ศัลยา ประชาชาติ : สืบสานงานเกษตรของพ่อ สร้าง “ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบพอเพียง” ดึงชาวไร่อ้อยตามรอยเบื้องพระยุคลบาท

“พระราชกรณียกิจตลอด 70 ปีที่ทรงครองราชย์” พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงใช้เวลาส่วนใหญ่เสด็จพระราชดำเนินไปยังท้องถิ่นต่างๆ ทุกภูมิภาคของประเทศไทย การทรงงานในแต่ละพื้นที่ก่อให้เกิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากมาย เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรไทยในทุกด้านให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น

โดยเฉพาะโครงการพระราชดำริด้านเกษตร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงให้ความสำคัญในเรื่องดินและน้ำ ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักในการทำเกษตรกรรม เป็นอาชีพหลักของราษฎรส่วนใหญ่

ในอดีตหลายจังหวัดสภาพดินเสื่อมโทรม พระองค์ท่านทรงพลิกฟื้นผืนดินให้กลับมามีสภาพที่ชุ่มชื้น สามารถเพาะปลูกพืชผลได้สมบูรณ์งอกงาม

ปัจจุบันโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากมายที่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนรับไปสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงสร้างและพัฒนาตลอดมา

อย่างเช่น “กลุ่มมิตรผล” ผู้ผลิตน้ำตาลอันดับ 1 ของประเทศ และอันดับ 4 ของโลก ด้วยผลผลิตน้ำตาลทั้งในและต่างประเทศรวมกว่า 4 ล้านตันต่อปี เป็นหนึ่งในองค์กรเอกชนที่เดินรอยตามเบื้องพระยุคลบาท

 

“บรรเทิง ว่องกุศลกิจ” ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มธุรกิจ กลุ่มงานอ้อย หนึ่งในทายาทของ “ตระกูลว่องกุศลกิจ” ซึ่งรับผิดชอบงานด้านไร่อ้อยโดยตรง กล่าวว่า ที่ผ่านมากลุ่มมิตรผลได้น้อมนำหลักการทางด้านเกษตร ดิน และน้ำ รวมทั้งหลักทฤษฎีเศรษฐกิจความพอเพียง ฯลฯ มาใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการธุรกิจ เพื่อขับเคลื่อนในการสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้แก่ชาวไร่ที่อยู่ในเครือข่าย 35,000 ครอบครัว และพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างรอบด้าน พร้อมทั้งส่งเสริมองค์ความรู้ต่างๆ ผลักดันกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสู่การเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพ และกำลังริเริ่มโครงการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง

กลุ่มมิตรผลดำเนินธุรกิจครบรอบ 60 ปี เมื่อปี 2559 โดยหลายครั้งที่เผชิญอุปสรรคปัญหาสามารถฟันฝ่าวิกฤตมาได้ด้วยร่มพระบารมีของในหลวง รัชกาลที่ 9

หากย้อนกลับไปตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจเมื่อ 60 ปีก่อน กลุ่มมิตรผลทำการเกษตรโดยอาศัยแรงงานมนุษย์เป็นหลัก ยังไม่มีการรวบรวมและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการเกษตร เกษตรกรเพาะปลูกแต่ไม่ได้คำนึงการดูแลบำรุงดิน ช่วงแรกๆ ดินยังมีความอุดมสมบูรณ์ ได้ผลผลิตดี แต่หลังจากนั้นต้องใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ได้ผลผลิตเพิ่ม

ขณะเดียวกันชาวไร่อ้อยบางรายยังทำลายดินโดยการเผาใบอ้อย อุตสาหกรรมนี้จึงโดนโจมตีว่าเป็นผู้ร้ายทำลายสิ่งแวดล้อม

ทางกลุ่มมิตรผลคิดว่าคงจะเดินอย่างนี้ต่อไปไม่ได้แล้ว ตอนนั้นได้เดินทางไปดูงานจากหลากหลายประเทศ ทั้งออสเตรเลีย บราซิล และได้ค้นพบว่าการที่จะทำให้ดินไม่เสื่อมสลายไปเร็ว ต้องใช้ทั้งใบ กาบ เป็นผ้าห่มคลุมดิน ไม่ให้ดินขาดความชุ่มชื้น และรักษาหน้าดินโดยไม่ให้เผาใบอ้อย

จึงได้รวบรวมองค์ความรู้จนพัฒนามาเป็น “มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม” หรือทฤษฎี 4 เสาหลัก ได้แก่ ปลูกพืชตระกูลถั่ว ลดการบดอัดหน้าดิน ไม่เผาใบอ้อย ใช้แต่ใบอ้อยคลุมดิน ใช้ระบบชีวภาพเข้าไป ช่วงฤดูฝนมีการปล่อยแตนเบียนเข้าไป ลดการใช้สารเคมี สุขภาพคนดีขึ้น ผลผลิตดีขึ้น

ปัจจุบันได้ผลผลิตอ้อย 18-20 ตัน/ไร่ ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงสอนเรื่องการห่มดิน และมิตรผลได้เผยแพร่องค์ความรู้ดังกล่าวให้กับชาวไร่ในเครือข่าย

 

ปัจจุบันมิตรผลมีชาวไร่ในเครือข่าย 35,000 ครอบครัว จึงได้ตั้งทีมงานไปเข้าฝึกอบรม โดยน้อมนำพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 ไปประยุกต์ใช้ คือ ให้ปรับปรุงดินก่อน และให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองได้ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จากที่ปลูกอ้อยพืชเชิงเดี่ยวอย่างเดียว ให้เพิ่มรายได้ด้วยการปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่เข้าไปเสริม

