122 ปี สมเด็จย่า | เครื่องเคียงข้างจอ : วัชระ แวววุฒินันท์

วัชระ แวววุฒินันท์

122 ปี สมเด็จย่า

 

วันที่ 21 ตุลาคม 2443 เป็นวันที่สมเด็จย่า หรือสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี แห่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พระราชสมภพ หากพระองค์ท่านยังอยู่จนมาถึงตอนนี้ ก็จะมีพระชนมายุ 122 พรรษาพอดี

แต่พระองค์ได้จากเราไป 27 ปีแล้ว เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 ยังความเศร้าเสียใจอย่างสุดซึ้งมาสู่ประชาชนชาวไทย เพราะคนไทยเรารักและเคารพพระองค์ท่านเหมือนญาติผู้ใหญ่ที่มีเมตตา และเรียกกันติดปากว่า “สมเด็จย่า”

ในโอกาสนี้ขอน้อมรำลึกถึงพระองค์ท่านในแง่มุมต่างๆ ที่หลายท่านอาจจะทราบอยู่แล้ว และบางท่านอาจจะไม่เคยรู้ เพื่อจะได้สะท้อนถึงความเป็นสมเด็จย่าให้ชัดเจน

ว่ากันว่าชีวิตของพระองค์ท่านนั้นพลิกผันราวกับนวนิยายก็ไม่ปาน เริ่มต้นด้วยจากการเป็นเด็กหญิงกำพร้า ที่เกิดในครอบครัวคนธรรมดาสามัญ ไม่ได้มียศถาบรรดาศักดิ์อะไร แต่ด้วยความเพียร ชอบศึกษาหาความรู้ ทำให้ได้มีโอกาสไปศึกษาต่อยังโรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา

ซึ่งหากเป็นคนอื่นก็อาจจะจบการศึกษาแล้วก็หางานทำเสียที่เมืองนอกนั่น หรือไม่ก็เดินทางกลับมาใช้ชีวิตที่เมืองไทย แต่งงานมีครอบครัวไป แต่ชะตาชีวิตกำหนดให้นางสาวสังวาลย์ ได้พบรักกับ “สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์” (พระยศตอนนั้น) ซึ่งทรงมีความประทับใจในสตรีนางนี้อย่างมาก และได้ทรงมีจดหมายกราบบังคมทูลสมเด็จพระบรมราชชนนี คือ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ความว่า

“สังวาลย์เป็นกำพร้า…แต่งงานแล้วก็มาใช้นามสกุลหม่อมฉัน หม่อมฉันไม่ได้เลือกเมียด้วยสกุลรุนชาติ ต้องเกิดเป็นอย่างนั้น ต้องเกิดเป็นอย่างนี้ คนเราเลือกเกิดไม่ได้ หม่อมฉันเลือกคนดี ทุกข์สุขเป็นเรื่องของหม่อมฉันเอง”

เมื่อได้อภิเษกสมรสกันแล้ว ก็มีพระธิดาพระโอรสที่รักถึง 3 คน ซึ่งก็น่าจะเป็นครอบครัวที่มีความสุขตามฐานะ แต่ก็เกิดเหตุพลิกผัน เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ เสด็จสวรรคต ทิ้งให้สมเด็จย่าเลี้ยงดูลูกๆ 3 คนตามลำพัง

ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับผู้หญิงตัวคนเดียวที่ต้องเสียหัวหน้าครอบครัว และมีหน้าที่ต้องดูแลลูกน้อยๆ ทั้งสาม ที่ตอนนั้นมีอายุ 6-4-2 ปี ตามลำดับ

สมเด็จย่าได้ย้ายครอบครัวไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้เลี้ยงดูลูกทั้ง 3 อย่างใกล้ชิดด้วยพระองค์เอง และมีวิธีการเลี้ยงดูที่น่าสนใจไม่น้อย ซึ่งนั่นก็เป็นผลพวงทำให้ลูกๆ เติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ

พระองค์ให้ความสำคัญกับเรื่องวินัยมาก บอกว่าเด็กๆ ยังไม่มีความรู้ในขอบเขตของเวลา หากไม่ควบคุมกำหนดให้ก็จะเหลวไหลได้ จึงได้กำหนดขอบเขตเวลาในการทำกิจกรรมชีวิตต่างๆ ไว้อย่างละเอียด ตั้งแต่ตื่นนอน รับประทานอาหาร เรียนหนังสือ เล่น ทำงานบ้าน จนเข้านอน

