ธุรกิจพอดีคำ : “แอนดิส”

เทือกเขาแอนดีส บริเวณประเทศชิลี

ในปี 1972

เครื่องบินโดยสารลำหนึ่ง ออกจากประเทศอุรุกวัย บินผ่านน่านฟ้า เทือกเขา แม่น้ำ

จุดมุ่งหมายคือ ประเทศชิลี

เครื่องบินเสียการควบคุม ชนกับยอดเขายอดหนึ่งของเทือกเขา “แอนดิส”

เครื่องบินตกลงบนไหล่เขา แรงกระแทกแยกเครื่องบินออกเป็นสองส่วน

ไถลลงมาจากไหล่เขา ระยะทางเกือบสองร้อยเมตร ท่ามกลางหิมะและอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง

ถนนตัดผ่านเทือกเขาแอนดีส อยู่ระหว่างประเทศชิลีและอาร์เจนตินา

นี่คือจุดเริ่มต้นบันทึกสำคัญของผู้รอดชีวิตจากแรงกระแทก 33 คน กับอีก 72 วันที่ต้องต่อสู้กับความหิวโหย ภูมิอากาศ การเดินทาง การอยู่รอด อารมณ์ ความรู้สึก ตรรกะ

ท้ายสุด มีผู้รอดชีวิตมาได้เพียง 14 คนเท่านั้น

เมื่อได้มีการสอบถามว่า เหตุการณ์เป็นอย่างไร

อะไรทำให้ 14 คนนี้รอดชีวิต

คำตอบที่ร้อยเรียงเรื่องราวของคนเหล่านี้ไว้ด้วยกัน

มีเพียงหนึ่งเดียว…

หนังสือเล่มล่าสุด ที่ผมได้มีโอกาสอ่านระหว่างเดินทางไปทำงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีชื่อว่า Option B (ทางเลือกที่สอง)

เขียนโดย “เชอร์ริล แซนด์เบิร์ก (Sheryl Sandberg)”

ผู้บริหารหญิงที่โด่งดังจากบริษัท Facebook

ผู้หญิงแกร่งอันดับต้นๆ ของโลก ที่ “หญิงสาว” มากมายนับถือให้เป็น “แบบอย่าง”

เรื่องราวเริ่มต้นของหนังสือเล่มนี้ มีอยู่ว่า

“11 ปีหลังจากฉันได้แต่งงานกับเดฟ

เราได้มีโอกาสไปเที่ยวเม็กซิโกด้วยกัน

ฉันจำได้ว่า เผลอหลับไประหว่างที่กำลังเล่นไพ่กับเพื่อนๆ

พอตื่นขึ้นมาไม่เจอใคร

ฉันออกมาด้านนอก ลงว่ายน้ำเล่นกับเพื่อนๆ

เดฟคงจะกำลังไปออกกำลังกายในยิม

เมื่อเล่นน้ำเสร็จแล้ว ฉันกลับขึ้นไปบนห้องเพื่ออาบน้ำ

เดฟไม่อยู่ที่ห้อง ลูกๆ ของฉันกลับมาพอดี

อาบน้ำเสร็จแล้ว ฉันลงไปที่ชั้นล่างของบ้านพัก

ออกไปที่ชายหาด เจอกลุ่มเพื่อนๆ

เดฟไม่อยู่ตรงนั้น

ฉันตะโกนถามเพื่อนๆ ด้วยความใจคอไม่ดี

“ยิมที่ออกกำลังกาย อยู่ตรงไหนนะ”

ทุกคนชี้ไปที่ชั้นล่างของตึกใกล้ๆ

ฉันวิ่งไปถึง ภาพที่อยู่ตรงหน้าคือ เดฟนอนแน่นิ่งกับพื้นข้างๆ เครื่องวิ่ง

เดฟหยุดหายใจไปแล้ว”

หนังสือเล่มนี้ ไม่ใช่หนังสือ “ธุรกิจ”

แต่เป็นหนังสือที่ “เชอร์ริล” เขียนบอกเล่าเรื่องราว

ประสบการณ์การสูญเสีย “สามี” ของเธอ

และการกลับมายืนอีกครั้ง “เพื่อลูกๆ”

เธอเขียนร่วมกับ “อดัม แกรนต์ (Adam Grant)” ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาชื่อดังจากโรงเรียนธุรกิจระดับโลก “วอร์ตัน (Wharton)”

ผู้ซึ่งให้คำปรึกษาเชอร์ริล เป็นเวลาเกือบสองปี ในการผ่านช่วงเวลาร้ายๆ ของชีวิต

ในช่วงเดือนแรกๆ นั้น เชอร์ริลไม่เป็นอันทำงานเลยก็ว่าได้

เธอเล่าว่า “เพื่อนๆ ที่เฟซบุ๊ก” จะมีพฤติกรรมอยู่สองแบบ

พวกแรก คือ คนที่ไม่กล้าคุยกับเธอ

เจอกันก็ทักทายตามประสา “เป็นอย่างไรบ้าง เชอร์ริล”

แม้ว่าลึกๆ แล้ว เชอร์ริลเข้าใจว่า ก็ไม่แปลกหรอก ที่คนส่วนใหญ่จะไม่รู้จะเริ่มต้นคุยกับเธออย่างไร

