ถนนที่ชื่อแบรสต์ | มองบ้านมองเมือง

ปริญญา ตรีน้อยใส
ภาพประกอบ : ถนนแบรสต์ (เจริญกรุง 36, เขตบางรัก) / เจ้าของภาพ : Chainwit. / commons.wikimedia.org

ถนนที่ชื่อแบรสต์

 

แทบจะไม่มีใครรู้จัก หรือรู้ว่ามีถนนที่ชื่อ แบรสต์ (Brest) ในเมืองไทย หรือในกรุงเทพฯ เพราะชื่อในระบบถนนของกรุงเทพมหานคร คือ ถนนเจริญกรุง 36 ในย่านบางรัก

อีกทั้งเป็นถนนขนาดเล็กๆ สั้นๆ เป็นซอยแยกจากถนนเจริญกรุง ไปจนถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ความยาวถนนไม่ถึงสองร้อยเมตร

ในซอยเล็กๆ นี้ ตรงพื้นที่สุดซอยติดแม่น้ำ ด้านหนึ่งจะเป็นที่ตั้งของสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย

ส่วนอีกด้านหนึ่ง เดิมทีเป็นอาคารศุลกสถาน ต่อมาเปลี่ยนเป็นที่ทำการป้องกันอัคคีภัยทางน้ำ และที่พักของเจ้าหน้าที่และครอบครัว

ก่อนโควิดจะมา กรมธนารักษ์ให้สิทธิ์ภาคเอกชนเข้าใช้ประโยชน์ โดยวาดฝันว่าจะเป็นโรงแรมหรูระดับหกดาว ถึงตอนนี้ โควิดกำลังจะไป ก็ยังไม่มีข่าวความก้าวหน้าของโครงการแต่อย่างใด

ในอดีต ย่านบางรักเป็นถิ่นของชาวตะวันตก จึงมีทั้งบ้านพัก สถานทูต ที่ทำการบริษัทข้ามชาติ ร้านค้าขายสินค้าต่างประเทศ ธนาคาร โรงงาน โดยเฉพาะโรงเลื่อย ท่าเรือและคลังสินค้า รวมทั้งโรงแรม และโรงเรียน

ในปัจจุบันเหลือแต่สถานทูตฝรั่งเศสและโปรตุเกสเท่านั้นที่ยังอยู่ ประเทศอื่นทยอยย้ายไปอยู่ที่อื่น เช่นเดียวกับธนาคาร ร้านค้า บริษัท โรงงาน โรงเลื่อย ท่าเรือและคลังสินค้า เลยเหลือแต่โรงแรมที่กลายเป็นโรงแรมหรู และโรงเรียนหรูเท่านั้น

 

สําหรับนามถนนแบรสต์นั้น มีที่มาจากชื่อเมืองท่าสำคัญ ทางฝั่งแอตแลนติกของฝรั่งเศส คือเมืองแบรสต์ (Brest) เมืองนี้เป็นเมืองสำคัญ ในประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา เมื่อครั้งที่คณะราชทูตของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเดินทางไปเชื่อมสัมพันธไมตรีกับราชอาณาจักรฝรั่งเศส และถวายเครื่องบรรณาการแด่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่พระราชวังแวร์ซายส์นั้น การเดินทางจากสยาม โดยเรือสินค้าฝรั่งเศส ใช้เวลานานกว่าหกเดือน กว่าจะไปขึ้นฝั่งที่ท่าเรือเมืองแบรสต์ เมื่อสามร้อยกว่าปีมาแล้ว

เมื่อ พ.ศ.2556 มีการประกาศชื่อถนนแบรสต์ ในกรุงเทพฯ ประเทศไทย เพื่อให้เป็นถนนคู่กันกับถนนสยาม Rue de Siam ในเมืองแบรสต์ ประเทศฝรั่งเศส ด้วยมุ่งหวังให้เป็นแหล่งอ้างอิงถึงเหตุการณ์ครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์ไทยในสมัยอยุธยา ที่ราชอาณาจักรสยามแสดงบทบาทสำคัญในภูมิทัศน์ทางการเมืองระหว่างประเทศ ในช่วงเวลาแห่งการล่าอาณานิคมของประเทศตะวันตก

ถ้าใครมีโอกาสผ่านไปย่านบางรักและเจริญกรุง ที่เป็นย่านหรูหราราคาแพง สำหรับกลุ่มหลังสงครามและเบบี้บูมเมอร์ หรือย่านที่กำลังเป็นไวรอล สำหรับกลุ่มเจนทั้งหลาย

อยากให้แวะไปมองถนนแบรสต์ เพื่อจะได้รู้ จะได้เข้าใจ ว่าบ้านเมืองไทยที่อาศัยอยู่ และเป็นอยู่ในวันนี้ มีอะไรเกิดขึ้นบ้างในวันวาน •

 

มองบ้านมองเมือง | ปริญญา ตรีน้อยใส