เทศมองไทย : มรดกของ “พ่อ” ฝากไว้ให้แผ่นดิน

7 ทศวรรษ ที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรง “ครองแผ่นดินโดยธรรม” นั้น ยาวนานเพียงพอต่อการที่พสกนิกรปวงชนชาวไทยทั้งหลายจะได้ตระหนัก ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณทั้งปวง ที่ทรงเอื้ออาทรทุกผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาผู้ยากไร้ ขาดแคลน ในถิ่นทุรกันดารทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ

ทั้งยังเนิ่นนานพอที่จะทำให้คนต่างชาติมากหน้าหลายตา ที่เข้ามาพำนักในเมืองไทยสามารถทำความเข้าใจได้ถึง “ความพิเศษ” ของความเอื้ออารีที่ทรงปฏิบัติเป็นพระราชจริยวัตรต่อผู้คนเหล่านั้น

เดนิส เกรย์ แห่งสำนักข่าวเอพี คือหนึ่งในชาวต่างชาติจำนวนมากมายเหล่านั้น

 

เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในวาระการประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ เดนิส เกรย์ เดินทางไปยังบ้านห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน อีกครั้ง สะท้อนความรู้สึกของชาวกะเหรี่ยง เผ่าปกากะญอ 72 ครัวเรือนที่นั่นออกมาในข้อเขียนของตนเมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อแสดงให้เห็นถึง “ตัวอย่าง” ของการทรงงานเพื่อประชาชนของพระองค์ให้เป็นที่ประจักษ์ออกไปทั่วโลก

เป็นหนึ่งในตัวอย่างรูปธรรมจำนวนมากมายที่บรรลุผลสำเร็จให้เห็นได้ชัดเจนจากพระราชดำริ เป็นหนึ่งในสิ่งซึ่ง เดนิส เกรย์ เรียกว่าเป็น “มรดกตกทอด” ของพระองค์ซึ่งทรงฝากเอาไว้ให้ลูกหลานคนไทยทั้งหลาย

และเป็นหนึ่งในข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์สำหรับบุคคลต่างชาติให้เข้าใจได้ว่า เพราะเหตุใดชาวไทยจึงเทิดทูน เคารพรักพระองค์เสมือน “พ่อ” ของตนเอง

 

เกรย์บอกว่า ครึ่งศตวรรษผ่านไป องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จสู่สวรรคาลัยไปแล้ว ชาวห้วยห้อมทั้งหลายยังคงไม่ลืมวันที่เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งไปยังหุบเขาห่างไกล ยากจนแร้นแค้น ตอนเหนือของประเทศในครั้งนั้น

การเสด็จพระราชดำเนินซึ่งเปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเขามาตราบจนทุกวันนี้

พวกเขารำลึกความแต่หนหลังให้เกรย์ฟังว่า ทรงมีรับสั่งให้ตัดถนนเข้าสู่หมู่บ้าน แทนที่ทางเดินเท้าคดเคี้ยวซึ่งพวกเขาต้องใช้เวลานานกว่า 8 ชั่วโมงเพื่อบรรลุถึงถนนหนทางที่ใกล้ที่สุด ต่อด้วยไฟฟ้าส่องสว่าง ทรงพระราชทานพันธุ์กาแฟ ซึ่งไม่ช้าไม่นานก็ขยายครอบคลุมพื้นที่เข้าไปแทนที่ฝิ่นที่พวกตนเคยอาศัยยังชีพ กาแฟพระราชทานดังกล่าวผลิดอกออกผล ให้ผลผลิตคุณภาพสูงชนิดที่มีร้านกาแฟระดับโลกอย่าง “สตาร์บัคส์” เป็นลูกค้า “ขาประจำ”

นอกจากนั้น ยังทรงพระราชทานความช่วยเหลือจนชาวห้วยห้อมสามารถเพาะเลี้ยงแกะ ถักทอขนแกะ กลายเป็นแหล่งผลิตที่หาได้ยากเย็นยิ่งในเมืองร้อนอย่างประเทศไทย

