14 ตุลา 16-รัฐสยบ 6 ตุลา 19-รัฐสยอง กับ 8 ปีที่ ‘รัฐผยอง’ | เหยี่ยวถลาลม

เหยี่ยวถลาลม

 

14 ตุลา 16-รัฐสยบ

6 ตุลา 19-รัฐสยอง

กับ 8 ปีที่ ‘รัฐผยอง’

 

วีรกรรมที่พี่วีรวิชญ์ควงกำปั้นกับลำแข้งประเคนใส่น้องศรีนั้น หลายคนอาจจะเห็นว่า “ใช้ความรุนแรง”

แต่ความรุนแรงที่วีรวิชญ์ลงมือนั้น “โทษทัณฑ์” ตามกฎหมายอาญายังเทียบกันไม่ได้เลยกับการใช้กองกำลังทหารและอาวุธสงครามเข้าก่อรัฐประหารซึ่งมีโทษถึงขั้น “จำคุกตลอดชีวิต” หรือ “ประหารชีวิต”

“วีรวิชญ์” ให้ความหมายกับการกระทำของตัวเองในครั้งนี้ว่า “มาตบไอ้นักร้องให้หยุดร้องเสียที ไม่ใช่ร้องแต่คนเห็นต่าง คำว่าประชาธิปไตย ทุกคนต้องยอมรับความเห็นต่าง”

แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับ “รัฐประหาร” ที่เป็นการใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ หรือยึดอำนาจการปกครอง

การประทุษร้ายของ “วีรวิชญ์” มีโทษแค่เปรียบเทียบปรับ เพียงผู้ถูกกล่าวหารับสารภาพ ก็เปรียบเทียบปรับ จบได้ทันทีที่โรงพัก

ส่วนการประทุษร้ายของคณะรัฐประหารนั้น มีโทษร้ายแรง ทำความเสียหายแก่ประเทศชาติใหญ่หลวง

 

คําถามสำหรับวิญญูชน!

นับตั้งแต่ “คสช.” ที่มี “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นผู้นำทำรัฐประหาร ได้พานพบคำว่า “ผาสุกและปรองดอง” กันบ้างหรือไม่

จะมีก็แต่ “แบ่งแยกแล้วปกครอง”!

แค่คนเห็นต่างก็งัดข้อหาสารพัดมาจับกุม ระบบยุติธรรมปฏิบัติราวกับเป็นอาชญากร

ต่างกับเสรีภาพของคนเสพคนค้ายา จนบ้านเมืองดาษดื่นไปด้วย “กับดัก” จากคนคลั่งคนบ้า

ที่โดดเด่นเป็นผลงานของรัฐประยุทธ์เห็นจะเป็นการกู้หนี้ยืมสินกับการเพิ่มขึ้นของ “คนจน” ดังจะเห็นได้จากผู้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีอยู่ 10 ล้านคนเมื่อปี 2564 พอถึงปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 21.45 ล้านคน ปีเดียวมีคนจนเพิ่มขึ้นอีก 11 ล้านคน

“วีระกร คำประกอบ” ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ พรรคที่สนับสนุนให้ “ประยุทธ์” เป็นนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องจากยุค คสช. ให้สัมภาษณ์ไทยรัฐ หน้า 3 ฉบับจันทร์ที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมาก็ว่า “ลุงตู่ไม่สุงสิงกับนักการเมือง คุยกับ ส.ส.นับครั้งได้เลย เคยได้ยินไหมที่พูดถึงพรรค…ไม่มี ทั้งที่เราคอยยกมือปกป้องท่านตลอดเวลา-เนเจอร์ของ 3 ป.ไม่คลุกคลีกับประชาชน ไม่คลุกคลีกับนักการเมือง”

ระบอบ “3 ป.” จะว่าไปแล้วก็คือเผด็จการทหารจำแลงมาโดยแท้!

 

“เดี่ยว 13” ของโน้ส-อุดม แต้พานิช แค่สะท้อนภาพรัฐภายใต้การนำของ “3 ป.” ที่ครองอำนาจสืบเนื่องมาตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 พร้อมบทสรุปอันรวบรัดว่า…ใจถึง พึ่งไม่ค่อยได้ สร้างปัญหาต่อ ก่อปัญหาใหม่ ยืนยันเรื่องความโปร่งใส แต่ไม่ให้ตรวจสอบ พร้อมชนทุกปัญหาด้วยสติปัญญาที่มี แปดหมื่นสี่คือจำนวนเซลล์สมอง จุดแข็งคือหัว จุดอ่อนคือสิ่งที่อยู่ในนั้น ฉลาดพูด ตอนไม่พูดฉลาดกว่า

ไม่มีข้อใดที่ผิด เว้นแต่จะ “ไม่ถูกใจ” รัฐในระบบเจ้าขุนมูลนายเท่านั้น

หลายคนอาจจะแปลกใจ ทำไมเกือบ 100 ปีมานี้ ที่ไม่เคยเปลี่ยนไปเลยคือ “รัฐราชการ” รัฐเป็นนาย ข้าราชการเป็นใหญ่ ประชาชนเป็นไพร่ ไม่มีเกียรติภูมิอันใดสำหรับความเป็น “พลเมือง”

ทุกเรื่องราวที่เห็นและเป็นอยู่ มีที่มา

“วันนี้” ไม่ใช่ความบังเอิญ

ประวัติศาสตร์ไม่อาจลืม ถ้าหากลืมก็จะเกิดคำถามตามที่ทุกท่านเคยได้ยินว่า “เรามาถึงจุดนี้ได้ยังไง”

