สุรชาติ บำรุงสุข : 41 ปีแห่งการเคลื่อนไหว (4) กระแสลมขวาจัดพัดแรง!

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ย้อนอ่าน สุรชาติ บำรุงสุข : 41 ปีแห่งการเคลื่อนไหว (ตอน3)

เราเสียสละทุกสิ่งที่เรามี เพื่ออุดมการณ์แห่งเสรีภาพ”

“แม่” ของ แม็กซิม กอร์กี้, จิตร ภูมิศักดิ์ แปล

สําหรับขบวนนักศึกษาฝ่ายก้าวหน้าแล้ว ปี 2519 เป็นดัง “ปีแห่งชัยชนะ” อย่างเห็นได้ชัด ไม่เพียงแต่ชัยชนะของพรรคนักศึกษาฝ่ายก้าวหน้าในมหาวิทยาลัยต่างๆ เท่านั้น หากแต่ยังเห็นได้ถึงการขยายตัวของ “แนวรบทางวัฒนธรรม” ที่ไม่เพียงแต่วัฒนธรรมของยุคโซตัสกำลังถูกเบียดออกจากพื้นที่ในมหาวิทยาลัย

งานรับน้องใหม่… งานปีใหม่… งานสงกรานต์ ปรากฏในรูปแบบใหม่

ต้องให้เครดิตอย่างมากกับฝ่ายศิลปวัฒนธรรมของฝ่ายเราที่ระดมความคิดจนทำให้เกิดกิจกรรมทางวัฒนธรรมในรูปแบบที่แตกต่างจากยุคสายลมแสงแดด

กิจกรรมเหล่านี้อยู่ภายใต้เข็มมุ่งของการ “รับใช้สังคม” หรือใช้ในภาษาสมัยใหม่ก็คือถือเอา “สังคมและประชาชน” เป็นศูนย์กลางของกิจกรรม

กิจกรรมนักศึกษาในยุคนี้ไม่ใช่เรื่องความสนุกสนานของลูกหลานชนชั้นกลางเช่นในอดีตอีกต่อไป

แนวรบใหม่

แรงขับเคลื่อนสำคัญอีกส่วนจาก “เพลงเพื่อชีวิต” กล่าวคือ แนวรบทางการเมืองและทางวัฒนธรรมในรั้วมหาวิทยาลัยเป็นดังการรุกใหญ่ ซึ่งในมุมมองของฝ่ายขวาและ/หรือฝ่ายอนุรักษนิยมแล้ว ปรากฏการณ์ใหม่เช่นนี้เป็นสัญญาณของ “ความน่ากลัว” เป็นอย่างยิ่ง เพราะเท่ากับเป็นการบ่งบอกถึงการที่คนหนุ่มสาวกำลังขยับตัวไปทางซ้ายอย่างชัดเจน

และทั้งยังบอกถึงการที่มหาวิทยาลัยในฐานะพื้นที่ที่ถูกยึดครองโดยชนชั้นนำไทยมาอย่างยาวนาน กำลังเปลี่ยนแปลงไป

และคำถามที่ฝ่ายขวายอมรับไม่ได้ก็คือ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นถ้ามหาวิทยาลัยไทยกลายเป็นพื้นที่ของฝ่ายก้าวหน้าปีกซ้ายไปหมด

สำหรับปีกขวาจัดแล้ว ปรากฏการณ์ใหม่เช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่อาจปล่อยให้เกิดขึ้นโดยไม่ตอบโต้!

ฉะนั้น ในอีกด้านหนึ่ง กลุ่มปีกขวาเองก็พยายามตอบโต้กับ “แนวรุกทางวัฒนธรรม” เช่น การสร้างเพลงปลุกใจต่างๆ ออกสู่สาธารณะ

หนึ่งในเพลงสำคัญของฝ่ายขวาในยุคนั้นน่าจะได้แก่เพลง “หนักแผ่นดิน” ที่ถูกแต่งขึ้นในปี 2518 และออกอากาศทางสถานีวิทยุของกรมการสื่อสารทหารบก หรือเพลงอื่นๆ เช่น สุดแผ่นดิน วิญญาณปู่ฯ และเพลงทหารพระนเรศวร (เปรี้ยงๆ ดังเสียงฟ้าฟาด…) เป็นต้น

