นิ้วกลม : ขงจื่อ… ‘หากไม่อยู่ร่วมกับมนุษย์แล้วจะไปอยู่กับใคร’ (1)

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

อาจนับเป็นโชคร้ายหากเราต้องมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาที่บ้านเมืองเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ผู้คนอารมณ์รุนแรง เกิดศึกสงครามภายในเป็นระยะ เงยหน้ามองฟ้าเห็นเพียงหมอกควันห่มคลุม มองไม่เห็นความหวังว่าจะออกไปจากสถานการณ์เช่นนี้ได้อย่างไร

บางครั้ง อยากบ่ายหน้าหนีไปเสียจากสังคม เพราะมองไม่เห็นว่าจะเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ไปในทางที่ดีขึ้นได้อย่างไร สิ่งต่างๆ คงวนเวียนอยู่เช่นนี้ไปอีกนาน จะว่าไปสถานการณ์ในบางสังคมอาจทำให้ผู้คนรู้สึกแบบนี้กันมากมาย ไม่ต่างไปจากสังคมจีนในยุคชุนชิว

เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน สังคมก็เปลี่ยนแปลง


ในสมัยราชวงศ์โจวตะวันออกมีการใช้เหล็กทำเครื่องมือทางการเกษตรอย่างแพร่หลาย ผลผลิตมากขึ้น อาหารสมบูรณ์ เกิดนครรัฐน้อยใหญ่ ที่ดินที่เคยผูกขาดโดยขุนนางในระบอบศักดินาเริ่มกระจายไปสู่มือเกษตรกรรายย่อย โครงสร้างสังคมเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่

ชนชั้นพ่อค้าและชาวนาเริ่มมีบทบาทมากขึ้น อำนาจตระกูลใหญ่ที่เคยผูกขาดเริ่มสั่นคลอน ถึงตอนนี้ก็ไม่แปลกที่จะเกิดความวุ่นวายซึ่งนำไปสู่ความแตกแยกยาวนาน

ในช่วงเวลา 300 ปี นครรัฐเหล่านี้ทำสงครามกันถึง 276 ครั้ง ผู้คนล้มตายเหมือนใบไม้ร่วง กระทั่งได้ชื่อเรียกยุคนี้ว่า “ชุนชิว” หรือ ฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง

จากสองร้อยนครรัฐเล็กๆ ถูกผนึกรวมเป็นเจ็ดรัฐใหญ่ ยังคงต่อสู้แย่งชิงต่อไปในยุคจั้นกั๋ว กระทั่งรัฐฉินผนวกรัฐต่างๆ เข้าด้วยกันจนสำเร็จ สถาปนาราชวงศ์ฉิน รวมแผ่นดินเป็นหนึ่งอีกครั้ง

สิริรวมยุคชุนชิวจั้นกั๋วกินเวลากว่า 550 ปี เป็น 550 ปีแห่งการแย่งชิงอำนาจ

ลองจินตนาการว่าถ้าเรามีชีวิตในช่วงสมัยนั้น เราจะปฏิบัติตนอย่างไร

หมอกควันแห่งสงครามและความขัดแย้งอาจทำให้เลิกสนใจสังคมและมนุษย์ หลบเข้าถ้ำหรือปลูกผักปลูกหญ้าไปตามประสา เพราะมองไม่เห็นความหวังอันใด

กระนั้นก็ยังมีผู้คนจำนวนหนึ่งเลือกปฏิบัติตนอีกแบบ

พวกเขาครุ่นคิดตั้งคำถามว่า แท้จริงแล้วเราต้องการสังคมแบบใด เราต้องดำรงชีวิตแบบไหน ต้องมีการปกครองที่มีหน้าตาอย่างไร จึงอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสันติ

 

สงครามและความขัดแย้งก่อให้เกิดปัญญาชน ผู้ตั้งคำถามและพยายามหาคำตอบว่า “สังคมที่ดี” หรือ “ชีวิตที่ดี” นั้นเป็นอย่างไร ในยุคแห่งความสับสนป่วนปั่นจึงเกิดนักคิดมากมายขึ้นมาในเวลาไล่เลี่ยกัน เหลาจื่อ ขงจื่อ เมิ่งจื่อ จวงจื่อ ผู้แสวงหาคำตอบอันนำมาซึ่งความหวัง

ท่ามกลางหมอกควันแห่งปัญหา ปัญญายังคงส่องสว่างนำทางสังคม

เมื่อความหวังที่จะอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขริบหรี่ลงเรื่อยๆ ผู้คนในสังคมจึงแบ่งออกเป็นสองลักษณะใหญ่ๆ กลุ่มแรก คือกลุ่มที่เข้าร่วมฉกชิงอำนาจในระดับต่างๆ กลุ่มที่สอง คือกลุ่มที่หลีกลี้ปลีกตนออกจากสังคมไปอยู่ตามชนบท ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมืองอีกต่อไป เพราะสิ้นแล้วซึ่งความหวัง

