ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 ตุลาคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | เมนูข้อมูล |
เผยแพร่ |
เมนูข้อมูล | นายดาต้า
ขับเคลื่อนด้วย ‘ยาเสพติด’
หลังโศกนาฏกรรมเศร้าสลด 38 ศพที่หนองบัวลำภู “ยาเสพติด” ขึ้นมาเป็นประเด็นให้พูดถึงกันจริงจังอีกครั้ง
ก่อนหน้านั้นดูเหมือนว่าค่านิยมต่อยาเสพติดมีแนวโน้มจะผ่อนคลายความตึงเครียดจากความน่าหวาดกังวลไปมาก ไม่เพียงรัฐบาลจะยืนหยัดในนโยบาย “ผู้เสพเป็นผู้ป่วย” และแก้ปัญหา “นักโทษล้นคุก” ด้วยปล่อยผู้ถูกจำคุกในคดียาเสพติดซึ่งมีมากที่สุดแทบจะเรียกได้ว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของนักโทษทั้งหมดออกมา เพื่อแก้ปัญหาหลายๆ อย่างของเรือนจำ
ไม่เพียงเท่านั้น มีอยู่ช่วงหนึ่ง รัฐมนตรีในรัฐบาลนี้ถึงกับเสนอให้ “รัฐบาลผลิตยาบ้าออกขายเสียเอง” ด้วยความคิดว่าจะทำให้เอกชนผู้ลักลอบผลิตหมดแรงจูงใจ เพราะขายแข่งกับรัฐบาลไม่ได้
ซึ่งแม้เป็นนโยบายที่ไม่เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ แต่เป็นจุดเริ่มต้นให้ “ยาบ้า” ราคาถูกลง
และส่งผลให้กระจายไปกว้างขวางจนเกินกำลังที่จะควบคุมในปัจจุบัน
ผลที่ตามมาคือ เกิดคดีที่สะท้อนสำนึกต่ำทรามของผู้เสียสติจากการเสพยาขึ้นมากมาย แทบจะเรียกได้ว่าทำลายความมั่นคงของสถาบันหลักของชีวิตมนุษย์ อย่าง “สถาบันครอบครัว” อย่างน่าเป็นห่วง
“ลูกฆ่าแม่ พ่อฆ่าลูก หลานฆ่ายาย คนไม่รู้จักกันฆ่ากันเป็นผักเป็นปลา” ด้วยจากการเสียสติเพราะเมายา
การคุ้มคลั่งใช้อาวุธจี้ตัวประกันข่มขู่อย่างไรสติเกิดขึ้นวันละหลายครั้ง ทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว กระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเองเห็นเป็นเรื่องปกติ
ความเคยชินกระทั่งเห็นยาเสพติดเป็นเรื่องธรรมที่ชีวิตต้องเกี่ยวข้อง ไปไกลถึงขนาด แก้กฎหมายให้ “เสพกัญชากันได้อย่างเสรี” จนเกิดการต่อต้านกลายเป็นประเด็นทางการเมืองในขณะนี้
หลังเหตุการณ์ 38 ศพที่หนองบัวลำภู “ยาเสพติด” ที่กลายเป็นชีวิตปกติของผู้คนในสังคมไทยไปแล้ว ถูกหยิบยกขึ้นมาให้ทบทวนอีก
คำถามที่น่าสนใจคือ “ที่อ้างว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นดีกับการลดท่าทีแข็งกร้าวกับยาเสพติด อย่างให้ผู้เสพเป็นผู้ป่วยนั้นมาจากความเห็นของประชาชนจริงหรือไม่” หรือเพราะ “ผู้มีอำนาจตัดสินเองโดยอ้างประชาชน”
ผลสำรวจ “นิดาโพล” ล่าสุด เรื่อง “ผู้เสพ คือผู้ป่วย” ดูจะให้คำตอบนั้นแล้ว
ในคำถาม “สาเหตุที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของยาบ้าในปัจจุบัน” ร้อยละ 48.63 เห็นว่าหาซื้อได้ง่าย, ร้อยละ 48.02 กฎหมายอ่อนเกินไป, ร้อยละ 47.86 ราคาถูก, ร้อยละ 31.83 มาตรการปราบปรามไม่มีประสิทธิภาพ, ร้อยละ 30.92 ผู้บังคับใช้กฎหมายหย่อนยาน, ร้อยละ 26.56 สภาพสังคมทำให้คนเสพมากขึ้น, ร้อยละ 26.49 นโยบายของรัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพ, ร้อยละ 31.30 ผู้เสพไม่มีจิตสำนึกเอง, ร้อยละ 20.31 สภาพเศรษฐกิจทำให้คนเสพมากขึ้น
ความเห็นของประชาชนต่อประมวลกฎหมายยาเสพติดที่ยึดหลัก “ผู้เสพคือผู้ป่วย” ร้อยละ 50.15 ไม่เห็นด้วย, ร้อยละ 20.31 เห็นด้วย, ร้อยละ 15.57 ค่อนข้างเห็นด้วย, ร้อยละ 13.89 ไม่ค่อยเห็นด้วย, ร้อยละ 0.08 ไม่ทราบ
หากนำผลสำรวจนี้ไปวิเคราะห์นโยบายรัฐบาลที่ผ่านมา ย่อมยืนยันได้ว่าเป็นเรื่องที่รัฐบาลและข้าราชการคิดเอาเองแล้วอ้างประชาชนทั้งนั้น
เพราะหมดท่าทีจะปราบปรามยาเสพติด หมดหนทางแก้ไขนักโทษล้นคุก การสร้างความคิดที่นำสู่ค่านิยมปล่อยปละละเลยจึงเกิดขึ้นด้วยนโยบายเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่าที่จะจัดการที่ต้นตอ
แต่ถึงวันนี้ที่การเลือกตั้งครั้งใหม่จะเกิดขึ้นในไม่กี่เดือนข้างหน้า และ “ยาเสพติด” กลายเป็นคำถามใหญ่ว่าแต่ละพรรคจะมีนโยบายในการจัดการอย่างไร
ท่ามกลางยุคสมัยที่อำนาจรัฐยังมุ่งไปที่การให้เสรีกับยาเสพติดมากขึ้น
ย่อมท้าทายอย่างยิ่งว่า “พรรคการเมือง” จะเลือกประกาศทางที่เลือกเดินให้ประชาชนรู้ว่าจะเอาอย่างไรกับ “ยาเสพติด”
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นถี่ยิบ และสะเทือนใจมากมายในทุกครั้ง
ย่อมเป็นเงื่อนไขสำคัญในการตัดสินใจเลือก
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022