ฟ้า พูลวรลักษณ์ : ประชาธิปไตยก็ไม่ได้ดีกว่าเผด็จการ

ฟ้า พูลวรลักษณ์

หนังสือเรียนสำหรับเด็ก (๑๙๓)

การทำประชามติในอังกฤษ ที่เรียกว่า Brexit เป็นกรณีที่น่าสนใจ

ณ จุดที่คุณคิดว่าคือพลังของประชาธิปไตย กลับเป็นความตายของประชาธิปไตย

ความตายในหลุมหลบภัย คือความหมายของคำว่า โลกไม่สวย

ประชาธิปไตย มีจุดอ่อนอยู่หนึ่งจุด เป็นกล่องใบหนึ่ง ชื่อว่า Pandora Box มันเป็นกล่องที่เปิดขึ้นวันใด ความชั่วร้ายนานาจะล่องลอยออกมา และไม่สามารถจับกลับเข้าไปตามเดิมได้ เนื่องจากมันมีจำนวนมากเหลือเกิน เป็นโกฏิล้าน ละเอียดอ่อน ล่องลอยไปเรื่อยดั่งเกสรดอกไม้พิษ

หากวันใดเกสรดอกไม้เป็นพิษกับมนุษย์ เราจะตายทันที

เพราะเราไม่อาจเป็นศัตรูกับไม้ดอก เราไม่อาจเป็นศัตรูกับพืช

สิ่งที่น่ากลัวกว่ามนุษย์ต่างดาว น่ากลัวกว่าไวรัส กลับเป็นต้นไม้ หากวันใดที่เราเป็นศัตรูกัน

ผิดคือ ไม่ควรไปเปิดกล่องใบนี้เลย

เปิดแล้วปิดไม่ได้

ถึงปิดได้ ก็ไม่มีประโยชน์

ความชั่วร้ายของมัน สูงสุดเท่าความชั่วร้ายทั้งหมดของระบบเผด็จการ มันมีค่าเท่ากัน

นี้เอง ที่โลกไม่สวย

หากแตะถูกจุด

ประชาธิปไตยก็ไม่ได้ดีกว่าระบบเผด็จการ

เราจะตามใคร

หากเราเดินตามประชาธิปไตย ในมือของมันก็ถือ Pandora Box และพร้อมจะเปิดออกมาอยู่ดี

หากเราเดินตามเผด็จการ ก็ไม่ได้ต่างกัน พวกมันไม่ได้ถือกล่อง หากแต่ถือไม้เท้าอาญาสิทธิ์ ที่ชี้เป็นชี้ตาย ชี้ถูกให้เป็นผิด หรือชี้ผิดให้เป็นถูก

สมัยเด็กที่ฉันเคยเล่นเกมงูกินหาง เวลาถูกจับได้ ฉันต้องเลือกว่าจะอยู่กับพ่อหรือแม่

หากอยู่กับแม่ จะถูกลอยแพไป

หากอยู่กับพ่อ จะถูกหักคอจิ้มน้ำพริก

ฉันมักฉงน ตอบไม่ได้ว่าจะอยู่กับใคร เพราะในความเป็นเด็ก ฉันสงสัยว่า มันก็ไม่ดีทั้งสองอย่าง

แน่ละฉันเลือกประชาธิปไตย ฉันไม่ไว้ใจกล่องบ้านั่น แต่ไม่ไว้ใจไม้เท้าอาญาสิทธิ์มากกว่า

อย่างน้อยฉันยังฝากความหวังว่าจะประคองกล่องใบนี้ให้ดี คอยระวังอย่าไปเปิดมัน ทำได้ไหม

ชีวิตนี้ยาก เหมือนเล่นเกมงูกินหาง

ฉันวิ่งไปวิ่งมา และต้องเลือกหนึ่งในสอง ที่ฉันก็ไม่ชอบเลย

แต่ไม่เลือกก็ไม่ได้

โลกใหม่คือหายนะ

แต่โลกเก่า ก็คือความทรงจำที่หลอกลวง

ระบบทุนนิยม คือระบบหากำไร

ยิ่งบริษัทใหญ่มาก ยิ่งหากำไรมาก

ยิ่งโลกก้าวไปข้างหน้า ยิ่งมีบริษัทยักษ์ใหญ่

ชีวิตในระบบทุนนิยม ท้ายสุด มักทำให้มนุษย์เหลือพฤติกรรมอยู่เพียงสองอย่าง

๑ หาเงิน

๒ ใช้เงิน

ฉันมีเพื่อนหลายคน ที่ทำเป็นเพียงสองสิ่งนี้

พฤติกรรมเล็กๆ มากมายได้สูญหายไป เช่น การอ่านหนังสือ การตกปลา

เขาเปิดอ่านหนังสือได้ แต่แล้วก็ต้องวางลง เพราะอ่านไม่รู้เรื่อง

การออกไปตกปลา แต่แล้วก็ต้องกลับบ้าน เพราะไม่สนุก

ฉันมีความสุขจะตาย บางครั้ง ฉันนั่งอ่านหนังสือในวันที่แสงแดดร้อนจ้าจากบานหน้าต่าง ฉันพยายามเอี้ยวตัวหลบแดด แต่ก็ไม่อยากลุกไปไหน นั่งอ่านนานจนแดดร่ม และเมื่อฟ้ามืดแล้ว ฉันก็เปิดไฟ ยังนั่งอ่านอยู่ตรงนั้น นี้คือความสุขของความธรรมดา การนั่งอ่านหนังสือจนแสงอาทิตย์เปลี่ยนไปเรื่อย จากสิ่งหนึ่งไปสู่อีกสิ่งหนึ่ง ชีวิตทุกวันนี้ ยากจะหาความเชื่องช้าแบบนี้ได้ ความสุขแบบนี้ก็ไม่รู้จะแบ่งให้ใครได้

