ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 ตุลาคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
เผยแพร่ |
ศาสนาผี ศาสนาเก่าแก่ที่สุดในโลก คนนับถือมากสุดในโลก
คนในไทยทุกวันนี้มักอ้างตามประเพณีว่านับถือศาสนาพุทธ-ไม่นับถือศาสนาผี บางคนแสดงความรังเกียจเหยียดหยามความเชื่อผี แม้นักวิชาการจำนวนหนึ่งก็ปฏิเสธการมีอยู่จริงของศาสนาผี
แต่ความจริงคนส่วนมากนับถือศาสนาผีในชีวิตประจำวัน (ควบคู่กับนับถือพราหมณ์และพุทธ เป็น “ผี-พราหมณ์-พุทธ” คือศาสนาไทย) เช่น
ศาลผีบริเวณบ้านและในวัด (คือศาลเจ้าที่และศาลพระภูมิ เรียกรวมว่า “พระภูมิเจ้าที่”) ศาลผี มี 4 เสา เรียกศาลเจ้าที่, ศาลตายาย, ศาลปู่ย่า, ศาลเพียงตา ฯลฯ ศาลพระภูมิ มีเสาเดียว (สัญลักษณ์เขาพระสุเมรุ) อยู่ในประเภทศาลผี คนปฏิบัติต่อศาลพระภูมิเหมือนศาลผี ที่สำคัญคือมีในไทย ไม่มีในอินเดีย
เก็บอัฐิ ในเจดีย์, กำแพงวัด ฯลฯ สืบเนื่องจาก “ฝังศพครั้งที่ 2” ในอุษาคเนย์ ราว 2,500 ปีมาแล้ว (อินเดียเผาเสร็จโยนลงแม่น้ำคงคา ไม่มีเก็บกระดูก)
บายศรีสู่ขวัญ มีในทุกช่วงสำคัญของชีวิตตั้งแต่เกิด (หรือก่อนเกิด) จนตาย (หรือหลังตาย) เพื่อผู้รับทำขวัญพ้นจากความวิตกกังวลหวาดกลัวหรือตกใจต่อเหตุการณ์ไม่ดีจะมีขึ้น แล้วสร้างความมั่นใจและรู้สึกมั่นคงแก่ผู้รับทำขวัญ
ทำขวัญก่อนเริ่มทำกิจกรรมอื่นๆ เรียก “บายศรีสู่ขวัญ”
“บายศรี” คือ ข้าวขวัญ เป็นข้าวหุงชุดแรก (ด้วยกระบอกไผ่) ในเดือน 3 เซ่นผีฟ้าผีแถน ทุกวันนี้เรียก “ข้าวหลาม”
“ทำขวัญ” หรือ “สู่ขวัญ” คือขับลำคำคล้องจอง (ปัจจุบันเรียกร่าย) มีดนตรีคลอ (โบราณใช้แคน) เกลี้ยกล่อม “ขวัญ” ให้อยู่กับ “มิ่ง” (คือร่างกายเนื้อตัวของคนนั้นๆ) เรียก “มิ่งขวัญ” เพื่อความเป็นปกติของชีวิต
ทำขวัญนาค เป็นสัญลักษณ์ทางศาสนาพุทธยอมรับอำนาจของศาสนาผี
ก่อนเข้าพิธีบวชเป็นภิกษุ 1 วัน ชายคนนั้นถูกเรียกว่า “นาค” ต้องเข้าพิธีทำขวัญนาคโดยหมอขวัญ (สมัยแรกเป็นหญิง ปัจจุบันเป็นชาย)
คำทำขวัญนาคเป็นคำคล้องจองเรียกร่าย มีเนื้อหาพรรณนาพระคุณของแม่ ด้วยการย้ำว่าเพราะแม่คลอดออกมาแล้วเลี้ยงดูจนโต นาคจึงมีโอกาสบวชเป็นภิกษุ ถ้าแม่ไม่คลอดไม่เลี้ยงดูนาคก็ไม่ได้บวช
เท่ากับศาสนาพุทธยอมรับอำนาจของศาสนาผี หรือศาสนาผีมีอำนาจเหนือศาสนาพุทธ
ศาสนาผีเชื่อเรื่องขวัญ ซึ่งไม่เหมือนวิญญาณทางศาสนาพราหมณ์-พุทธ และต่างกันมาก
วิญญาณในศาสนาพราหมณ์-พุทธมีดวงเดียวในมนุษย์ทุกคน เมื่อคนตายวิญญาณก็ออกจากร่างไปเกิดใหม่ในทันที
ขวัญในศาสนาผีมีนับไม่ถ้วน เมื่อคนตาย แต่ขวัญไม่ตาย แล้วถูกเรียกว่า “ผี”
เรื่องราวของขวัญเกี่ยวข้องกับมิ่ง, หิ่ง, แนน ฯลฯ ซึ่งยังเข้าไม่ถึงจึงไม่เข้าใจและอธิบายไม่ได้ในขณะนี้
ขวัญเป็นคำออกเสียงในภาษาไทยปัจจุบัน ซึ่งใกล้ชิดเป็นคำเดียวและความหมายเดียวกับภาษาจีนว่า หวัน (กวางตุ้ง) ฮุ้น (แต้จิ๋ว) น่าเชื่อว่าเป็นระบบความเชื่อร่วมกันมาแต่เดิม
