จากน้องไข่ต้ม ถึงหนังสือ ‘Thaksin’ มาร์เก็ตติ้งการเมือง

บทความในประเทศ

 

จากน้องไข่ต้ม

ถึงหนังสือ ‘Thaksin’

มาร์เก็ตติ้งการเมือง

 

ในท่ามกลางความเคลื่อนไหวการเมืองอันคุ้นเคยของคนไทย

นั่นคือการมุ่งแย่งชิงผู้สมัคร การย้ายพรรค การดูด ส.ส. เพื่อไปสู่บทสรุปสุดท้าย นั่นคือพรรคใดจะครองเสียงข้างมากเพื่อครองอำนาจการบริหารนั้น

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

เราได้เริ่มเห็นปรากฏการณ์ การที่พรรคการเมืองและนักการเมือง นำการตลาด หรือมาร์เก็ตติ้งการเมือง มาใช้อย่างชัดเจนขึ้น

โดย 2 พรรคที่น่าจับตาตอนนี้คือ พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล

 

ด้วยมีการใช้กลยุทธ์เจาะ Niche Market หรือกลุ่มเฉพาะอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการมุ่งไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่

เนื่องจากที่ผ่านมา ประเทศไม่มีการเลือกตั้งระดับชาติมาร่วม 10 ปี จะมีเฉพาะการเลือกตั้งซ่อม การเลือกตั้งท้องถิ่น และการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เท่านั้น

หากครั้งนี้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ถ้านับจากครั้งสุดท้ายในปี 2554 นี่ก็ร่วม 1 ทศวรรษ ทำให้ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรกสะสมและมีจำนวนมากกว่า 8 ล้านคน ซึ่งถือว่ามีขนาดใหญ่และมีอำนาจมากเพียงพอในการ “พลิกเกม”

นี่จึงเป็น Niche Market และเป็นเป้าหมายที่พรรคการเมืองโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลพยายามเข้าถึง

โดยใช้ “โซเชียลมีเดีย” ซึ่งเป็นความคุ้นเคยของคนรุ่นใหม่ เป็นเครื่องมือหาเสียง ผ่านการใช้แฮชแท็ก อินฟลูเอนเซอร์ รวมทั้งการสร้างคอนเทนต์ผ่านสื่อหลักที่อยู่บนออนไลน์ เพื่อนำประเด็นไปถกเถียงต่อบนโซเชียลมีเดีย ผ่านแฮชแท็กบนทวิตเตอร์ เพื่อเข้าถึงกลุ่มนิวโหวตที่อยู่บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียโดยเฉพาะกลุ่มวัย 18 ปีขึ้นไปใช้เวลากับโซเชียลมีเดียจำนวนมาก

 

ทั้งนี้ ในส่วนพรรคเพื่อไทย ล่าสุดใช้มหกรรมหนังสือระดับชาติ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 12-23 ตุลาคม เป็นสถานีปล่อยหนังสือ “Thaksin Shinawatra Theory and Thought” ซึ่งแม้จะเป็นคนนอกไม่เกี่ยวกับเพื่อไทยโดยตรง แต่ก็คงแยกลำบากระหว่างบทบาทของนายทักษิณ ชินวัตร กับพรรคเพื่อไทย

ทั้งนี้ หนังสือดังกล่าวมีการนำเสนอในรูปแบบที่ตอบสนองคนรุ่นใหม่เต็มที่

เพื่อให้รู้จักชีวิตตลอด 73 ปีของนายทักษิณ ชินวัตร หรือโทนี่ วู้ดซัม จากผู้ประกอบการที่ล้มลุกคลุกคลาน สู่นักธุรกิจ จนมาเป็นนักการเมือง และก้าวสู่นายกรัฐมนตรี คนที่ 23 ของไทย และต้องมาใช้ชีวิตต่างแดน ในฐานะผู้ลี้ภัยการเมืองจากการถูกรัฐประหาร

ที่เป็นไฮไลต์คือคำให้สัมภาษณ์ของคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ที่นับเป็นการให้สัมภาษณ์ครั้งแรกในทางการเมืองของคุณหญิงอ้อ