ด้วยสำนึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ไม่ว่าจะลำบากยุ่งยากเพียงใด กำชัย สวรรค์กิจสมบูรณ์ จำต้องออกเดินทางเป็นระยะทางกว่า 750 กิโลเมตร มายังพระบรมมหาราชวัง รอคอยคิวอย่างอดทนไม่น้อยกว่า 13 ชั่วโมง เพื่อกราบศิระกราน ณ เบื้องพระบรมศพ ส่งเสด็จพระองค์สู่สรวงสวรรค์

ในฐานะเป็นตัวแทนของชาวห้วยห้อม 72 ครัวเรือนที่ตกอยู่ในสภาพแทบอดตายในครั้งนั้น พลิกผันมาเป็นครอบครัวมีอันจะกินในวันนี้

 

เดนิส เกรย์ ยังเขียนถึงคำบอกเล่าของ ริชาร์ด มานน์ ชายชาวอเมริกัน อดีตหัวหน้าโครงการปลูกพืชทดแทนฝิ่นในพระราชดำริ ซึ่งโดยเสด็จพระราชดำเนินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในครั้งนั้นด้วย

ในบันทึกความทรงจำของมานน์ ซึ่งยังไม่มีการตีพิมพ์ เล่าว่า ชาวปกากะญอบ้านห้วยห้อม เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ตามคำชวนของมิชชันนารีอเมริกันที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือก่อนหน้าที่พระองค์จะเสด็จฯ หลังจากนั้น เมื่อตนเดินทางกลับไปที่นั่นทุกครั้ง ชาวบ้านต้องพูดถึงการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนั้นให้รับฟังทุกครั้งไป

“ไม่เคยมีวันไหนผ่านไปโดยที่ไม่มีผู้เฒ่าผู้แก่คนใดคนหนึ่งจะไม่รำลึกถึงการเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนั้นให้ผมฟัง”

ริชาร์ด มานน์ บันทึกถึงการเสด็จพระราชดำเนินของรัชกาลที่ 9 ในครั้งนั้นไว้ว่า ชาวห้วยห้อมใช้โบสถ์คริสต์เป็นสถานที่รับเสด็จ คณะนักร้องประสานเสียงชาวกะเหรี่ยงร้องเพลงสวด 4 ท่อนถวายพระองค์ เขาเล่าด้วยว่า ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านกราบบังคมทูลพระองค์อย่างตรงไปตรงมาว่าหมู่บ้านต้องการอะไรบ้าง ถนน โรงเรียน คลินิกแพทย์ และไฟฟ้า

“ทรงพระราชทานให้ตามคำขอนั้นทั้งหมด” มานน์ระบุไว้เช่นนั้น

เดนิส เกรย์ สรุปความเอาไว้ตอนหนึ่ง ดังนี้

“ประดาคนไทยที่เกิดในรัชสมัย 70 ปีของพระองค์ ซึ่งยังคงมีชีวิตอยู่จนถึงทุกวันนี้ รู้จักนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 30 คน มีการรัฐประหารต่อเนื่องกันมาหลายครั้ง รัฐธรรมนูญเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง เศรษฐกิจขึ้นๆ ลงๆ หลายรอบ แต่ตราบจนกระทั่งถึงปีที่ผ่านมา พวกเขารู้จักพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว กษัตริย์ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องเทิดทูนว่าทรงเป็นผู้นำพาประเทศชาติฝ่าฟันวิกฤตการณ์ต่างๆ และทรงเป็นผู้นำอำนวยให้เกิดวิวัฒนาการที่ทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนจากสังคมชนบทยากจนให้กลายเป็นสังคมทันสมัยที่มีขนาดเศรษฐกิจมูลค่า 4,000 ล้านดอลลาร์…

“หลายคนจำหลักภาพของพระองค์อยู่ในใจตั้งแต่อายุยังน้อย พระองค์กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของพวกเขา”