ซอฟต์เพาเวอร์ | ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ : หนุ่มเมืองจันท์

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ซอฟต์เพาเวอร์

 

เหมือนได้กลับ “บ้านเก่า” ที่คุ้นเคย

งานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 27 กลับมาจัดที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์อีกครั้งหนึ่ง

ก่อนหน้านี้งานสัปดาห์หนังสือและงานมหกรรมหนังสือ 2 งานใหญ่ของวงการหนังสือปักหลักอยู่ที่ศูนย์สิริกิติ์มายาวนาน

นานจนสำนักพิมพ์ต่างๆ และคนซื้อหนังสือคุ้นเคยกับสถานที่จนแทบหลับตาเดินได้

คนอ่านรู้ว่าสำนักพิมพ์ใหญ่อยู่ตรงไหน หนังสือเก่าอยู่ตรงไหน

แต่เมื่อ 2 ปีก่อน ศูนย์สิริกิติ์ปรับปรุงสถานที่ใหม่

งานหนังสือก็ต้องย้ายไปที่อิมแพค เมืองทองธานี

เพียงแค่เปลี่ยนที่ ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป

งานที่เคยคึกคัก เนืองแน่นไปด้วยหนอนหนังสือ กลายเป็นงานที่เงียบเหงา

น้องที่สำนักพิมพ์บอกว่าช่วงกลางวันของวันธรรมดา สามารถเตะตะกร้อเล่นได้

พื้นที่ว่างและคนว่างงานขนาดนั้น

ครั้งล่าสุดย้ายมาที่สถานีกลางบางซื่อ

ค่อยยังชั่วหน่อย

ตอนนั้นก็มีการวิเคราะห์กันว่าเป็นเพราะสถานที่จัดที่เดินทางลำบาก ไม่มีรถไฟฟ้าเข้าถึง หรือว่ากระแสหนังสือตกลง

…คนไม่อ่านหนังสือแล้ว

เป็น “คำถาม” ที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้

จนเมื่อศูนย์สิริกิติ์สร้างเสร็จ และงานมหกรรมหนังสือระดับชาติย้ายกลับมาที่เก่า

“คำตอบ” ก็ชัดเจนว่าหนังสือยังไม่ตาย คนยังอ่านหนังสืออยู่

เพราะตั้งแต่วันเปิดงานจนถึงวันนี้ บรรยากาศเก่าๆ กลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง

ผู้บริหารศูนย์สิริกิติ์เคยบอกว่าในงานที่จัดมาทั้งหมด งานหนังสือถือเป็นงานที่มีคนแน่นที่สุด

แน่นมากครับ

แน่นระดับยืนเฉยๆ ก็ไหลไปได้เลย

ผมไปเซ็นชื่อที่บูธสำนักพิมพ์มติชนวันเสาร์ที่ 15 ตุลาคม และแวบไปอีกครั้งเพื่อซื้อหนังสือวันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม

วันเสาร์ไม่ต้องห่วงครับ แน่นมาก

วันจันทร์แม้จะเป็นวันทำงาน แต่คนเดินงานก็ถือว่าคึกคักทีเดียว

ทั้งคนทำหนังสือและคนอ่านหนังสือดูแล้วมีความสุข

ต้องขอบคุณศูนย์สิริกิติ์ที่ทำให้มั่นใจว่า “หนังสือยังไม่ตาย”

ขอบคุณคร้าบ…

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์โฉมใหม่ใหญ่มาก

บูธหนังสือที่เคยต้องกระจายไปทั่วศูนย์ประชุมเพราะแพลนนารี่ ฮอลล์ ห้องเดียวจุไม่หมด

แต่ศูนย์สิริกิติ์ใหม่สามารถรวมทุกบูธอยู่ในฮอลล์เดียวกันได้

เดินสบายเลยครับ

งานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งนี้แตกต่างจากครั้งอื่น ตรงที่ยอมให้พรรคการเมืองมาเปิดบูธได้

ผมถือว่าเป็นการเปิดกว้างทางความคิดที่งดงาม

เป็นการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยอีกทางหนึ่ง

ให้พรรคการเมืองอยู่ใกล้กับประชาชน

ครั้งก่อน พรรคการเมืองก็อยากมาจัดบูธในงาน แต่เจ้าของพื้นที่จัดสถานีกลางบางซื่อไม่ยอม

มาครั้งนี้ ไม่มีปัญหา

พรรคการเมืองที่มาออกบูธมี 2 พรรค คือ พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล

พรรคเพื่อไทย ดึงกลุ่มแคร์ คิด-เคลื่อน-ไทย มาด้วย

ส่วนพรรคก้าวไกล ก็มีบูธของคณะก้าวหน้ามาเปิดขายหนังสือ

บูธของ 2 พรรคการเมืองเด่นมาก

นอกจากจะจัดบูธได้สวยแล้ว วิธีคิดที่ซ่อนอยู่ในบูธก็น่าสนใจ

พรรคเพื่อไทยมีพื้นที่ให้เขียนเรื่อง “ความฝัน”