เรื่องเรียนนั้นสมเด็จย่าก็เข้มงวดอย่างมาก เพราะความรู้เป็นเรื่องสำคัญ ในหนังสือ “เจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์” พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา (พระยศตอนนั้น) ได้เคยกล่าวถึงพระโอรสทั้งสองไว้ว่า

“นันทช่างไม่เอาใจใส่ในการเรียนเลย อยากแต่จะเล่นตลอดเวลา เลยต้องดุ…ส่วนเล็กนั้นยังห่วงการเรียน มีหนังสือให้ท่องอยู่ 2-3 คำ ก็คอยท่องหนังสืออยู่เสมอ”

เรื่องเรียนก็ต้องตั้งใจ พอถึงเวลาเล่นก็ปล่อยให้เล่นอย่างเต็มที่ตามประสาเด็ก และโปรดให้เด็กๆ ได้อยู่กลางแจ้งให้มากที่สุด ให้เล่นสนุกกับธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นดิน ต้นไม้ น้ำ ลม ทราย สัตว์ต่างๆ แม้แต่ไฟก็ให้จุดเล่นได้ แต่จะสอนให้ระมัดระวัง

สมเด็จย่าเล่าว่า 3 พี่น้องจะใช้ภาษาฝรั่งเศสในการสื่อสารกัน ส่วนกับแม่จะพูดภาษาไทยด้วย

ทั้ง 4 สมาชิกของครอบครัว คงจะเติบโตขึ้นมาเป็นครอบครัวที่อบอุ่นครอบครัวหนึ่งธรรมดาๆ เท่านั้น หากไม่มีเหตุการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่มาเยือน เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 7 ได้ทรงสละราชสมบัติ รัฐบาลจึงกราบทูลเชิญพระโอรสองค์โตของพระองค์ซึ่งตอนนั้นมีอายุเพียงแค่ 8 ปีขึ้นเป็นกษัตริย์ของแผ่นดินไทย

สมเด็จย่าได้กล่าวกับบุคคลใกล้ชิดว่า แท้ที่จริงแล้วไม่เป็นที่ประสงค์เลย แต่ที่ได้อนุญาตไป เพราะเห็นแก่บ้านเมือง ที่จำเป็นต้องมีพระมหากษัตริย์

ยิ่งหากพระองค์ได้ทรงรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าว่า จะต้องเสียพระโอรสอันเป็นที่รักไปในวัยเพียง 21 ปี คงไม่ยอมแน่นอน

 

หากเป็นคนอื่นนั้นไม่รู้ แต่สำหรับสมเด็จย่าที่ลูกของตนได้เป็นกษัตริย์ ก็ไม่ได้หลงติดในลาภยศบรรดาศักดิ์อันยิ่งใหญ่นั้น หากคิดถึงการเตรียมความพร้อมให้ดีที่สุด นั่นคือการให้การศึกษา ให้ความรู้ ตามควร ตามวัย และการจัดการให้ยุวกษัตริย์นี้เติบโตขึ้นตามธรรมชาติ และอิสระเสรีอย่างเด็กชายคนหนึ่ง

รัฐบาลคิดจะใช้อำนาจในการบังคับกำหนดชีวิตของในหลวงองค์น้อย โดยขอให้เสด็จกลับเมืองไทย เพื่อให้ราษฎรเห็นว่ามีพระเจ้าแผ่นดินอยู่จริง แต่สมเด็จย่ากลับยืนยันหนักแน่นว่า ยังไม่ต้องการให้ในหลวงรัชกาลที่ 8 เสด็จกลับเมืองไทย เนื่องจากพระพลานามัยของพระองค์ไม่สมบูรณ์แข็งแรง บวกกับสถานการณ์บ้านเมืองที่เพิ่งเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยประสงค์ให้ใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เช่นเดิม

แม้แต่การเรียนที่รัฐบาลจะจัดครูมาสอนให้ที่บ้านเป็นพิเศษ สมเด็จย่าก็ไม่ยอม บอกว่าเด็กควรได้ไปโรงเรียน จะได้มีเพื่อน ได้รู้นิสัยของคนทั่วไป เพื่อเป็นประโยชน์ในภายภาคหน้า และเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้การปกครองอย่างประชาธิปไตย และได้ย้ำกับผู้แทนรัฐบาลที่มาเฝ้าฯ และเจรจาด้วยว่า

“การที่นันทต้องรับเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ก็เพราะเห็นว่าเป็นหน้าที่ต่อบ้านเมือง เพราะฉะนั้น จะทำอะไรต่อไปขอให้พูดกันดีๆ อย่าบังคับและตัดอิสรภาพจนเหลือเกิน และสำหรับร่างกายและการศึกษาแล้วขอให้ได้เต็มที่ เวลานี้เป็นเด็กก็ขอให้เป็นเด็ก พระเจ้าแผ่นดินที่ร่างกายไม่แข็งแรงและโง่ ก็ไม่เป็นสง่าสำหรับประเทศ”

