ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 ตุลาคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
เผยแพร่ |
รายงานพิเศษ | อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บิน ชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)
กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้
มอง ‘ยุบสภา’ ที่มาเลเซีย
เลือกตั้งเสร็จส่อไม่มีเสถียรภาพ
เสี่ยงกระทบเจรจาชายแดนใต้
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอ ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน
นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย DATO’ SRI ISMAIL SABRI BIN YAAKOB ได้แถลงข่าวยุบสภามาเลเซีย ส่งผลทำให้รัฐสภามาเลเซียชุดปัจจุบันสิ้นสภาพไปด้วย ในขณะที่รัฐบาลก็จะเป็นรัฐบาลรักษาการ ซึ่งจะต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 60 วัน
แต่นักวิเคราะห์การเมืองทั้งในมาเลเซียและต่างประเทศคาดว่าจะเลือกตั้งในเดือนหน้า (พฤศจิกายน)
สำหรับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม 2565 ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระราชาธิบดี อับดุลลอฮ์ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้มีการยุบสภา
ทั้งนี้ การเลือกตั้งครั้งหน้าคาดหมายว่าก็ยังไม่สามารถทำให้มาเลเซียพ้นวิกฤตการเมืองในเรื่องเสถียรภาพรัฐบาล
จนอาจจะกระทบการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ลามไปถึงปัญหาชายแดนใต้ของไทยด้วย
ความเป็นจริงการเลือกตั้งทั่วไปของมาเลเซียตามวาระคือในเดือนกันยายนปี พ.ศ.2566
แต่ดาโต๊ะสรีอิสมาอีล ซอบรี นายกรัฐมนตรีนั้นตกอยู่ภายใต้การกดดันจากกลุ่มการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาลให้จัดการเลือกตั้งก่อนกำหนดเพื่อช่วงชิงการกุมอำนาจที่แข็งแกร่งขึ้น และเนื่องจากมีการต่อสู้กับคู่แข่งทางการเมือง อีกทั้งวิกฤตเศรษฐกิจเพราะโควิด
ในขณะที่สำนักพระราชวังมาเลเซียออกแถลงการณ์สรุปความได้ว่า
สมเด็จพระราชาธิบดี พระองค์ทรงกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน แต่เพราะไม่ทรงมีทางเลือกอื่นนอกจากอนุญาตตามที่นายกฯ ขอมาเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน
พระองค์ทรงเป็นห่วงเนื่องจากการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้เป็นช่วงมรสุม โดยเฉพาะกลางเดือนพฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป
พระองค์ตรัสว่าประเทศที่เข้มแข็งจะสะท้อนผ่านการเมืองที่มั่นคง เศรษฐกิจที่รุ่งเรืองและต่อเนื่อง รวมถึงความสงบสุขของประชาชน
พระองค์ทรงขอให้ประชาชนร่วมกันขอพรให้ประเทศและประชาชนได้รับความเมตตาและสิริมงคล ตลอดจนได้รับการคุ้มครองจากภัยธรรมชาติโดยเฉพาะน้ำท่วม