ช่วงนี้มีหนังสือประวัติศาสตร์น่าอ่านหลายเล่มจาก “สำนักพิมพ์มติชน”

ที่อยากกล่าวถึงมากๆ และกำลังฮิตติดอันดับขายดี 1 ใน 3 ที่งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (12-23 ตุลาคม) คือหนังสือที่ชื่อว่า “รัฐสยดสยอง” – เขียนโดยภัทรนิษฐ์ สุรรังสรรค์

เป็นงานที่ปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์เรื่อง รัฐและสังคมสยามกับการจัดการความรู้สึก : ระบอบความสยดสยอง พ.ศ.2394-2453

ขอยกตัวอย่าง ในบทที่ 1 ว่าด้วย ความสยดสยองในฐานะระบอบแห่งอารมณ์

“ใน พ.ศ.2325 เมื่อเกิดภาวะระส่ำระสายขึ้นจากการรัฐประหาร ของกลุ่มขุนนางเก่า ณ กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร อันนำไปสู่การสถาปนาอำนาจชุดใหม่ขึ้น ณ กรุงรัตนโกสินทร์อินท์ อโยธยา

พระยาปังกลิมา เจ้าเมืองกำปอด คิดขบถแข็งข้อ ไม่ยอมเป็นข้าขอบขัณฑสีมาเหมือนเดิมอีกต่อไป

พระยาทัศดาซึ่งถูกราชสำนักสยาม ส่งไปเป็นผู้ช่วยป้องกันเมืองพุทไธมาศ หรือเมืองฮาเตียน จึงยกทัพไปจับตัวพระยาปังกลิมา แล้วนำตัวมาถวายแก่พระเจ้าอยู่หัวทั้ง 2 พระองค์ ครั้งนั้นพระยาปังกลิมาถูกสำเร็จโทษด้วยความตาย พระเจ้าอยู่หัวจึ่งดำรัศให้เอาตัวพระยาปังกลิมา ไปตัดเท้าแล้วผูกขึ้นแขวนห้อยสีสะลงมาเบื้องต่ำ กระทำประจารไว้ที่ป่าช้าวัดโพธาราม นอกพระนครด้านตะวันออกจนถึงแก่ความตาย”

ที่ยกมามิใช่หมายฉายภาพให้สยดสยองชวนพองขน แต่จะสะท้อนความจริงประการหนึ่งว่า การใช้ความรุนแรงกำราบปราบปรามเพื่อการปกครองนั้นมีมาตั้งแต่โบราณ

แม้ปัจจุบันจะล่วงสู่ยุคที่เรียกว่า ศิวิไลซ์ แล้ว แต่ “ความรุนแรง” ก็ยังคงดำรงอยู่ เพียงอาจเปลี่ยนรูปแบบวิธีการไป ดังจะเห็นได้จากเลือดประชาชนไม่เคยเหือดแห้งไปจากหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย

 

หนังสืออีกเล่มที่น่าอ่านทบทวนประวัติศาสตร์ “ปลดแอกชาติ จากศักดินา-(ราชา)ชาตินิยม” ของ “ฐนพงศ์ ลือขจรชัย” ฉายภาพให้เห็นชัดๆ ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เป็นต้นมา แต่ก่อนจะถึงยุค “3 ป.” นั้นจะเห็นแบบแผนทางความคิดของผู้ปกครอง

จากเหตุการณ์ “14 ตุลาคม 2516” กระทั่งนำไปสู่การสังหารหมู่ “6 ตุลาคม 2519”

14 ตุลาคม 2516 นักศึกษาประชาชน ไล่ “ถนอม กิตติขจร” ออกนอกประเทศ

แต่ 19 กันยายน 2519 “ถนอม” สามารถห่มเหลืองเป็นสามเณร ลงเครื่องบินแล้วได้รับการอารักขาจนเข้าไปบวชที่วัดบวรนิเวศฯ ได้

อีก 5 วันถัดมา พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่ออกไปติดโปสเตอร์ชักชวนผู้คนประท้วง “พระถนอม” ที่นครปฐมถูกฆ่าแขวนคอ (ภายหลังรัฐบาลรับว่าตำรวจฆ่า)

3 ตุลาคม 2519 นักศึกษาชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

4 ตุลาคม 2519 นักศึกษาแสดงละครบนเวทีมีฉากคน “ถูกแขวนคอ” แต่พอเช้าวันรุ่งขึ้น “หนังสือพิมพ์ดาวสยาม” พาดหัวข่าวบิดเบือนและลงภาพตกแต่ง จากนั้นก็พร้อมเพรียงกันกับสถานีวิทยุทหารปลุกระดมเกณฑ์มวลชนและเจ้าหน้าที่เข้าสังหารหมู่เด็กๆ นักเรียน นักศึกษา ประชาชนอย่างสุดสยองในวันที่ 6 ตุลาคม 2519

ฆ่าทุกครั้ง “ผู้ถูกฆ่า” คือศัตรูของชาติและสถาบัน!

ถึงสมัยนี้ก็ยังคงคิดศัพท์ใหม่ๆ ขึ้นมาปลุกระดมสร้างความเกลียดชังให้กับคนที่เห็นต่าง

โลกเปลี่ยน แต่รัฐไทยไม่เคยเปลี่ยน!?!!