นิ้วกลม : ขงจื่อ… ‘หากไม่อยู่ร่วมกับมนุษย์แล้วจะไปอยู่กับใคร’ (จบ)

“ผู้รู้ไม่เทียมเท่าผู้รัก ผู้รักไม่เทียมเท่าผู้รื่นรมย์”

ความรื่นรมย์ยินดีเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสูงกว่าความรู้ ความรัก ทั้งนี้เพราะความรื่นรมย์ยินดีเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า เราวางคุณค่าไว้ที่ใด เราคือใคร เราอาทรใส่ใจใคร เราชื่นชมผู้ใดสิ่งใด เราต้องการเป็นคนแบบใด เราเรียนรู้อย่างรื่นรมย์ เรายินดีเมื่ออยู่ท่ามกลางมิตรสหาย เราชื่นชมเมื่ออยู่ในความสัมพันธ์อันราบรื่น หากเรายังทำให้คุณค่าชุดนี้เป็นที่ยอมรับในระดับบ้านเมืองไม่ได้ เราก็ไม่หวั่นไหว

นี่อาจเป็นสิ่งแตกต่างอย่างชัดเจนกับ “ความรู้” ในแบบที่มีอุดมคติชัดๆ ว่าควรผลักดันสังคมให้เปลี่ยนแปลงไปสู่จุดนั้น กับ “การเรียนรู้” ในแบบของขงจื่อที่ให้คุณค่ากับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์

เป็นการเรียนรู้อย่างรื่นรมย์ เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรื่นรมย์ โดยไม่หวั่นไหวว่า “คุณธรรม” ที่เราต้องการให้เกิดขึ้นในแผ่นดินนั้นจะเกิดขึ้นภายในวันนี้พรุ่งนี้หรือไม่

อาจเพราะว่าระหว่างที่คิดฝันอยากเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง ตัวเราเองก็อยู่บนเส้นทางแห่งการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันด้วย โดยมิได้มองว่าผู้อื่นที่ยังไม่คิดถึงเรื่องที่เราให้ความสำคัญ หรือผู้คนที่คิดแตกต่างไปเป็นผู้ที่ฉลาดน้อยกว่า มิได้บังคับขู่เข็ญให้ใครต้องคิดเหมือนเรา

เพราะเป้าหมายของความดีงามแบบขงจื่อคือความกลมกลืนกันของผู้คนในสังคม ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน มิใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือใครคนใดคนหนึ่งประกาศสัจธรรมความดีงามแล้วทุกคนต้องปฏิบัติตามนั้น

เช่นนี้แล้ว ในระหว่างทางของการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองให้ดีงามตามความตั้งใจ ตัวเราเองสามารถน้อมนำสิ่งต่างๆ ทั้งอุปสรรค ความผิดหวัง คำด่าทอ หรือข้อขัดแย้งมาเป็นอุปกรณ์บ่มเพาะจิตใจให้เข้าใจเพื่อนมนุษย์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเขยิบเข้าใกล้ “คุณธรรม” หรือสังคมในฝันที่ผู้คนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน (มิจำเป็นต้องกลมเกลียว)

สิ่งเหล่านั้นจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงเราให้เป็นกลายคนที่หาวิธีอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ดีขึ้น รวมถึงผู้ที่ไม่อยากอยู่ร่วมกับเรา แล้วความเปลี่ยนแปลงของเราที่ปฏิบัติต่อผู้อื่นนั้นเองที่จะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงสังคมไปในทิศทางที่ต้องการ

ตัวเราจะมีคุณธรรมมากขึ้นพร้อมๆ กับสังคมที่เราอยากให้มี และแม้สังคมจะยังไม่ถึงซึ่งคุณธรรมนั้น เราก็ไม่หวั่นไหว เพราะเรารู้ดีว่าเรากำลังอยู่บนเส้นทางแห่งการเรียนรู้ ฝึกตน และขัดเกลาตัวเองว่าด้วยคุณธรรมของการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน

ความกลมกลืนที่ว่านั้นคล้ายท่วงทำนองของเสียงดนตรี เป็นระเบียบที่มีสุนทรียะ ท่วงทำนองที่ไพเราะย่อมปราศจากความแปร่งแย้ง รุนแรง แย่งชิง แต่สอดประสานบรรเลงอย่างรื่นรมย์ แม้เกิดจากเครื่องดนตรีหลากหลายชนิด หลายเสียง หลายชิ้น