[มีคำอธิบายอยู่ในหนังสือหลายเล่ม ได้แก่ (1.) ไทย-จีน ของ พระยาอนุมานราชธน (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2479) พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.2505 หน้า 93, (2.) บทความเรื่อง “พิธีกรรมหลังความตาย มีส่งขวัญคล้ายกันทั้งไทยและจีน” ในหนังสือ “คนไท” ไม่ใช่ “คนไทย” แต่เป็นเครือญาติชาติภาษา ของ เจีย แยนจอง สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2548 หน้า 86]
คนปัจจุบันยังเชื่อถือเรื่องขวัญ แต่เข้าใจว่าเป็นวิญญาณ เมื่อมีคนตาย (บนพื้นที่สาธารณะ) จะนิมนต์พระสงฆ์เชิญวิญญาณคนตายกลับไปบ้าน
แท้จริงวิญญาณออกจากร่างไปจุติแล้ว ซึ่งไม่รู้ว่าจุติที่ไหน? ส่วนขวัญยังอยู่ต่างมิติแต่ไม่รู้อยู่ไหน?
ดังนั้น ที่นิมนต์พระสงฆ์ทำพิธีเชิญกลับบ้าน ไม่ใช่เชิญวิญญาณ แต่แท้จริงแล้วเป็นเชิญขวัญ

ในโลก
1.
ศาสนาผีเป็นศาสนาสากลเก่าแก่ที่สุดในโลก มีครั้งแรกเมื่อโลกมีมนุษย์หลายพันปีมาแล้ว – “มนุษย์มี ศาสนาผีก็มา”
2. ศาสนาผีเป็นที่นับถือยาวนานของคนทั้งโลก จึงมีคนนับถือมากที่สุดก่อนมีศาสนาอื่น และยังนับถือสืบเนื่องยาวนานที่สุดจปัจจุบันถึงอนาคต
3. ศาสนาผีมีศาสนสถานขนาดใหญ่โตมโหฬารเป็นที่รู้จักกว้างขวางทั่วไปในโลก เช่น พีระมิดในอียิปต์, สุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ในจีน เป็นต้น
4. ศาสนาผียกย่องหญิงมีอำนาจเหนือชาย หญิงที่เป็นผีมีอำนาจในโลกตะวันตกถูกเรียกว่า “เทพี” ฯลฯ ส่วนโลกของไท-ไต ถูกเรียกว่า “แม่” หรือ “เจ้าแม่”
1.
คนในดินแดนไทยหลายชาติพันธุ์ นับถือศาสนาผีตั้งแต่สมัยเริ่มแรกมากกว่า 3,000 ปีมาแล้ว เพราะสมัยนั้นยังไม่รู้จักอินเดียและยังไม่ติดต่ออินเดีย (แม้ในอินเดียขณะนั้นก็นับถือศาสนาผี)
โครงกระดูกมนุษย์อายุหลายพันปีที่นักโบราณคดีขุดพบที่บ้านเก่า (จ.กาญจนบุรี) และที่บ้านเชียง (จ.อุดรธานี) จึงเนื่องในวัฒนธรรมทางศาสนาผีซึ่งไม่เกี่ยวกับศาสนาพุทธ-พราหมณ์
ดังนั้น จะอธิบายพิธีกรรมหลังความตายเมื่อหลายพันปีมาแล้วตามแนวคิดของศาสนาพุทธ-พราหมณ์ มิได้
2. บ้านเมืองโบราณทั่วโลกหลายพันปีมาแล้ว นับถือศาสนาผี
ในไทย ชุมชนเมืองใหญ่มีคูน้ำคันดินรูปกลมรีล้อมรอบ นับถือศาสนาผีที่ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ราว 2,000 ปีมาแล้ว หรือ พ.ศ.500
เคยถูกนักวิชาการฝรั่งเศสเจ้าอาณานิคม อธิบายว่าสมัยนั้นไทยและอุษาคเนย์ยังเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน นับถือผีบ้าผีบอ ต้องรับศาสนาจากอินเดียจึงเติบโตเป็นบ้านเมือง
แต่หลักฐานโบราณคดีที่พบต่อมาจนทุกวันนี้ยืนยันตรงข้ามว่ามีบ้านเมืองใหญ่โตนับถือศาสนาผีก่อนรับพุทธ-พราหมณ์ •
สุจิตต์ วงษ์เทศ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022