ข้อสังเกตสำคัญพบว่า มาเลเซียแม้มีวิกฤตการเมืองอย่างไรก็ไม่เคยรัฐประหาร แต่เลือกคืนอำนาจให้ประชาชน
มาเลเซียถูกยกย่องจากนักวิชาการทั่วโลกว่า เป็นหนึ่งในต้นแบบการเคารพสิทธิของประชาชนในการเลือกตั้ง ในประวัติศาสตร์การเมืองมาเลเซียหลังได้รับเอกราช มีนายกรัฐมนตรีคนแรกจนคนปัจจุบันคนที่ 9 ยังไม่เคยถูกปฏิวัติรัฐประหารแม้จะเกิดวิกฤตการเมือง การประท้วงหลายต่อหลายครั้ง
ถ้าเราจำได้ เมื่อปี 2561 ดาโต๊ะโจจี แซมูเอล (H.E. Dato’ Jojie Samuel) เอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย เคยสะท้อนผ่านสื่อไทยอย่างมติชนว่า
การรัฐประหารไม่เคยอยู่ในประวัติศาสตร์ของประเทศมาเลเซีย แม้ตอนที่มาเลเซียได้รับเอกราชก็เป็นไปด้วยสันติ
สิ่งสำคัญของประเทศประชาธิปไตย คือจะต้องมีการเลือกตั้งที่เป็นอิสระและยุติธรรมตามระบอบประชาธิปไตย อันเกี่ยวข้องกับประชาชนซึ่งต้องตัดสินใจว่า ต้องการให้ใครปกครองประเทศแบบใด มาเลเซียสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยของประเทศไทย เพราะทุกคนตั้งตารอคอย และหวังว่าจะนำไปสู่การเลือกตั้งในเร็ววันนี้
มาเลเซียมีการเมืองการปกครองในระบอบ Federal Parliamentary Elective Constitutional Monarchy นั่นคือมีระบบมลรัฐ 13 รัฐ (11 รัฐทางตะวันตก และ 2 รัฐทางตะวันออก) กับอีก 3 เขต Federal Territories (กัวลาลัมเปอร์ ปุตราจายา และบาปวน) ซึ่งแต่ละรัฐก็จะมีกฎหมายท้องถิ่นของตนเอง และมี 9 รัฐ ที่มีสุลต่านเป็นประมุข และสุลต่านทั้ง 9 จะผลัดกันเลือกตั้งขึ้นมาเป็นประมุขของประเทศ เรียกตำแหน่งนี้ว่า ยังดีเปอร์ตวน อากง ซึ่งจะพำนักอยู่ในพระราชวัง Istana Negara ใจกลางกรุงกัวลาลัมเปอร์
โดยพระราชาธิบดี หรือคนมาเลเซียเรียกว่า “ยังดีเปอร์ตวนอาฆง” องค์ปัจจุบันคือ สุลต่านอับดุลลอฮ์ ชาฮ์ จากรัฐปาหัง ดังนั้น เวลาที่เราติดตามข่าว เราจึงเห็นภาพนักการเมืองมาเลเซีย ผู้นำ และรัฐมนตรีต้องไปเข้าเฝ้า และรับการรับรองเรื่องราวต่างๆ จากพระราชวังแห่งนี้
เช่น สุลต่านลงพระนามในคำสั่งอนุมัติให้นายกรัฐมนตรีมหาธีร์ลาออก และแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ ซึ่งมีอำนาจเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ เพราะเท่ากับเป็นการยกเลิกตำแหน่งรัฐมนตรีต่างๆ และให้อำนาจกับนายกรัฐมนตรีในการดำเนินนโยบายเร่งด่วน สำคัญๆ เฉพาะหน้าในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน
รัฐสภาของประเทศมาเลเซียประกอบไปด้วย 2 สภา อันได้แก่ Dewan Negara หรือวุฒิสภา และ Dewan Rakyat หรือสภาผู้แทนราษฎร โดยในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะเป็นผู้กำหนดว่า ใครจะเป็นรัฐบาล ใครจะเป็นฝ่ายค้าน ประกอบไปด้วย ส.ส.จำนวน 222 คน