ทั้งสองกลุ่มต่างคาดหวังว่าจะได้ใช้ชีวิตอย่างเป็นสุข ผู้เข้าชิงอำนาจก็หวังว่าถ้าปราบอีกฝ่ายได้ราบคาบก็น่าจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่สงบสุข

ฝ่ายหลังก็เบื่อหน่ายในความขัดแย้ง ขอไปมีชีวิตอย่างสุขสงบในมุมเล็กๆ ส่วนตัวดีกว่า

 

ขงจื่อเห็นว่าทั้งสองฝ่ายยิ่งทำให้สังคมเลวร้ายลงทั้งคู่

พวกแรกก็มัวเมาในอำนาจ จะยิ่งเพิ่มความเลวร้ายและสับสนให้สังคมแตกแยกมากขึ้นเรื่อยๆ จากความชิงชังที่ตนเองประเคนเข้าใส่สังคมเพื่อหาพวกพ้อง ขณะที่ฝ่ายหลังก็ท้อแท้ยอมแพ้เร็วเกินไป เลือกทางออกง่ายๆ สำหรับตนเองและครอบครัว แต่กลับปล่อยให้โลกเสื่อมทรามไปตามสภาพ

เรื่องน่าคิดก็คือ การปลีกวิเวกไปอยู่ห่างไกลสังคมนั้นจำเป็นต้องหา “คุณค่า” บางอย่างเพื่อยึดถือในการจะมีชีวิตอยู่ต่อไป เมื่อสิ้นหวังกับสังคมแล้ว เราจะฉวยคว้าสิ่งใดมาเป็นหลักของชีวิต เพราะมนุษย์ไม่สามารถอยู่ได้ด้วยอาหารที่หล่อเลี้ยงร่างกายเท่านั้น มนุษย์ยังต้องตอบตัวเองด้วยว่า-จะมีชีวิตอยู่ไปทำไม หากไม่มีคุณค่าใดๆ เหลืออยู่ ต่อให้มีอาหารเลี้ยงร่างกาย สุดท้ายก็อาจรู้สึกว่า-โลกนี้ไม่มีฉันก็ได้ เป็นตายเท่ากัน จะหายใจต่อไปทำไม นำมาซึ่งอาการซึมเศร้า หดหู่ และรู้สึกว่าการมีชีวิตอยู่ช่างไร้ความหมาย

เพราะการตัดตัวเองออกจากโลกและสังคมก็คือการตัดคุณค่าของตัวเองที่เชื่อมโยงกับสิ่งอื่นๆ และคนอื่นๆ ในสังคมไปพร้อมกัน

เรายังต้องการความรู้สึกว่าชีวิตเรามีค่าและความหมายเพื่อหายใจต่อไป

 

สังคมก็สับปะรังเค จะถอนตัวออกจากสังคมก็ไม่ได้ แล้วจะเอายังไงต่อ

ขงจื่อชี้ว่า ที่เรารู้สึกเป็นทุกข์กับสังคมและโลกแวดล้อมก็เป็นเพราะโลกกำลังอยู่ในสภาวะไร้เต๋า หรือขาดความกลมกลืนตามธรรมชาติ จึงเกิดความขัดแย้งในทุกมิติ ตั้งแต่มนุษย์กับตนเอง มนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับจักรวาล

ที่เรามาถึงจุดนี้ มันต้องมีอะไรผิดสักอย่างแน่ๆ

ว่าแต่-อะไรล่ะที่ผิด

ไม่นานมานี้ น้องชายคนหนึ่งพูดขึ้นมาระหว่างที่เราสนทนากัน “ผมว่าทุกวันนี้คนมันบ้านะพี่ เราชอบใช้เหตุผลในเรื่องที่ควรใช้อารมณ์ และชอบใช้อารมณ์ในเรื่องที่ควรใช้เหตุผล”

ฟังแล้วผมว่าน่าฉุกคิด ไม่ได้เห็นด้วยกับน้องทั้งหมด เพราะผมคิดว่าไม่มีเรื่องใดควรใช้สิ่งใดสิ่งหนึ่งในการตัดสินหรือพูดคุยกัน

แต่คำพูดของน้องทำให้ผมเหมือนถูกกระตุกเตือนว่าบางเรื่องผมใช้เหตุผลเสียจนลืมอารมณ์ไปเสียสนิท

ทำให้ผมมองบางสิ่งแบบไร้ชีวิตและไร้ธรรมชาติของความเป็นมนุษย์

อย่างเรื่องการเมือง บ่อยครั้งที่เห็นผู้คนเถียงกันด้วยเหตุผลและหลักการ ยึดถือกันอย่างแข็งเกร็งแน่นิ่ง กระทั่งผลักไปสู่อารมณ์รุนแรงต่อกันในท้ายที่สุด

