ปฏิบัติการล่า ‘ขน’ ไดโนเสาร์ | ป๋วย อุ่นใจ

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ทะลุกรอบ | ป๋วย อุ่นใจ

 

ปฏิบัติการล่า ‘ขน’ ไดโนเสาร์

 

ถ้าพูดถึงหนังเกี่ยวกับไดโนเสาร์ คุณนึกถึงภาพยนตร์เรื่องอะไร?

สำหรับคอหนังรุ่น 90s อย่างผมที่ชอบไดโนเสาร์ ภาพยนตร์เกี่ยวกับสัตว์โลกยุคดึกดำบรรพ์ที่สวยงาม สมจริง และเป็นที่ติดตาตรึงใจ ถึงขนาดดูแล้ว ดูอีก ดูซ้ำ ดูซาก ดูได้เรื่อยๆ แบบไม่เบื่อ เปิดมาเจอก็ดูทุกที คงหนีไม่พ้นภาพยนตร์ในซีรีส์จูราสสิคพาร์ค (Jurassic park) และจูราสสิคเวิร์ลด์ (Jurassic world)

ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ผมประทับใจเกี่ยวกับหนังในซีรีส์นี้ก็คือความใส่ใจในรายละเอียดของผู้กำกับฯ และทีมโปรดิวเซอร์ที่เฝ้าติดตามการอัพเดตงานวิจัยเกี่ยวกับซากดึกดำบรรพ์ และการค้นพบใหม่ๆ ทางบรรพชีวินวิทยาอยู่ตลอด และความพยายามที่จะนำมาปรับใช้ในเรื่องแบบเนียนๆ อยู่ตลอด

ถ้าลองไปแอบติดตามดูพัฒนาการของไดโนเสาร์หลายๆ ตัวจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดจากจูราสสิคพาร์ค เวอร์ชั่นปี 1993 มาเรื่อยๆ จนถึงเดอะลอสเวิร์ลด์ ปี 1997 จูราสสิคพาร์ค III ปี 2001 มาจนถึงจูราสสิคเวิร์ลด์ซีรีส์ที่ออกมาในปี 2015 2018 และ 2022

ภาพกรงเล็บพิฆาตที่เคาะพื้นแกรกๆ ข่มขวัญเหยื่อของเวโลซิแร็ปเตอร์ในภาพยนตร์ ทำให้ผมย้อนรำลึกกลับไปถึงหนังสือไดโนเสาร์ที่เคยดื่มด่ำเมื่อตอนเด็ก ภาพจากหนังได้กลายมาเป็นภาพจำภาพใหม่ของไดโนเสาร์แต่ละสายพันธุ์สำหรับผม และเชื่อว่าคงเป็นเช่นกันสำหรับคนทั่วๆ ไปที่ได้ดูภาพยนตร์

ปัญหาก็คือทุกอย่างที่เห็นไม่ได้หมายความว่าจะถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ เพราะในวงการบรรพชีวินวิทยาทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้เสมอ เมื่อเจอข้อมูลใหม่ ทุกการขุดค้นใหม่ อาจจะลบล้างทฤษฎีเก่าๆ หรือพลิกความเชื่อเดิมไปจากหน้ามือเป็นหลังมือไปเลยก็ได้

ซากฟอสซิลไดโนเสาร์คล้ายนก “อาร์เคียออปเทริกซ์” ที่แสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาในเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี (ภาพโดย H Raab, Wikipedia)

สําหรับโรเบิร์ต แบ็กเกอร์ (Robert Bakker) ภัณฑารักษ์และนักบรรพชีวินวิทยาชื่อดังจากพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ธรรมชาติฮิวสตัน (Houston Museum of Natural Science) อดีตที่ปรึกษากองถ่ายภาพยนตร์จูราสสิคพาร์ค “ไดโนเสาร์ไม่ควรมีผิวหนังที่เปลือยเปล่าล่อนจ้อน” ซึ่งถ้ามองจากซากฟอสซิลที่พบใหม่ในพักหลังๆ นี้ ดูเหมือนโรเบิร์ตจะพูดถูก ไดโนเสาร์ไม่ควรล่อนจ้อน หลายสปีชีส์ควรมีเกล็ดหุ้ม และอีกหลายสปีชีส์ก็ควรจะมีขนปกคลุมเช่นเดียวกับนก

เพราะในความเป็นจริง ซากรอยปั๊มหินของ “อาร์เคียออปเทริกซ์ (Archaeopteryx)” ฟอสซิลในตำนานที่เป็นเหมือนตัวเชื่อมมายาวนานระหว่างไดโนเสาร์กับนก นั้นถูกค้นพบมานานนับศตวรรษแล้ว ตั้งแต่ช่วงปี 1860s และจากซากฟอสซิลที่เจอ ชัดเจนว่าอาร์เคียออปเทริกซ์มีขนปีกขนหางไม่ต่างจากนกเท่าไรนัก…