ซึ่งเธอเองก็รู้สึกว่า มันยิ่งทำให้ “อาการซึมเศร้า” ของเธอแย่ลงไปอีก

แต่ก็มีเพื่อนอีกประเภทหนึ่ง ที่กล้าคุยกับเธอแบบเปิดเผย

ถามเธอละเอียดว่า “เธอรู้สึกอย่างไรบ้าง” แสดงความเห็นอกเห็นใจ

ซึ่งเวลาได้คุยกับคนประเภทนี้ เธอจะรู้สึกดี และสร้างความสัมพันธ์กับคนเหล่านั้นได้อย่าง “แน่นแฟ้น” มากขึ้น

ทำให้ “การทำงาน” ร่วมกันได้ดีมากขึ้น

เกิดความ “ไว้เนื้อเชื่อใจ”

ในภาษาของทางจิตวิทยาเรียกว่า “ช้างตัวใหญ่” ได้มีการพูดถึง

ช้างตัวใหญ่ บอกถึง “อารมณ์” ที่สื่อถึงบรรยากาศในการพูดคุย

เรื่องแบบนี้ หลายๆ ท่านคงจะเคยมีประสบการณ์คล้ายๆ กัน เวลา “ประชุม” กับทีมงาน

เช่น เวลา “หัวหน้า” ถามว่า “มีใครมีความคิดอะไรใหม่ๆ มั้ย”

เพื่อนๆ เรา ลูกน้องทั้งหลาย หันซ้าย หันขวา

รู้ว่ามี “ความคิด” บางอย่าง แต่ไม่กล้าพูดออกมา

ก็เพราะ “ช้างตัวใหญ่” ไม่ได้รับการพูดถึง

ช้างตัวใหญ่ ที่บอกถึงบรรยากาศ อารมณ์ ที่กลัวหัวหน้าจะ “ตำหนิ” เหมือนทุกครั้ง หาก “ความคิด” ไม่ตรงกับหัวหน้า

เชอร์ริลแนะนำว่า ในการทำงาน ก็ไม่ต่างกันกับ “สถานการณ์” ของเธอ

ตราบใดที่การพูดคุยยังมีความ “มาคุ”

ยังมี “ช้างตัวใหญ่” ที่ทุกคนรู้ว่ามี แต่ไม่อยากพูดถึง

การจะ “คุยงาน” ให้จบตลอดรอดฝั่ง ก็คงจะเป็นเรื่องที่ยาก

อีกเรื่องที่ “เชอร์ริล” พูดถึง ก็คือเรื่อง “ความหวัง”

ในวันที่เธอตกอยู่ในความเศร้า

เธอคิดว่า “ความเศร้า” จะอยู่กับเธอตลอดไป

มันก็ยิ่งทำให้เธอยิ่ง “เศร้า” หนักเข้าไปอีก

จนกระทั่งเธอได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้หญิงคนอื่นๆ ที่เคยประสบเหตุการณ์ร้ายๆ เช่นกัน ว่าพวกเธอผ่านมันมาได้อย่างไร

ทำให้เธอมี “ความหวัง”

ความหวังที่จะกลับมามีความสุขอีกครั้ง ช่วยให้เธอกลับมา “ยืน” ได้อีกครั้งหนึ่ง

ในการทำงานเป็นทีม ก็เช่นเดียวกัน

โดยเฉพาะคนทำงานด้าน “นวัตกรรม” ในองค์กร

คนที่มักจะทำเรื่องที่คนอื่นๆ ไม่เข้าใจ ไม่เห็นด้วย

“ผลงาน” ไม่อาจจะชัดเจนได้ในวันแรกๆ

ก็ต้อง “ท้อแท้” กันบ้าง เป็นธรรมดา

หากแต่ “ผลสำรวจ” ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์เครื่องบินตกที่อุรุกวัย

บอกไว้ว่า “ความหวัง” เป็นสิ่งเดียวที่ “ผู้รอดชีวิต” ทุกคนมีเหมือนกัน

ความหวังที่จะได้กลับบ้าน ไปหาลูกและภรรยา

ความหวังว่า จะมีใครสักคนมาเจอพวกเขาเข้าสักวัน

“ความหวัง” คือสิ่งเดียวที่หล่อเลี้ยงให้ผู้รอดชีวิตมีพลังรอดตายมาได้ตลอด 72 วันที่ใช้ชีวิต ท่ามกลางความหิวโหยและหนาวเย็น

“ความหวัง” จึงเป็นสิ่งที่ “ทีมงานที่มีประสิทธิภาพ” ต้องมีเช่นกัน

ในโลกของธุรกิจ สิ่งนั้นอาจจะเรียกว่า “วิสัยทัศน์” ของ “ผู้นำ”

แม้ยังไม่เคยเห็น แต่เชื่อว่ามีอยู่จริง

หีบสมบัติที่ลูกน้องยอมพลีกาย ทุ่มพลังใจ บุกป่าฝ่าดง เสาะหา เพื่อให้ได้มันมา

จริงอยู่ มีคนเคยกล่าวไว้

ตราบใดที่ยังมีชีวิต จงมี “ความหวัง”

หากแต่ว่า ในความเป็นจริงแล้ว

ที่ใดยังมี “ความหวัง” ต่างหากเล่า

ที่นั่นจึงจะมีสิ่งที่เรียกว่า “ชีวิต”