ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 - 30 มิถุนายน 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | Cool Tech |
ผู้เขียน | จิตต์สุภา ฉิน |
เผยแพร่ |
เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หลังจากปฏิบัติภารกิจรายงานข่าวในซานฟรานซิสโกเสร็จ ซู่ชิงก็ลาพักร้อนและบินไปเยี่ยมโฮสต์แฟมิลี่ในมลรัฐนิวยอร์ก ทุอย่างผ่านพ้นไปด้วยดีจนถึงวันกลับ ซู่ชิงจองไฟลท์ทั้งหมด 4 ไฟลท์ ให้บินต่อกันรวดเดียวถึงกรุงเทพ แต่เคราะห์ร้ายแบบไม่คาดคิด จู่ๆ ไฟลท์แรกถูกยกเลิกกะทันหัน ทำให้ซู่ชิงพลาดอีก 3 ไฟลท์ที่เหลือทั้งหมด
ซู่ชิงรีบกดโทรศัพท์หาคอลล์เซ็นเตอร์ของสายการบินด้วยความตื่นตระหนก แต่สิ่งที่ทำให้หัวเสียมากก็คือการเจอกับระบบอัตโนมัติที่เราสามารถพูดโต้ตอบด้วยได้ ถึงจะยอมรับว่ามันเก่งกว่าที่คิดไว้แต่ด้วยสถานการณ์เร่งรีบแบบนี้ก็ทำให้รำคาญมันสุดกำลัง จนต้องตะโกนว่า Human! Let me talk to human now! (ให้ฉันคุยกับมนุษย์เดี๋ยวนี้!) ถึงจะได้ต่อสายตรงไปคุยกับพนักงานที่ช่วยแก้ไขปัญหาและตกลงร่วมกันเพื่อหาไฟลท์ใหม่ที่เหมาะสมที่สุด
เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ซู่ชิงตั้งคำถามกับตัวเองว่า ตกลงแล้วเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์หรือหุ่นยนต์จะมาทำงานแทนมนุษย์ได้จริงหรือไม่ หรือจะตั้งคำถามให้ดราม่ากว่านี้ก็คือ ในที่สุดแล้วหุ่นยนต์จะมา “แย่งงาน” มนุษย์หรือเปล่า
เราทุกคนคงเคยผ่านตาบทความหรือรายงานข่าวทางโทรทัศน์ที่ทำให้เราร้อนๆ หนาวๆ กันมาบ้างแล้วว่าในอนาคตข้างหน้าหุ่นยนต์จะมาแย่งงานมนุษย์ สำนักข่าวบีบีซีเคยทำซีรีส์รายงานเรื่องนี้อย่างจริงจัง เว็บเพจ Will a robot take your job? ของบีบีซีเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ได้ลองกรอกอาชีพของตัวเองลงไปเพื่อดูว่ามีโอกาสมากน้อยแค่ไหนที่หุ่นยนต์จะมาทำหน้าที่นั้นแทนคุณได้
ซู่ชิงลองกรอกคำว่า “พรีเซ็นเตอร์” เข้าไป ซึ่งก็ถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่เดียวกับนักแสดงและนักให้ความบันเทิง ผลปรากฏว่าโอกาสที่จะถูกหุ่นยนต์แย่งงานนั้นอยู่ที่ 37% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำและยังหายใจหายคอได้คล่องอยู่ และเมื่อลองกรอกอาชีพโอเปอเรเตอร์ไปดูบ้างผลก็ปรากฏว่าโอกาสที่จะถูกหุ่นยนต์แย่งงานนั้นมีอยู่สูงถึง 96.5% เลยทีเดียว
ทว่าประสบการณ์การต้องตะโกนใส่หุ่นยนต์เพื่อเรียกหามนุษย์ในครั้งนี้ก็ทำให้ซู่ชิงคิดว่าปัญหาเรื่องการที่มนุษย์จะถูกหุ่นยนต์แย่งงานนั้นมันไม่สามารถสรุปกันได้ง่ายขนาดนั้น แต่มันจะต้องมีอีกหลายมิติให้มองและให้ถกเถียงกันอีกแน่ๆ