ท่ามกลางความหลากหลายมีบางสิ่งที่ทำให้ทุกเสียงสอดประสานเข้าด้วยกันได้อย่างไพเราะ สิ่งนั้นคือการที่ทุกคนคิดถึงผู้อื่นที่บรรเลงเพลงอยู่ร่วมกัน สิ่งนั้นเป็น “ระเบียบ” ที่ทุกคนรับรู้ร่วมกัน

 

เมื่อฝานฉือเอ่ยถามถึงมนุษยธรรม ขงจื่อกล่าวว่า “รักมนุษย์”

“ระเบียบสังคม” ของขงจื่อคือการแสดงความรักความอาทรห่วงใยระหว่างผู้คนในวัยต่างกัน “ปณิธานของเราคือ ทำให้ผู้อาวุโสได้อยู่สงบ มิตรสหายไว้เนื้อเชื่อใจ ผู้เยาว์ห่วงใยอาทรกัน” หากฟังเท่านี้เราอาจเผลอตีตราว่าขงจื่อโลกสวย จึงจำเป็นต้องลงไปในรายละเอียดว่าขงจื่อปฏิบัติตนต่อเพื่อนมนุษย์เช่นไร

ความงามในความพอดีของการแสดงออกต่อเรื่องต่างๆ ในชีวิตเป็นสิ่งที่ขงจื่อให้ความสำคัญ และมองว่าเป็นสิ่งที่ผู้คนต้องเรียนรู้เพื่อจะได้ไม่สยบต่อความสุดโต่งทั้งสองทาง คือพ่ายแพ้ต่อกำหนัดแล้วแสดงออกรุนแรง หรือสะกดอารมณ์ตนเองเสียจนกลายเป็นคนเฉยชาเฉื่อยเนือย

เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องฝึกตนให้สามารถควบคุมอารมณ์และแสดงออกได้อย่างพอเหมาะพองาม

“เมื่ออาจารย์กินข้าวข้างๆ คนที่กำลังไว้ทุกข์ อาจารย์ไม่เคยกินจนอิ่ม”

การไว้ทุกข์ของคนผู้นั้นทำให้ขงจื่อรับรู้ได้ถึงความโศกเศร้า ขงจื่อไม่ถึงกับอดอาหารร่วมทุกข์โศก เพราะอาจสร้างความเดือดร้อนแก่ตนเองมากเกินไป แต่ก็ไม่กินจนอิ่มสบายตามใจปรารถนาประหนึ่งว่าอยู่ในสถานการณ์รื่นเริง การทำเช่นนี้คือการแสดงความเห็นใจตามความเหมาะสม

“เมื่ออาจารย์เห็นคนไว้ทุกข์ หรือคนแต่งชุดพิธีทางการ หรือคนตาบอด แม้คนเหล่านั้นอายุน้อยกว่า อาจารย์จะลุกขึ้นยืน (หากกำลังนั่งอยู่) หรือถ้ากำลังเดินผ่านก็จะเร่งฝีเท้าทุกครั้ง”

นี่คือการแสดงอาการเคารพ เห็นใจ ด้วยการปรับสภาพตัวเองเพื่อแสดงการใส่ใจต่อคนอื่น

 

ในปัจจุบันเราอาจมองเห็นผู้ที่มีอารมณ์เข้มข้นโดดเด่นขึ้นมาจากผู้ที่อารมณ์จืดชืด แต่สำหรับขงจื่อแล้ว ศิษย์โปรดของเขาคือคนที่มีความจืดชืดที่สุด ผู้นั้นคือเหยียนหุย

“เราคุยกับหุยมาทั้งวัน เขาไม่แย้งอะไร ราวกับว่าเป็นคนโง่ แต่เมื่อถอยออกมาพินิจอยู่ห่างๆ พบว่าเขาสามารถทำให้คำสอนงอกเงยได้ หุยไม่ใช่คนโง่”

คนฉลาดมีปัญญาย่อมต้องโต้แย้งถกเถียงกัน ขณะที่หุยไม่แย้ง รับฟัง แล้วนำไปต่อยอด ขงจื่อกล่าวถึงเหยียนหุยว่าเป็นผู้รักการเรียนรู้ ไม่พาลโกรธผู้อื่น และไม่ผิดซ้ำสอง ความรักในการเรียนรู้เช่นนี้ทำให้การเรียนรู้มีค่าในตัวเอง มิใช่เครื่องมือเพื่อนำไปสู่ชื่อเสียง อำนาจ ความมั่นคง ตำแหน่ง หรือเกียรติยศ

แม้มีความเป็นอยู่ที่ยากไร้ แต่เหยียนหุยก็สามารถ “อยู่กับ” และ “อยู่เหนือ” ความยากจนนั้นได้

“หุยไม่ปล่อยให้ความยากจนขาดแคลนมาทำลายความแช่มชื่นเบิกบานของตน หุยช่างมีปัญญาเหลือเกิน!”