ฉันไม่เชื่อระบบชีวิตพอเพียง ที่เห็นในโฆษณา แต่ฉันเชื่อในความพอเพียงในสิ่งเล็กๆ รอบตัว ที่ใครก็หาได้ คุณอาจเป็นใคร อาชีพไหน ยืนอยู่ที่ไหนในโลก เช่น การนั่งอ่านหนังสือจนแสงอาทิตย์เปลี่ยน คุณจะทำที่ไหนก็ได้

ชีวิตคืออะไร

ชีวิตคือคนเรามาเจอกัน อาจรักกัน หรือไม่สนใจกัน

ชีวิตคือบางวันเราก็มีความสุข บางวันเราก็มีความทุกข์

ชีวิตคือบางวันเรามีศิลป์ บางวันเราไม่มีศิลป์

ชีวิตคือบางวันเรามีปรัชญา บางวันเราไม่มีปรัชญา

ไม่มีใครเป็นนายใคร ไม่มีใครใหญ่กว่าใคร

ใครว่าศิลปะดี มันก็ดีเป็นบางวัน

ใครว่าปรัชญาดี มันก็ดีเป็นบางวัน

ใครว่าคุณใหญ่ คุณก็ใหญ่เป็นบางที

มันมาได้ไกลสุดก็แค่นี้เอง

เพราะไม่มีใครใหญ่กว่าใคร เราจึงไม่รู้ว่าใครคือผู้นำ ใครเป็นตัวนำ

แต่โลกก็เปลี่ยนไปมาก ถึงขนาดที่ว่า

มนุษย์เปลี่ยนพระเจ้า

มนุษย์เปลี่ยนความจริง

หากเปลี่ยนได้แม้แต่สองสิ่งนี้ ก็คงไม่ต้องคิดถึงสิ่งอื่น

ถ้าสิ่งเหล่านี้เปลี่ยนไป กติกาก็ต้องเปลี่ยน และนั่นหมายถึง จริยธรรมก็ต้องเปลี่ยน

การที่โลกเคลื่อนเข้าสู่ระบบดิจิตอล แล้วสื่อสิ่งพิมพ์กำลังตาย กล้องถ่ายรูปที่ใช้ฟิล์มกำลังตาย ทีวีกำลังตาย ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ ยังไม่น่าคิดเท่าจริยธรรมที่กำลังตาย ความจริงที่กำลังตาย

จริยธรรมเป็นกฎอย่างหนึ่ง หากในคนร้อยคนมีแค่คนเดียวยึดถือ อีกเก้าสิบเก้าคนไม่ยึดถือ คนยึดถือก็เป็นตัวตลก เหมือนกฎจราจรข้อใด หากคนใช้ถนนมีแค่คนเดียวยึดถือกฎจราจรข้อนั้น

อีกเก้าสิบเก้าคนไม่ยึดถือ คนเดียวนั้นก็เป็นตัวตลก

คนโบราณถือว่า คนทำผิดจริยธรรม คือคนท้าทายพระเจ้า

หากเป็นชาวป่าชาวดอย ก็ถือว่าคนทำผิดจริยธรรม คือคนทำผิดผี

แต่วันนี้ คนไม่เชื่อในพระเจ้า และไม่เชื่อในผี

พระเจ้าฟังดูยิ่งใหญ่เกินไป และภูตผีก็ฟังดูเล็กเกินไป ไม่น่ากลัวทั้งคู่

๑๐

ฉันคิดถึงจริยธรรมด้วยความอาลัย และพิศวง เพราะจริยธรรมเป็นเส้นสนาม

เหมือนกีฬาทุกชนิดต้องมีเส้นสนาม ขนาดชกมวย ยังต้องมีเชือกกั้น ไม่นับฟุตบอล เทนนิส ต่อให้วิ่งมาราธอน ก็ยังมีเส้นสนาม ไม่เช่นนั้น กีฬาก็ไม่มีกติกา

หากกีฬาไม่มีกติกา แพ้ชนะก็ไม่มีความหมาย

ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า น้ำใจนักกีฬา

ก็ไม่มีความจำเป็นต้องเล่น

๑๑

ในบรรดาการท้าทายทั้งหมด การท้าเส้นสนาม เป็นการท้าทายที่รุนแรงที่สุด

สำหรับฉัน มันคือการไปท้านักเลงเจ้าถิ่น ไปยืนท้าหน้าบ้าน ประกาศว่าตัวเองแน่

ท้าทายสิ่งโบราณทั้งหมด

สิ่งโบราณเชยแล้ว มากมายล้วนล่มสลายได้ แต่หากท้าทายทั้งหมด มิติของมันก็เปลี่ยน

แปลกมาก ถ้าคุณท้าทายนกบางตัว บางชนิด คุณท้าทายได้ แต่หากคุณท้าทายวิหคทั้งหมดบนฟ้า มิติของมันจะเปลี่ยน

๑๒

ฉันเป็นคนสมัยใหม่ ที่ไม่ได้เชื่อพระเจ้า หรือเชื่อในภูตผี แต่ฉันเชื่อในเส้นสนาม ในกติกาสากล

ฉันเชื่อในเส้นสนามฟุตบอล

แปลกที่มันมาลงเอยที่จุดเดียวกัน เพียงแต่วิธีคิดต่างกันบ้าง นี้กระมังที่เป็นความมหัศจรรย์ของจริยธรรมศาสตร์ มันจะเป็นอะไรก็ได้ แต่มาที่เส้นเดียวกัน