เจออย่างนี้ไป ผู้แทนรัฐบาลก็ต้องยอม

เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ในหลวงรัชกาลที่ 8 ก็ได้นิวัติพระนคร พร้อมด้วยสมเด็จพระมารดา สมเด็จพระพี่นางฯ และสมเด็จพระอนุชา ซึ่งมีประชาชนมาเฝ้าฯ รับเสด็จเนืองแน่นตลอดสองข้างทาง ทั้งด้วยพระจริยวัตร พระอุปนิสัยที่งดงาม ทำให้พระองค์ทรงเป็นที่รักเทิดทูนของประชาชนทั้งมวลได้อย่างรวดเร็ว

ใหลวงรัชกาลที่ 8 ต้องเสด็จกลับไปศึกษาต่อเพราะยังทรงพระเยาว์ แล้วจึงได้นิวัติกลับมาประเทศไทยอีกครั้งเมื่อพระชนมายุได้ 21 ปี และเหตุพลิกผันก็เกิดขึ้นอีกครั้งในเช้าวันที่ 9 มิถุนายน 2489 เมื่อรัชกาลที่ 8 เสด็จสวรรคตในห้องพระบรรทมจากการต้องพระแสงปืน

ในหัวอกของคนเป็นแม่ ที่ต้องสูญเสียลูกชายที่กำลังอยู่ในวัยหนุ่มแน่น กำลังจะเติบโตมีอนาคตที่ดีไปอย่างฉับพลันนั้น มันสุดแสนจะรันทดและทรมานสิ้นดี

การก้าวขึ้นมาเป็นกษัตริย์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ในเวลาที่บ้านเมืองไม่ปกติเช่นนี้ก็ยากลำบากพอแล้ว แต่ยังมาพบกับเรื่องรุนแรงถึงชีวิตที่มิคาดคิดอีก เท่านั้นไม่พอ เมื่อลูกชายคนโตสิ้นชีวิตลงบนความเป็นกษัตริย์ ลูกชายคนเล็กก็ได้รับการถวายราชสมบัติและก้าวขึ้นเป็นกษัตริย์เช่นเดียวกับผู้พี่ที่จากไป

หากสมเด็จย่ามิได้มีพระทัยที่ตั้งมั่น เด็ดเดี่ยว และเข้มแข็งพอแล้ว ประเทศไทยอาจจะไม่มีพระมหากษัตริย์อย่างในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็ได้

กาลเวลา 70 ปีของการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ก็ได้พิสูจน์แล้วว่า พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่เพียงใด และการเป็น “พระบรมราชชนนี” ของสมเด็จย่าก็ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน

ตั้งแต่ยังอยู่ที่ต่างประเทศแล้วที่พระองค์ไม่โปรดปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ จะหาอะไรทำเสมอ ทั้งงานบ้าน งานอดิเรก งานครัว และเป็นการทำทั้งเพื่อครอบครัว และคนอื่นๆ ที่อยู่รายรอบด้วย เมื่อได้เป็นสมเด็จย่า ก็ยังคงทรงงานเสมอ ทั้งงานระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย ไปจนถึงงานประดิษฐ์เล็กๆ น้อยๆ

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงเล่าให้กับคณะผู้จัดทำหนังสือ “สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” ของโครงการไทยศึกษา ฝ่ายวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงพระจริยวัตรของสมเด็จพระอัยกี ตอนหนึ่งว่า

“สมเด็จย่าท่านก็ทรงทำงานอยู่ตลอด (ตอนแรกที่ทรงจำได้) ท่านทำไม้กวาด ทีหลังเย็บเสื้อตุ๊กตา ถ้ามาเยี่ยมเฉยๆ ท่านก็ทรงมีกระเป๋าใส่เครื่องการฝีมือมาทำ เวลานั่งคุยกันท่านก็เย็บเสื้อผ้าตุ๊กตา หรือปักผ้าเป็นลายต่างๆ ที่เขามีแบบให้เสร็จ ทำแล้วใส่กรอบ บางทีก็พระราชทานตามเขื่อนต่างๆ หรือตามนิคมที่ใช้เป็นที่ประทับแรมเวลาเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรต่างจังหวัด ท่านไม่ชอบการนั่งเฉยๆ ไร้สาระ ข้าหลวงที่วังสระปทุมก็ต้องช่วยกันทำงานเวลาว่าง เช่น อัดกะปิส่งไปให้ทหารตำรวจตระเวนชายแดน”