ย้อนกลับไปราว 6 ปีก่อน ซู่ชิงเคยนั่งลงสัมภาษณ์ด็อกเตอร์ฮิโรชิ อิชิกุโระ นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นผู้พัฒนาหุ่นยนต์แอนดรอยด์ที่รูปร่างหน้าตาเหมือนมนุษย์แทบทุกประการ ซู่ชิงถามคำถามเขาว่า “อนาคตข้างหน้าหุ่นยนต์จะมาแย่งงานเราหรือเปล่า” อิชิกุโระทำสีหน้าฉงนและส่งสายตากลับมาราวกับว่านี่คือคำถามที่งี่เง่าสิ้นดี แล้วตอบประมาณว่า จะกลัวทำไมในเมื่อมนุษย์มีสมองที่จะพัฒนาและยกระดับตัวเองขยับไปทำงานใหม่ที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น
บีบีซีบอกว่าอาชีพที่มีแนวโน้มน้อยที่สุดที่จะถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์ คืออาชีพอย่างนักสังคมสงเคราะห์ พยาบาล นักบำบัดและจิตแพทย์ ลักษณะร่วมของอาชีพที่ปลอดภัยจากการคุกคามของหุ่นยนต์ก็คือเป็นอาชีพที่ต้องใช้ความสามารถในการต่อรอง ช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้อื่น และต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์มีไอเดียใหม่ๆ อยู่เสมอ
ส่วนลักษณะร่วมของอาชีพที่อาจจะตกงานได้อีกไม่นานข้างหน้าก็อย่างเช่น การทำงานในที่แคบๆ การประกอบวัตถุ หรือการจัดการวัตถุขนาดเล็ก ซึ่งก็น่าจะหมายถึงอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานทำสิ่งเดียวกันซ้ำๆ ในโรงงานนั่นแหละค่ะ อันที่จริงตอนนี้ก็น่าจะถูกหุ่นยนต์แทนที่กันไปแล้วไม่น้อยเสียด้วยซ้ำ
ถึงแม้บีบีซีจะให้แนวโน้มของการที่โอเปอร์เรเตอร์มนุษย์จะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ไว้สูงลิ่ว แต่ในกรณีของซู่ชิงที่ต้องการความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในการเปลี่ยนไฟลท์ ต้องถกเถียงซักถามกันไปมาเพื่อหาผลลัพธ์ที่เหมาะสมที่สุด ซู่ชิงก็คิดว่าโอเปอเรเตอร์ที่ต้องใช้ทักษะในการเจรจาต่อรอง ประมวลผลเพื่อหาทางออกที่ดีสุดให้กับสถานการณ์ และในขณะเดียวกันก็ต้องดูแลความรู้สึกลูกค้าแบบนี้ก็จะยังปลอดภัยไปอีกนาน จนกว่าจะมีการทำให้หุ่นยนต์โต้ตอบได้อย่างเป็นธรรมชาติราวกับมนุษย์นั่นแหละค่ะ
อีกหนึ่งข้อเท็จจริงที่น่าสนใจที่บทความ “Robots won’t just take jobs, they’ll create them” ของเว็บไซต์ Techcrunch ได้ชี้ให้เห็นถึงก็คือ เราจะต้องไม่เข้าใจผิดและคิดไปเองว่ามนุษย์จะเข้าสู่ยุคที่ไม่มีการมีงานทำ เพราะข้อเท็จจริงก็คือจริงอยู่ที่หุ่นยนต์จะแบ่งงานบางอย่างไปทำบ้าง แต่หุ่นยนต์นี่แหละที่จะสร้างงานใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นด้วย และความกังวลว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ จะมาแย่งงานมนุษย์ก็เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับเรามาอย่างยาวนานหลายศตวรรษแล้ว แต่ท้ายที่สุดแล้วเราก็เอาตัวรอดกันมาได้ถึงปัจจุบันแถมยังทำได้ดีกว่าเดิมเสียอีก
เทคโนโลยีใหม่ๆ จะช่วยทำให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ๆ และตามมาด้วยงานใหม่ๆ แบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ สิ่งทอ และเกษตรกรรม มาแล้วนั่นแหละค่ะ
