นิ้วกลม : จวงจื่อ… ‘โลกวุ่นเพราะคนอยากเปลี่ยนโลก’

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

หากขงจื่อคือผู้เจตนาดียื่นมือเข้าเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง จวงจื่อย่อมเป็นคุรุอีกประเภท

จวงจื่อเกิดที่เหมิ่ง-เมืองเล็กๆ รอยต่อระหว่างซานตงและเหอหนาน แซ่จวง ชื่อโจว เคยรับราชการเป็นเจ้าพนักงานสวนต้นรัก

ความสามารถของจวงจื่อขจรขจายไปถึงเจ้าแค้วนฉู่ จึงส่งของขวัญมาเพื่อชวนจวงจื่อไปเป็นเสนาบดี จวงจื่อจดจ่ออยู่ที่เบ็ดตกปลาเอ่ยกับท่านทูตว่า

“เราเคยได้ยินว่าในแคว้นฉู่ มีเต่าศักดิ์สิทธิ์อยู่ตัวหนึ่ง ซึ่งตายไปแล้วกว่าสามพันปี องค์กษัตริย์ได้ห่อเต่านั้นไว้อย่างดี เก็บไว้ในกล่องวางบนที่สูงในห้องโถงภายในวิหารบรรพบุรุษ ท่านคิดว่าเต่าตัวนั้นอยากตายแล้วมีคนมาบูชากระดองของมัน หรือเต่าอยากมีชีวิตกระดิกหางอยู่ในโคลนตม”

“เต่าคงอยากมีชีวิตและกระดิกหางอยู่ในโคลนตมมากกว่า” ท่านทูตตอบ

“ถ้าอย่างนั้นก็ขอเชิญท่านกลับไปได้ ปล่อยเรากระดิกหางในโคลนตมต่อไปเถิด”


เรื่องเล่านี้สะท้อนบุคลิกและปรัชญาของจวงจื่อชัดเจน ความแตกต่างอย่างยิ่งคือจวงจื่อไม่คิดว่าตนควรเข้าไปข้องแวะกับกิจการบ้านเมือง ด้วยไม่คิดว่าเส้นทางนั้นจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ดีงาม หรือนำไปสู่เต๋า

ขณะที่ขงจื่อเสนอว่าไม่ควรหลีกลี้ไปจากปัญหาบ้านเมือง เพราะการวางเฉยนั้นยิ่งทำให้บ้านเมืองย่ำแย่ จวงจื่อกลับเสนอว่าโลกไร้เต๋าเพราะผู้คนนี่เองที่ทำให้วุ่นวาย

ในคัมภีร์จวงจื่อกล่าวว่า

“สองนิ้วเชื่อมประสานกันด้วยเยื่อพังผืด นิ้วที่หกงอกเกินมา สิ่งที่เกิดตามธรรมชาติ แต่กลับกลายเป็นส่วนเกิน เมื่อนำคุณธรรมมาตัดสิน

“ผู้ที่เคร่งครัดเกินไปในวิถีแห่งมนุสสธรรมและครรลองธรรม ทั้งพยายามนำสิ่งเหล่านี้มาถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด กระทั่งผนึกเข้ากับคุณธรรมห้าประการอันเป็นหลักในการดำเนินชีวิต (มนุสสธรรม ความเหมาะสม ศรัทธาความดีงาม ความถูกต้อง และปัญญา) นี่ย่อมไม่ใช่หนทางที่ถูกต้องในการบรรลุเต๋าและคุณธรรมแห่งเต๋า”

จวงจื่อมองว่าผู้เคร่งครัดทั้งหลาย แม้ปรารถนาดีเพียงใดก็ตาม ล้วนแล้วแต่พยายามใช้เครื่องมือวัดที่ตนเองเชื่อถือมาตัดสินและจำแนกความถูกผิดของผู้คนในสังคม และถกเถียงวิวาทะกันเพื่อเอาชนะ หาคำตอบว่าควรยึดถือในหลักการใด เหล่านี้ล้วนแล้วแต่สร้างความป่วยไข้ให้กับโลก