เพลงเหล่านี้เป็นดังวาทกรรมตอบโต้การรุกทางวัฒนธรรมของปีกก้าวหน้าซึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในขณะนั้น และอาจต้องถือว่าเป็น “อาการน่าตกใจ” สำหรับฝ่ายขวาเป็นอย่างยิ่ง

ฉะนั้น เมื่อก้าวเข้าสู่ปี 2519 ก็เห็นได้ชัดเจนว่า แนวรบ-แนวรุก-แนวรับของทั้งสองฝ่ายทวีความเข้มข้นมากขึ้นทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย และทั้งปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามหาวิทยาลัยกลายเป็นพื้นที่การต่อสู้ทางความคิดที่สำคัญในขณะนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และทั้งยังเป็นสัญญาณอีกว่า การเริ่มต้นของปี 2519 เป็นการบอกถึง “ความพ่ายแพ้ทางการเมือง” ของปีกขวาในมหาวิทยาลัยที่ไม่อาจต้านทานการรุกของฝ่ายก้าวหน้าได้เลย

คำถามที่ตามมาจากปรากฏการณ์เช่นนี้ก็คือ แล้วชนชั้นนำ ผู้นำทหาร ตลอดจนกลุ่มอนุรักษนิยมต่างๆ ในการเมืองไทยจะยอมอดทนรับความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ไปได้นานเพียงใด?

เคลื่อนไหวใหญ่ 20 มีนาฯ

ปิดภาคปลายของปีการศึกษา 2518 ที่เริ่มขึ้นในเดือนมีนาคม 2519 นั้น ถือว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญหนึ่งของกิจกรรมนักศึกษา ผลจากการเคลื่อนไหวต่อต้านฐานทัพสหรัฐอย่างต่อเนื่อง ทำให้ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ตัดสินใจเปิดการเดินขบวนใหญ่เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 1 ปีของการประกาศนโยบายของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ให้มีการถอนฐานทัพออกจากประเทศไทย

การเดินขบวนในวันที่ 20 มีนาคม 2519 เป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของขบวนนักศึกษา

ไม่ใช่แค่การจัดรูปแบบการเดินขบวนตามปกติในแบบเดิม แต่ในขบวนยังมีรูปแบบของขบวนทางวัฒนธรรมร่วมไปด้วย…

ขบวนตั้งต้นจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปยังสถานทูตสหรัฐอเมริกาที่ถนนวิทยุ

ต้องยอมรับว่าภาพของผู้คนเป็นจำนวนมากที่เข้าร่วมการชุมนุมต่อต้านฐานทัพครั้งนี้สร้างความ “ตื่นตระหนก” ให้แก่บรรดากลุ่มปีกขวาไม่น้อย

การเดินขบวนใหญ่วันนั้นสะท้อนถึงความตื่นตัวอย่างมากของนักศึกษาประชาชน แต่ความตื่นตัวดังกล่าวก็คือการตอกย้ำให้เกิดความกลัวในหมู่ชนชั้นนำและผู้นำทหารมากยิ่งขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย เพราะเท่ากับบอกว่าฐานทัพสหรัฐในฐานะของการเป็น “หลักประกันความมั่นคง” สำหรับปีกขวาไทยจะต้องถอนตัวออก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะการสิ้นสุดภารกิจสงครามในอินโดจีน แต่พวกเขามองว่านักศึกษาเป็น “ผู้ไล่”

ในการประชุมที่ศูนย์นิสิตเพื่อเตรียมการเดินขบวนนั้น เราแบ่ง “รถบัญชาการ” ออกเป็น 4 คัน เพราะประมาณการว่าจะมีผู้เข้าร่วมการชุมนุมจำนวนมาก ซึ่งก็เสมือนกับการจัดแบ่งผู้ชุมนุมเป็น 4 ขบวน เพื่อให้ง่ายในการควบคุมหากเกิดปัญหาขึ้น

ดังได้กล่าวแล้วว่านับจากกลางปี 2518 เป็นต้นมา ก็พอจะเห็นถึงการใช้มาตรการ “ขวาพิฆาตซ้าย”

ดังนั้น เพื่อไม่ประมาทว่าอาจจะเกิดการใช้ความรุนแรงเข้าตอบโต้การเคลื่อนไหวของขบวนดังกล่าว การแบ่งขบวนเป็นส่วนๆ จึงเป็นวิธีการที่น่าจะดีที่สุด