นอกจากนั้น สมเด็จย่ายังมีพระเมตตาห่วงใยบุคคลต่างๆ ในระหว่างที่เสด็จทรงงานเสมอ อย่างตอนที่ไปเยี่ยมตำรวจตระเวณชายแดน ก็ไปดูถึงที่ที่เขาพักว่าเป็นอย่างไร อบอุ่นพอหรือไม่ บางทีกลางคืนได้ยินเสียงทหารไอก็จะพระราชทานยาแก้ไอให้ทันที

แม้แต่ที่พักของผู้ตามเสด็จก็คอยดูแลให้ได้พักกันอย่างเพียงพอ ไปดูถึงในครัวว่าเขากินอาหารกันอย่างไร เพียงพอหรือไม่

จะว่าไปแล้ว การเป็นสมเด็จแม่ของพระมหากษัตริย์ จะไม่ต้องทรงงานให้ลำบากพระองค์ก็ได้ แต่สมเด็จย่านั้นตรงกันข้าม พระองค์ไม่ทรงปล่อยเวลาให้ว่าง แต่ลุกขึ้นทำประโยชน์ให้กับประชาชนคนไทย โดยเฉพาะกับราษฎรในถิ่นทุรกันดาร ที่เห็นได้ชัดคือ โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงราย ที่ได้พลิกชีวิตให้กับชาวไทยภูเขาและคนกลุ่มน้อยได้มีชีวิตที่ดีขึ้น เลิกปลูกฝิ่น ไม่ติดยาเสพติด หันมาสร้างรายได้จากการทำการเกษตร สร้างองค์ความรู้ของการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง และมีการพัฒนาที่ยั่งยืน

ที่ทรงห่วงใยผู้อื่นรวมทั้งราษฎรทั้งหลาย เพราะพระองค์มีจิตแห่งความเมตตา ทรงเห็นผู้อื่นเหมือนลูกหลาน เหมือนคนในครอบครัวที่ต้องดูแลให้ดี เหมือนที่พระองค์ดูแลพระธิดาและพระโอรสทั้ง 3 มาอย่างดียิ่ง

เรื่องการดูแลเด็กๆ นี้พระองค์ทรงเปรียบเปรยกับการปลูกต้นไม้ที่พระองค์ทรงรักว่า

“ต้นไม้นี่มันคล้ายๆ คน ต้นบานชื่นนี้ ฉันไม่ได้ปลูกด้วยเมล็ด แต่ไปซื้อต้นเล็กๆ ที่เขาเพาะแล้วมาปลูก แต่มันก็งามและแข็งแรงดี เพราะอะไรหรือ เพราะคนที่เขาขายนั้นเขารู้จักเลือกเมล็ดที่ดีและดินที่เขาใช้เพาะก็ดีด้วย นอกจากนั้น เขายังรู้วิธีว่าจะเพาะอย่างไร ซึ่งฉันไม่สามารถทำได้เช่นเขา เมื่อฉันเอามาปลูกฉันต้องดูแลใส่ปุ๋ยเสมอเพราะดินที่นี่ไม่ดี ต้องคอยรดน้ำพรวนดินบ่อยๆ ต้องเอาหญ้าและต้นไม้ที่ไม่ดีออก เด็ดดอกใบที่เสียๆ ทิ้ง คนเราก็เหมือนกัน ถ้ามีพันธุ์ดี เมื่อเป็นเด็กก็แข็งแรง ฉลาด เมื่อพ่อแม่คอยสั่งสอน เด็ดเอาของที่เสียออกและหาปุ๋ยที่ดีใส่อยู่เสมอ เด็กคนนั้นก็จะเป็นคนที่เจริญและดี เหมือนกับต้นและดอกบานชื่นเหล่านั้น”

และเด็กชายคนหนึ่งที่เป็นคนที่เจริญและดี เหมือนกับต้นและดอกบานชื่น ก็คือ ในหลวงรัชกาลที่ 9 นั่นเอง ซึ่งมาจากการเลี้ยงดูเอาใจใส่ ได้รับการดูแลสั่งสอน จากผู้เป็นแม่มาตั้งแต่ยังเยาว์ จวบจบวันที่สมเด็จย่าได้ทรงจากพวกเราไป

ไม่ว่าจะ 122 ปี หรือกี่ร้อยปี ความเป็น “สมเด็จย่า” ก็จะยังคงเป็นความดีงามที่ยิ่งใหญ่ ที่คนไทยอย่างเราสัมผัส และเรียนรู้ได้เสมอ •

 

เครื่องเคียงข้างจอ | วัชระ แวววุฒินันท์