ฝัน ปัง รวย

จัดมุมหนึ่งเป็นเหมือนห้องน้ำ มีโถชักโครก และกระดาษชำระขนาดใหญ่

บนกระดาษชำระ ก็เขียนข้อความให้คนอ่านตั้งคำถามถึงสภาพสังคมไทยในปัจจุบัน

เห็นทั้ง “ปัญหา” และ “โอกาส” ที่ซ่อนอยู่

อีกมุมหนึ่ง แขวนเสื้อยืดขนาดยักษ์ มีข้อความคล้ายๆ กัน

เป็นรูปแบบการจัดบูธที่น่าสนใจ

ในบูธมีหนังสือเล่มหนึ่งที่ถือเป็น “ไฮไลต์” ของพรรคเพื่อไทย

นั่นคือ หนังสือ ‘Thaksin Shinnawatra Theory and Thought’ บทสัมภาษณ์คุณทักษิณ ชินวัตร หรือ “โทนี่ วู้ดซัม” เกี่ยวกับวิธีคิดต่างๆ

พร้อมกับบทสัมภาษณ์คนในครอบครัว และคนที่ทำงานด้วย

สำหรับ “คอการเมือง” หนังสือเล่มนี้พลาดไม่ได้จริงๆ

นอกจากนั้น ยังเปิดให้คุณทักษิณเซ็นชื่อให้กับแฟนหนังสือสดๆ จากดูไบ

โชว์ความล้ำอีกระดับ

ส่วนบูธพรรคก้าวไกลก็น่าสนใจ เขาทำบูธเป็นกล่องสีส้มติดสติ๊กเกอร์สีดำแผ่นเล็กๆ จนเหมือนเป็นกล่องสีดำ

กล่องใบนี้เหมือนกับ “สังคมไทย”

เขาเชิญชวนให้คนดึงสติ๊กเกอร์สีดำออก

ถ้าดึงออกจะพบคำที่สะท้อนปัญหาระดับโครงสร้าง

สติ๊กเกอร์เหนียวมาก

เขาเปรียบเปรยว่าเหมือนกับความยากลำบากของปัญหา

ขนาดแค่จะทำให้ทุกอย่าง “โปร่งใส” มันยังยากลำบากมาก

“แต่ถ้าเราช่วยกันคนละไม้คนละมือ ดึงสติ๊กเกอร์สีดำออกมา เราจะพบกับความโปร่งใส”

ตอนที่ผมไปงาน สติ๊กเกอร์สีดำถูกคนดึงออกหมดแล้ว

ในห้องสีส้ม มีโต๊ะอาหารวางอยู่ เพื่อให้คนเข้าไปสนทนาเรื่องการเมืองกับ ส.ส.พรรคก้าวไกล

ในห้องมีสัญลักษณ์มากมาย ทั้งเก้าอี้ที่กันไว้สำหรับบุคคนที่สูญหาย เหยือกน้ำที่บรรจุน้ำประปาจาก อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด ที่ อบต.ของกลุ่มก้าวหน้าทำสำเร็จภายใน 99 วัน ฯลฯ

คิดละเอียดทุกจุด

2 วันที่ผมไปงาน 2 บูธนี้มีคนตลอด

ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาว

น่าดีใจมาก

งานนี้ผมไม่ได้ออกหนังสือเล่มใหม่

แต่มีโปรแกรมไปเซ็นชื่อ 2 วัน

วันแรกที่ไป คนต่อคิวแบบสบายๆ มีเวลาคุยกับคนอ่าน

บางคนที่เจอกันประจำ แต่ขาดหายไปตอนที่งานหนังสือย้ายสถานที่จัดก็ได้คุยกันยาว

ไม่เหมือนตอนที่ออกหนังสือเล่มใหม่ ที่คิวขอลายเซ็นจะค่อนข้างยาว

คุยนานก็เกรงใจคนต่อคิว

ไปเซ็นชื่อครั้งนี้ที่ประทับใจมาก คือ มีน้องคนหนึ่งมาขอบคุณผม

ขอบคุณสำหรับหนังสือ “จะข้ามมหาสมุทร อย่าหันกลับไปมองชายฝั่ง”

น้องคนนี้บอกว่าหนังสือเล่มนี้ช่วยชีวิตของเขา

ช่วงนั้นกำลังตกงาน และมีปัญหาครอบครัว

อ่านหนังสือเล่มนี้ทำให้เขามีกำลังใจและลุกขึ้นสู้อีกครั้ง

มองไปข้างหน้า ไม่สนใจอดีตที่ผ่านไปแล้ว

ตอนนี้เขารอดแล้ว

วันนี้อยากมาขอบคุณผม

ผมรีบขอบคุณเขากลับ

เพราะนี่คือ สิ่งที่มีค่ามากที่สุดของ “นักเขียน” •

 

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ | หนุ่มเมืองจันท์

www.facebook.com/boycitychanFC