นี่เองคือ “ชีวิตที่ดี” แบบที่ขงจื่อเสนอ…ความเบิกบานท่ามกลางความยากไร้

ด้วยการเรียนรู้ และการอยู่เหนืออารมณ์

เพราะการมีชีวิตทางจริยธรรมนั้นเกี่ยวข้องกับการถามว่า เราคือใคร เราใส่ใจกับสิ่งใดหรือผู้ใดอย่างลึกซึ้ง เราเห็นคุณค่าของสิ่งใดหรือผู้ใด ซึ่งล้วนเป็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึก ชีวิตทางจริยธรรมเช่นนี้จะค่อยๆ เปลี่ยนมนุษย์ให้มีจิตใจที่ละเมียดละไม ละเอียดอ่อนมากขึ้น ผ่านกระบวนการทดสอบทางอารมณ์ความรู้สึก ผู้ที่ไม่สั่นคลอนย่อมค่อยๆ เขยิบเข้าใกล้ “ชีวิตที่ดี” ที่ตนเลือกและให้คุณค่าไว้

ความจืดชืดและการอยู่อย่างไร้ชื่อเสียงใช่ว่าจะเป็นชีวิตที่ไร้คุณค่า ตรงกันข้าม ความจืดนี่เองที่เป็นตัวกลางช่วยสร้างความสมดุลให้รสชาติต่างๆ

ด้วยความรักที่มีต่อหุยทำให้ขงจื่อโศกเศร้าอย่างมากเมื่อหุยเสียชีวิต ถึงขั้นคร่ำครวญว่า “โอ! สวรรค์ทำลายข้า! สวรรค์ทำลายข้า!” กระทั่งลูกศิษย์แปลกใจว่าเหตุใดอาจารย์จึงได้ฟูมฟายถึงเพียงนี้ เป็นการแสดงออกที่ล้นเกินหรือเปล่า ขงจื่อกลับตอบว่า “หากไม่คร่ำครวญเพื่อคนนี้ แล้วจะให้คร่ำครวญเพื่อใครกัน”

ในกรณีนี้ ความโศกเศร้าที่มากมายต่อบุคคลอันเป็นที่รักนับเป็นการกระทำที่เหมาะควร จึงชวนให้คิดว่า “เหมาะควร” นั้นไม่ได้หมายถึงการแสดงออกที่น้อยเสมอไป แต่คือการแสดงออกที่พอดีกับอารมณ์ความรู้สึกที่มีต่อคนผู้นั้นจริงๆ ไม่มากเกินจริง ไม่น้อยเกินจริง


ขงจื่อพยายามหาระเบียบวิธีบางอย่างที่สามารถทำให้ผู้คนในบ้านเมืองอยู่ด้วยกันได้อย่างกลมกลืน เมื่อจื่อก้งถามว่า “มีคำคำเดียวไหม สามารถเป็นหลักปฏิบัติไปตลอดชีวิต” ขงจื่อตอบว่า “ซู่ สิ่งใดตนไม่ปรารถนา สิ่งนั้นอย่าทำกับผู้อื่น”

ปรัชญาขงจื่อน่าสนใจตรงที่เป้าหมายและกระบวนการนั้นมีความยืดหยุ่น และต้องการการเรียนรู้ไปตลอดทาง มิได้ปักหมุดไว้ก่อนว่าสังคมจะต้องเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ หากแต่ดำเนินการ “คลำหา” และ “ผสมผสาน” วัตถุดิบเพื่อนำมาเป็นคำตอบว่าจะสร้างสังคมที่กลมกลืนขึ้นมาได้อย่างไร