คำถามก็คือในเรื่องที่เราเถียงกัน ถึงที่สุดแล้วมันมีธรรมชาติของความเป็นมนุษย์อยู่ในนั้นด้วยใช่ไหม

และเราอาจลืมใส่สิ่งนี้เข้าไปตั้งแต่ตอนเริ่มต้นคิดสมการเพื่อหาคำตอบ

 

ขงจื่อเสนอว่าการปรับสภาพระหว่างมนุษย์กับตนเอง มนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับจักรวาลเพื่อให้สมดุลกลมกลืนกับเต๋านั้นต้องคำนึงถึงอารมณ์ด้วย

ปรัชญาตะวันตกอาจสนใจตอบคำถามว่า “อะไรคือความจริง” แต่ปรัชญาจีนนั้นสนใจตอบคำถามว่า “มรรควิธีอยู่หนใด”

จุดสนใจจึงอยู่ที่การพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์

หากเราถกเถียงกันเกี่ยวกับ “อุดมคติ” บางอย่าง แต่กลับละเลยความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ก็เหมือนเราถกกันเรื่องสิ่งดีงามที่ควรจะเป็น แต่กลับเดินอยู่บนเส้นทางที่ตรงข้ามกับอุดมคติที่คิดฝัน เช่น เราต้องการสังคมที่ดี อยากเห็นผู้คนอยู่ด้วยกันอย่างสงบสันติ แต่เรากลับเดินไปสู่อุดมคตินั้นด้วยความรุนแรงและสงครามของถ้อยคำแห่งความเกลียดชัง

คุณูปการของขงจื่ออาจเป็นสิ่งนี้-การให้ความสำคัญกับอารมณ์และความรู้สึก อันนำมาซึ่งความเหมาะสมในการแสดงออกซึ่งกันและกันของผู้คนในสังคม

ความเหมาะสมในการปฏิบัติต่อกันเป็นสิ่งชวนคิด ว่าแค่ไหน อย่างไร จึงเหมาะสม

ความเหมาะสมที่ว่านี้อาจสามารถคิดต่อไปถึงคำพูดใหญ่ๆ ที่ถูกหยิบขึ้นมาอ้างถึงอยู่บ่อยๆ อย่างคำว่าเสรีภาพ หน้าที่ สิทธิ มารยาท ระเบียบ ประเพณี ความสงบเรียบร้อย ว่าสิ่งเหล่านี้มีเส้นแบ่งที่ตรงไหน หรือถ้าต้องปะทะกัน เราควรสนทนากันด้วย “อารมณ์” แบบใด สำนึกแบบใด

 

ขงจื่อนับเป็นคุรุที่มีความหวังต่อโลกใบนี้ยิ่งนัก ท่ามกลางสังคมที่ชวนสลดหดหู่ สับสนวุ่นวายไปทั้งแผ่นดิน แทนที่จะหลีกลี้ ขงจื่อกลับยืนหยัดที่จะคิดใคร่ครวญและเสนอปัญญาเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น หาวิธีอยู่ร่วมกันที่ดีให้จงได้ ด้วยความคิดว่าหาไม่แล้วมนุษย์เองก็ต้องไปอยู่กับนกและสัตว์ป่า ซึ่งมนุษย์ไม่สามารถอยู่ร่วมด้วยได้

“หากไม่อยู่ร่วมกับมนุษย์แล้วจะให้เราไปอยู่กับใคร”

ด้วยเหตุนี้ขงจื่อจึงพยายามเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้น วิญญูชนผู้มีมนุษยธรรมสำหรับเขาจึงเป็นมนุษย์ที่ไม่รังเกียจมนุษย์ เข้าหาสมาคมกับคนที่แตกต่างหลากหลาย ให้คนอื่นหล่อหลอมเขา และให้คุณธรรมของเขาหล่อหลอมคนอื่น

วิญญูชนอันเป็นตัวแทนชีวิตที่ดีจึงเริ่มต้นที่การให้ความสำคัญแก่อารมณ์ อารมณ์ที่ว่านั้นต้องได้รับการกล่อมเกลาให้เหมาะสมพองาม มีมนุษยธรรมอันได้แก่การรักมนุษย์ มีความเอื้ออาทรห่วงใยทั้งคนใกล้ตัวและคนแปลกหน้า ซึ่งคุณธรรมนี้ควรมีอยู่ในตัวผู้ปกครองด้วยเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ แทนที่จะลี้โลก ขงจื่อจึงอยู่กับโลกเพื่อเปลี่ยนโลก

ทว่า-ความเหมาะสมที่ว่านั้นคืออะไร

ขงจื่อจะกลับมาบอกในสัปดาห์หน้าครับ

 


หนังสือประกอบการเขียน
ปัญญา ชา จีน โดย ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา
อารมณ์กับชีวิตที่ดีในปรัชญาขงจื่อ โดย สุวรรณา สถาอานันท์