ซู่ชิงคิดว่าไม่มีประโยชน์ที่จะไปนั่งต่อต้านไม่ให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมาด้วยความกลัวว่าแรงงานจากมนุษย์จะไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไป แต่สิ่งที่เราควรทำตอนนี้คือการมาประเมินจุดอ่อนจุดแข็งของมนุษย์และหุ่นยนต์ แล้วพัฒนาจุดแข็งของเราให้ก้าวเดินไปข้างหน้าเพื่อทำอะไรใหม่ๆ ที่ท้าทายมากกว่าเดิม
จุดอ่อนของหุ่นยนต์ก็คือการที่ยังไม่มีทักษะในการเจรจาต่อรองและสื่อสารได้ไหลลื่นเหมือนมนุษย์ ไม่สามารถสร้างไอเดียสดใหม่ในการแก้ปัญหาได้ ไม่มีความคิดสร้างสรรค์และไม่มีความฉลาดทางอารมณ์หรือทักษะในการเข้าสังคมเหมือนที่มนุษย์มี ดังนั้นหากเราพัฒนาทักษะเหล่านี้ของเราให้เก่งกาจขึ้นก็จะไม่มีหุ่นยนต์ที่ไหนมาแทนที่ได้
อีกอย่างก็คือทักษะด้านเทคโนโลยีและเครื่องยนต์กลไก เพราะแน่นอนว่าหุ่นยนต์จะต้องมีวันเสีย เมื่อเสียก็จะต้องมีคนซ่อม และคนซ่อมจะเป็นใครที่ไหนถ้าไม่ใช่มนุษย์ การเพิ่มทักษะความรู้ทางด้านเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และเครื่องกลเอาไว้ด้วยก็จะยิ่งดี ลองคิดดูนะคะว่าอาชีพใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาในช่วงหลังๆ ที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล หุ่นยนต์ เน็ตเวิร์ก หรือเว็บไซต์ทั้งหลายก็ล้วนเป็นอาชีพเกิดใหม่ที่มาจากการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีทั้งนั้น
ผลการศึกษาในปี 2011 ระบุเอาไว้ว่า หุ่นยนต์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมหนึ่งล้านตัวจะสร้างงานใหม่ให้เกิดขึ้นได้ถึงสามล้านงาน และ 5 ใน 6 ของประเทศที่เก็บข้อมูลสำหรับการศึกษาครั้งนี้มีอัตราการว่างงานที่ลดต่ำลงสวนทางกับการเพิ่มขึ้นของหุ่นยนต์ที่ถูกนำมาใช้งาน นอกจากนี้การมาถึงของหุ่นยนต์ไม่ได้สร้างงานทางด้านวิศวกรรมเพียงอย่างเดียวเท่านั้นนะคะ แต่งานที่เกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่มก็เพิ่มขึ้นด้วย
สรุปก็คือเราไม่จำเป็นต้องกลัวหุ่นยนต์แย่งงานด้วยเหตุผลหลักๆ 2 ประการ 1. มนุษย์เรามีลักษณะพิเศษที่หุ่นยนต์ไม่สามารถทดแทนได้ ด้วยสมองและความคิดสร้างสรรค์ของเราจะทำให้เราเอาตัวรอดได้พร้อมๆ กับการพัฒนาก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองไปเรื่อยๆ และ 2. หุ่นยนต์หรือเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่จะนำมาซึ่งงานใหม่ๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
งานที่ใช้แรงงานระดับที่หุ่นยนต์สามารถทำแทนได้ง่ายๆ ก็ปล่อยให้หุ่นยนต์ทำไปเถอะค่ะ เอาแรงพลังและทรัพยากรที่ประหยัดไปได้จากการใช้หุ่นยนต์มาลงทุนพัฒนาคุณภาพประชากรให้มีความสามารถและทักษะที่จะทำงานที่สลับซับซ้อนและท้าทายกว่าเดิมเหมือนที่อิชิกุโระบอกไว้ดีกว่า
สนุกกว่ากันเยอะเลย