มิใช่การไปให้ถึง “จุดหมาย” หากคือการสำรวจ “ระหว่างทาง” เพื่อหาคำตอบ

ระหว่างทางของสังคม ระหว่างทางของชีวิต

ด้วยเหตุนี้เองขงจื่อจึงสนใจในอารมณ์และความรู้สึกของมนุษย์ ไม่ได้ตั้งอุดมคติไว้ด้วยวิธีคิดแบบเหตุผลล้วนๆ ด้วยเหตุนี้เองคุณธรรมสำคัญสำหรับขงจื่อจึงเป็นความรักมนุษย์ คิดถึงจิตใจของคนอื่น ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพื่อหาวิธีที่จะอยู่ร่วมกับมนุษย์ให้ได้ดีที่สุด โดยมองมนุษย์เป็นสิ่งที่มีอารมณ์ รัก โลภ โกรธ หลง โศกเศร้า เสียใจ เราควรปฏิบัติต่อกันอย่างไร เราควรฝึกจิตใจ ฝึกการปฏิบัติตนต่อผู้อื่นที่มีความรู้สึกเช่นเดียวกันอย่างไร

มันคือการอยู่ร่วมกัน มิใช่นำเสนอโลกอุดมคติของฉันเท่านั้น

หากยังคิดว่าเราจะต้องอยู่ร่วมกัน หากเรายังอยากอยู่ร่วมกับมนุษย์ การคิดถึงความรู้สึกของผู้อื่นย่อมมีความสำคัญอย่างยิ่ง แม้ไม่เห็นด้วยต่อกัน เราจะปฏิบัติต่อกันด้วยท่วงทำนองแบบใด

หากไม่คิดถึงข้อนี้เสียแล้ว สังคมก็คงไม่ต่างจากบทเพลงสองเพลง สามเพลง สี่เพลง ที่บรรเลงซ้อนกันไปตลอดกาล สร้างท่วงทำนองที่ไร้ซึ่งความไพเราะ เต็มไปด้วยความขัดแย้ง รุนแรง ก้าวร้าว ดุดัน เพราะเจตนาของการส่งเสียงมิใช่เพื่อความสอดคล้อง หากเป็นการส่งเสียงเพื่อเอาชนะคะคาน แต่ละฝ่ายอาจคิดว่าเพลงของฉันดีที่สุด และเพลงอื่นควรเงียบเสียงไปซะ

ความรื่นรมย์ยินดีในชีวิตทางจริยธรรมของขงจื่ออยู่ที่คำกล่าวสั้นๆ สามวลี คือ “กระตุ้นเร้าด้วยกวีนิพนธ์ ตั้งมั่นด้วยหลี่ (จารีต) สำเร็จด้วยดนตรี”

 

อารมณ์ของมนุษย์ต้องได้รับการกระตุ้นเร้าให้คิดในเรื่องที่พอเหมาะพอดี ตั้งมั่นด้วยการปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับมนุษย์ผู้อื่นด้วยความรักในมนุษย์ ส่วนดนตรีนั้นคือภาพสะท้อนความกลมกลืนจากการใช้ความรู้และความคิดอย่างพอเหมาะพอดี การฝึกตนให้ปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมกับเพื่อนมนุษย์ เช่นกันกับการเล่นดนตรี เมื่อฝึกซ้อมมามากแล้ว “กฎ” ต่างๆ ก็จะกลายเป็นเนื้อเดียวกับชีวิตของผู้เล่นดนตรี แล้วผู้เล่นดนตรีก็จะไม่รู้สึกว่าตัวเองกำลังปฏิบัติตามกฎอีกต่อไป แต่เป็นการแสดงที่เป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติ

หากผู้คนในสังคมทำได้เช่นนั้น สังคมก็จะมีท่วงทำนองของเพลงที่บรรเลงได้อย่างสอดคล้องกลมกลืน (โดยไม่จำเป็นต้องกลมเกลียวกัน ไม่ต้องคิดเหมือนกัน แต่คิดถึงกันและกัน)

และแม้ว่าบ้านเมืองจะยังไปไม่ถึงจุดนั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องสูญเสียความรื่นรมย์ในชีวิตไป เพราะระหว่างนั้นเราก็กำลังเรียนรู้ร่วมกันอยู่ตลอดเวลาเพื่อหาท่วงทำนองนั้น ฉะนั้น อย่าได้หวั่นไหว

ด้วยเหตุนี้ ขงจื่อจึงกล่าวว่า “ผู้รู้ไม่เท่าผู้รัก ผู้รักไม่เท่าผู้รื่นรมย์”

ความรู้สึกรื่นรมย์เป็นสิ่งสำคัญยิ่งบนเส้นทางของการหาคำตอบเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนกับเพื่อนมนุษย์

หนังสือประกอบการเขียน

อารมณ์กับชีวิตที่ดีในปรัชญาขงจื่อ โดย สุวรรณา สถาอานันท์