การโจมตีที่สยามสแควร์

ผู้นำศูนย์นิสิตอยู่รถคันที่ 1 พวกเราประมาณสถานการณ์ว่าถ้าจะเกิดอะไรขึ้นเพื่อหยุดยั้งขบวนก็อาจจะเกิดกับรถบัญชาการคันแรกมากกว่า

ผมกับพี่เอนกอยู่บนหลังคารถคันที่ 3 แน่นอนว่าการเคลื่อนขบวนในพื้นที่เปิดของความเป็นเมืองนั้น มีอันตรายอยู่ทุกจุด…

ผมพยายามสอดส่ายสายตาไปยังอาคารที่เราต้องเคลื่อนขบวนผ่าน ทำให้อดนึกถึงสงครามยุคโบราณที่ต้องเคลื่อนกำลังพลผ่านเข้าไปในพื้นที่ช่องเขาแล้ว ก็ตระหนักได้ดีว่าการโจมตีจากสองฟากฝั่งที่อยู่บนมุมสูงนั้น เป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

ตำราพิชัยสงครามทุกเล่มสรุปบทเรียนในพื้นที่เช่นนี้เสมอ และถ้าเกิดขึ้นแล้ว ขบวนในพื้นที่ช่องเขาจะตกอยู่ในภาวะของความเสียเปรียบเป็นอย่างยิ่ง เพราะอยู่ในฐานะของการเป็นฝ่ายที่ถูกโจมตีและอยู่ต่ำกว่า

หลักการทางยุทธวิธีของการโจมตีจากที่สูงข่มยังเป็นสิ่งที่ใช้ได้เสมอ แม้จะเป็นสงครามในเมืองของโลกสมัยใหม่ ตึกสองข้างทางในกรุงเทพฯ อาจจะไม่ใช่ช่องเขา แต่ขบวนของผู้ร่วมประท้วงเป็นจำนวนมากเคลื่อนไปตามถนนที่ถูกขนาบด้วยตึกต่างๆ สองข้างทางแล้ว ก็แทบจะไม่แตกต่างอะไรกันเลยในทางภูมิประเทศ

ผมจึงได้แต่ภาวนาว่าขออย่าได้เกิดความรุนแรงอะไรขึ้นอีกเลย

แม้นว่าลึกๆ ในใจ แล้วก็อดจะประหวั่นพรั่นพรึงไม่ได้ว่า รถบัญชาการคันหนึ่งคันใดจะเป็นเป้าหมายของการโจมตีที่น่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

เพราะการโจมตีเช่นนี้คือยุทธวิธีพื้นฐานของสงครามกองโจรในเมือง

จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขบวนลัดเลาะมาตามถนน จนกระทั่งเมื่อขบวนมาถึงบริเวณสยามสแควร์ ก็เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้นจริงๆ

มีคนโยนระเบิดจากตึกสูงของสยามสแควร์ลงมา เป้าหมายกลายเป็นรถบัญชาการคันที่ 4

จากหลังคารถคันที่ 3 ที่ผมกับพี่เอนกอยู่ มองเห็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ชัดเจน มีผู้เสียชีวิตจากกรณีนี้ 4 คน แต่พวกเราที่คุมขบวนก็สามารถทำให้สถานการณ์ของความโกลาหลเบาบางลง จนขบวนดังกล่าวเคลื่อนตัวไปถึงสถานทูตสหรัฐ ที่ถนนวิทยุตามที่ตั้งใจไว้

แต่ก็มีราคาที่ต้องจ่ายด้วยชีวิตของพวกเรา 4 คนและผู้บาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง…

กระแสขวาพิฆาตซ้ายยังคงโหมรุนแรงเสมอท่ามกลางการเคลื่อนไหวที่แหลมคมของนักศึกษา

กลับบ้านครั้งสุดท้าย

หลังจากเคลื่อนไหวใหญ่ ผมกลับไปเยี่ยมบ้านที่พิษณุโลกเหมือนช่วงปิดเทอมใหญ่ทุกครั้ง ผมพยายามคุยกับพ่อและแม่ให้คลายความกังวลใจลงบ้าง เพราะทางบ้านรับรู้จริงๆ แล้วว่าผมอยู่ในฐานะของการเป็น “ผู้นำนักศึกษา” จากข่าวบนหน้าสื่อ

