเติมอารมณ์ความรู้สึกในบางสถานการณ์ แต่มิได้ถูกใส่เข้ามาจนพร่ำเพรื่อ

วอร์ดเห็นว่าสองนักแสดงนำอย่าง “เวียร์ ศุกลวัฒน์” และ “โอ อนุชิต” ได้ฝากผลงานการแสดงอันลึกซึ้งไว้ในหนังเรื่องนี้ โดยพวกเขาสามารถขับเคลื่อนตัวละครให้มีความประสานสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่ดำรงอยู่รายรอบกาย (ซึ่งเป็นอีกหนึ่งส่วนประกอบสำคัญของ “มะลิลา”)

นอกจากนั้น ทั้งคู่ยังสามารถสร้างเฉดสีที่แตกต่างกันระหว่างตัวละครสองคนได้อย่างไม่ลำบากยากเย็นนัก และต่างคนต่างไม่ถ่ายทอดบุคลิกลักษณะของสองตัวละครนำ ที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนกับชีวิต, ความตาย, ความเศร้าโศก, ความเจ็บปวด หรือความไม่แน่นอน ด้วยการแสดงที่โอเวอร์หรือเบาบางจนเกินไป

ทั้งนี้ ภาพยนตร์เรื่อง “มะลิลา” มีกำหนดจะเข้าฉายในเมืองไทยช่วงต้นปีหน้า