โดยส่วนหนึ่งคือการเปิดเผยความความรู้สึกวันแรกที่คุณอิ๊งตัดสินใจลงการเมืองเป็นหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ว่าลูกก็มาบอกว่ามีความตั้งใจ พอเห็นความตั้งใจของลูกเลยแล้วแต่ลูก เพราะลูกโตแล้ว เราต้องเคารพในการตัดสินใจ และไม่อยากให้ลูกกดดัน ก็คอยสนับสนุนให้กำลังใจเขาห่างๆ

ที่คุณทักษิณให้สัมภาษณ์ว่า เวลามองกระจกแล้วเห็นคุณหญิง รู้สึกสงสารคุณหญิง คิดว่าทำไมคุณทักษิณถึงรู้สึกแบบนั้น เพราะอะไร

คุณหญิงพจมานตอบว่าไม่รู้เหมือนกัน เพราะคำพูดที่เคยเตือน แล้วท่านคงจำได้ดี และตอนนี้ท่านคงเข้าใจแล้ว และคงรู้สึกเศร้า และท่านคงอยากจะกลับมาเลี้ยงหลาน เป็นตายาย ปู่ย่า เหมือนครอบครัวปกติ

เรื่องไหนที่ทำให้คุณหญิงและครอบครัวมีความสุขที่สุด แม้ว่าคุณทักษิณจะไม่ได้อยู่ด้วย

คำตอบจากคุณหญิงคือ อยากเห็นหลานๆ เติบโตมาอย่างมีความสุข ร่าเริง สดใสตามวัยกับสุขภาพที่แข็งแรง และรักกัน อย่างอื่นก็ให้เป็นไปตามวันเวลา

“ส่วนคุณตาจะได้กลับมาเห็นความเติบโตของหลานๆ ก็แอบคิดว่าคงมีสักวันแน่นอนที่หลานๆ ทุกคนจะได้อยู่พร้อมหน้ากับคุณตาอันเป็นที่รัก”

การเปิดตัวหนังสือ “Thaksin Shinawatra Theory and Thought” ปรากฏว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง

แต่ก็ไม่ได้จบเพียงนั้น

หากแต่ยังมีมาร์เก็ตติ้งการเมืองต่อไป เมื่อนายทักษิณไปให้สัมภาษณ์ผ่านยูทูบช่อง “ไกลบ้าน” ของฟาโรส (Farose) ยูทูบเบอร์ที่มักเดินทางไปท่องเที่ยวตามประเทศต่างๆ

โดยทักษิณ ชินวัตร ได้เปิดบ้านที่ดูไบ ให้ฟาโรสทัวร์ โดยพาไปชมห้องที่จัดคลับเฮาส์ ทั้งพาไป Mall of Emirates มอลล์ใหญ่อยู่ใกล้บ้าน แวะร้าน Laduree เป็นร้านอาหารประจำไว้รับแขก ด้วย “เจอกันที่นี่ หาได้ง่าย”

รวมไปถึงการสอบถามเรื่องต่างๆ อย่างเรื่องกลับบ้าน ซึ่งนายทักษิณบอกว่า อยากอยู่กับหลาน หากกลับไปก็ไปเป็นที่ปรึกษาให้ลูกบ้าง สงสารคุณหญิง เราเคยได้อยู่ด้วยกันมา อยู่ทางนี้นานๆ ก็เหงา อยากไปเลี้ยงหลาน แบ่งเบาภาระคุณหญิง ถึงต้องฟิตร่างกายให้ต่ออายุได้อีก 10 ปี ให้ถึง 16 ปีที่หายไป

ปรากฏว่าหลังจากคลิปนี้ถูกเผยแพร่ออกไป ก็พุ่งขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ประเทศไทยทันที

ซึ่งต้องยอมรับว่าแต่ละจังหวะก้าวของนายทักษิณ ชินวัตร ได้รับความสนใจอย่างสูง ผ่านการตระเตรียมอย่างดี

เหมือนกับการเปิดตัวของ “น้องอุ๊งอิ๊ง” นอกจากผ่านที่ประชุมใหญ่พรรคเพื่อไทยในจังหวัดขอนแก่นเมื่อเดือนตุลาคม 2564 ในฐานะประธานนวัตกรรมและการมีส่วนร่วม และต่อมาในฐานะหัวหน้าครอบครัวที่จังหวัดอุดรธานี แล้วยังประเดิมเปิดตัวผ่านช่องทางของ “วู้ดดี้” ซึ่งก็เร้าความสนใจของสังคมได้อย่างมาก