แม้จะเจออาร์เคียออปเทริกซ์ แต่ภาพปะติดปะต่อในเรื่องของวิวัฒนาการของไดโนเสาร์กับนกนั้นกลับยังไม่ชัดเจน และเป็นที่ถกเถียงกันมาตั้งแต่ช่วงยุคซิกซ์ตี้ จนตอนนี้ก็ยังสรุปไม่ได้แน่ชัด

แต่กระนั้น ประเด็นที่พวกนักวิชาการเดือดดาลกันอย่างหนักก็คือพวกเขาเชื่อว่าเวโลซิแร็ปเตอร์ควรมีขนเหมือนนก เข้าใจได้ว่าในปี 1993 ตอนที่สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) สร้างจูราสสิคพาร์ค ภาคแรก หลักฐานอาจจะยังไม่ได้หนักแน่นขนาดนั้น และด้วยเทคโนโลยีทำหนังในยุคนั้น จะทำขนให้เหมือนจริงคงไม่ง่ายเท่าไร

แต่เพื่อสร้างภาพจำที่ถูกต้อง อย่างน้อยในหนังยุคใหม่ๆ ก็ควรอัพเดตให้มันถูก

ซากฟอสซิลไดโนเสาร์คล้ายนก “มังกรเริงระบำ” จากจี้โหว ประเทศจีน (ภาพโดย Ashley Poust)

“คุณไม่สามารถที่จะเปลี่ยนดีไซน์ของตัวละครได้กลางคันในภาพยนตร์แนวแฟรนไชส์แบบนี้” เดวิด วิกเครี่ (David Vickery) หัวหน้าทีมวิช่วลเอฟเฟ็กต์ใน “จูราสสิคเวิร์ลด์โดมิเนียน (Jurassic World Dominion)” ให้สัมภาษณ์

“คือ ดีไซน์มันถูกวางเอาไว้หมดแล้ว ถ้าเปลี่ยน ก็จะเหมือนกับเราแทนที่ตัวละครที่คนรู้จักกันดีอยู่แล้ว ด้วยนักแสดงอีกคนหนึ่ง”

แต่พวกนักบรรพชีวินวิทยาน่าจะมาถูกทาง ผิวไดโนเสาร์ไม่น่าจะล่อนจ้อน โล่งเตียน อย่างน้อยก็ตัวหลักของเรื่องอย่างเวโลซิแร็ปเตอร์ ที่น่าจะมีขนปกคลุมคล้ายนก

เพราะถ้าย้อนขุดคุ้ยถึงวงศ์วานว่านเครือของพวกมัน นักวิทยาศาสตร์ได้ขุดพบฟอสซิลญาติสนิทของพวกมันที่มีขนเหมือนนกแล้วหลายชนิด!

และตัวที่เป็นที่กล่าวขานถึงบ่อยมาก ก็คือ “มังกรเริงระบำ (Dancing dragon)” หรือ Wulong bohaiensis ที่ขุดค้นพบในจี้โหว (Jehol) ในประเทศจีน

ภาพวาดเวโลซิแร็ปเตอร์เทียบกับไดโนเสาร์คล้ายนกตัวอื่นๆ (ภาพโดย Fred Wierum, Wikipedia)

มังกรเริงระบำเป็นฟอสซิลของไดโนเสาร์ขนาดเล็กที่มีขนาดเพียงแค่ประมาณนกกะปูดหรืออีกาตัวเขื่องๆ แค่นั้น และถ้าเทียบจากกระดูก มังกรเริงระบำน่าจะตายและถูกทับถมเป็นฟอสซิลตั้งแต่ยังเยาว์ แม้จะยังเด็ก แต่มังกรเริงระบำก็มีหางที่ยาวเหยียด ที่ถ้าไม่ได้เหลือแค่ซากรอยปั๊มในหิน ก็เดาได้ว่าขนหางน่าจะอลังการไม่ใช่น้อย

“เจ้าไดโนเสาร์ตัวใหม่นี้มีปีกและขนที่เหมือนนกปกคลุมไปทั้งตัวอย่างตระการ คาดว่าน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับต้นกำเนิดของนก” แอชลีย์ เพาสต์ (Ashley Poust) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ (The University of California Berkeley) และพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติซานดิเอโก (San Diego Natural History Museum) กล่าว ชัดเจนว่าไดโนเสาร์ที่ไม่ใช่พวกอาร์เคียออปเทริกซ์ ก็มีขนสลวยสวยเก๋มิต่างจากนกได้เหมือนกัน

และเนื่องจากซากนี้เป็นซากไดโนเสาร์เด็ก เลยตีความต่อได้ว่าเส้นขนยาวเหยียดดูวิจิตรพิสดารนั้น มันขึ้นมาเรียบร้อย ตั้งแต่ยังไม่โตเต็มวัย

