ในประเทศ : สำรวจข้อเสนอ “พิเชษฐ” ผนึก “ประชาธิปัตย์” – “เพื่อไทย” เข็น “ตาชวน” สู้ “ลุงตู่”

เปรี้ยงปร้างอยู่พอสมควร เมื่อจู่ๆ นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ก็ออกมาชวนพรรคไม้เบื่อไม้เมาอย่างพรรคเพื่อไทย ลั่นสัจจะ “ไม่เอานายกฯ คนนอก” โดยนายพิเชษฐประกาศว่า ต่อไปการเมืองจะต้องวางรากฐานให้แข็งแรง นักการเมืองต้องจับมือกันเพื่อร่วมมือแก้ปัญหา เมื่อดูจากรัฐธรรมนูญใหม่ที่เอื้อให้มีนายกฯ คนนอก

แม้จะไม่รู้อนาคตว่า 2 พรรคใหญ่ คือ เพื่อไทยและประชาธิปัตย์ จะประกาศจุดยืนไม่เอานายกฯ คนนอกหรือไม่?

แต่นายพิเชษฐออกตัวทันทีว่า ส่วนตัวจะประกาศก่อนเลือกตั้งว่าจะไม่เอาคนนอก แต่ไม่รู้ว่าพรรคประชาธิปัตย์กับเพื่อไทยจะเอาอย่างไร แถมยังยกบทเรียนสมัย พล.อ.สุจินดา คราประยูร อดีตนายกฯ มาเป็นแนวทางต่อสู้

“ที่มีคนคัดค้านนายกฯ คนนอก ผมเคยเห็นว่ามีกองทัพประชาชนตะโกนว่า “บิ๊กสุ” ออกไป สาเหตุการนองเลือดคนตายไปเยอะเเยะมาจากอะไร ทุกคนรู้ดี คำตอบคือ พล.อ.สุจินดาไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และเสียสัตย์” นายพิเชษฐกล่าว

แต่ถึงกระนั้น กระแสข่าวนี้กลับไม่มีคนในพรรคประชาธิปัตย์ออกมาเต้นแก้ข่าวแต่อย่างใด เพราะเรื่องนี้แว่วข่าวมาว่า ผู้ใหญ่ในพรรคก็สั่งบรรดาสมาชิกปิดปากเงียบ ห้ามพูด หรือให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ความเห็นเลยไม่มีหลุดออกมา จนชนิดยกหูหาใครเพื่อสอบถามเรื่องดังกล่าวเป็นอันขอตัวกันทุกราย

ขณะที่ฝั่งพรรคเพื่อไทยเอง สมาชิกพรรคบางคนอย่างนายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย และอดีตคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล ตอบแบบแบ่งรับแบ่งสู้ว่า อะไรก็เป็นไปได้ เพราะการเมืองไม่แน่นอน ในเมื่อนักการเมืองมาจากระบอบประชาธิปไตยก็ต้องการนายกฯ ที่มาจากผู้แทนราษฎร ส่วนนายกฯ คนนอกจะมาก็ต่อเมื่อเลือกนายกฯ ครั้งแรกไม่ลงตัว ซึ่งนายกฯ คนนอกต้องมาจากการเสนอชื่อของ ส.ส. เช่นกัน และเชื่อว่าจะเป็นการเสนอชื่อจากพรรคขนาดเล็ก

“หากเราไม่รักษาระบอบประชาธิปไตยเอาไว้ เราก็จะไม่มีที่ยืนในระบอบประชาธิปไตยเช่นกัน ขณะนี้เองนักการเมืองก็ไม่มีที่ยืนอยู่แล้ว หากฝ่ายการเมืองยังมีทิฐิ ประชาชนจะทำโทษนักการเมืองเอง เพราะประชาชนอยากได้ผู้แทนฯ ที่เข้ามาพัฒนาบ้านเมือง ตนคิดว่าอะไรที่ลดราวาศอกได้ก็ขอให้ลด อะไรที่ผ่านไปแล้วก็ขอให้ผ่านไป ขอให้ยึดบ้านเมืองเป็นหลัก ทำอย่างไรที่จะพัฒนาบ้านเมืองให้มีความเจริญรุ่งเรือง ซึ่งนี่คือหลักการของประชาธิปไตยที่เราอาสาเข้ามาทำงานตรงนี้” นายอำนวยกล่าว

แต่ใช่ว่าทุกคนจะเห็นตรงกันเสียหมด แกนนำพรรคเพื่อไทยบางส่วนก็เห็นตรงกันข้าม บางคนบอกเป็นไปไม่ได้แน่นอน

เพราะ หนึ่ง พรรคประชาธิปัตย์กับเพื่อไทยเองคงไม่คิดจะมาจับมือกันอย่างแน่นอน

และสอง ต่อให้เพื่อไทยกับประชาธิปัตย์มาจับมือกัน เสียงที่ได้ก็ไม่เพียงพอต่อการตั้งรัฐบาล หรือดันนายกฯ ที่มาจากพรรคใด เพราะตามกติกาใหม่เป็นไปได้ยากที่จะมีพรรคใดได้เลือกนายกฯ ของตัวเอง