แน่นอน เหล่านี้ล้วนเป็นมาร์เก็ตติ้งการเมืองทั้งสิ้น

เฉกเช่นการปรากฏขึ้นของ “น้องไข่ต้ม” อันเป็น “กิมมิก” และเป็นเงาสะท้อนในท่วงทำนองของ “คนรุ่นใหม่” ของพรรคก้าวไกล

อันเป็นกระบวนท่าที่ถูกวางจังหวะก้าว และวางแผนมาอย่างดี

เพื่อให้เป็นซอฟต์เพาเวอร์ทางการเมืองที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ออกมาเล่นสนุกด้วยตนเอง

ด้วยก่อนจะมาเป็นน้องไข่ต้ม ต้องแข่งขันกับ “หุ่นยนต์น้องแมวสีส้ม” คู่แข่งสำคัญด้วย

โดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางสื่อสารไปยังคนรุ่นใหม่ ให้เข้ามามีส่วนร่วมโดยระบุว่า

“ไม่เคยมีเรื่องใดที่ทำให้พรรคของเรารวมถึงผู้สนับสนุนแตกเป็นสองฝั่งอย่างชัดเจนขนาดนี้มาก่อน ขนาดเรื่องยากๆ ที่พรรคการเมืองควรทำ แต่ทำแล้วอาจจะลำบากในอนาคต เรายังตัดสินใจไปในทางเดียวกันว่ายังไงก็ต้องทำ

แต่เรื่องน้องไข่ต้มกับหุ่นยนต์น้องแมวสีส้มนี่สู้กันหนักจริงๆ ไม่มีใครยอมใคร ผมอยู่ทีมหุ่นยนต์แมว ขณะที่น้องพิพิมอยู่ทีมไข่ต้ม (ไข่ต้มเองก็เป็นแมวสีส้ม)

คุณช่อและคุณธนาธรจากคณะก้าวหน้าก็มาร่วมวง โดยคุณช่อเปิดตัวชัดเจนว่าอยู่ทีมไข่ต้ม ส่วนคุณธนาธรที่จบวิศวะ บริหารบริษัทไทยซัมมิทมาก่อนก็แน่นอนว่าอยู่ทีมหุ่นยนต์แมว

โรมกับไอติมประกาศสนับสนุนหุ่นยนต์แมว ส่วนคุณเท้ง ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ – Natthaphong Ruengpanyawut ทวิตแฮชแท็ก #น้องไข่ต้ม จนครบ 240 ตัวอักษร

แต่เมื่อผลโหวตออกมาแล้ว ทุกอย่างก็เป็นที่สิ้นสุด

โดยผลโหวตจากทั้งทาง FB, Twitter, IG

• ไข่ต้มได้ไปทั้งสิ้น 28,737 คะแนน

• หุ่นยนต์แมวสีส้มได้ไปทั้งสิ้น 13,213 คะแนน

ขอแสดงความยินดีกับ ‘ทีมไข่ต้ม’ ทุกคนครับ

ต่อจากนี้เราคงได้เห็นไข่ต้มกันมากขึ้น”

“มาสค็อต” น้องไข่ต้ม ของพรรคก้าวไกล จึงมิได้กำเนิดมาอย่างไร้ราก

หากแต่ต่อสู้ผ่านสนามที่เป็นจริง และมีคนเข้าร่วมในการโหวตเป็นเรือนหมื่น

 

“น้องไข่ต้ม” แม้มองจากกระบวนการทางการตลาดในหมู่วัยรุ่น มิได้เป็นของใหม่

แต่หากมองผ่านการเคลื่อนไหวของการตลาด “การเมือง” ตรงนี้น่าสนใจ

เพราะนอกจากเป็น “สินค้า” ที่สามารถสร้าง “มูลค่า” ได้แล้ว

ภาพของ “น้องไข่ต้ม” จะเต้นโลดไปพร้อมกับ “ก้าวไกล”