ดังนั้น พรรคที่ชนะเก้าอี้ ส.ส. 112 ที่นั่งได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีทั้งหมด 222 ที่นั่ง จะได้จัดตั้งรัฐบาล ขณะที่พรรคการเมืองต่างๆ มีเวลาหาเสียงเลือกตั้ง 15 วัน และผลการเลือกตั้งมักจะทราบภายในคืนเลือกตั้ง
มูห์ยิดดิน ยัสซิน ก็ได้สาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2563 ประกอบไปด้วย 3 กลุ่ม ได้แก่
1. ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลจำนวน ส.ส. 108 คน โดย 108 เสียงที่ประกอบขึ้นเป็นรัฐบาลมาจาก 2 กลุ่มหลักคือ
1.1 พันธมิตร Perikatan Nasional (PN) จำนวน 90 คน อันประกอบไปด้วย พันธมิตร Barisan Nasional (BN) ซึ่งมีพรรคหลักคือ UMNO, MCA พรรคคนมาเลเซียเชื้อสายจีนที่สนับสนุน UMNO และ MIC พรรคคนมาเลเซียเชื้อสายอินเดียที่สนับสนุน UMNO กลุ่มนี้มี ส.ส.รวมกัน 42 คน BERSATU หรือ PPBM กลุ่มงูเห่าที่นำโดยมูห์ยิดดิน แยกตัวออกมาจากการควบคุมดูแลของ ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรี ผสมทัพกับอีกกลุ่มงูเห่าที่นำโดยอัซมิน อาลี ที่แยกตัวออกมาจาก PKR ที่นำโดยอันวาร์ อิบราฮิม กลุ่มนี้มี ส.ส.จำนวน 30 คน PAS พรรคการเมืองที่เน้นแนวทางยึดหลักการศาสนาอิสลาม มี ส.ส.จำนวน 18 คน
1.2 Gabungan Parti Sarawak (GPS ส.ส.จากรัฐซาราวักทางตะวันออกของประเทศ) จำนวน ส.ส. 18 คน
2. ฝ่ายค้านจำนวน ส.ส. 110 คน แน่นอนว่ายังคงนำโดยพันธมิตรแห่งความหวัง Pakatan Harapan (PH) ที่มี ส.ส. 93 คน มาจาก 3 พรรคการเมือง คือ DAP (ส.ส.มากที่สุดจำนวน 42 คน), PKR (ส.ส.เหลืออยู่ 40 คนหลังการออกไปของอัซมิน อาลี) และ AMANAH มี ส.ส. 11 คน ร่วมกับพรรค WARISAN (พรรคการเมืองของรัฐซาบาห์ทางฝั่งตะวันออกของประเทศ) มี ส.ส. 9 คน, พรรค BERSATU กลุ่มยังคงเหลืออยู่กับอดีตนายกรัฐมนตรีมหาธีร์ ปัจจุบันถูกเรียกว่า Mahathir Bloc จำนวน ส.ส. 6 คน และพรรคเล็กๆ อีก 2 พรรคที่มี ส.ส.พรรคละ 1 คน นั่นคือ UPKO และ PSB
3. ฝ่ายอิสระจำนวน ส.ส. 4 คน ซึ่ง 3 คนมาจากกลุ่มพรรคร่วมจากรัฐซาบาห์ (Gabungan Bersatu Sabah : GBS) และ ส.ส.แบบผู้สมัครอิสระไม่สังกัดพรรคอีก 1 คน ซึ่งกลุ่มนี้ในช่วงฝุ่นตลบบางครั้งก็ร่วมอยู่กับ PN ซึ่งนำโดยมูห์ยิดดิน บางครั้งก็มีชื่อปรากฏอยู่กับทีมที่สนับสนุนมหาธีร์
แต่นาทีนี้ยังวางตัวเป็นฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลอยู่
ผลกระทบต่อชายแดนใต้
แน่นอนที่สุดการยุบสภาและหากผลการเลือกตั้งตามที่คาดหมายครั้งนี้จะกระทบต่อการแก้ปัญหาและพัฒนาชายแดนใต้อย่างน้อยสองเรื่อง
หนึ่ง สะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกสองแห่ง
ตามที่ทราบว่าไทย-มาเลเซียจะเร่งเดินหน้าพัฒนาด่านชายแดนใต้-สะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกสองแห่ง จัดคุยคณะทำงานเดือนธันวาคมนี้นั้นต้องเลื่อนแน่เพราะสถานการณ์การเมืองสองประเทศ
สอง การพูดคุยสันติภาพ