ซึ่งจนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่รู้ว่าการมีขนปุกปุยและหางที่ยาวพิลึกพิลั่นตั้งแต่เป็นไดโนเสาร์เด็กนั้นดีอย่างไรกับตัวมันเองในแง่ของการอยู่รอด หรือการสืบพันธุ์

แต่สิ่งหนึ่งที่รู้ชัดก็คือการที่ขนหางงอกไวตั้งแต่ตัวเล็กๆ นี้ไม่พบในนกยูง ไก่ฟ้า หรือแม้แต่นกประเภทอื่นๆ ในยุคปัจจุบัน

โดยทั่วไปแล้ว นกทั่วไป นกยูงหรือไก่ฟ้าจะพัฒนาลักษณะขนหางอลังการงานสร้างออกมาเพื่อยั่วยวนเพศตรงข้าม ยามเมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์ที่พวกมันต้องเริ่มหาคู่แล้วเท่านั้น

“เป็นไปได้ว่าไดโนเสาร์เด็กอาจจะต้องการหางแบบนี้ไว้เพื่อจุดประสงค์บางอย่างที่เราไม่รู้” แอชลีย์กล่าว “หรือพวกมันอาจจะมีกลไกในการงอกขนหางที่แตกต่างไปเลยจากพวกนกๆ ที่เรารู้จักกันอยู่ในปัจจุบันไปเลยก็ได้”

แต่ยังไงก็ยังบอกยาก เพราะในความเป็นจริง ขนหางที่ดูวิจิตรของไดโนเสาร์เด็ก อาจจะเป็นแค่จุดเริ่มต้นของการงอกขนหางที่อลังการกว่านี้ล้านเท่าก็ได้ ใครจะรู้ ตอนโตอาจจะวิลิศมาหรา สุดจะจินตนาการไปเลยก็ได้ อย่าลืมว่าชื่อของมันคือ “มังกรเริงระบำ” จะออกเอามาเทียบกับแค่นกยูง ไก่ฟ้า หรือพวกนกธรรมดาได้ที่ไหน

และก็มีหลักฐานเพิ่มเติมเข้าไปอีกว่าสมมุติฐานที่ว่า “เวโลซิแร็ปเตอร์น่าจะมีขนเหมือนนก” นั้นน่าจะเป็นจริง

ภาพวาดเวโลซิแร็ปเตอร์ มองโกลิเอนสิส (Velociraptor mongoliensis) ภาพโดย Fred Wierum, Wikipedia)

ซากฟอสซิลของไดโนเสาร์สปีชีส์ใหม่ ญาติสนิทของเวโลซิแร็ปเตอร์อีกสองตัว ที่พบในทะเลทรายโกบี (Gobi desert) ในมองโกเลีย กุรุกุลลา (Kuru kulla) (ตั้งชื่อตามโพธิสัตว์กุรุกุลลา (Kurukulla) มหาเทวีแห่งการตรัสรู้ของทิเบต) และศรีเทวี (Shri devi) (ตั้งชื่อตามศรีเทวี เทพีแห่งชัยชนะ) ก็มีขนนกปกคลุมตั้งแต่หัวไปจรดหางเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะศรีเทวีนี่ ขนแน่นดกดำเลยทีเดียว

แต่อย่างไรก็ตาม ในภาพยนตร์ การเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉมไปเลย เอาแบบอัพเดตสุดๆ คงทำได้ยาก อย่างน้อยก็กับตัวละครหลักอย่าง “เวโลซิแร็ปเตอร์” หรือว่า “ทีเร็กซ์” ที่ดังมากๆ แค่พอปรายตาไปเห็นปุ๊บ ก็จำได้ปั๊บแล้วว่าตัวอะไร

แต่ก็เข้าใจนะในเรื่องเสน่ห์ของภาพยนตร์ ความคุ้นเคยกับคนดู และอรรถรสในการดื่มด่ำเนื้อหากับภาพตัวละครที่คุ้นชิน แต่ในกรณีนี้ มันไม่เหมือนแค่การเปลี่ยนตัวนักแสดงนำผู้เล่นบทแอเรียลหรือแบตแมนที่เป็นแค่ตัวละครในเรื่องแต่ง ไม่มีตัวตนจริงๆ

หากแต่ไดโนเสาร์นั้นมีตัวคนจริงเลยผจญภัยอยู่ในโลกนี้มาจริงๆ ตั้งแต่บรรพกาล และถ้าให้ภาพจำผิดๆ ไปกับสังคม มันอาจจะฝังติดตรึงแน่นอยู่ในความทรงจำของเด็กๆ ไปอีกนาน

และถ้าว่ากันตามหลักฐานที่มีอยู่ในปัจจุบัน “เวโลซิแร็ปเตอร์” ของจริง ต้องมี “ขน”!

ภาพวาดศรี เทวี (Shri devi) ภาพโดย Michael B.H., Wikipedia)