ภายใต้แคมเปญเลือกตั้งใหญ่ “ต้องก้าวไกล ให้ไทยก้าวหน้า” อันแหลมคมกับ 9 ประเด็น

คือ การเมืองไทยก้าวหน้า ราชการไทยก้าวหน้า ทุกจังหวัดไทยก้าวหน้า เศรษฐกิจไทยก้าวหน้า เกษตรไทยก้าวหน้า สวัสดิการไทยก้าวหน้า การศึกษาไทยก้าวหน้า สุขภาพไทยก้าวหน้า และสิ่งแวดล้อมไทยก้าวหน้า

โดยได้มีการเปิดนโยบายการเมืองเป็นอันดับแรก ไปแล้ว

ใน 4 หัวข้อหลักคือ

1) ทหารของประชาชน

ห้ามนายพลเกษียณอายุเป็นรัฐมนตรีจนกว่าจะเกษียณครบ 7 ปี

ยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)

ยกเลิกกฎอัยการศึกในจังหวัดชายแดนใต้

ยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร ลดนายพล ยกเลิกระบบทหารรับใช้

ให้กองทัพคืนธุรกิจของกองทัพ ทั้งสนามกอล์ฟ โรงแรม ม้า มวย ให้กับรัฐบาล

คืนที่ดินของกองทัพให้เป็นที่ทำกินของประชาชน

2) ศาลของประชาชน ปฏิรูปศาล ให้ยึดโยงรับใช้ประชาชน

ให้ผู้พิพากษาต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน

แก้ไขกฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ ได้แก่ กฎหมายอาญา มาตรา 112 มาตรา 116 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

นำรัฐบาลไทยให้สัตยาบันรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ICC เพื่อชำระสะสางคดีที่รัฐกระทำต่อประชาชน เช่น เหตุการณ์สังหารหมู่คนเสื้อแดงและที่ตากใบ

การนิรโทษกรรมคดีการเมือง โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา

พระกาบัตรเลือกตั้งได้-ใช้คำนำหน้าเสรี

3) คนเท่ากัน ด้วยการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ และศักดิ์ศรีของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

จ้างงานคนพิการ 20,000 ตำแหน่ง เพื่อให้ดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี

รับรองความหลากหลายทางเพศอย่างเท่าเทียมกัน

บุคคลเลือกคำนำหน้าได้ตามความสมัครใจ

เพิ่มตำรวจหญิงทุกสถานี เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนในคดีล่วงละเมิดทางเพศ

เพิ่มวันลาคลอดเป็น 180 วัน

ให้พระเลือกตั้งได้เช่นเดียวกับนักบวชศาสนาอื่น

4) รัฐธรรมนูญใหม่ฉบับประชาชน

ปิดช่องการให้คณะรัฐประหารนิรโทษกรรมตัวเอง

เลิก ส.ว.แต่งตั้ง องค์กรอิสระและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ปลดล็อกท้องถิ่นให้ผู้บริหารสูงสุดของทุกจังหวัดมาจากการเลือกตั้ง

มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)

จัดการประชามติเพื่อนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันทีภายใน 100 วันแรกที่เป็นรัฐบาล และจัดทำรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จ

 

ถือเป็นนโยบายชุดแรก ที่ต้องถือว่า “ก้าวหน้า-ก้าวไกล” อย่างมาก

และดูเหมือนจะไม่ประนีประนอมกับระบบเดิมอีกต่อไป

ถือเป็นสายแข็งที่มีโอกาสจะเกิดแรงเสียดทานกับระบบเดิมสูงยิ่ง

ดังนั้น การมีสายอ่อนหรือสายซอฟต์อย่างน้องไข่ต้มเข้ามาร่วมรณรงค์

ก็อาจถือเป็นมาร์เก็ตติ้งทางการเมืองที่ทำให้ดูนุ่มนวลลง

และดึงคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนเพื่อผลักดันนโยบายโหดหินเหล่านี้ให้คืบหน้าไปได้

เหมือนดังที่ครอบครับชินวัตรใช้มาร์เก็ตติ้งการเมืองเพื่อโอบล้อมและเกื้อหนุนให้พรรคเพื่อไทยก้าวสู่จุดหมายอย่างยากเข็น คือแลนด์สไลด์ อย่างที่ต้องการนั่นเอง