“ผู้เปี่ยมมนุสสธรรมแห่งยุคสมัยต่างฉายแววตาแห่งความวิตกกังวลต่อความป่วยไข้ของโลก ขณะที่ผู้ไร้มนุสสธรรมต่างฉีกธรรมชาติดั้งเดิมของตน ด้วยความทะยานอยากโหยหาชื่อเสียงและความมั่งคั่ง…โลกก็เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย ถกเถียงโต้แย้งกันทางความคิดไม่รู้จบสิ้น”

เมื่อมี “สิ่งดีงาม” จึงต้องต่อสู้กันเพื่อ “สิ่งดีงาม” ในแบบของแต่ละคน

“ผู้คนต่างละทิ้งธรรมชาติดั้งเดิมไปเพราะสิ่งภายนอก ผู้คนสามัญต่างเสี่ยงชีวิตเพื่อผลประโยชน์ เหล่าขุนพลต่างเสี่ยงชีวิตเพื่อชื่อเสียง เหล่าขุนนางชั้นสูงต่างก็เสี่ยงชีวิตเพื่อวงศ์ตระกูล หมู่ปราชญ์นั้นเล่าก็เสี่ยงชีวิตเพื่อโลก ผู้คนหลากหลายชนชั้นเหล่านี้ต่างดำเนินชีวิตตามวิถีทางที่แตกต่างกันไป และต่างได้รับการยกย่องด้วยอาการต่างๆ ทว่า มีสิ่งที่เหมือนกันคือ ต่างทำลายธรรมชาติดั้งเดิมลงและพร้อมที่จะสังเวยชีวิตเพื่อบางสิ่งบางอย่าง”

หากเสี่ยงชีวิตเพื่อครรลองธรรมก็ได้รับการยกย่อง หากเสี่ยงชีวิตเพื่อผลประโยชน์และความมั่งคั่งก็ถูกประณามเป็นคนต่ำช้า จวงจื่อกลับมองว่าคนทั้งสองประเภทนี้ไม่ต่างกัน เพราะต่างไม่ได้ดำเนินชีวิตไปตามธรรมชาติดั้งเดิมที่แท้ของตน

แล้วธรรมชาติที่ว่านั้นคืออะไร

จวงจื่ออธิบายว่า “ในยุคแห่งคุณธรรมที่แท้ ผู้คนต่างเชื่องช้าเรื่อยเปื่อย ดวงตาแน่วนิ่งและอ่อนโยน ในยุคนั้นตามเทือกเขายังไร้เส้นทางหรือรอยเท้า ทะเลสาบธารน้ำยังไร้เรือหรือสะพาน สรรพชีวิตต่างดำรงอยู่คละเคล้าเคียงกัน ปักหลักถิ่นฐานเคียงใกล้

ไม่มีใครรู้จัก “วิญญูชน” หรือ “คนต่ำช้า” เชื่องช้าและไร้เป้าหมาย มนุษย์ล้วนไร้ความรู้ ดังนั้น คุณธรรมจึงไม่เลือนหายไปจากพวกเขา พวกเขาล้วนไร้ความปรารถนา นี่เรียกว่าความเรียบง่ายตามธรรมชาติ ในความเรียบง่ายนี้ผู้คนจึงสามารถรักษาธรรมชาติที่แท้ของตน

และแล้วก็มีปราชญ์ ดิ้นรนไล่คว้ามนุสสธรรม เขย่งเท้าไขว่คว้าครรลองธรรม โลกจึงเริ่มเกิดความสงสัย ขับขานเคลิบเคลิ้มในเสียงดนตรี ประดิดประดอยพิธีกรรม และโลกก็เริ่มถูกแบ่งแยก”

ความผิดพลาดของปราชญ์ในทัศนะของจวงจื่อคือการทำลายเต๋าด้วยครรลองธรรม

คือการกำหนดความถูกต้องขึ้นมาในโลก

 

มองในมุมผู้คนที่ต้องการกำหนดโลก อาจสงสัยจวงจื่อว่า-ถ้าเช่นนั้นแปลว่าไม่ต้องทำอะไรกับโลกใบนี้เลยหรือ

จวงจื่อคงตอบว่า “ใช่แล้ว”

เพราะสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับจวงจื่อคือ “อกรรม” หรือการไม่กระทำ เมื่อไม่กระทำก็จะดำรงตนอยู่ในธรรมชาติของตนเอง ไม่วุ่นวายทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

เคยมีคนถามเหลาจื่อ (คุรุเต๋าอีกท่าน) ว่า “หากไม่ปกครองโลก จะกล่อมเกลาจิตใจมนุษย์อย่างไร”

เหลาจื่อตอบว่า “ระวังอย่าได้เข้ายุ่งเกี่ยวจัดการกับจิตใจมนุษย์ จิตของมนุษย์นั้นสามารถกดให้ต่ำลงหรือยกให้สูงขึ้น แต่การขึ้นและลงเช่นนี้จะนำความตายมาสู่จิตใจ”

ในคัมภีร์จวงจื่ออธิบายความวุ่นวายที่เกิดขึ้นจากการกระทำไว้ว่า

“ล่วงมาถึงยุคสามราชวงศ์ โลกก็ตกอยู่ในวิกฤตวุ่นวาย ต่ำสุดมีผู้คนอย่างทรราชเจี๋ยและมหาโจจื๋อ สูงสุดมีผู้คนอย่างเจิงและสื่อ ทั้งยังมีพวกขงจื่อและมั่วขื่อดาษดื่นไปทั่ว จากนั้นความสุขสำราญและความโกรธเคืองต่างก็จ้องมองกันด้วยความหวาดระแวง ความโง่เขลาและความชาญฉลาดต่างหลอกลวงกัน ความดีและความเลวต่างตั้งสมญานามต่างๆ ขึ้นมาประณามกัน ความเท็จและความจริงต่างประหัตประหารกัน และโลกก็จมดิ่งสู่ความเสื่อมถอย ไม่มีเอกภาพของคุณธรรมที่แท้อีกต่อไป ธรรมชาติดั้งเดิมและชะตาต่างแตกกระจายแหว่งวิ่น เมื่อโลกมุ่งแต่แสวงหาความรู้และชนเผ่านับร้อยก็ถลำสู่ความวุ่นวาย”

 

ช่นนี้เอง จวงจื่อจึงถามหา “มนุษย์ที่แท้” ผู้ที่ดำเนินชีวิตไปตามเต๋า

“มนุษย์ที่แท้แต่โบราณไม่ต่อต้านความขัดสน ไม่ลิงโลดยินดีในความมั่งคั่ง และไม่วางแผนการ มนุษย์เยี่ยงนี้อาจกระทำผิดทว่าไม่เศร้าเสียใจ อาจประสบความสำเร็จ ทว่าไม่ลำพอง มนุษย์เยี่ยงนี้อาจป่ายปีนสู่ที่สูงชันและไม่หวาดหวั่น อาจโจนสู่นทีและไม่เปียกปอน อาจเข้าสู่กองเพลิงและไม่มอดไหม้ ความรู้ของเขาอาจนำไปสู่มรรคาแห่งเต๋าด้วยอาการดังนี้

เขานอนหลับโดยไม่ฝันและตื่นขึ้นโดยไม่วิตกกังวล เขากินอาหารโดยไม่ใส่ใจในรสชาติ ไม่พิสมัยชีวิต ไม่เกลียดชังความตาย เขาถือกำเนิดอย่างปราศจากความยินดี และกลับคืนไปอย่างไม่เศร้าอาลัย พึงพอใจกับสิ่งที่ได้รับแล้วหลงลืมมัน มอบมันกลับคืนไป”

“อย่าใช้ใจทำลายเต๋า อย่าใช้มนุษย์ไปช่วยฟ้า นี่คือสิ่งที่ข้าพเจ้าเรียกว่า มนุษย์ที่แท้”

แม้วิถีของจวงจื่อจะเสนอให้เร้นกายและไม่กระทำเพื่อนำโลกกลับสู่เต๋า ซึ่งต่างกับวิถีของขงจื่อที่เสนอให้คลำหาคุณธรรมที่สามารถยึดถือร่วมกันได้เพื่อความสุขสงบของบ้านเมือง กระนั้นทั้งสองวิถีก็ยังมีจุดสำคัญร่วมกัน นั่นคือความสุขของตนเอง