สิ่งที่ไม่เคยคิดเลยก็คือหลังจากกลับไปเยือนบ้านครั้งนี้แล้ว ผมจะไม่ได้กลับบ้านอีกระยะเวลาหนึ่ง แม้นว่าที่จริงแล้วผมเคยประมาณสถานการณ์กับเพื่อนบางคนว่าระยะเวลาการเคลื่อนไหวของนักศึกษาคงใกล้ถึง “จุดจบ” เต็มทีแล้ว พวกเขาคงปล่อยให้พวกเราโลดแล่นไปอีกไม่นานแน่

ผมเคยคิดตอนนั้นว่าถ้ามีเหตุร้ายเกิดในวันที่ 20 มีนาคม ก็อาจจะตามมาด้วยการรัฐประหารและการกวาดล้างในเมือง แม้จะไม่เกิดในวันนั้น แต่ก็รู้ในใจว่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

คำเตือนของพ่อกับแม่ดูจะแตกต่างจากทุกครั้ง เพราะไม่เพียงแต่จะบอกเหมือนครั้งก่อนๆ ว่า “ให้ระมัดระวังตัว…” แต่ยังบอกอีกด้วยว่าให้หาที่ทางเพื่อหลบให้ตัวเองปลอดภัย

พ่อกับแม่เองก็เริ่มรับรู้จากสื่อถึงความไม่ปกติของสถานการณ์ที่กรุงเทพฯ…

ความเป็นห่วงของพ่อแม่ที่มีต่อลูกไม่เคยมีขีดจำกัดเสมอ ก่อนออกจากบ้าน พ่อเรียกไปถามในสิ่งที่พ่อไม่เคยพูดมาก่อนและไม่ให้แม่ได้ยินว่า “ดูแลตัวเองได้ไหม?” และกำชับว่าหากเกิดอะไรขึ้นก็อย่าให้กระทบกับบ้านป้าที่ผมมาอาศัยเรียนหนังสืออยู่ตั้งแต่เด็ก

และให้ “หาทางหลบให้ได้”

พ่อพูดเหมือนจะคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในวันข้างหน้า

ผมตอบด้วยความมั่นใจเพื่อไม่ให้พ่อกับแม่ต้องกังวลอนาคตที่มีความล่อแหลมของสถานการณ์มากขึ้นว่า “ไม่ต้องเป็นห่วง” ทั้งๆ ที่รู้ว่าพ่อกับแม่เป็นห่วงมาก

แล้วพ่อก็ขับรถมาส่งผมขึ้นรถทัวร์กลับกรุงเทพฯ…

ไม่เคยคิดเลยว่านี่คือการเดินทางกลับบ้านพิษณุโลกครั้งสุดท้ายสำหรับผมของปี 2519

กรรมการศูนย์นิสิตชุดใหม่

ผมกลับมาพร้อมกับการเตรียมทำกิจกรรมต่อ และขณะเดียวกันก็มีการเลือกตั้งคณะกรรมการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยชุดใหม่ แทนชุดที่มีพี่เกรียงกมลเป็นเลขาธิการ การเลือกตั้งครั้งนี้ได้ สุธรรม แสงประทุม เป็นเลขาฯ พร้อมกับรองอีก 3 คนได้แก่ ประยูร อัครบวร (รองฝ่ายการเมือง) สุชีลา ตันชัยนันท์ (รองฝ่ายสังคมและการศึกษา) และ จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร (รองฝ่ายเศรษฐกิจ)

กรรมการศูนย์ชุดใหม่อีกส่วนก็คือพวกเราที่เป็นนายกและรองนายกองค์การสโมสรนิสิตของมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เป็นฝ่ายก้าวหน้า

ซึ่งก็แน่นอนว่าเป็นกรรมการศูนย์ชุดใหม่ภายใต้สถานการณ์ที่เข้มข้นจากการขับเคลื่อนของกระแส “ขวาพิฆาตซ้าย”

จนอดนึกถึงคำพูดของคุณสุธรรมในขณะนั้นที่กล่าวว่า พวกเราอาจจะเป็น “กรรมการศูนย์นิสิตฯ ชุดสุดท้าย” ก็ได้