การพบปะหารือและพูดคุยแบบเต็มคณะ ครั้งที่ 5 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเชีย เมื่อ 1-2 สิงหาคม 2565 โดยมีตันซรี อับดุล ราฮิม บิน โมฮัมหมัด นอร์ เป็นผู้อำนวยความสะดวก และมีผู้เชี่ยวชาญร่วมสังเกตการณ์ด้วย สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1) คณะพูดคุยเพื่อสันติภาพ (คพส.) และ BRN ได้ร่วมกันประเมินการปฏิบัติตามความริเริ่มรอมฎอนสันติสุขระหว่าง วันที่ 3 เมษายน-14 พฤษภาคม 2565 ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ถอดบทเรียนเพื่อนำไปปรับปรุงการปฏิบัติร่วมกันต่อไป นอกจากนี้ ยังเห็นพ้องกันว่า ความริเริ่มรอมฎอนสันติสุขเป็นก้าวสำคัญที่จะไปสู่ความร่วมมือในการลดความรุนแรงใน จชต. ในรูปแบบที่เข้มข้นยิ่งขึ้นในห้วงต่อไป
2) จากประสบการณ์ที่ได้จากการปฏิบัติตามความริเริ่มรอมฎอนสันติสุข และตามเอกสาร “หลักการทั่วไปเกี่ยวกับการพูดคุยเพื่อสันติสุข” คพส.จึงได้นำเสนอร่างข้อเสนอการลดความรุนแรงร่วมกันชั่วคราว (ระยะที่ 2) และริเริ่มให้มีการจัดการปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่ในห้วงต่อไป ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าวได้กำหนดกรอบมาตรการและกลไกการปฏิบัติร่วมกัน ในรูปแบบที่ครอบคลุมและชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดสันติสุขในพื้นที่ จชต. ส่วน BRN ได้นำเสนอร่างเอกสารแนวคิดในการยุติความรุนแรงในพื้นที่ จชต. พร้อมด้วยร่างเอกสารแนวคิดเกี่ยวกับการจัดเวทีปรึกษาหารือกับประชาชนใน จชต.ด้วย ซึ่งข้อเสนอจากทั้งสองฝ่ายมีจุดประสงค์เพื่อให้บรรลุการลดความรุนแรงทุกรูปแบบใน จชต.ในระยะยาว อย่างเป็นระบบและยั่งยืน พร้อมทั้งริเริ่มจัดเวทีปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่อย่างเปิดกว้าง ซึ่งแสดงถึงความเห็นพ้องร่วมกันถึงความจำเป็นในการจัดให้มีกลไกเพื่อติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ จชต. และรายงานเหตุรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างแม่นยำและเป็นกลาง
3) ในขั้นต่อไป คพส. และกลุ่ม BRN เห็นพ้องที่จะนัดหมายพบกันอีกครั้งในระยะอันใกล้นี้ เพื่อหารือร่างเอกสารต่างๆ ร่วมกันในรายละเอียด โดยมีเป้าหมายร่วมกันที่จะบรรลุข้อตกลงและสามารถเริ่มขั้นตอนการปฏิบัติจริงได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งในช่วงก่อนที่จะสามารถบรรลุข้อตกลงดังกล่าว คพส. และกลุ่ม BRN ยังคงมุ่งมั่นที่จะสร้างเสริมบรรยากาศที่เอื้อต่อสันติสุขในพื้นที่ จชต. เพื่อประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่
แน่นอนขั้นที่สามไม่รู้จะเกิดขึ้นเมื่อไรด้วยการเลือกตั้งทั้งมาเลเซีย รวมทั้งวิกฤตการเมืองไทย ที่อนาคตยังไม่แน่นอนว่าจะเลือกตั้งเมื่อใด
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022