จวงจื่อกล่าวว่า “ผู้ที่ปลาบปลื้มในการนำความสำเร็จสู่สิ่งต่างๆ นั้น มิใช่ปราชญ์ ผู้ที่มีความผูกพันนั้น มิใช่ผู้มีมนุสสธรรม ผู้ที่เฝ้ามองหาโอกาสนั้น มิใช่ผู้มีปัญญา ผู้ที่ไม่อาจยอมรับการได้และการสูญเสียนั้น มิใช่วิญญูชน ผู้ที่แสวงหาชื่อเสียงจนหลงผิดนั้น มิใช่ผู้ได้รับการศึกษากล่อมเกลา และผู้ซึ่งทำลายตนเองและปราศจากสัจจะนั้น มิใช่ผู้สามารถทำคุณประโยชน์แก่มนุษย์ ทั้งหมดนี้ ล้วนอุทิศตัวรับใช้ผู้อื่น สร้างความสุขแก่ผู้อื่น แต่ไม่อาจค้นพบความสุขของตัวเอง”

สำหรับจวงจื่อแล้ว ต่อให้ทำในสิ่งที่ดีงาม แต่ถ้ามุ่งหวังความสำเร็จ รังเกียจความล้มเหลว ยึดถือสิ่งที่ตนเชื่อถือศรัทธาเกินไปเสียจนสูญเสียความสามารถในการมีความสุข ก็มิใช่แนวทางที่พึงปฏิบัติ เพราะสิ่งนั้นเป็นวิถีทางที่ขัดแย้งกับวิถีแห่งฟ้า

วิถีแห่งฟ้า-ซึ่งควบคุมไม่ได้

 

มนุษย์ที่แท้สำหรับจวงจื่อนั้นต้องเป็นหนึ่งกับทุกสิ่ง ทั้งสิ่งที่ชอบและสิ่งที่ไม่ชอบ ล้วนแล้วแต่เป็นหนึ่งเดียวกันกับตัวเขา กับชีวิตของเขา ไม่ผลักไสปฏิเสธ ไม่ไขว่คว้ามาโอบกอด คนเช่นนี้จึงเป็นมิตรสหายแห่งฟ้า ไม่พยายามฝืนวิถีแห่งฟ้า

เมื่อมนุษย์และฟ้าไม่ขัดแย้งต่อสู้กัน คนผู้นั้นจึงเป็นมนุษย์ที่แท้

ในโลกที่เต็มไปด้วยผู้คนที่พยายามควบคุมผู้อื่น โน้มน้าวความคิด เปลี่ยนแปลงบ้านเมือง รวมถึงจัดระเบียบเพื่อปกครอง จึงสับสนอลหม่าน เพราะมิได้ดำเนินไปตามวิถีแห่งฟ้า มิได้เป็นไปตามธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์ แต่ขับเคลื่อนไปด้วยความแบ่งแยก จัดประเภท ถูกผิด ลำดับขั้น ฝักฝ่าย ดีเลว จึงต้องถกเถียงและรบรากันเพื่อให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะ จึงไร้ซึ่งความประสานกลมกลืนกันในวิถีแห่งเต๋า

มองด้วยสายตาของคนยุคปัจจุบัน “มนุษย์ที่แท้” ของจวงจื่อจึงไม่ต่างจากความฝันในโลกสวย กระนั้นอุดมคติที่จวงจื่อเสนอขึ้นมาก็น่าไตร่ตรองว่าการเกาะกุมความดีงามส่วนตัวและมุ่งหวังเปลี่ยนแปลงสังคมให้ได้อย่างใจนั้นนำพาเราไปสู่สิ่งใด

น้อยคนนักที่จะฟังถ้อยเสนอของจวงจื่อ จึงไม่แปลกที่เขาเลือกที่จะสุขสำราญอยู่ในบ่อเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยโคลนตม

ไม่คิดจะเปลี่ยนโลก

เพียงดำเนินชีวิตไปตามวิถีของ “มนุษย์ที่แท้”