เพราะในวันที่มีการพบปะกันระหว่างกรรมการศูนย์นิสิตชุดใหม่กับพี่น้องประชาชนที่ท้องสนามหลวง ก็มีการ “รับน้องใหม่” จากพวกปีกขวาด้วยการปาก้อนหินและเหล็กแหลมใส่ผู้ร่วมชุมนุม ทำให้มีเพื่อนนักศึกษาหลายคนบาดเจ็บ

แน่นอนว่าสัญญาณของการคุกคามชัดเจนขึ้น…

กระแสขวาพิฆาตซ้ายรุนแรงจนพวกเราหลายคนที่อยู่ในเวทีการเคลื่อนไหวคิดไม่ต่างจากคำพูดของสุธรรมว่า เราอาจจะเปิดการเคลื่อนไหวใหม่ได้อีกเพียงครั้งเดียว และอายุของศูนย์นิสิตฯ ไม่น่าจะเกินกว่าปี 2519

คำถามสำคัญในสถานการณ์เช่นนี้ก็คือ ถ้าการปราบปรามใหญ่เกิดขึ้น พวกเราจะทำอย่างไรกับชีวิตทั้งของเราเองและของเพื่อนๆ ในขบวน

หรือคำตอบสุดท้ายจะถูกบีบให้เหลือประการเดียวคือ ออกจากเมืองและมุ่งหน้าสู่ชนบท เข้าร่วมกับขบวนการต่อสู้ในฐานที่มั่น เพราะไม่มีทางเลือกอื่นเหลือให้เราเดิน

แม้จะนึกไม่ออกว่า ถ้าจะต้อง “เข้าป่า” จริงๆ แล้ว จะเข้าอย่างไร มีแต่เพียงจินตนาการของเด็กในวัยนั้น

ต่อมาได้มีการจัดนิทรรศการต่อต้านฐานทัพอเมริกันอีกครั้งในวันที่ 4 กรกฎาคม 2519 เป็นการจัดเรื่องฐานทัพครั้งสุดท้าย และมีการส่งนักศึกษาออกไปพบปะกับพี่น้องประชาชนแทนการจัดชุมนุม ประกอบกับฐานทัพสหรัฐเองก็ค่อยๆ ถูกปิดลง รวมทั้งค่ายรามสูร อันเป็นผลจากภารกิจสงครามในอินโดจีนยุติลง และไม่มีความคุ้มค่าในทางเศรษฐกิจ เนื่องจากนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของสหรัฐเองก็เริ่มขยับไปสู่ตะวันออกกลาง

การถอนตัวของสหรัฐเช่นนี้มีส่วนช่วยเร่งให้กลุ่มขวาไทยซึ่งหวาดกลัวกับความเปลี่ยนแปลงในอินโดจีนขยับตัวไปสู่ความเป็น “ขวาจัด” มากขึ้นไปอีก

พวกเขาเริ่มกังวลว่าไทยจะถูกทอดทิ้งให้เผชิญกับภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ในอินโดจีนอย่างโดดเดี่ยว

พื้นที่การเคลื่อนไหวของขบวนนักศึกษาดูจะถูกจำกัดลงพร้อมกับการขยายตัวของกระแส “ขวารุนแรง” เช่น การใช้กำลังของกลุ่มกระทิงแดงเข้าปิดล้อมที่ทำการของศูนย์นิสิตฯ ซึ่งหากย้อนกลับไปก็นึกไม่ออกว่าผมตัดสินใจอยู่เฝ้าตึกนี้เพื่ออะไร

สมบูรณ์ สิมะแสงยาภรณ์ อยู่ร่วมกับผม และต่อมามีเพื่อนมาสมทบอีก 2 คน ได้แก่ ชัชวาลย์และชูศิลป์ พวกเราอยู่เฝ้าศูนย์นิสิตฯ ท่ามกลางวงล้อม ถ้าพวกขวาตัดสินใจบุกเข้ามาจริงๆ แล้วจะเกิดอะไร

วันนี้ย้อนกลับไปแล้วยังนึกถึงน้ำใจของเพื่อนทั้งสามที่ตัดสินใจอยู่ร่วมกันกับผม

แต่ก็โชคดีว่าเราทั้งสี่ไม่กลายเป็น “วีรชนสี่แยกคอกวัว” ในเหตุการณ์ช่วงนั้น

แต่สิ่งที่ชัดเจนก็คือ กระแสขวาพิฆาตซ้ายก่อตัวและพร้อมที่จะพัดพาความรุนแรงไปทั่วสังคมไทยอย่างแน่นอน!