ดังนั้น อย่างไรเสีย การเลือกตั้งครั้งที่จะมาถึง ทั้งประชาธิปัตย์และเพื่อไทยเองก็คงหนีชะตา “ฝ่ายค้าน” ไปไม่พ้น

แบบนี้จึงไม่มีประโยชน์อะไรที่จะต้องมาจับมือกัน

อย่างไรก็ตาม ทั้งฝั่งประชาธิปัตย์และเพื่อไทย ต่างก็มีจุดยืนอันหนึ่งที่ตรงกัน นั่นก็คือ ไม่ว่าจะอย่างไร ทั้งประชาธิปัตย์และเพื่อไทยก็จะไม่ไปร่วมสังฆกรรมกับรัฐบาลที่มีนายกฯ จากคนนอก แม้ทางฝั่งประชาธิปัตย์จะไม่ออกมาพูดฟันธงชัดเจนอย่างฝั่งเพื่อไทย แต่ท่าทีของหลายคนก็ชัดมาในทางนี้

ส่วนเรื่องที่ว่าจะมีการจับมือกันแล้วหนุนนายชวน หลีกภัย อดีตนายกฯ ขึ้นสู้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายไชยวัฒน์ ไตรยสุนันท์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และเพื่อน นายชวน หลีกภัย ออกมาสวนกลับเลยว่า เรื่องนี้เป็นการก้าวล่วงต่อพรรคประชาธิปัตย์ เข้าข่ายหวังดีประสงค์ร้าย ที่จะทำให้คนในพรรคประชาธิปัตย์มีความเห็นต่างในเรื่องตัวบุคคล

และยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่มีวินัย ไม่มีความเห็นที่แตกแยกขัดแย้งกันเองแน่นอน

ขณะที่ฝั่งเพื่อไทยก็ได้แต่มึนงง และถามกันเองว่าใครคือคนให้ข่าวนี้? ขณะที่นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย และคณะทำงานติดตามการยกร่างรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทย ย้ำชัดๆ เลยว่า เรื่องดังกล่าวไม่ใช่แนวความคิดของพรรคเพื่อไทย และไม่ควรจะคิดแบบนั้น เพราะต่างฝ่ายต่างควรเสนอตัวบุคคลของตนให้ประชาชนในสนามเลือกตั้ง แล้วให้ประชาชนเป็นคนตัดสิน ไม่ควรไปชี้นำหรือคิดแทนประชาชน

“เราต้องยอมรับกันให้ได้ก่อนว่าพรรคนั้นๆ ประชาชนเขาให้ความไว้วางใจมากที่สุด แม้ไม่ได้เสียงข้างมากแบบเด็ดขาด เพราะขณะนี้แม้ได้เสียงข้างมากเด็ดขาด แต่ถ้าไม่ร่วมมือกันก็ไม่สามารถที่จะได้คนที่มาจากพรรคการเมืองได้ เพราะครั้งนี้เลือกในรัฐสภาซึ่งจะมีสมาชิกวุฒิสภามาเกี่ยวข้องด้วย ถ้าฝ่ายประชาธิปไตย ก็คือพรรคการเมืองมาร่วมมือกัน คนนอกก็ไม่สามารถมาเป็นนายกฯ ได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับกระแสที่ว่าจะดันนายชวนที่บอกว่ามาจากฝั่งเพื่อไทยนั้น ผมคิดว่าไม่น่าจะมี ถ้ามีก็คงถูกวิพากษ์วิจารณ์กันไปแล้วในพรรค ไม่มีทางหรอกที่จะไปเสนอแนวคิดเช่นนี้ได้ เพราะเป็นการดูถูกประชาชนตั้งแต่ต้น”

นายสามารถยังบอกด้วยว่า หากทุกพรรคการเมืองเคารพในหลักการประชาธิปไตยว่าอำนาจเป็นของประชาชน ทุกฝ่ายก็จะยอมรับให้คนของพรรคนั้นที่ได้มีการเสนอชื่อไว้มาเป็นนายกฯ ซึ่งหากยึดหลักการนี้ก็สามารถที่จะเดินไปตามครรลองประชาธิปไตยที่จะไม่เอาคนนอกมาเป็นนายกฯ และสุดท้ายไม่ว่าจะประชาธิปัตย์หรือเพื่อไทย หากใครได้เสียง ได้ที่นั่งในสภามากกว่ากัน ก็ยินดีที่จะสนับสนุนให้คนของพรรคนั้นที่เสนอชื่อไว้เป็นนายกฯ

สุดท้ายนี้แม้ทั้งสองพรรคจะจับมือกันไม่เอานายกฯ คนนอก แต่ในเมื่อประชาธิปัตย์หน้าฉากยังนิ่งต่อข้อเสนอดังกล่าวของคนพรรคตัวเอง ขณะที่เพื่อไทยเองก็แบ่งรับแบ่งสู้ และย้ำชัดแล้วว่าคงจะไม่มีการดันนายหัวชวนขึ้นแท่นนายกฯ คนนอกอย่างที่มีกระแสอย่างแน่นอน แต่ใครเล่าจะรู้อนาคต

นาทีนี้ก็คงพูดได้เพียงว่า ทุกอย่างต้องจับตามองกันต่อไป