และให้ปลูกอ้อยเท่าที่มีแรงงานและเครื่องมือทำได้ ไม่อย่างนั้นชาวไร่หลายคนจะกระโดดข้ามความพอเพียงไป

ถ้าปีนี้ปลูกอ้อยได้ราคาดี…รวย ปีหน้าเพิ่มพื้นที่ปลูกเป็นสิบเท่า เครื่องมือไม่พอ ดูแลไม่ทั่วถึงกลายเป็นต้องจ้างคนเพิ่ม ปีไหนราคาไม่ดี ก็แย่

ขณะเดียวกันกลุ่มมิตรผลได้ชักชวนชาวไร่อ้อย 3-4 รายมารวมแปลงกัน และใช้เครื่องมือไปช่วยปลูกอ้อย พรวนดิน

และจากที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ลูกหลานไม่อยากกลับมาทำไร่ เราจึงพยายามดึงคนรุ่นใหม่กลับมา พร้อมกับใช้เครื่องมือสมัยใหม่เข้าไปช่วย จึงเกิด “หนองแซงโมเดล” ใน 1 ปีลดค่าใช้จ่าย แบ่งผลประโยชน์และดูแลกันเอง ทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน กลุ่มมิตรผลเป็นเพียงผู้ช่วย

รวมถึงการขุดสระเก็บน้ำไว้ใช้ สมัยก่อนใช้น้ำเปลืองก็ทำน้ำหยด และใช้โซลาร์เซลล์ มีปั๊มน้ำรอบคันบ่อ สามารถปลูกพืชผักสวนครัว โดยใช้ปรัชญาพระองค์ท่านเป็นแนวทาง ทำการเกษตรแบบผสมผสาน เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและลดความเสี่ยงเศรษฐกิจครัวเรือน

 

เมื่อปี 2559 เป็นช่วงที่บริษัทครบรอบ 60 ปี จึงได้ริเริ่มทำโครงการพิเศษ ขับเคลื่อนชาวไร่รายเล็กเรื่องการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยได้ตั้ง “ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ” มีโครงการนำร่อง 70 ศูนย์ หลังจากนั้นจะขยายไปถึง 700 ศูนย์ และครบ 7,000 ศูนย์ในอนาคต

ภายใต้ชื่อ “โครงการทำตามพ่อ ปลูก เพ(ร)าะสุข” โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาชาวไร่อ้อยขยายวงกว้าง ให้มีการทำเกษตรผสมผสานในครัวเรือน ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ มีความมั่นคงด้านอาหารในครัวเรือน เป็นแนวทางสร้างสุขให้ชาวไร่ได้อย่างยั่งยืน ให้ครอบคลุมชาวไร่ในเครือข่ายให้ได้มากที่สุด

ขณะเดียวกัน ได้ส่งเสริมให้ชาวไร่เกิดการรวมกลุ่ม เพราะหลังชาวไร่ใช้เครื่องมือเข้าไปช่วยปลูกอ้อย ทำให้มีเวลาเหลือ ทางกลุ่มมิตรผลได้หาผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้จริงเข้าไปสอนเรื่องการแปรรูปผลผลิตต่างๆ และช่วยหาตลาดให้ด้วย ในอนาคตหากชาวไร่รวมกลุ่มกันได้อย่างเข้มแข็ง อยากทำตลาดชุมชน หาพื้นที่ให้ชาวไร่รวมกันขาย ตอนนี้ดีขึ้นแต่ยังไม่เข้มแข็งพอ

ทางกลุ่มมิตรผลมีจุดมุ่งหมายคือสร้างความมั่นคงยั่งยืนให้เกิดขึ้นในการดำเนินงาน ดั่งปรัชญาการดำเนินงานของมิตรผล “ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ” นอกจากนี้ ห้วงเวลาที่ผ่านมากลุ่มมิตรผลได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งใน “โครงการ 5 ประสานเกษตรทฤษฎีใหม่” ภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐด้วย

 

โดยสรุปหลายครั้งที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศ บริษัทได้น้อมนำพระราชดำริในหลวง รัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ในการบริหารงานองค์กร เช่น ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 บริษัทเผชิญกับภาวะหนี้สิน ขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างรุนแรง จนคิดว่าบริษัทอาจจะไปไม่รอด แต่ผ่านมาได้เพราะได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในระบบบริหาร หลักคิดความพอประมาณ มีเหตุผล และสร้างภูมิคุ้มกันมาใช้เป็นแนวทาง

การทำธุรกิจให้ยั่งยืนจึงต้องประเมินตนว่า อย่าทำมากจนเกินไป ไม่ให้มีความเสี่ยงสูง ก้าวไปทีละก้าว ที่สำคัญต้องมีคุณธรรม เพราะจะทำให้คนอื่นนับถือเรา ศรัทธาในตัวเรา และจะทำให้ธุรกิจของเราอยู่รอด กำไรสูงสุดไม่ใช่นโยบายของเรา และเราต้องไม่โกง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากในโลกธุรกิจยุคปัจจุบัน

ทั้งหมดทั้งปวงบริษัทได้นำหลักการทรงงาน ในหลวง รัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ทั้งชีวิตส่วนตัวและองค์กร ต้องโตอย่างยั่งยืน มากกว่าที่จะโตแบบก้าวกระโดด โดยไม่มีเกราะป้องกัน เหมือนเวลาขึ้นบันได ถ้าเรากระโดดทีละขั้นสองขั้น ตกลงมาขาแพลง จะเดินไม่ได้ไปหลายวัน แต่ถ้าก้าวขึ้นไปทีละขั้น จะมั่นคงกว่า

ที่ต้องตระหนักและให้ความสำคัญคือ จะคำนึงถึงแต่ประโยชน์ส่วนตนไม่ได้ ต้องยึดประโยชน์ส่วนรวมและประเทศเป็นหลัก